ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

ใคร..นั่งหัวโต๊ะ?


คอลัมน์ Etiquette ใน Gourmet & Cuisine พฤศจิกายน 2549

"ใครนั่งหัวโต๊ะ คนนั้นจ่าย"
นี่เป็นคำพูดที่เคยได้ยินบ่อยค่ะ บางคนพูดแบบทีเล่นทีจริง บางคนก็หมายความตามที่พูดจริงๆ

หัวโต๊ะจึงเป็นที่ซึ่งหลายคนจะไม่นั่ง ?!?
เท่าที่สังเกต คนส่วนมากมักจะเลี่ยงการนั่งที่หัวโต๊ะอยู่แล้ว  ไม่ใช่เฉพาะที่โต๊ะอาหาร  แต่ในสถานที่อื่นๆ ด้วย เพราะเป็นธรรมเนียมที่ทราบกันดีว่า หัวโต๊ะเป็นที่ของเจ้าภาพหรือประธานในที่ประชุม 

หัวโต๊ะจึงเป็นที่ที่มีความพิเศษ   ซึ่งไม่ใช่ธรรมเนียมเฉพาะในเมืองไทยนะคะ ที่ไหนๆ ก็เป็นแบบนี้  ดังนั้น เวลาเห็นกลุ่มคนมานั่งรวมๆกันที่โต๊ะในห้องประชุมหรือห้องอาหาร  เรามักจะบอกได้ทันทีว่าใครคือคนสำคัญที่สุดในที่นั้นโดยไม่ต้องรู้จักกันมาก่อน แค่สังเกตจากตำแหน่งการนั่งที่ "หัวโต๊ะ"

การจะมี"หัวโต๊ะ" ได้นั้น  โต๊ะต้องมีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าค่ะ  หรือมีการจัดโต๊ะที่ใกล้เคียงกับลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า  คือมีส่วนกลางที่ทอดยาวออกไป   เพราะโต๊ะแบบอื่นๆ ไม่มีส่วนที่จะเรียกได้ว่าเป็น "หัว"   อย่างเช่นโต๊ะสี่เหลี่ยมจัตุรัสก็มีด้านเท่ากันทุกด้าน  พอๆกับโต๊ะกลมแบบจีน  ซึ่งคนนั่งทุกคนเท่าเทียมกันหมด

เวลาไปนั่งรับประทานอาหารที่เป็นโต๊ะแบบเสมอภาค  ก็สบายใจหน่อย  จะนั่งตรงไหนก็ได้    แต่ถ้าไปงานที่เป็นโต๊ะแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ก็เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตัวให้ถูกธรรมเนียมค่ะ 

งานเลี้ยงแบบนั่งโต๊ะยาวที่เป็นพิธีการ  มักจะมีแผนผังที่นั่งของแขกรับเชิญ  แสดงไว้ให้ทราบก่อนเดินเข้าห้องอาหาร  และเมื่อเข้าไปแล้วก็ยังจะมีชื่อวางไว้ตรงตำแหน่งที่นั่งให้ด้วย  เราก็เพียงแต่ไม่ลืมที่จะแวะดูแผนผังก่อนเดินเข้าไป  จะได้ไม่ต้องเสียเวลาวุ่นวายเดินหาเมื่อเข้าไปข้างในแล้ว

สำหรับงานที่ไม่ระบุชื่อไว้บนโต๊ะนั้น  ส่วนใหญ่เจ้าภาพจะกำหนดไว้ในใจแล้วว่าใครจะนั่งตรงไหน   จึงมักจะเชิญให้นั่งด้วยวาจา   แต่ถ้าได้ยินเจ้าภาพเชิญว่าให้เลือกที่นั่งตามสบาย    ก็ไม่ได้หมายความว่าอยากจะนั่งตรงไหนก็ได้   ถ้าเราไม่ใช่แขกคนสำคัญของงาน  อย่าได้อาจหาญเดินเข้าไปนั่งเก้าอี้หัวโต๊ะกับท้ายโต๊ะ  หรือเก้าอี้ใกล้หัวโต๊ะกับท้ายโต๊ะโดยเด็ดขาด    เลี่ยงส่วนนี้ไว้ก่อนเป็นดีที่สุด

หัวโต๊ะจะอยู่ตรงกันข้ามกับท้ายโต๊ะค่ะ  เราไม่เรียกว่าหางโต๊ะ  สองส่วนนี้เป็นที่นั่งของเจ้าภาพชายและเจ้าภาพหญิง  ส่วนเก้าอี้ถัดจากเจ้าภาพทั้งสอง จะเป็นที่นั่งของแขกคนสำคัญของงานค่ะ แขกที่สำคัญที่สุดจะนั่งเก้าอี้ทางขวามือของเจ้าภาพชาย  ที่สำคัญรองลงมาก็จะนั่งเก้าอี้ทางขวามือของเจ้าภาพหญิง

ถ้าคุณไปแบบเป็นคู่สามีภรรยากัน  เจ้าภาพที่รู้ธรรมเนียมจะไม่จัดให้นั่งด้วยกันหรอกนะคะ เพราะนอกจากการกินแล้วยังเป็นช่วงเวลาของการทำความรู้จักกับแขกคนอื่นๆ ที่มาร่วมงาน  หากเจ้าภาพไม่ได้กำหนดที่นั่ง  คุณสามารถนั่งด้วยกันได้ แต่ต้องอย่าลืมว่า แขกที่นั่งติดกับคุณทั้งสองคือผู้ที่คุณต้องพูดคุยทำความรู้จัก ไม่ใช่นั่งพูดคุยกันเองสองคน
ถ้าอยู่ในบ้าน พ่อบ้านที่เป็นหัวหน้าครอบครัวก็จะนั่งหัวโต๊ะ ท้ายโต๊ะก็จะเป็นของแม่บ้าน 

ส่วนที่จะบอกว่าตรงไหนหัวตรงไหนท้าย  ก็วัดกันที่ตำแหน่งของครัวค่ะ เพราะคุณแม่บ้านจะนั่งด้านที่ติดกับครัวมากที่สุด เพื่อความสะดวกในการดูแลเรื่องอาหารการกินให้กับสมาชิก  เพราะงานเลี้ยงที่บ้านจะมีแขกรับเชิญจำนวนไม่มาก  ทุกคนในโต๊ะอาหารสามารถพูดคุยกันได้อย่างทั่วถึง

ตำแหน่งที่นั่งทั้งหัวและท้ายโต๊ะ ก็ไม่ใช่เรื่องการให้เกียรติกันหรอกค่ะ แต่เป็นเรื่องของหน้าที่ความรับผิดชอบ  คือว่าใครที่นั่งตรงนั้น จะอยู่ตรงตำแหน่งที่มองเห็นความเป็นไปในโต๊ะอาหารได้อย่างทั่วถึงที่สุด  ทำให้สามารถควบคุมและดูแลความเป็นไปของงานเลี้ยง และจังหวะของกิจกรรมบนโต๊ะอาหารได้ดี  เช่น  รู้ว่าแขกมีท่าทีพอใจหรือไม่พอใจอย่างไร  คนที่นั่งติดกันมีการพูดคุยกันบ้างหรือเปล่า  ใครต้องการอะไร  ใครมีปัญหาในการกินอาหารบางอย่างหรือเปล่า ใครไม่กินอะไร  พร้อมที่จะเสริฟของหวานหรือยัง  ได้เวลาที่จะกล่าวสุนทรพจน์หรือยัง  จะเชิญใครกล่าวอะไรตอนไหน  ฯลฯ

หัวโต๊ะจึงต้องสงวนไว้สำหรับเจ้าภาพ  ส่วนผู้ที่นั่งหัวโต๊ะจะต้องเป็นคนจ่ายเงินด้วยหรือไม่นั้น   คำตอบก็คือ ถ้าเป็นเจ้าภาพจริงก็ต้องจ่ายค่ะ  

หมายเลขบันทึก: 77867เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2007 01:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 02:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อิอิ แต่ถ้านั่งโต๊ะเดียวกับป้าเจี๊ยบก็ไม่ต้องจ่ายใช่มั๊ยคะ  เพราะป้าเจี๊ยบจ่ายตลาดมาแล้ว  อยากชิมฝีมือป้าเจี๊ยบบ้างจังเลยค่ะ

  • แฮ่ะ ๆๆ ตอนนี้ไปไหนต้องจ่ายลูกเดียวอยู๋แล้ว เพราะแก่จัดกว่าเพื่อน
  • ถ้าไม่กลัวอ้วน ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้ชิม
  • คุณหนิงรู้มั๊ย เมื่อสัก 6-7  ปีที่แล้ว ป้าเจี๊ยบเคยคิดจะเปิดปริญญาโทเทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนพิการ เน้นวิจัยเพื่อหาเครื่องช่วยให้คนพิการเรียนรู้ได้ดีขึ้น นี่ถ้าทำจริง เราคงรู้จักกันแบบตัวเป็นๆ แล้วนะเนี่ย

เย้เย้ ดีใจจังเจอคนใจดีและสนใจคนพิการอีกแล้ว

โห...แต่ 6-7 ปีเลยหรอคะหนิงยังตามป้าเจี๊ยบไม่ทันหรอกค่ะ  หนิงเพิ่งมาทำงาน DSS จริงๆจังๆ เมื่อปลายปี 48 เองค่ะ แต่ทำใต้ดินแบบใจสั่งมา ตอนปี 47 ค่ะ

 

ทำวิจัยพัฒนาเกี่ยวกับการเรียนรู้ของคนพิการบ้างหรือยังคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท