ว่าด้วยเรื่อง "บรรทัดฐานของสังคม"


ทุกวันนี้ เรากำลังใช้วิธีการแบบ "สังคมครอบคน"
เมื่อวันก่อนผมได้หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "ฉัน-บ้า-กาม" เขียนโดย คำ ผกา ซึ่งยืมมาจากเพื่อนรุ่นน้องชื่อกิ๊ก ซึ่งขณะนี้มาเรียนต่อปริญญาโทที่ Columbia ผมได้มีโอกาสรู้จักเข้าโดยบังเอิญ และได้มีโอกาสไปเยี่ยมเขาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กิ๊กเขาเลยแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มดังกล่าว ผมเห็นว่าวันหยุดสุดสัปดาห์กำลังว่าง และก็กำลังเซ็งกับคะแนนสอบกลางภาคบางวิชา ก็เลยเปิดอ่านดูในช่วงเช้าวันเสาร์ กะว่าจะลองอ่านดูสักบทสองบท หากไม่สนุกหรือไร้สาระก็จะหยุดอ่าน แต่ในที่สุดก็อ่านรวดเดียวจนจบในเวลาเกือบสองชั่วโมง (เป็นหนังสือไม่กี่เล่มในชีวิตผมที่อ่านรวดเดียวจบโดยไม่ลุกไปไหนเลย) พออ่านจบก็เห็นว่ามีแง่มุมบางด้านที่น่าจะลองหยิบยกมาตีแผ่เพื่อเป็นอาหารสมองสักสองสามประเด็น (ใครจะเห็นเป็นขยะก็ได้ แต่ผมมองว่าเป็นอาหารก็แล้วกัน)

เรื่องแรก ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้อาจต้องการบอกผู้อ่านว่าเรื่องชีวิตครอบครัว เรื่องสามีภรรยา เรื่องหนุ่มๆ สาวๆ และรวมถึงเรื่องพฤติกรรมทางเพศในสังคมไทยนั้น อยู่ภายใต้กรอบความคิดทางสังคมบางอย่างที่เห็นว่าสิ่งที่ถูกที่ควรหรือสิ่งที่เหมาะสมจะต้องเป็นอย่างไร (ทางวิชาการอาจเรียกว่าเป็น "บรรทัดฐานทางสังคม (Social norms)") ค่านิยมที่ว่านี้ทำให้การใช้ชีวิตของคนเรานั้นอยู่ในกรอบหรืออยู่ในเส้นทางที่ควรจะเป็นบางอย่าง เช่น คนเราเรียนจบ ทำงาน ก็ต้องแต่งงาน มีสามี-ภรรยา และมีลูกๆ ตามสูตรสำเร็จของสังคม หากใครไม่แต่งงาน ก็จะถูกสังคมตั้งข้อสงสัยว่ามีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศหรือไม่

บรรทัดฐานเช่นนี้อาจทำให้คนเรามองข้ามความต้องการที่แท้จริงในชีวิต หรือคุณค่าของความเป็นคนในแต่ละคนไม่มากก็น้อย บ่อยครั้งที่เราไม่อาจเลือกทำในสิ่งที่ตัวเราต้องการอย่างแท้จริงได้ เพราะว่าสังคมมิได้คาดหวังให้เราเป็นเช่นนั้น หากแต่ควรเป็นไปในทางที่ "คนส่วนใหญ่" ของสังคมต้องการ (ไม่ว่าจะถูกกำหนดขึ้นจากคนในรุ่นก่อนหรือปัจจุบันก็ตาม) หลายคนมีชีวิตและใช้ชีวิตที่ไม่รู้ว่าตัวเองคือใคร หรือกำลังทำสิ่งที่ทำอยู่ไปเพื่ออะไร

เนื่องด้วยกรอบของสังคมที่กำลัง "ครอบ" กรอบของปัจเจกบุคคลนี้เอง คำ ผกา จึงอาจต้องการจะบอกผ่านงานเขียนเขาว่า สิ่งที่สังคมเรียกว่า "บ้ากาม" นั้นอาจเกิดขึ้นเพราะคนเรากำลังต้องการค้นหาตัวเอง ต้องการได้รับการยอมรับจาก "บุคคลอื่นที่ไปมีความสัมพันธ์ด้วย" ในด้านใดด้านหนึ่งที่คนๆ นั้นไม่ค่อยจะได้รับจากสังคมปกติของเขานั่นเอง (ถ้าผมตีความผิดก็คงต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ) และสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นได้ทั้งเพศหญิงและชาย

หากวิเคราะห์ลึกลงไปในระดับปัจเจกบุคคลตามแนวคิด Public Choice หรือบางคนรู้จักในแนว Rational choice ก็อาจจะอธิบายถึงพฤติกรรมทางเพศเช่นนี้ได้ว่า คนเราจะทำอะไรก็ตาม จะตัดสินใจจาก "ประโยชน์" ที่จะได้รับเทียบกับ "ราคา" ที่จะต้องเสียไป หากการไปมีพฤติกรรมหาเศษหาเลยนอกบ้านทำให้คนๆ นั้นได้รับความเป็นคนหรือได้รับการยอมรับในด้านใดด้านหนึ่งมากขึ้น มากกว่าโอกาสเสี่ยงที่จะถูกจับได้ และมากกว่าผลเสียที่จะเกิดขึ้นหากถูกจับได้ คนๆ นั้นก็จะมีพฤติกรรมเช่นว่านี้เอง

เมื่อเชื่อมสิ่งเหล่านี้เข้าไปกับพฤติกรรมของเยาวชนในสังคมไทยทุกวันนี้ เรากำลังใช้วิธีการแบบ "สังคมครอบคน" เรามักจะบอกกับเด็กรุ่นใหม่ๆ ถึงสิ่งที่ควรจะเป็นตามครรลองคลองธรรม บอกถึงสูตรสำเร็จของการมีชีวิตที่ได้รับการยอมรับจากสังคม และมองว่ารูปแบบการใช้ชีวิตบางประเภทเป็นสิ่งที่ไม่มีเกียรติ (เช่น ศิลปิน นักกีฬา ฯลฯ) และมักจะใช้มาตรการ "ไม้แข็ง" ในการควบคุมพฤติกรรมของคนเหล่านี้ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางของ "คนที่อาบน้ำร้อนมาก่อน"

หากเราลองเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เปิดใจให้กว้างและยอมรับว่าคนเราแต่ละคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกชีวิตในแบบที่เขาอยากจะเป็น และยอมรับว่ารูปแบบชีวิตเช่นนั้นก็มีเส้นทางแห่งความสำเร็จของตนเองได้เช่นกัน ปัญหาครอบครัวอาจลดน้อยลง และอาจช่วยคลี่คลายปัญหาอื่นๆ ในสังคมบ้างก็เป็นได้ พอเขียนถึงตรงนี้แล้วนึกถึงโฆษณาชิ้นใหม่ของบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งของไทยที่ฉายภาพว่า พ่อไม่ต้องการให้ลูกชายตัวเองเป็นนักร้อง ลูกชายจึงหนีออกจากบ้าน และสามารถสร้างชื่อเสียงจนจัดคอนเสริต์ของตัวเองได้ จึงส่งบัตรคอนเสริต์ให้พ่อไปชมการแสดงของตนเอง แต่ระหว่างที่พ่อเดินทางเพื่อจะไปชมคอนเสริต์นั้นเอง กลับต้องมาพบอุบัติเหตุระหว่างทางจนต้องจบชีวิตลง ... มันอาจจะไม่เกิดภาพแบบนี้ถ้าคนในสังคมเราได้เปิดกว้างมากกว่านี้...

เริ่มเขียนมาซ่ะยาว คงจะต้องจบเพียงแค่นี้ และไปทำกิจวัตรอื่นต่อ โดยเฉพาะการบ้านที่จะต้องทำให้เสร็จก่อนเข้าชั้นเรียนสัปดาห์หน้า ส่วนเรื่องที่ว่าผมจะบ้ากามหรือไม่นั้น คงเขียนไม่ได้ในที่นี้ เพราะท้ายที่สุด ผมเองก็ยังคงถูกกรอบของสังคมครอบไว้อยู่ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควรหรือไม่ควรอยู่นั่นเอง...
หมายเลขบันทึก: 77540เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2007 02:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มีคนอีกกลุ่มใหญ่ที่เชื่อแบบเหนียวแน่นว่า กรอบที่มีมานานเป็นสิ่งที่ดีที่สุด อาจเป็นเพราะฐานเสียงของคนรุ่นก่อนยังคงดังอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความสำเร็จที่ชัดเจนของคนที่เดินตาม 'กรอบ' มีให้เห็นมากกว่า

ในฐานะคนที่อยู่ระหว่าง 'รุ่น' ก่อนและ 'รุ่น' หลังคนหนึ่ง ยอมรับว่ามีหลายสิ่งที่ดีและควรรักษาไว้ เนื่องจากเหตุและผลที่สอดคล้องกันอย่างมีน้ำหนัก แต่ก็แอบหวังลึก ๆ ว่าจะมีใครสักคนที่คิดเผื่อความพยายามของเรา

ความคาดหวัง บางครั้งมันเป็นเหมือนระเบิดเวลาและเป็นภาระที่หนักเกินไป ตามคำสอนทางพุทธศาสนา การไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ถือว่าคิดดี ที่เหลือก็คือ พูดดี และ ทำดี 

เคยได้อ่านหนังสือของนักเขียนท่านหนึ่ง ซึ่งตรงใจมาก ๆ คือ ทำเท่าที่อยากทำ เท่าที่ตัวเองไม่รู้สึกว่าลำบาก ไม่งั้นเราจะเรียกว่า "อุตส่าห์ทำ" และเมื่อวันที่ไม่ได้อย่างที่เราคาดหวัง ก็มักจะพูดว่า "อุตส่าห์ทำให้ขนาดนี้ ยังไม่เห็นคุณค่าอีกเหรอ" 

มีคำพูดติดปากคำหนึ่ง "ช่างมันเถอะ"  แล้วก็มีความสุขกับสิ่งที่เลือก สนใจทำไมว่า 'ใคร' จะยอมรับหรือไม่

Hey,

 Thanks so much for your response. It is you who is the first person communicating with my thought here. I would like to share with you a bit.

I agree with all points you've made krab. I too do not deny existing social norms in our society. But I prefer to follow the norms that I consider appropriate to our era, but not too loose to follow my unconscious minds.

Hope to have more chances to communicate with you further.

 

WKT

ค่ะ...ก็เพียงแค่มุมมองหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะในความเป็นจริงถ้าไม่โกหกตัวเอง ก็ต้องยอมรับว่าลึก ๆ ในใจยังถูกกรอบของสังคมครอบไว้เช่นกัน คือยังต้องการการยอมรับของสังคมอยู่ และโดยภาพรวมแล้ว ไม่เชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนไปจากระบบนี้ได้ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา แต่ตัดสินแล้วว่าเป็นสิ่งที่ 'ควร'

ถ้าพูดในฐานะของคนที่เดินมาถึงจุดหมาย แน่นอนว่าจะเห็นความแตกต่างว่าอะไรที่ 'ควร' และ 'ไม่ควร' แต่ในวัย 'หัวเลี้ยวหัวต่อ' ด้วยธรรมชาติของวัย อารมณ์ประสบการณ์ และสิ่งแวดล้อม ภาพที่พวกเขาเห็นจะเลือนลาง ไม่ชัดเจน และไม่ปักใจเชื่อในที่สุด จึงต้องลองผิดลองถูก เพราะทุกวันนี้ ไม่ได้มีแค่คนที่เดินตามกรอบเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ จะมีเยาชนสักกี่เปอร์เซนต์ ที่ 'เท่าทัน' ความสับสนเหล่านี้

ในขณะที่ตาชั่ง 'ฝั่งควร' รักษาระดับโดยคนที่เดินตามกรอบและประสบความสำเร็จ 'ฝั่งไม่ควร' ก็ไม่ได้น้อยหน้า นำทีมโดยคนที่ล้มเหลว คนที่เป็นปัญหาของสังคม คนที่ไม่ได้เดินตามกรอบแต่ประสบความสำเร็จ ห้อยท้ายต่อด้วยคนดีที่ไม่มีแม้แต่โอกาสจะแข่งขัน เพียงเพื่อให้มีโอกาสได้โบกมือให้สังคมหันมามอง และพิจารณาว่าควรยอมรับหรือไม่ ไม่แน่ว่าคนเหล่านี้ อาจเป็น พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง หรือคนใกล้ตัวของพวกเขาเอง

ไม่สามารถพูดว่า เป็นความผิดของพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง เพราะโดยเจตนาแล้ว บุคคลเหล่านี้ย่อมมีความรักความห่วงใยเป็นทุน จะโทษสถาบันการศึกษาก็ไม่ถนัด เพราะหลักสูตรและแนวทางเป็นตัวบังคับให้เดินไปตามกรอบอยู่แล้ว หรือเหมาว่าทุกสิ่งที่เลวร้ายลงทุกวันนี้ เป็นเพราะวัฒนธรรมใหม่ ๆ ที่เข้ามา ก็ยิ่งไม่สนิทปากที่จะกล่าวเช่นนั้นได้ ในเมือเราเองก็ต้องการเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน

ด้วยความเสียใจในส่วนลึก คำว่า 'ควร' และ 'ไม่ควร' สังคมเป็นผู้กำหนดและตัดสิน ลึกลงไปในคำว่า "ควร" ยังอุตส่าห์วัดกันอีกหลายระดับมาตรฐาน และแนวโน้มว่ามาตราฐานเดิม ๆ ในชั้นต้น ๆ กำลังจะ 'ตกเทรนด์' กว่า 'วัยกระเตาะ' จะวิ่งทัน รุ่นพี่ รุ่นใหญ่ และรุ่นพิเศษทั้งหลายมาถึงจุดนัดพบ มาตราฐานก็อาจเปลี่ยนไปอีกแล้ว

 ลำพัง 'เตาะแตะ' ให้ทันก็เต็มสตรีมอยู่แล้ว ไหนยังต้องแบกความสับสนของ "ตาชั่งแบ่งข้างความเป็นคน" ระหว่างทางก็ต้องคอยรักษา 'ระยะห่าง' ของสิ่งยั่วยุในสังคม แล้วจุดหมายก็ยิ่งไกลออกไปทุกที สุดท้ายต้องค่อย ๆ ปล่อยไป...ปล่อยไปจนหมด รางวัลของคนช่างฝัน คือ "เหรียญไม่รักดี" น่าภูมิใจสุด ๆ หรือไม่ ต้องให้สังคมมาตรฐานเป็นผู้ตัดสินอีกอย่างเคย

ในโลกนี้มีอยู่ 2 อย่างคือ มีเหตุผลและไม่มีเหตุผล เช่นว่าคนทำดีแล้วได้ดี อันนี้เป็นเหตุและผลที่เห็นได้ชัดเจน ส่วนคนที่ทำเลวแต่ได้ดี 'เขาเล่าว่า' เป็นบุญเก่า แต่ยังไม่มีใคร นำบุญเก่ามาออกเกมโชว์ใด ๆ จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีจริงหรือไม่ เมื่อพิสูจน์ไม่ได้ ต้องถือเป็นเรื่องไม่มีเหตุผล

เมื่อ 'เด็กคนหนึ่ง' ไม่สามารถเดินตามกรอบได้ ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของสถาบันครอบครัว, สถาบันการศึกษา, วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และไม่ใช่ความผิดของ 'เด็กคนหนึ่ง' เขาแค่หมดแรงวิ่งตามกระแส จึงต้องปัดสวะไปที่ 'กรรมเก่า' เพราะหาเหตุผลไม่ได้เช่นกัน

ค่ะ ตามความรู้สึกของตัวเอง "สังคมทะเลาะกัน" หลายครั้งเราต้องยักไหล่ให้กับเรื่อง 'ควร' และ 'ไม่ควร' แล้วเลือกว่าอะไรที่อยากทำ เพราะอย่างน้อยก็สมหวังตั้งแต่เริ่มแรก และความสุขใจที่เกิดจะเปิด 'ใจ' ให้มองเห็นในมุมที่ไกลขึ้น

คนประสบความสำเร็จ ดีใจยังไงคงไม่ต้องสอน แต่ถ้าไม่ล่ะ? จะอยู่ยังไง? รับมือไหวหรือเปล่า? 'จุดยืน' ของแต่ละคน คงไม่จำเป็นต้องเท่ากัน คนที่ยืนเต็มสองเท้า มีความมั่นคง และเขาไม่ได้มีภาระหรือน้ำใจที่จะพยุงเรา เมื่อเราต้องยืนขาเดียว นานเข้าคงเมื่อยบ้าง แต่ถ้าทรงตัวดี ๆ ก็ไม่ต้องขอให้ใครพยุง ไม่มีประโยชน์ที่ต้องได้ และไม่มีราคาที่ต้องเสีย จึงไม่เห็นความจำเป็นมากพอที่จะให้ใครมากำหนด 'คุณค่า' ของตัวเรา

สุดท้าย ก็ยังคงยืนยันว่าเป็นมุมมองเพียงด้านเดียว ตามความคิดและสติปัญญาที่ไม่มีกรอบ ไม่ได้มีเจตนาหรือทัศนคติในเชิงลบใด ๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่แสดงความคิดเห็นในฐานะของคนที่เลือกที่จะมีความสุขในแบบที่ตัวเองต้องการ และเชื่อว่าคุณค่าของคนอยู่ที่จิตใจ ไม่ว่าจะได้รับการยอมรับหรือไม่ ค่าของเราจะไม่มีวันลดลง เพราะเราคือคนที่กำหนดค่าให้ตัวเราเอง

Dear Khun Chanida,

 I agree with you that we all are socialized by "what our society thinks good".  I personally think that some current social norms are good and some might be inappropriate to modern day. The point is we don't clearly know what is really good and what should be changed.

Your argument about life experience is also interesting. Yes, we are learning by experiences, either of our own or of our past generations. And of course, we will learn about our social norms forever. This is, I think, never-ending process. We all here are living for learning, arn't we?

My point is not to deny all current social norms krab. I tend to follow most of them. Only few of them should be adapted. We, as a current generation, should also pave good social norms for our future generations so that our society will grow and develop. Otherwise, our children can blame us that we have not contributed any good things for them.

So, let's try to build and advance our society together na krab. Nice to share thoughts with you. Thanks.

ชนิตา บุญยะเกียรติ

ขอบคุณ ที่ไม่มองเห็นและเข้าใจมุมมองที่แตกต่างเป็นเรื่องของ 'แกะดำ' ค่ะ  อย่างไรก็ดีต้องขอย้ำว่า ความคิดเห็นข้างต้นก็คือความคิดเห็นเท่านั้น ซึ่งทุกคนมีอิสระที่จะคิด อย่างไม่มีขอบเขต แต่ในทางปฏิบัติ แน่นอนว่ายึดถือและเคารพระบบประชาธิปไตยเสมอ

ส่วนเรื่องเตรียม 'สิ่งที่ดี' ให้กับน้อง ๆ ลูก ๆ และหลาน ๆ เป็นเรื่องที่มีอยู่ในใจมาตลอด แต่ไม่มั่นใจเหมือนกันว่า เจตนาที่มีอยู่ จะอนุโลมและแอบอ้างว่าเป็น "อุดมการณ์" ได้หรือไม่

อีกประการที่สำคัญก็คือ โดยส่วนตัวแล้วไม่มีความรู้ความสามารถใด ๆ ที่จะถ่ายทอดเจตนาดีที่มีอยู่ให้พวกเขาได้เข้าใจ อีกทั้งตัวเองก็ไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดีนัก แต่อย่างไรเสียก็ขอเป็นกำลังใจในทุก ๆ ด้านสำหรับคนที่มุ่งมั่นที่จะทำสิ่งดี ๆ ให้กับสังคมในทุก ๆ เรื่อง

สิ่งหนึ่งที่ทำได้ในตอนนี้คือ ไม่ซ้ำเติมและพร้อมที่จะเข้าใจถ้าหากว่าจะมีคนที่ไปไม่ถึงฝั่งอย่างที่ตั้งใจ... ทั้งหมดของความคิดเห็นที่แสดงไปแล้วนั้น เจตนาเพียงแค่ต้องการกระตุ้นว่า จะอยู่อย่างไร? คิดอย่างไร? ให้ตัวเองยังมีความสุขและสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ ในวันที่เราไม่ได้อย่างที่หวัง หรือแพ้ให้เป็นนั่นเอง

คนที่ประสบความสำเร็จ มีคนภาคภูมิใจและอยู่เคียงข้างพวกเขามากพอแล้ว จึงต้องขออนุญาติเป็นตัวแทน 1 เสียงสำหรับคนที่ยังไปไม่ถึงจุดหมาย เพราะอยากบอกให้พวกเขารู้ว่า "ยังไม่ถูกลืม"

ตอนสมัยที่ยังเด็ก เคยถามพ่อว่าทำไมผู้ใหญ่ถึงทะเลาะกัน แต่สุดท้ายก็ยังคุยกันได้อีกครั้งแล้วครั้งเล่า ตอนนั้นพ่อตอบว่า "อุดมการณ์ต่างกัน แต่สายสัมพันธ์ยังเหมือนเดิม" เรายังคิดว่า "พ่อเรานี่เจ้าคารมจริง ๆ" พอโตขึ้นถึงเข้าใจความหมายของมัน

เถอะค่ะ คนไทยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม แต่มีจุดหมายเดียวกัน

เอาใจช่วยค่ะ.........

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท