juju
นางสาว กาญจนา เทียมพิทักษ์

ไอทีตามวิถีพอเพียง


พอเพียง

มองกระแสไอทีผ่านวิถีพอเพียง   (sufficiency economy & Information Technology)

         ย้อนไปเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว หลายท่านคงคุ้นเคยกับข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์หน้า 1 ที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องของอุบัติเหตุบนท้องถนน ข่าวการโกงกินของนักการเมือง หรือแม้กระทั่งการฆาตกรรมที่มีสาเหตุมาจากการขัดผลประโยชน์หรือเรื่องชู้สาว แต่ทว่าทุกวันนี้ข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัฒน์  ซึ่งข่าวเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี อะไร และเพราะเหตุใดสังคมเราจึงเปลี่ยนแปลงไปในทางเช่นนี้

         คงต้องยอมรับว่าความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ของมนุษย์นั้น ส่งผลให้มนุษย์ได้รับความสะดวกสบายและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าอดีตมากมายนัก นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การผลิตเป็นจำนวนมาก(mass product) ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งในตอนนั้นทุกฝ่ายก็คิดว่าดีแต่ต่อมากลับกลายเป็นปัญหาสินค้าล้นตลาด การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มากเกินไป ฯ เฉกเช่นเดียวกับในปัจจุบันที่ เทคโนโลยีสารสนเทศ กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันของโลกทุกวันนี้ เพราะข้อมูลข่าวสารเป็นแหล่งที่มาของอำนาจ ผู้ที่ได้รับข่าวสารก่อนและตัดสินใจก่อนย่อมได้เปรียบกว่าคู่แข่งขันที่ได้ข้อมูลช้าหรือข้อมูลเท็จ เทคโนโลยีสารสนเทศ(Information Technology) เป็นข้อมูล ข่าวสาร หรือวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่มนุษย์พัฒนาขึ้น เพื่อนำมาใช้เพิ่มความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันและรองรับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคโลกาภิวัตน์     จากคำนิยามนี้ เราสามารถวิเคราะห์เทคโนโลยีสารสนเทศได้เป็นสองหัวข้อใหญ่ คือ 1.ในฐานะที่เป็นตัวข้อมูลข่าวสาร และ 2.ในฐานะที่เป็นวัสดุอุปกรณ์  ซึ่งในปัจจุบันนี้จะสังเกตได้ว่าในทุกๆ วันจะมีข้อมูลและข่าวต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งเรื่องการเมือง  เศรษฐกิจ วัฒนธรรม บันเทิง ฯลฯ มาสู่ผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่จำนวนนิตยสารบนแผงหนังสือที่มีให้เลือกมากขึ้น จำนวนช่องของเคเบิลทีวีที่ดูแทบจะไม่ครบทุกช่อง หรือถูกส่งมาทางอินเตอร์เน็ตออกสู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ผ่านเวบไซท์ต่างๆ ซึ่งไม่มีใครที่จะเคยเข้าชมทุกเวบไซต์ และที่ก้าวหน้ามากขึ้นในปัจจุบัน  คือการส่งข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายในทุกที่และทุกเวลา ในอีกแง่มุมหนึ่งข้อมูลจำนวนมากนี่เองทำให้ระบบและอุปกรณ์ที่ใช้ต้องมีการพัฒนาไปด้วย เช่น คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงกว่า 3 กิกะเฮิซท์ ซึ่งราคาอาจจะไม่แพงเมื่อเทียบกับความเร็วและราคาในอดีต แต่กลับต้องเปลี่ยนทุกปีเนื่องจากระบบปฏิบัติการล้าสมัยไม่ทันกับเทคโนโลยีที่พัฒนาไปทุกวัน หรือโทรศัพท์มือถือที่มีหลากหลายฟังก์ชั่นทั้งกล้องถ่ายรูป จอสี มัลติมีเดียแมสเสจ บลูทูธ เอ็ดจ์ ซึ่งก็จำต้องเปลี่ยนอยู่เสมอเนื่องจากล้าสมัย ทั้งๆ ที่ยังใช้โทรเข้า-ออกได้เป็นปกติ ยิ่งไปกว่านั้น การใช้อุปกรณ์เหล่านี้ไปในทางที่ผิดจะยิ่งทำให้คุณค่าของเทคโนโลยียิ่งด้อยลงไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการใช้อินเตอร์เน็ตแพร่ภาพโป๊ การส่งคลิปวีดีโอลามกผ่านมือถือ หรือการใช้บลูทูธส่งภาพอนาจารให้เพื่อนๆดังนั้นสาระสำคัญจึงไม่ควรจะอยู่ที่การใช้ให้มากที่สุด หากแต่อยู่ที่การ เลือก ที่จะใช้อย่างเหมาะสม ทุกคนคงจะจำได้เมื่อตอนยังเป็นเด็กว่าในชั่วโมงวิชาภาษาไทยเราจะคุ้นเคยอยู่กับการเติมคำที่มีความหมายตรงกันข้าม เช่น ความดีกับความชั่ว สีขาวกับสีดำ มากกับน้อย เป็นต้น ซึ่งการคิดในลักษณะนี้เรียกว่า การคิดแบบคู่ตรงข้าม (Binary Opposition) และหลายคนก็จะติดกับวิธีการคิดในลักษณะนี้ ซึ่งเมื่อนำมาใช้กับโลกแห่งความเป็นจริงแล้วก็อาจทำให้เข้าใจอะไรที่ผิดไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นได้ เช่น เมื่อมีเวบไซต์จำนวนมากก็เปิดดูให้มากที่สุดจึงจะถือว่าคุ้ม หรือคุยโทรศัพท์มือถือให้นานที่สุดให้คุ้มกับโปรโมชั่นแบบบุปเฟ่ แต่คนทั่วไปมักไม่ได้คิดถึงค่าเสียโอกาสเลย ทั้งเวลาและสมองที่จะใช้ไปในการวางแผนการดำเนินชีวิตในอนาคต 

เมื่อความสุดโต่งมิได้เป็นคำตอบแล้ว ทางสายกลาง จึงน่าจะเป็นทางออกที่ควรพิจารณา           

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy)   แก่    พสกนิกรชาวไทย ซึ่งเป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับ เป็นเรื่องของทาง       สายกลาง ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี และทั้งนี้ก็ต้องอาศัยเงื่อนไขความรู้และคุณธรรม ประกอบกันด้วย  การดำเนินชีวิตทั้งในการบริโภคและพัฒนาในด้านต่างๆ นั้น จะต้องมีความพอประมาณ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ซึ่งสอดคล้องกับหลักในทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่าจุดที่เหมาะสม(Optimization) เพราะการบริโภคที่มากเกินไปนั้นจะทำให้อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มค่อยๆลดลงจนถึงจุดที่ไม่คุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยการคิดหาเหตุผลที่รอบคอบและรอบด้านในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยคำนึงถึงความผันผวนในวันข้างหน้าด้วย ซึ่งการวิเคราะห์ดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความรู้ความสารมารถในเรื่องนั้นๆ อย่างถ่องแท้ และที่จะขาดไม่ได้ก็คือคุณธรรมที่จะคอยเป็นหางเสือบังคับทิศทางของการใช้ความรู้ให้ไปในทางที่ถูกที่ควรไม่ก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบแก่ผู้อื่น             

    แล้วเราจะจัดการกับกระแสไอทีที่ถาโถมอยู่นี้อย่างไร             

          คำตอบของการจัดการกับกระแสไอทีจึงอยู่ที่การเลือกใช้ มิใช่การใช้ให้มาก โดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นเข็มทิศนำทาง

ประการแรก ควรบริโภคไอทีอย่างพอประมาณ ไม่มากไม่น้อยเกินไป เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลต่างๆ มีมากมายบางครั้งก็มากเกินไป(Information Overload) เราจึงต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคในการกลั่นกรองข้อมูลเหล่านั้น เช่น การฝึกใช้เว็บไซท์บริการค้นหาข้อมูล(search engine) ให้มีความชำนาญ สามารถหาข้อมูลที่มีคุณภาพและมีความน่าเชื่อถือ ทำให้ไม่เสียเวลาและทรัพยากรในการหาข้อมูลที่ต้องการ และใช้คุณธรรมเป็นกรอบในการใช้ความรู้ เช่น ไม่ไปลักลอบค้นข้อมูลความลับขององค์กรต่างๆ มาเผยแพร่ หรือใช้ไวรัสคอมพิวเตอร์ทำลายระบบของคู่แข่ง ส่วนในด้านของอุปกรณ์ไอทีต่างๆ ก็ควรใช้อย่างเหมาะสมตรงกับจุดประสงค์ในการใช้งาน เราอาจไม่จำเป็นต้องซื้อคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ล่าสุด แต่เลือกรุ่นที่เราจะใช้งานได้ประโยชน์สูงสุด บางองค์กรลงทุนกับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ไปหลายล้านบาท แต่กว่าครึ่งหนึ่งของพนักงานกลับพิมพ์งานหรือใช้โปรแกรมพื้นฐานไม่เป็น                 

ประการถัดมา คือ ความมีเหตุผล ซึ่งจะเกี่ยวพันกับการตัดสินใจว่า อะไรคือจุดที่เหมาะสม หรือความพอประมาณ เนื่องจากเราเป็นประเทศที่ยังต้องนำเข้าเทคโนโลยีด้านไอที ดังนั้นเราจึงเป็นผู้ตามหรือผู้บริโภคที่ต้องจ่ายเงินซื้อเทคโนโลยี นับเป็นการพึ่งพิงที่ยากจะได้เปรียบ แม้ในสังคมทุนนิยมจะคิดว่าเป็นการได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบก็ตาม จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาแบบพึ่งพิง(Dependency Development) เราจึงต้องใช้เหตุผลในการวิเคราะห์ว่าจะซื้ออะไร เป็นจำนวนเท่าไร จะคุ้มทุนเมื่อระยะเวลาเท่าไร ตรงจุดนี้เองที่ความรู้จะถูกนำมาใช้เพื่อให้เหตุผลในการตัดสินใจในทางเลือกต่างๆ หากไม่มีความรู้หรือรู้ไม่จริงก็ย่อมจะเสียเปรียบผู้อื่น                ประการสุดท้าย ที่จะพิจารณาในที่นี้คือ การมีภูมิคุ้มกันที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในและภายนอก          ซึ่งในที่นี้เราควรจะพิจารณาให้รอบด้านมากที่สุด เนื่องจากการที่เราซื้อเทคโนโลยีจากต่างชาตินั้น เราไม่เพียงซื้อของเท่านั้นแต่ยังเป็นการนำเข้าวัฒนธรรม และวิถีชีวิตแบบต่างชาติเข้ามาด้วย ไม่ว่าจะเป็นความรีบเร่งของสังคม ความแก่งแย่งแข่งขัน เหล่านี้ทำให้สังคมไทยถูกถาโถมด้วยวัฒนธรรมที่แปลกไปจากเดิมที่เคยเป็นอยู่ การแชตทางอินเตอร์เน็ตทำให้รู้จักเพื่อนใหม่ซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี แต่การรู้จักกันแบบฉาบฉวยก็ย่อมจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ฉาบฉวยขึ้นด้วย ประกอบกับความเสื่อมถอยทางคุณธรรม จึงมีข่าวการหลอกลวงจากผู้ที่ทำความรู้จักกันทางอินเตอร์เน็ตอยู่เสมอ ในทางตรงกันข้ามหากทุกคนใช้ความรู้รวมถึงความรอบคอบในการระมัดระวังตัวให้มากขึ้น ผลดีก็จะเกิดขึ้นกับเราเอง  ในอีกมิติหนึ่ง การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในทางเศรษฐกิจย่อมจะเป็นพื้นฐานที่ดีของสังคมด้วย แต่ก็มิได้หมายความว่าความเจริญทางเศรษฐกิจจะเป็นจุดหมายปลายทางของสังคมหากแต่เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นซึ่งเป็นจุดหมายหลักของการพัฒนามากกว่า ดังนั้นเราจึงต้องใช้ความรู้อย่างยิ่งยวดทั้งด้านเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในการป้องกันความเปลี่ยนแปลงของระบบโลกที่จะมากระทบกับสถานการณ์ในประเทศ และป้องกันมิให้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของประเทศมากระทบต่อการดำเนินชีวิตของเราเอง               

        โดยสรุปแล้ว การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปใช้ในการจัดการกับกระแสเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีมากมายและดูเหมือนว่าจะไม่มีที่สิ้นสุดนั้น เป็นการเดินทางสายกลาง ที่ไม่ใช่การกระโดดเข้าไปในกระแสน้ำเชี่ยวและมิใช่การหันหลังต่อกระแสโลกาภิวัตน์อย่างที่หลายคนเข้าใจ  หากแต่เป็นการใช้เหตุผลในการครุ่นคิดและมองไปข้างหน้าอย่างมีเหตุผลโดยใช้ความรู้ความสามารถที่ถ่องแท้มาพิจารณาและลงมือทำ โดยตระหนักถึงกรอบของคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อมิให้เกิดปัญหาและความขัดแย้งที่จะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ถือเป็นการเดินทางที่มีจุดหมาย มีแผนที่ และมีหางเสือ ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน                  

         อ้างอิง วารสารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  พิมพ์ครั้งที่ 2 ,2549                  

คำสำคัญ (Tags): #พอเพียง
หมายเลขบันทึก: 77586เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2007 11:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
เป็นความหมายที่ดีนะครับเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงที่เขียนมา ถ้าหากคนไทยทุกคนสามารถที่จะนำมาปฎิบัติได้เหมือนกันทุกคนคงจะดี ฉะนั้นเราเป็นคนรุ่นใหม่เราต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม.....ยิ่งเราเริ่มที่จะปลูกฝังตั้งแต่ตอนนี้อนาคตของชาติคงดูดีกว่านี้เป็นแน่
ความหมายดีมากค่ะ  สาวสวย ม.ไหนเนี่ย
เขียนได้ดีนะครับ   อ่านแล้วเข้าใจดี
เทคโนโลยีมีความจำเป็น  ควรใช้อย่างพอเพียงและเหมาะสม

คนไทยเราน่าจะนำไปปฏิบัติกันนะคะ ทั้งระดับบุคลและประเทศ ไม่ว่าด้านไหนก็สามารถปรับใช้ได้

การใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันถ้านำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้จะดีมาก 
เป็นบทความที่ดีและมีความคิดเห็นที่ดีมาก สามารถประยุกต์ใช้ได้ดีมากๆ
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากจะไม่ขัด ต่อกระแสโลก ยังเป็นปรัชญาที่ทำให้ประเทศ ดำเนินอยู่ได้ด้วยความยั่งยืน ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี
น่าจะเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงได้ดี
เขี่ยนได้ดีมากค่ะ อ่านเข้าใจดี  สู้ สู้

เห็นด้วยค่ะ เราควรนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ต่างๆในชีวิตประจำวันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท