คิดกันไปเองทั้งครู ทั้งนักเรียน


สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารมักจะทึกทักเอาเองคือคิดว่าอาจารย์ทั้งหลายนั้น มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้

ผมเคยคุยเรื่องการอ่านเขียนกับการสอนในมหาวิทยาลัยไปแล้ว (link )

ประเด็นหลักๆ คือการที่ครูบาอาจารย์ทึกทักเอาว่านักเรียนนักศึกษานั้น อ่านจับประเด็นได้ เขียนเก่งกันแล้ว หรือไม่ก็ไม่สนใจว่าจะได้หรือไม่ ตั้งหน้าตั้งตาสอนไปเสียอย่างนั้น

วันก่อนเพิ่งมีผู้สมัครเข้าเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาฯ มาพูด (เพื่อให้นักศึกษาร่วมประเมินความเหมาะสมของคุณสมบัติฯ) พูดไปพูดมาโดนนักศึกษารุมครับ เขาตีประเด็นไม่แตก แจกแจงไม่ได้ว่าอะไรหมายความว่าอะไร ไม่ชัดเจนในข้อมูล เรียกว่าจบด๊อกเตอร์มหาวิทยาลัยท๊อป แต่โดนรุมเสียไม่มีชิ้นดี

 

เรื่องนี้สะท้อนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับวงการศึกษาครับ สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารมักจะทึกทักเอาเองคือคิดว่าอาจารย์ทั้งหลายนั้น มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ และมีความรู้ด้านทฤษฎีการเรียนการสอน สามารถหยิบจับเทคโนโลยีมาใช้งานได้เป็นอย่างดี (เหมือนที่อาจารย์ทึกทักเอาว่านักเรียนนักศึกษาอ่านได้แล้วนั่นแหละครับ) ความจริงแล้วอาจารย์มหาวิทยาลัย ไม่ได้เรียนด้านการเรียนการสอนเท่าไหร่เลย ความรู้ความถนัดที่มีก็เฉพาะตามสาขาวิชาที่ตนเองจบมาเท่านั้น ส่วนจะสอนอย่างไรนั้น ตัวใครตัวมัน ถามว่าใครสอนดี ก็ต้องไปถามความเห็นนักเรียนเอา นักเรียนก็ถามรุ่นพี่กัน อาจารย์ใจดีเขาก็ชอบ สอนสนุกสอนตลกก็ดี แต่ว่าอย่างไรคือสอนดี อันนี้แล้วแต่จริตของนักเรียน

 

ผมเชื่อว่าตัวอาจารย์เอง หลายท่านสอนก็คิดว่าวิธีนั้นดีแล้ว (เพราะได้รับการสอนมาแบบนี้ แล้วก็เรียนมาได้ขนาดนี้) แต่เด็กสมัยนี้ไม่เหมือนเด็กสมัยก่อน สื่อต่างๆ เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทักษะการรับสื่อย่อมแตกต่างไปจากเมื่อก่อนมาก

 

ในชั้นเรียนเมื่ออาทิตย์ก่อน อาจารย์ผมพูดไว้ว่า

ทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีใหม่ มันจะมาพร้อมกับความหวัง คำสัญญา
ทุกคนก็มุ่งไปที่เทคโนโลยี ผลลัพธ์คืออะไร
?
ถ้าไม่ถูกใช้อย่างกว้างขวาง แต่ขาดประสิทธิภาพ ก็จะถูกลืมไป
(Rick Ferdig, in class 2007)

 

ตั้งแต่ฟิล์ม วิทยุ โทรทัศน์ ตั้งแต่สมัยเก่าก่อน ก็ทำวิจัยกันไป แล้วก็ตื่นเต้นกันว่าวิทยุจะมาแทนชั้นเรียน ฟิล์มจะมาแทนวิทยุ โทรทัศน์จะแทนฟิล์ม แต่จนแล้วจนรอด เราก็ยังมีห้องเรียน และมีนักเรียนนั่งกันหลังแข็ง

ปัจจุบันยิ่งไปกันใหญ่ เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเปิดประตูให้สื่อต่างๆ เสนอตัวเข้ามาเป็นความหวังใหม่ให้วงการศึกษา เดี๋ยวก็ Hypertext, Blog, Forum, Chat หรืออะไรต่อมิอะไร แต่ถามว่าจะได้ใช้จริงไหม หรือใช้อย่างเกิดประสิทธิผลไหม อันนี้ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจ เพราะคำสัญญาเหล่านั้นคือจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้น เม็ดเงินที่มากขึ้น อาจารย์ก็ได้แต่งงงวยว่าจะสอนอย่างไร บ้างก็กลัวการเปลี่ยนแปลง บ้างก็เห่อเทคโนโลยี โดยไม่ได้สนใจประสิทธิภาพการสอน

 

เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตนั้นแฝงมากับนัยของการเรียนแบบให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งนั้นหมายความว่าผู้สอนต้องรู้ว่าจะทำตัวอย่างไร จะถอยออกมายืนดูผู้เรียนเฉยๆ นั้นคงไม่ได้ จะทำเหมือนที่เคยสอนในชั้นเรียนก็คงจะยาก ผมว่าหลายๆ คนก็โนไอเดียกับเรื่องนี้

ใครมีประสบการณ์เอาตัวเองออกจากศูนย์กลาง มาเล่าสู่กันฟังก็ดีนะครับ

หมายเลขบันทึก: 77542เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2007 04:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ผมยังไม่มีประสบการณ์ หรือหยั่งลึกพอที่จะแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้
  • แต่ที่ มมส  มีระบบประเมินผลการสอนโดยผู้เรียน ทั้งระบบเอกสารและออนไลน์  ซึ่งผมสนใจมาก  แต่ปัญหาสำคัญคือผู้ประเมิน (นิสิต) ไม่เชื่อว่าการประเมินนี้จะถูกนำไปขยายผลได้จริง และบางคนก็เกรงกลัวผลกระทบที่อาจจะมีขึ้นจากผู้สอน
  • เช่นกัน, ผู้สอนไม่น้อยก็ไม่ยอมรับในผลการประเมินจากนิสิต...
  • นี่คือปัญหาที่ท้าทาย  ที่ผมสนใจในกระบวนการประเมินการสอน ใน มมส
  • ขออภัยนะครับ เผื่อประเด็นนี้ไม่ตรงประเด็น...

ตรงครับ เข้าเป้าเป๊ะเลยครับ

เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ของทางเอเชียเลย คือเรื่องทัศนคติ ซึ่งเปลี่ยนยากกว่าเทคโนโลยีมาก ผมเลยไม่ค่อยเห็นด้วยที่จะเอาเทคโนโลยีนำเรื่องของบุคคล

ที่เห็นว่าเอาเทคโนโลยี หรือวิธีคิดใหม่ๆ เข้ามาใช้กันแล้วก็ลืมหาย ก็เพราะไม่ได้ปรับทัศนคติ และไม่ได้ปรับวิธีการให้เข้ากับบ้านเรามากกว่า มันก็เลยวนเวียนกันอยู่แบบนี้

ก็ต้องค่อยเปลี่ยน ค่อยๆ ปรับไปครับ

ผมก็กำลังหลอกตัวเองในระดับหนึ่ง เพื่อให้"รอด"ไปก่อน

ไม่ทราบจะทำอย่างไรในระยะสั้น เทคนิค TL ของท่านไร้กรอบ ดร. วรภัทร์ ก้มีส่วนดีบ้างนะครับ ไม่อยากใช้ก็ต้องใช้ครับ

ท่านอาจารย์ ดร.แสวง ครับ

ผมด้อยความรู้ ขอรบกวนรายละเอียดเทคนิค TL ของท่านไร้กรอบ ดร. วรภัทร์ได้ไหมครับ ผมพยายามค้นหาจากบล็อกของท่านไร้กรอบแล้ว ไม่เจอจริงๆ เผื่อผมจะได้ "รอด" ไปด้วยครับ

ขอบพระคุณอาจารย์ล่วงหน้าเลยครับ

  • ในมุมมองหนึ่ง ทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีใหม่ มันจะมาพร้อมกับความหวัง คำสัญญา   ผมเห็นว่ากระบวนการพัฒนาใดๆโดยภาพรวม  มักจะกล่าวนำด้วย การบอกว่าเรามีสิ่งที่ดีกว่า  พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้   ทั้งที่วันนี้ก็ยังไม่รู้เลยว่าเป็นอย่างไร
  • ในกระบวนการเรียนการสอนทุกระดับก็เช่นเดีบวกัน  การขยับตามนโยบาย   การขยับตามกลยุทธ์   ได้กลายเป็นการขยับจนกลายเป็นการไร้จุดยีน 
  • ดังนั้นสิ่งสำคัญในวันนี้ การที่พวกเราได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านเวทีนี้  เราคิดอะไร  ได้อะไร  จะทำอะไรทั้งวันนี้และอนาคต 
  • ขอบคุณท่านเป็นอย่างสูง ที่ให้เกียรติผมในเวทีนี้   ผมเห็นว่าเราน่าจะมีกิจกรรมทางการศึกษา ร่วมกันได้  ครับ

จริงอย่างที่อาจารย์ศักดิ์พงศ์กล่าวไว้เลยครับ ว่าขยับตามๆ กันไปก็ไร้จุดยืน มันต้องหาที่ยืนมั่นๆ อย่างที่อาจารย์เคยกล่าวถึงรากแก้วไว้นั้นเลยครับ

ผมต่างหากครับที่ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ศักดิ์พงศ์ ที่ให้เกียรติผม และให้ผมได้รับข้อคิดดีๆ จากการตกผลึกของประสบการณ์ตรงจากอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท