BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เจ๊ก จีน


เจ๊ก จีน

ใกล้ถึงตรุษจีนแล้ว ก็เลยเสนอคำว่า เจ๊ก จีน... ซึ่งคำว่า จีน ผู้เขียนเคยพบในคัมภีร์สมันตาปสาทิกา ซึ่งเป็นคัมภีร์อรรถกถาวินัย (ขี้เกียจค้นเล่มและหน้า แต่ยืนยันได้ว่ามีแน่นอน) ในคำว่า จีนวตฺถํ แปลว่า ผ้าเมืองจีน... นั่นคือคำว่า จีน ทับศัพท์ดังที่เราใช้อยู่ในภาษาไทย...

ส่วนคำว่า เจ๊ก ไม่แน่ใจว่าเคยมีหรือไม่ในคัมภีร์ แต่เคยอ่านบันทึกเทศนาปุจฉาวิสัชชนาของปราชญ์บาลีรุ่นเก่าตอนหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนขอเลียนแบบมาแต่งนิทานเล่าต่อในทำนองว่า..

ปรวาทกาจารย์ คำว่า เจ๊ก มีความหมายหรือไม่ ลองอธิบายมาดู

สกวาทกาจารย์ คำว่า เจ๊ก มีความหมายลึกซึ้ง... เจ๊ก บาลีว่า เจโก ดังอรรถวิเคราะห์ว่า จินาตีติ เจโก ผู้ใดย่อมสะสม เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า เจ๊ก (ผู้สะสม)...เจ๊ก หรือ เจโก มาจากรากศัพท์ว่า จิ ในความสะสม..อธิบายว่าสะสมทรัพย์สมบัติจนร่ำรวย ดังนั้น เจ๊กจึงไม่จนเหมือนลาว....อ๋อ แล้วคำว่า ลาว มีความหมายแล้วอธิบายได้หรือไม่

ปรวาทกาจารย์ คำว่า ลาว ก็มีความหมายและอธิบายได้...ลาว มาจาก ลุ รากศัพท์ มีอรรถวิเคราะห์ว่า ลุนาตีติ ลาโว ผู้ใดย่อมตัด เหตุนั้น ผู้นั้น ชื่อว่า ลาว (ผู้ตัด) ดังนี้

สกวาทกาจารย์ ลาว แปลว่า ผู้ตัด...ตัดอะไรบอกหน่อยซิ

ปรวาทกาจารย์ ตัดเปียเจ๊ก

.....ฯลฯ....

อธิบายว่า ท่านนักเทศน์สองรูปนี้ รูปหนึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ส่วนอีกรูปหนึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายลาว จึงมาเล่นสำนวนกันบนธรรมมาสน์..

.....

ผู้เขียนอ่านบันทึกนี้ตอนแรกเริ่มเรียนบาลี ก็ยกย่องเชาว์ปัญญาของท่านนักเทศน์ทั้งสอง แต่ไม่คิดว่า คำว่า เจ๊ก จะมาจาก จิ รากศัพท์ซึ่งแปลว่า สะสม จริงๆ แต่เมื่อมาเจอคำว่า จีนวตฺถํ ซึ่งแปลว่า ผ้าเมืองจีน ในคัมภีร์ก็เกิดความไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะคำว่า จีน ถ้าจะตั้งวิเคราะห์ตามนัยเดียวกับ เจ๊ก ก็วิเคราะห์ได้เหมือนกัน ดังต่อไปนี้

จินาตีติ เจโก ผู้ใดย่อมสะสม เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า เจ๊ก

จินาตีติ จีโน ผู้ใดย่อมสะสม เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า จีน

ดังนั้น เจ๊ก และ จีน จึงแปลเหมือนกันเพราะมีรากศัพท์และความหมายเหมือนกัน ต่างกันแต่วิธีการปรุงศัพท์ กล่าวคือ

เจโก มาจาก จิ รากศัพท์ ลง ณฺวุ ปัจจัย (จิ + ณฺวุ) แปลงสระอิ ที่ จิ เป็นสระเอ (จิ - เจ) แล้วก็แปลง ณฺวุ เป็น อกะ (ณฺวุ - อกะ ) ผสมกันอีกครั้งก็ได้เป็น เจกะ (เจ + อกะ = เจกะ)

จีโน มาจาก จิ รากศัพท์ ลง ยุ ปัจจัย (จิ + ยุ) ทีฆะสระอี ที่ จิ เป็นสระอี (จิ - จี) แล้วก็แปลง ยุ เป็น อนะ (ยุ - อนะ) ผสมกันอีกครั้งก็ได้เป็น จีนะ (จี + อนะ = จีนะ)

ตามนัยนี้ ผู้มีเชื้อสายจีนหรืเป็นเจ๊ก ควรจะพูมใจเพราะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้หมั่นสะสมจนร่ำรวยขึ้นมาได้...

หมายเหตุ

ผู้เขียนก็มีเชื้อสายจีน เดิมแซ่ตัน (ตั้ง) หลุมศพบรรพบุรุษยังคงมีอยู่

คำสำคัญ (Tags): #เจ๊ก#จีน
หมายเลขบันทึก: 77816เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2007 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)
  • เป็นความรู้ใหม่  พวกเราพูดกันติดปาก  ผมเพิ่งทราบว่ามันมีความหมาย  นึกว่าพูดกันแบบลอยๆครับหลวงพี่ 
  • นมัสการ หลวงพี่  ครับผม

ท่าน ผอ.

เล่าเล่นๆ นะครับ

จีนวัตถัง แปลว่า ผ้าเมืองจีน ..มีอยู่จริง

ส่วนการวิเคราะห์ศัพท์ไม่แน่ใจว่ามีอยู่ในคัมภีร์นะครับ

เจริญพร 

555...พระอาจารย์ครับ...

ว่าแล้วต้องไม่แน่ใจว่ามีอยู่ในคัมภีร์หรือไม่...

 

สมัยที่ผมช่วยเขาจัดเวที สภาประชาชนคนพิดโลก 4-5 ปีก่อน....ในเวทีมีคนใช้พูดว่า เจ๊ก ขึ้นมาออกอากาศ...

 

พระอาจารย์เชื่อมั้ยครับ...ว่ามีจดหมายร้องเรียนส่งมาให้เราว่า...ไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่...ที่จะเรียกเขาเหล่าชาวเชื้อสายจีนว่าเป็น เจ๊ก...คล้ายกับว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ประมาณนั้น...

 

เลยอยากให้เขาเข้ามาดูความหมายที่พระอาจารย์แปลกันน่ะครับ....555

ท่านพระมหา ครับ

แล้วทำไมคนจีนไม่ชอบคำว่า เจ๊ก ครับ

และเกี่ยวกับการนับเลขหรือไม่

ผมเคยได้ยินมาว่าคนจีนนับเลขหนึ่ง ที่คนไทยได้ยินว่า เจ๊ก ก็เลยเรียกว่า "เจ๊ก"

ไม่ทราบว่าเกี่ยว ไม่เกี่ยวกันอย่างไร

กราบนมัสการ

คุณโยมขำ....

บางครั้งภาษาขึ้นอยู่กับการ เล่นคำ และ การให้ความหมาย เช่น เรื่องนรสิงห์ ซึ่งเคยมีการเล่นคำ จาก นรกาฬ ซึ่งหมายถึงพญายม มาเป็น นรกานต์ ซึ่งแปลว่า ที่รักของคน ..ตามที่เราเคยคุยกันมา....

เจ๊ก จีน ก็เหมือนกัน สามารถเล่นคำมาใช้ความหมายใหม่ได้...

......

อาจารย์ ดร.แสวง...

เรื่องการนับเลขนั้น พอรู้ว่า เจ๊ก หนอ ซา ซี่...

แต่ประเด็นว่า ความไม่พอใจเริ่มต้นจากนี้ ไม่เคยได้ฟัง... นับว่าอาจารย์ให้ความเห็นใหม่ต่ออาตมา ครับ..

เจริญพร

ครั้งนี้ต้องขอเห็นแย้งกับพระอาจารย์แล้วละครับ

 

คำว่า  เจ๊ก  น่าจะมาจากภาษาจีนแต้จิ๋วว่า  เจ็ก(อาเจ็ก) ซึ่งแปลว่า อาผู้ชาย(น้องชายพ่อ)

 

เช่นเดียวกับ

 

แป๊ะ  มาจากคำว่า  แปะ(อาแปะ) หรือ ลุง(พี่ชายพ่อ)

 

ซิ้ม  มาจากคำว่า ซิ่ม(อาซิ่ม) หรือ อาสะใภ้(ภรรยาอาเจ็ก)

 

แต่คนไทยเราเรียกเสียงเพี้ยนไป และนำมาเรียกในเชิงดูถูก ทั้งๆที่ บ่มิไก๊(ไม่มีอะไร)

 

ส่วนคำว่า จีน ก็น่าจะเป็นคำมาจาก (ราชวงศ์) จิ๋น ซึ่งเป็นรากศัพท์ในภาษาอังกฤษ China

 

ผิดถูกอย่างไร ต้องขออภัยนะครับ 

 

คุณหมอบุญชัย

ได้อีกประเด็น เจ๊ก แปลว่า อา ในภาษาแต้จิ๋ว..

ส่วน คำว่า จีน มาจากราชวงศ์ จิ๋น และภาษาปะกิตใช้เป็น China นั่นก็เคยได้ฟังมาเหมือนกันครับ...

แต่ จีนวตฺถํ ซึ่งแปลว่า ผ้าเมืองจีน ก็ใช้เลียนเสียงมาจากคำว่า จิ๋น เหมือนกัน คงจะทำนองนี้...

ส่วนการวิเคราะห์ศัพท์ตามนัยบาลีภาษา เป็นเพียงการแสดงเชาว์ปัญญาของผู้รู้บาลีในอดีตเท่านั้น ครับ

เจริญพร

ได้ความรู้ใหม่ครับ

คำๆ เดียวสื่อความหมายได้หลายอย่างจริงๆ

ยังงี้ไม่แปลกเลยที่คนทั่วไปจะเข้าใจไม่ตรงกัน

มาช่วยยืนยันคุณ Boonchai Theerakarn  ครับ

คุณแม่ผมที่เป็นจีนก็ว่ามาจากภาษาจีนเหมือนที่อธิบายข้างต้นครับ

P

ด้วยความยินดี ครับ...

 ความจริงมีสิ่งเดียว แต่ผู้ (อวด) รู้ชอบทำให้มีหลายความหมาย 

เจริญพร

พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี

ได้เข้ามาอ่านในบล็อกนี้โดยบังเอิญทางกูเกิล  รู้สึกประทับใจมากครับ    ไม่ทราบว่าพระอาจารย์พอจะมี msn ไหมคับ  อยากจะได้ความรู้จากพระอาจารย์เพิ่มขึ้นคับ   สุดท้ายนี้ขอคุกเข่าเป็นศิษย์ของอาจารย์ด้วยคนหนึ่งคับ.........

                     กราบคารวะมาด้วยความเคารพอย่างสูง

ท่านมหาวิรยะ

ยินดีที่ได้รู้จักครับ....

ท่านมหาฯ คลิกที่  อีเมล์ติดต่อ ใต้คำว่า BM.chaiwut ที่รูปถ่ายด้านบนขวามือ ก็สามารถติดต่อกับผมได้ ครับ

นับถือ

ท่านพระมหาชัยวุธ

อีกประเด็นตามหลักของภาษาที่ผมเคยไปเรียนมา คำว่า China ในภาษาอังกฤษ เลียนมาจาก เสียงภาษาจีน ที่แปลว่า ประเทศที่เป็นศูนย์กลางของโลก ที่ออกเสียงประมาณว่า "จินนะ" หรือถ้าแยกคำในภาษาญี่ปุ่นว่า "จือ คุนิ" ที่เขียนด้วยอักษรตัวเคียวกัน

ผมเลยสงสัยว่า รากศัพท์ ที่แปลว่า "ศูนย์กลาง" มาสอดคล้องกับคำว่า "สะสม" อย่างไรครับ

เป็นความตั้งใจ หรือบังเอิญครับ

กราบนมัสการ

อาจารย์ ดร.แสวง

ยินดีครับ เป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งได้ยิน...

อันที่จริง จีน หรือ เจ๊ก ในความหมายว่า ผู้สะสม เป็นเพียง เชาว์ปัญญาของผู้รู้ทางบาลีสร้างขึ้นมา ทำนองว่า ลากคำเข้ามาไว้ในวัด ซึ่งเรื่องนี้ อาตมาเคยวิจารณ์ไว้บางแล้วใน ตาย .....

ดังนั้น ศูนย์กลาง กับ สะสม คงจะไม่เกี่ยวกัน...แต่ ถ้าจะอธิบายให้เกี่ยวกันก็ต้องใช้การอ้างเหตุผล...

....ธรรมดาว่า ธรรมชาติที่จะเป็น ศูนย์กลาง ได้นั้น เกิดขึ้น ๒ กรณี คือ จากสิ่งที่กระจัดกระจาย เรี่ยรายทั่วไป ก็ค่อยๆ รวมเข้ามายังจุดหนึ่ง ซึ่งจุดหนึ่งที่ว่านี้แหละ เรียกว่า ศูนย์กลาง นั่นคือ จะเป็นศูนย์กลางได้ก็ต้องสะสมสิ่งที่กระจัดกระจายเข้ามาไว้รวมกัน...นี้กรณีแรก

...กรณีที่สอง ถ้าไม่มี หนึ่ง คือเริ่มต้นแล้ว สิ่งต่างๆ ก็มีไม่ได้ ดังนั้น หนึ่งจึงกระจายหรือขยายออกไปสู่ความหลากหลาย... หนึ่ง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นก็จะเป็นศูนย์กลางของสิ่งต่างๆ เพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างกระจายและขยายออกไป... ดังนั้น หนึ่ง จึงเรียกว่า เป็นที่สะสมได้ เพราะสะสมสิ่งที่จะต้องกระจายหรือขยายออกไปเป็นเบื้องต้น...

อธิบายเล่นๆ นะครับ คิดเอง ไม่ได้มาจากตำราใด ทำนองที่เค้าว่าไว้ ความจริงต้องมีเหตุผล แต่เหตุผลมิใช่ความจริง (.......)

เจริญพร

555...พระอาจารย์...นี่กระมังที่เขาว่า...

 

ฝึกเพลงกระบี่...ต้องมีซือแป๋ที่ยอดเยี่ยม...

 

ผนึกกำลังใช้กระบวนท่าได้สวยงามหมดจด...

 

เพลงกระบี่สุดยอด...คนหลอมรวมกับกระบี่...

 

เพลงกระบี่ยอดเยี่ยม...ใช้กระบวนท่ากระบี่ต่อเนื่องดุจสายน้ำ...

 

เพลงกระบี่สูงสุด...ใช้ออก...รั้งไว้...ตามใจปรารถนา...

 

ยอดฝีมือกระบี่...ฝึกถึงขั้น...ไร้กระบี่....กระบี่อยู่ที่ใจ...

 

ยอดฝีมือที่แท้จริง...ไร้กระบี่...ไร้ใจ...

 

 มีกระบวนท่า...สู่...ไร้กระบวนท่า...

 

55555

 

คุณโยมขำ....

อาตมาประหนึ่งว่า คล้ายๆ จะเข้าใจที่คุณโยมบอกกล่าว...

แต่..ประหนึ่งว่า มิอาจจะเข้าใจในสิ่งที่อาตมาบอกว่า คล้ายๆ จะเข้าใจ...(...........)

เจริญพร

พระอาจารย์คับ ผมอยากทราบความหมายของคำว่า"เกจิ"ด้วยคับ เพราะในภาษาบาลีแปลว่าบางคนเท่านั้น แต่ในวงการต่างๆ นำไปใช้กับผู้ที่เป็นยอดฝีมือต่างๆ เช่น เกจิอาจารย์  เกจิวิเคราะห์บอล   อยากทราบว่าที่หมายถึงอย่างนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรคับ

กราบขอบพระคุณคับ

ท่านมหาวิริยะ

กจิ เป็นสัพพนาม ซึ่งท่านมหาฯ คงจะเข้าใจ ไม่ต้องอธิบาย...

ในคำภีร์บาลี บางครั้ง มีความเห็นแย้ง เราก็มักใช้คำว่า เกจิ ขึ้นมาเป็นประธานเพื่อเปิดเลขนอก (นอกจาก เกจิ แล้ว ก็มี ปเร อญฺเญ เท่าที่พอนึกได้...แล้วเติมนามนาม กิริยาเข้าไป)

...ต่อมาคำนี้ก็ มีผู้นำมาในสำนวนไทย เมื่อได้รับความนิยมก็นำไปใช้ในวงการอื่นๆ...

ดังนั้น คำว่า เกจิ ก็หมายถึง ผู้แสดงความคิดเห็นในบางสิ่งบางอย่างเท่านั้นเอง..

นับถือ 

อ๋อ อย่างนี้นี่เอง ขอบพระคุณ อ.มากคับ  ผมมีศัพท์ๆหนึ่ง คิดดูแล้วก็ขำดีเหมือนกันคับ  ลองนำมาให้อ.พิจารณาดูคับว่าถูกหรือไม่ 

คำว่า"หมูๆ" หมายถึง ทำได้อย่างง่ายๆ  น่าจะมาจากคำว่า สุกรํ นะคับ สุ + กร  สำนวนไทยมาแผลงเป็น สุกรหมูไปเลย   ผมไม่แน่ใจว่าใช่อย่างนี้หรือไม่ แต่คิดว่าน่าจะมาจากอย่างนี่นะคับ

อ้อ อีกคำถามหนึ่ง ผมเข้ามาในเว็บนี้หลายครั้งแล้ว อยากจะทราบว่าใครเป็นผู้เขียนเว็บนี้ขึ้นมาคับ  ในนี้เห็นมีแต่ระดับอาจารย์กันทั้งนั้นเลย ไม่รู้จะถามใครก็เลยถามพระอาจารย์คับ  แต่ขอชื่นชมเว็บนี้มีแต่สาระทั้งนั้น ขอยกนิ้วให้เป็นเว็บปัญญาชนเลยคับ

                  กราบคารวะมาด้วยความเคารพอย่างสูง

ท่านมหาฯ

สุ (ง่าย) กร (กระทำ) ดังนั้น สุกร แปลว่า กระทำง่าย ..

สุกร แปลว่า หมู... เรื่อง หมูๆ คือ เรื่องกระทำง่ายๆ ...พอฟังได้ (..............)

รายละเอียดเจ้าของเวบและผู้ดำเนินการ ลองดูหน้าแรก จะมีอยู่ หรือลองคลิกด้านๆ บนๆ ของหน้าแรก อาจมีสิ่งที่สงสัยอยู่..

นับถือ

คับ ขอบพระคุณมากคับ  พอจะรู้แล้วว่าใครเขียนเว็บนี้ แล้ว อ.เป็นที่รู้จักในนี้มะคับ  (แบบว่าดังไหมคับ)

เอ..ปกติแล้ว อ.จะมาเช็คเมล์นี้ประมาณกี่โมงบ้างคับ  เผื่อว่าผมจะได้กะเวลาถามได้โดยไม่รบกวนเวลาของ อ.คับ

ท่านมหาวิริยะ

ติดต่อทางอิเมล์ก็ได้

อีเมลติดต่อ

คลิกข้างบนแล้วก็จะติดต่อได้

นับถือ

วันนี้ได้เข้ามาหาไวยากรณ์บาลี เรื่องการศึกษาคำภีร์ไวยากรณ์ในประเทศไทย หาไปหามาก็ไม่เจอ แต่กลับมาเจื่อเรื่องของ "จีน กับ หมู่" เลยได้ความรู้ไปเหมือนกัน.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท