เรื่องเล่าจากดงหลวง 21 สังคมชาวนาได้เปลี่ยนไป


“ชาวบ้านในสะเมิงบอกฮาว่า ชาวนารุ่นสุดท้ายคือรุ่นที่เราเข้าไปพัฒนา ต่อไปนี้ไม่มีชาวนาอีกแล้ว หมดแล้ว เพราะลูกหลานมันไม่กลับบ้านทำนาทำสวนแล้ว มันไปอยู่ในเมืองหมด ในนาในสวนมีแต่ลูกจ้างที่เป็นพม่า... เป็นชาวไทยภูเขา”

1.       18 /15 :  ไม่ใช่เลขท้าย หวยบนดิน ใต้ดิน อะไรนะครับ แต่ผมได้ตัวเลขมาจาก TV รายการหนึ่งนักวิชาการมหาวิทยาลัยเป็นผู้กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ตัวเลขสังคมเปลี่ยนไปแล้วครับว่า เปอร์เซ็นต์ของแรงงานมีถึง 18 % ของจำนวนประชากรของไทย ส่วนเลข 15 นั้นเป็นตัวเลขเปอร์เซ็นต์ของชาวนา ตัวเลขนี้อาจจะคลาดเคลื่อน แต่ที่ไม่ผิดพลาดคือจำนวนเปอร์เซ็นต์ของการขายแรงงานมากทวีขึ้นเหนือจำนวนอาชีพชาวนา   

นั่นหมายความว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านอาชีพของสังคมไทยขึ้นแล้ว  การเปลี่ยนแปลงนี้ผู้เขียนรอคอยนักวิชาการออกมาขยายความกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไรบ้างในแง่ทฤษฎีสังคมเศรษฐกิจและหมายรวมไปถึงการเมือง วัฒนธรรมและอื่นๆ...น่าสนใจมากครับ 

2.       ทำอย่างไรจึงจะให้เยาวชนหันหน้ากลับสู่บ้านเกิด: ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนเก่าที่เชียงใหม่ ที่เคยทำงานด้วยกันที่ อ.สะเมิง แต่ปัจจุบันเขาเป็นนักการเมืองท้องถิ่น วนเวียนอยู่บนสังเวียนนี้มานานเท่ากับผู้เขียนวนเวียนอยู่ในวงการงานพัฒนาสังคมนี่แหละ เขาชื่อ ขวัญ  เขาเกิดก่อนผู้เขียน 22 วัน เขามักพูดเล่นๆในหมู่เพื่อนฝูงว่า วันเกิดฮาทีไร มีคนฉลองหื้อฮาทั้งประเทศทุกปี๋... ไอ้ขวัญอู้กำเมืองใส่ผู้เขียน..ใช่ครับเพราะเขาเกิดวันที่ 5 ธันวาคม นี่...    

แต่วันนี้เขากล่าวแบบนักการเมืองที่เห็นปัญหาแล้วอยากเข้าไปแก้ปัญหาทำนองนั้น...เขากล่าวว่า..ชาวบ้านในสะเมิงบอกฮาว่า ชาวนารุ่นสุดท้ายคือรุ่นที่เราเข้าไปพัฒนา ต่อไปนี้ไม่มีชาวนาอีกแล้ว  หมดแล้ว เพราะลูกหลานมันไม่กลับบ้านทำนาทำสวนแล้ว มันไปอยู่ในเมืองหมด  ในนาในสวนมีแต่ลูกจ้างที่เป็นพม่า... เป็นชาวไทยภูเขา ?  ขวัญพูดต่อไปว่า ฮาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กรุ่นใหม่หันหน้ากลับบ้านเกิดรับช่วงต่อพ่อแม่...ขวัญยังชวนผู้เขียนให้กลับไปเชียงใหม่ช่วยกันหน่อย... 

3.        สังคมเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ แต่มนุษย์เป็นผู้บังคับทิศทางการเปลี่ยนแปลงนั้น: ผู้เขียนไม่ได้กล่าวอะไรกับขวัญมากนัก ได้แต่ เออ..เออ ทั้งที่อยากจะบอกว่า นี่คือผลผลิตของการพัฒนาประเทศในสังคมเสรีประชาธิปไตย ที่มีอุดมการณ์ทุนนิยมเป็นกระแสหลัก แบบนี้อย่างไรเล่า  เราเองก็มีส่วนอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย เพียงแต่เราพอมีสติไตร่ตรองและไม่เห็นด้วยกับทิศทางของการเปลี่ยนแปลงสังคมแบบนี้  นี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนวนเวียนอยู่ในอาชีพนี้ แม้ว่าจะไม่สามารถพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินได้  แต่ก็ขอเป็นเสี้ยวส่วนที่สะกิดต่อมสำนึกคนได้บ้าง เห็นด้วยกับ ขวัญที่มันคิดแก้ปัญหาตรงไปตรงมาแบบนั้น  แต่เราเองเห็นภาพมากมายของการแก้ปัญหา ที่ใช้เวลา ใช้คน ใช้ความพยายาม อะไรต่อมิอะไรมากมายที่จะไปสู้รบปรบมือกับกระแสหลักของสังคมได้

 4.       กินข้าวในส้วม: ทุกครั้งที่ผู้เขียนนั่งรถเข้าไปทำงานในดงหลวงต้องผ่านโรงเรียนบ้านต้นผึ้ง ปากทางเข้าเขต อ.ดงหลวง เป็นโรงเรียนมัธยมต้น ที่โรงเรียนจะมีที่จอดรถมอเตอร์ไซด์ยาวเหยียด แน่นอนมีรถมอเตอร์ไซด์หลากแบบ สีสันทั้งเก่าและใหม่ จอดเรียงกันดูเรียบร้อย เดาก็รู้ว่านั่นคือรถมอเตอร์ไซด์ของเด็กนักเรียนของโรงเรียนนี้และเป็นเด็กชาวบ้านในละแวกนั้น   

 เมื่อเดินทางไปถึงหมู่บ้านผู้เขียนปรารภกับผู้นำไทบรูคนหนึ่งว่า  พ่อหวัง...ผมผ่านโรงเรียนมาเห็นรถมอเตอร์ไซด์เต็มไปหมด  ทำให้ผมนึกถึงเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมาสมัยที่ทำงานที่ชุมชนในชนบทเชียงใหม่ เรื่องรถมอเตอร์ไซด์เป็นประเด็นใหญ่ที่พ่อแม่ผู้ปกครองหนักอกกันอยู่ เพราะเด็กมัธยมต้นมันร้องจะเอามอเตอร์ไซด์  ให้พ่อแม่ซื้อหามาให้  ไม่ได้ก็ไม่ยอมไปเรียน พ่อแม่ก็ต้องหามาให้ทั้งที่บางครอบครัวต้องกู้หนี้ยืมสินมาก็ยอมเพื่อลูก...แล้วก็ขับแข่งกัน ล้ม บาดเจ็บ หนักหน่อยก็พิการจนถึงเสียชีวิต  แต่สังคมก็เป็นแบบนั้นแก้ไม่ได้โดยภาพรวม  ยกเว้นบางครอบครัว...   

พ่อหวังบอกผู้เขียนว่า ..โอย..อาจารย์ที่นี่ก็เป็นอย่างนั้นหมดแล้ว  มันไม่ได้รถ มันก็เกเร ไม่ไปเรียนหนังสือ...นี่อาจารย์ลูกผมนะผมบอกมันว่า..พ่อน่ะไม่มีเงินทองนะลูก  ลูกก็เห็นว่าพ่อแม่เป็นอย่างไร  แค่เอาสตางค์ให้ลูกไปกินข้าวกลางวันพ่อก็ยากแสนยากที่จะหาให้ลูก ..อาจารย์..ผมน่ะบอกให้ลูกห่อข้าวไปกินกลางวันที่โรงเรียน..ต้องช่วยประหยัด เอาข้าวใส่ห่อไปกิน..มันก็อิดออด..จะไม่เอาไป  ผมก็ว่า ลูกไม่เอาข้าวไปกินแล้วจะกินอะไรเล่า  พ่อไม่มีเงินจะให้ลูก...ลูกเห็นใจพ่อแม่บ้างนะ...ผมดุมันมากเข้ามันก็ห่อข้าวไปกินครับ  แต่อาจารย์..วันหนึ่งผมถามมันว่า ..ลูก.เอาข้าวไปกินกับเพื่อน มีหลายคนไหมลูก....ลูกมันตอบผมว่า มีไม่กี่คนหรอก  แต่ผมกินคนเดียว ไม่ได้ไปกินรวมกับใคร..ทำไมล่ะลูก  พ่อหวังถามลูก  ลูกมันตอบผมว่า ก็ผมอายเขา..ผมเลยเอาห่อข้าวไปกินในส้วม...ไม่ให้เพื่อนเห็น..ผมอายมันครับ....   

 5.       สังคมเปลี่ยนโดยภาพรวมใหญ่ และภาพเล็ก: ผู้เขียนว่าเกือบจะไม่มีชนบทใดเป็นสังคมปิดอีกต่อไปแล้ว แม้ชุมชนชาวเขายอดดอยยังมีไฟฟ้าใช้  ที่ดงหลวงวัยรุ่นเกือบร้อยเปอรเซนต์จะผ่านการออกไปทำงานที่กรุงเทพมาแล้ว และไปไปมามาก็มาก ที่กลับมาแบบถาวรก็มีแต่น้อย ยังไม่เคยเก็บสถิติพวกนี้ และแน่นอนวัยรุ่นที่กลับมาบ้านก็จะรู้ทันทีในเรื่องการแต่งตัว เสื้อผ้า ทรงผม การพูดจา การฟังเพลง  ประเด็นการคุยกัน...หากเอาหัวมาส่องดูข้างในก็คงจะรู้ว่าระบบคิดของเขาคงจะมองไปที่เงินทอง การอยากมีอยากได้วัตถุสิ่งของต่างๆ   

 ช่วงหนึ่งผู้เขียนรับลูกหลานชาวไทโซ่ซึ่งเรียนจบปริญญาตรีมาทำงานด้วย  คาดหวังว่าความเป็นท้องถิ่นจะช่วยงานได้มาก  แต่ผิดหวังครับผู้เขียนก็ชื่นชมครอบครัวนี้มากและยกตัวอย่างการดิ้นรนของครอบครัวนี้บ่อยครั้ง  ปัญหาวัยรุ่นเริ่มมีมากขึ้น  แต่ยังไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับสังคมเมือง  เพราะสังคมผู้ใหญ่และวัฒนธรรมยังคงครอบบรรยากาศชุมชนอยู่มาก   อย่างที่เราคุยกันบ่อยๆว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ระบบการศึกษาของเรานี่เองที่ให้ความรู้แต่ไม่ได้สร้างสำนึกและเสริมคุณค่าวัฒนธรรมประเพณีของเราที่ดีๆ  ตรงข้ามความรู้ที่เรียนเป็นเรื่องไกลตัวและไม่สอดคล้องกับวิถีที่เขาดำรงอยู่..เมื่อเป็นเช่นนี้กรอบความคิดเด็กก็ไปไกลจากชุมชน  มองไม่เห็นชุมชนอีกต่อไป อย่างที่กล่าวกันว่า 

สายตาอาจจะเห็นแต่ไม่เข้าใจคุณค่าชุมชนแห่งเกิด ไม่สำเหนียกในมาตุภูมิ นี่คือผลของระบบการศึกษาเรา...

หมายเลขบันทึก: 77860เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2007 00:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • อยากให้ทุกๆคนรักถิ่นฐานบ้านเกิด
  • ทำอย่างไรดีครับ
  • ขอบคุณมากครับ ที่มีเรื่องดีๆให้อ่าน
  • เป็นเรื่องใหญ่ ที่มีคนทำงานด้านนี้ไม่มากนัก (พูดมากกว่า) แม้งานที่ผมทำก็แตะต้องเรื่องนี้น้อยไปหน่อย
  • จากประสบการณ์งานเยาวชนเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะเขาคืออนาคต งานพัฒนาชนบทส่วนใหญ่ทำกิจกรรมกับผู้ใหญ่ที่มีครอบครัวแล้ว
  • เราเคยจัดค่ายเยาวชนฮักถิ่นที่มหาสารคาม ที่สกลนคร ที่มุกดาหาร เราเห็นภาพเยาวชนกับคนเฒ่าคนแก่จากชุมชนมานั่งเรียนรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติด้วยกัน เดินป่าด้วยกัน ผู้เฒ่าสอนเด็ก แล้วให้เด็กสะท้อนสิ่งที่เขาเรียน วาดภาพสิ่งที่เขาเรียนรู้จากป่า มันสวยงามมากๆที่เห็นภาพการเรียนรู้ระหว่าง generation ที่มิใช่ห้องเรียนและมิใช่ครู แต่เป็นลุงเป็นป้าเขาเอง
  • หากครูที่โรงเรียนดัดแปลงหลักสูตรออกจากห้องเรียนมากขึ้นแล้วดึงเอาชาวบ้านผู้รู้มาช่วยก็จะเกิดสัมพันธภาพใหม่ขึ้นระหว่างเด็กกับผู้เฒ่าในมิติการศึกษา เมื่อมีภาพเหล่านี้ วัฒนธรรม ประเพณีต่างก็จะแทรกเข้ามาระหว่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นเอง
  • หากผู้เฒ่ามีทักษะในการพูดมากขึ้น อย่างที่คุณหมอสมศักดิ์พูดแล้สเด้กเป็นเรือนร้อยร้องให้ออกมาเพราะอะไร....ตรงนั้นสำนึกบางอย่างมันเกิดขึ้นกับเด็ก อย่างน้อยที่สุดเด้กจะจำวันนั้นติดตัวไป และจะ Recall ออกมาเมื่อเวลาผ่านไป เพราะเป็นความทรงจำที่ฝังอยู่ใน ส่วนลึกของจิตใจ และดีงาม..ครับ
  • ผมว่ามีวิธีการอีกมากมาย ครับ

เหว่าเคยออกสนามประเมินโครงการสระน้ำในไร่นา (มูลนิธิวิเทศพัฒนา) ทั้งภาคเหนือ และภาคอีสาน ซึ่งมีแทบทุกจังหวัดค่ะ

อ. สงวน แก ชอบถามคำถามว่า...

- ต่อไปจะทำนามั้ย

- ลูกจะกลับมาทำนาหรือเปล่า

- มรดกที่นา ถ้าจะยกให้ลูก ลูกจะทำนาต่อไปมั้ย

เหว่าไม่รู้หรอกนะคะ ว่า อ. สงวน ท่านคิดอะไร หรือไม่ก็คงห่วงอาชีพพชาวนามั้งค่ะ

แต่พออ่านงานชิ้นนี้แล้ว ก็มีโอกาสที่จะเป็นจริงนะคะ ที่ ชาวนารุ่นสุดท้ายกำลังจะหมดไป

แต่เหว่าก็ยังหลงไหล ละคร ทองกวาว กับ พี่คล้าว อยู่เลย ยังอยากให้มีบรรยกาศ อย่างนั้นหลงเหลืออยู่นะคะ

กาเหว่าครับ.. เราไม่สามารถห้ามการเปลี่ยนแปลงได้ เพียงแต่ให้ข้อมูลกับชาวบ้านที่เรารับผิดชอบอยู่ว่าอะไรคืออะไร และสร้างเกราะป้องกันตัวเองด้วยระบบพึ่งตัวเองให้มากที่สุด พึ่งพาอาศัยกันเองให้มากที่สุด สังคมไม่มีทางย้อนกลับ แต่การก้าวไปข้างหน้าอย่างไรจึงจะอยู่รอดได้  สติ กับการรู้เท่าทัน และสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนที่ด้วย  พี่เองก็ชอบบรรยากาศเก่าๆ เพราะเรามาจากภูมิหลังเช่นนั้น

นางสาวสุภาวดี ปิงแก้ว

หนูเรียนเรื่องการจัดการการพัฒนาสังคมพอดีค่ะเลยอยากติกต่อเพื่อการขอความช่วยเหลือหรือขอคำแนะนำกับเรื่องที่เรียนเพื่อนำไปพัฒนาปนะเทศต่อไปค่ะฝากด้วยนะคะ

ขอบค่ณค่ะ

ยินดีให้เวลาปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนกันในเรื่องนี้ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท