แผนที่เดินทาง (Roadmap) เศรษฐกิจพอเพียง (1)


การวางฐานะของเศรษฐกิจพอเพียงให้ชัดเจนว่า เป็น “เศรษฐกิจทางเลือก” ซึ่งเท่ากับว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นคู่เปรียบของ “โลกาภิวัตน์” ไม่ใช่ทักษิโณมิกส์

เมื่อวารสาร The Economist  นำ ทักษิโณมิกส์ ไปเปรียบเทียบกับ เศรษฐกิจพอเพียง  ก็เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการขยับตัวของนักคิดนักวิชาการของประเทศอีกครั้ง   หลังจากมีการขยับตัวแบบรวมพลังมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2541-42   และเรามองว่าครั้งนี้กำลังจะเกิดขบวนการ จัดการความรู้  กันครั้งใหญ่   (แม้ว่าจะไม่ได้ใช้ศัพท์นี้ในที่ประชุม) 

แนวทางหนึ่งของการเคลื่อนขบวน คือ  แนวทางที่ สกว.ทำอยู่ในงาน area base  20 จังหวัด ซึ่งนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดหนึ่ง  (อาจจะเพิ่มจังหวัด ?)    ที่คุยกันก็คือ  นอกจากชุมชนท้องถิ่นแล้ว  ยังต้องสร้างพลังเครือข่ายในภาคธุรกิจ   ในภาคครัวเรือนคนชั้นกลาง ในสถาบันการศึกษา และในกระทรวงต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเพียงเรื่องของสังคมชนบท  (นักคิดนักวิชาการหลายคนก็ยังเข้าใจผิดเช่นนั้น) 

ทักษิโณมิกส์ เป็นนโยบายเศรษฐกิจในประเทศ แต่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญา แนวคิด ที่ต้องแปลงเป็นนโยบายหรือภาคปฏิบัติ

เสน่ห์  จามริก (2549)  เห็นว่า  การมองเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเพียงตัวถ่วงดุลการพัฒนาเศรษฐกิจให้พอดี  ไม่เกินตัว  ไม่เร็วเกินไป  จะทำให้ไม่อาจปฏิรูปปรับปรุงเศรษฐกิจการเมืองไทยได้  หากมุ่งหวังให้เศรษฐกิจพอเพียง ปลดปล่อย เศรษฐกิจการเมืองไทย  จะต้องยึดถือปฏิบัติในฐานะ หลักการองค์รวมและสากล   ครอบคลุมนโยบายและยุทธศาสตร์โดยรวม  เศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักการที่ประชาชนต้องคิดค้นแสวงหาร่วมกันเพื่อความเป็นอิสรเสรีจากกระแสโลกาภิวัตน์       

แนวทางใหม่ที่หลายคนเห็นว่าควรจะทำ คือ การวางฐานะของเศรษฐกิจพอเพียงให้ชัดเจนว่า เป็น เศรษฐกิจทางเลือก ซึ่งเท่ากับว่า เศรษฐกิจพอเพียง เป็นคู่เปรียบของ โลกาภิวัตน์  ไม่ใช่ทักษิโณมิกส์  โดยจะเป็นเครือข่ายพันธมิตรกับแนวทางเศรษฐกิจทางเลือกที่มีอยู่ทั่วโลก   ได้แก่  ธนาคารประชาชน (Grameen Bank) ของบังคลาเทศ   ขบวนการสรรโวทัยของศรีลังกา  ระบบเศรษฐกิจแบบคานธี (Gandhian  Economics) เศรษฐกิจที่ว่าด้วยความสุข (Economics of Happiness) ของภูฏาน  เศรษฐกิจอิสลาม (Islamic Economics) ของมาเลเซีย และ อินโดนีเซีย  เศรษฐกิจสมานฉันท์ (Solidarity Economy) ของประเทศลาตินอเมริกา เศรษฐศาสตร์สีเขียว (Green Economics) ในยุโรป  และ เศรษฐศาสตร์มนุษย์นิยม (Humanistic Economics) ตามแนวคิดของ Schumacher  ที่มีพื้นฐานอยู่ที่ประเทศอังกฤษและมีเครือข่ายทั่วโลก  เป็นต้น   

โดยส่วนตัว สิ่งที่เราเห็นว่าสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ  นอกจากเคลื่อนขบวนในแนวระนาบของเครือข่ายระหว่างประเทศ  และในแนวระนาบภายในเครือข่ายต่างๆในประเทศแล้ว  สิ่งที่ต้องทำคือ  การเชื่อมในแนวดิ่ง  ระหว่างภาคส่วนต่างๆในระดับจุลภาค สู่นโยบายและภาพรวมในระดับมหภาค 

นักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งบอกว่า  ยังไม่เห็นการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจอะไรที่ชัดเจนที่ยืนอยู่บนหลักเศรษฐกิจพอเพียง  (แต่เราคิดว่าการรับลูกเรื่อง สวัสดิการชุมชน ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ น่าจะเป็นหนึ่งในนี้)  

ผู้รู้อีกท่านบอกว่า   แค่รัฐมนตรีไม่ต้องซื้อรถประจำตำแหน่งหรูๆคันใหม่ และข้าราชการก็ไม่จำเป็นต้องนั่งเครื่องบินชั้นเฟิร์สทคลาส  ก็เป็นรูปธรรมหนึ่งที่ทำได้ง่ายๆและควรทำ 

งานนี้มีเรื่องต้องทำต่ออีกมาก

หมายเลขบันทึก: 77736เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2007 08:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • เพิ่งจะมีโอกาสได้แวะมาอ่านค่ะอาจารย์  เสียดายจังที่พลาดบทความดีๆไปได้อย่างไร  เนื่องจากเวลาอันจำกัด  ทำให้ต้องสุ่มอ่านบางบันทึกค่ะ
  • เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง  ทางต่างจังหวัดก็เห็นนำคำว่า "พอเพียง" มาใช้กันอย่างแพร่หลาย
  • แต่อยากจะรู้ว่า แล้วบรรดาผู้บริหารต่างๆได้ลองทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงแล้วหรือยัง....
  • แล้วจะแวะมาชื่นชมผลงานดีๆของอาจารย์อีกค่ะ

ดิฉันคิดว่า  คนใหญ่คนโตต้องเป็นตัวอย่างของความดีในทุกๆเรื่องค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ลูกหว้าที่มาเยี่ยมเยียนและเป็นกำลังใจ   เราคงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันผ่าน blog นะคะ

 

บันทึกนี้ของอาจารย์ดีมากเชียวครับ อยากให้คนไทยได้มีโอกาสอ่านกันเยอะๆ ครับ

ถ้า "เศรษฐกิจพอเพียง" ยังอยู่ที่เปรียบเทียบกับ "ทักษิโณมิกส์" โดยที่ "เศรษฐกิจพอเพียง" ยังอยู่ในระดับ ปรัชญา แนวความคิด ในขณะที่ "ทักษิโณมิกส์" เป็นนโยบาย ไม่ช้าก็เร็วคนก็จะเริ่มเห็นว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองที่ไม่มีผลเชิงปฎิบัติ

ถ้าจะผลักดัน "เศรษฐกิจพอเพียง" ให้ชัดเจน ผมเห็นด้วยว่าต้องพัฒนาให้เป็น "เศรษฐกิจทางเลือก" อยู่ในเครือข่ายเดียวกับเศรษฐกิจทางเลือกต่างๆ ที่มีในโลก ดังที่อาจารย์ยกตัวอย่าง และมีนโยบายที่สามารถปฎิบัติได้อย่างชัดเจนครับ

ขอบคุณอาจารย์ธวัชชัยมากค่ะ  

มีความคืบหน้าอย่างไรจะรายงานให้ทราบนะคะ เผื่อว่าจะได้รับฟังความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากอาจารย์และชาว blog ด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท