เป็น "แพทย์" ต้อง "พยาบาล" หรือไม่?


ในยุคสมัยที่คนไม่เคยพอ งานมีแต่จะมากกว่าคนทำ การทำงานซ้ำซ้อนน่าจะเป็นบาปขั้นอุกฤติและวิกฤติ

การเป็นแพทย์ ต้องพยาบาลเป็นหรือไม่?

วันก่อนคุยกับอาจารย์หญิงซึ่งเป็นอาจารย์อยู่คณะพยาบาลศาสตร์ ได้ฟังวิธีการเรียนปฏิบัติงานของพยาบาลบนหอผู้ป่วยแล้วเกิดความประหลาดใจ และแรงบันดาลใจ

  • ประหลาดใจตรงที่ เออหนอ เราพึ่งทราบความ "ต่าง" ของหลักสูตรแพทย์และพยาบาล
  • ประหลาดใจอีกทีตรงที่ เออหนอ ทำไมเราถึง "พึ่งสังเกต" รู้สึกปลงสังเวชในความ ignorance ของตนเองอย่างยิ่ง
  • และประหลาดใจจริงๆที่ "ทำไม" มันจึงได้ต่างกัน และมันควรจะต่าง หรือว่ามันต้องต่างกัน และถึงมันต้องต่างกันบ้าง เราเอามารวม มาบูรณาการกัน จะดีกว่าหรือไม่?

สำหรับในโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาลมีงานที่เชื่อมโยงใย (ยื้อยุด) กันนุงนังประสานกันอย่างหารอยตะเข็บไม่ได้ ความล้มเหลวและความสำเร็จของทั้งสองอาชีพวางอยู่บนเป้าเดียวกันคือผู้ป่วยและญาติ แต่การณ์ปรากฏว่าเราทั้งสองอาชีพมีความเข้าใจในงานของกันและกันน้อยมาก (มีครั้งหนึ่งเคยมีคนมาประเมิน chart ที่ ward แล้วบอกว่าใช้ไม่ได้เพราะไม่ได้ประเมิน holistic ซึ่งผมก็งงมาก เพราะได้เขียนไปตั้งเยอะแยะ พอไปสอบถามปรากฏว่าเขา "ไม่นับ" ที่หมอเขียนครับ เพราะเขากำลังประเมิน "ของพยาบาล" !!??!!? งงไหมครับ) ตกลงหมอกับพยาบาลซักประเมินคนไข้รายเดียวกันต้องแยกกันทำ เรือ่งเดียวกันต้องทำสอง copies

อันนี้ไม่ได้พูดเล่นๆ แต่เกิดขึ้นจริงๆแล้ว มีคนไข้อยู่รายนึงเป็น cancer ด้วยความที ม.อ. เรามี palliative แข็งแรง ก็มีคนประเมิน และ precounseling ไปจนถึงสมมติการณ์เรื่องการตาย ว่าจะตายอย่างไร จะเอาใส่ endotracheal tube ช่วยหายใจไหม ฯลฯ ทำที่ ward ทีนึง ลงไปฉายแสงก็ทำอีกทีนึง ขึ้น ward มีอาจารย์หน่วยปวดมาดูก็ถามอีกทีนึง อาจารย์หน่วยชีวันตาภิบาลมาราวน์ก็ถามอีกทีนึง คนไข้เริ่มใจไม่ดี ถามพยาบาลว่า "เขากำลังจะตายแล้วรึเปล่าเนี่ย มีคนถามว่าจะตายยังไงมาสี่รอบแล้ววันนี้!!! "

กลับมาเรื่องเรียนกันต่อ ทั้งนักศึกษาพยาบาลและนักศึกษาแพทย์เวชปฏิบัติ ต่างก็ต้องฝึกทำงานบนหอผู้ป่วย ต้องฝึกทำแผล ต้องฝึกซักประวัติพูดคุยกับผู้ป่วย และในความเป็นจริงก็คือทั้งสองฝ่ายต้องทำงานร่วมกันในอนาคต เราก็จัดการเรียนการสอนที่แยกกันอย่างกับน้ำและน้ำมัน ทำยังกับว่าเรียนด้วยกันแล้วไฟมันจะ short-circuit กันเปรี๊ยะปร๊ะ เปรี้ยงปร้าง ยังไงยังงั้น ผลก็คือเราต่างคนต่างทำงาน เธอมี record ของเธอ หมอมี record ของหมอ เธอส่งเวรของเธอ หมอส่งเวรของหมอ อ้าวแล้วใครส่งเวรระหว่างหมอกับพยาบาล? เกิดปัญหาจะทำกันตอนไหนดี เพราะลำพังส่งกันของตัวเองก็หมดเวลาไปเยอะแล้ว ถ้าเพิ่มส่งระหว่างทีมอีก เดี๋ยวก็หมดเวลาลงเวรกันพอดี

ในยุคสมัยที่คนไม่เคยพอ งานมีแต่จะมากกว่าคนทำ การทำงานซ้ำซ้อนน่าจะเป็นบาปขั้นอุกฤติและวิกฤติ

บางที บางทีนะครับ ถ้าเราเอา map มากาง ทำ tracer ทำ root-cause analysis ตามเหตุการณ์ทีเกิดขึ้นในการดูแลผู้ป่วย ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตาม learning objectives ของทั้งแพทย์ทั้งพยาบาล เราอาจจะได้ integrated doctor-nurse curriculum ทีนี้เราจะได้แหวกม่านประเพณีอันลึกลับเสียทีหมอจะได้รู้ว่าน้องพยาบาลเรียนอะไรกันจ๊ะ ถึงได้คุยกับคนไข้เป็น พูดกับคนไข้รู้เรื่อง พยาบาลจะได้รู้ว่าทำไมพี่หมอจึงต้องเร่งโน่นเร่งนี่ขออะไรต้องได้เดี๋ยวนั้นไปซะทุกอย่าง ทีนี้ "ทีม" มันอาจจะเป็นทีมมากขึ้นก็ได้

บางที บางทีเท่านั้นครับ

คำสำคัญ (Tags): #แพทย์#พยาบาล
หมายเลขบันทึก: 77301เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2007 00:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

 

ชอบ ชอบมากเลยค่ะ

เห็นด้วยอย่างยิ่งเลย..

อยากเห็น หมอ กับ พยาบาล conference case ด้วยกัน วางแผนการรักษาดูแลผู้ป่วยร่วมกัน

เคยเห็นแต่ในสารคดี  ดูเหมือนเป็นสารคดีใต้ฟ้าสีคราม ของทีวีช่องอะไรแล้วจำไม่ได้ เมื่อนานมาแล้ว

ดูแลรู้สึกดี และมีความสุขมากค่ะ

แต่ก็เข้าใจค่ะ ว่าโดยภาระงานของแพทย์ งานเยอะค่ะ  คงไม่มีเวลาว่างตรงกันกับ พยบ. แพทย์ต้องดูแลคนไข้หลายวอร์ดในโรงพยาบาล เดียวโดนตามไปตึกโน้นที ตึกนี้ที  

ส่วนพยาบาลแม้จะมีคนไข้ในความดูแลหลายคน แต่ก็อยู่รวมในตึกเดียวกัน

แต่..ก็ขอแค่ความเข้าใจ และสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ระหว่างทำงาน แค่นี้ก็ดีมากแล้วค่ะ.... ทั้งนี้ เพื่อ คนไข้

^___^

ทำไมถึงต้องเป็นบางที บางทีล่ะคะ

ระบบเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้น แล้วทำไมเราจะคุยกันให้กว้างๆขึ้น แล้วมาดูซิว่า มีหมอและพยาบาลกี่คนที่อยากเห็นภาพอย่างที่เราพูดนี้ เชื่อว่าน่าจะไม่น้อยนะคะ แล้วเราเป็นคนจัดการระบบ ปรับให้มันเป็นแบบที่เราเห็นว่าดี น่าจะดีกว่านะคะ อย่าเดินตามทางเดิมกันไปเรื่อยๆเลย เราคงต้องเริ่มมองหาทางใหม่ๆกันบ้างแล้ว คนไข้จะได้ไม่ต้องถามคำถามที่น่าสงสารนั่นนะคะ ทำร้ายจิตใจจัง

ตอนทำงานคงจะเป็นไปตามตำแหน่งหน้าที่แหละครับ แต่ "ตอนเรียน" นี่สิ ที่ผมอยากให้มีการปรับหลักสูตรแพทยศาสตร์ กับ พยาบาลศาสตร์ ให้มี integrated กัน มีปฏิบัติงานร่วมกัน มีการทำรายงานด้วยกันเพื่อวางแผนการรักษา ไปจนถึงวางแผน discharge planning ทำกายภาพบำบัด สอนสวนสายปัสสาวะ สอนใส่สายจมูก แนะนำสร้างเสริมสุขภาพ และเรื่องการป้องกันโรค ถ้าเราได้หัดทำงานด้วยกันตั้งแต่ตอนเรียน เราจะสามารถ empathy อีกฝ่ายหนึ่งตอนที่เราจบหลักสูตรและกลายเป็นผู้ร่วมงานวิชาชีพที่ดียิ่งขึ้น และน่าจะมีการทะเลาะเบาะแว้งหรือไม่เข้าใจซึ่งกันและกันน้อยลง

ตอนเป็นเด็กๆนี่แหละดี ยังไม่มี high ego ยังไม่มีสถาบัน ยังเงอะๆงะๆกันทั้งคู่ ประคับประคองกันเรียนน่าจะดี ยุบคณะมันซะเลยเป็นคณะแพทย-พยาบาลศาสตร์ ฮ่า ฮ่า ฮ่า (ชักไปกันใหญ่!! ดึกแล้ว)

ที่ว่า บางที บางที เพราะผมเข้าใจว่าการปรับ หรือเปลี่ยนโครงสร้างหลักสูตรนั้น ทำได้จริง แต่ไม่ง่าย และต้องไม่ทำเร็วๆ ต้องค่อยๆมอง มองใกล้บ้าง ไกลบ้าง เพราะเรามีนักศึกษาเป็นเดิมพัน ไม่ใช่นักศึกษาธรรมดา เป็นนักศึกษาแพทย์และพยาบาล ผลกระทบต่อสังคมมันเยอะมาก ถ้าคิดน้อยไป สั้นไป ด่วนไป เราก็จะได้หลักสูตรจานด่วนมา จะอิ่มอร่อยไม่ยั่งยืน designed ไม่ดีจะกลายเป็น "ดื่มยาพิษแก้กระหาย" ได้

แต่ก็ยังคิดว่าน่าจะดีอยู่ดีตอนนี้ครับ

เ็นด้วยกับสกลอย่างยิ่งครับ

ในขณะที่เราบ่นว่างานมาก แต่ก็ยังชินกับการทำงานซ้ำซ้อน

แต่การทำงานร่วมกันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในวัฒนธรรมหรือบริบทที่คุ้นชินเสียแล้ว  การจัดการในหลักสูตรที่ค่อนข้างจะตายตัวอยู่แล้วทั้งสองคณะ..ไม่ง่ายเลย ผมคิดว่า กิจกรรมนอกหลักสูตร เช่น งานอาสาสมัคร ที่เราทำอยู่ หรืองานค่ายมหิดล เป็นสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ดีอยู่แแล้ว ผมยังคิดว่าน่าจะเริ่มต้นตรงนั้น หรือเสริมให้แข็งแกร่งขึ้นครับ

ดีใจครับที่สกลเอาเรื่องนี้มาคุย  

ขอเรียนอาจารย์ว่าชื่นชมกับความคิดของอาจารย์ค่ะ

ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ไม่บ่อยนักหรอกค่ะที่แพทย์จะนึกถึงผู้ร่วมงาน..และไม่บ่อยเช่นกันที่พยาบาลจะทันสังเกตว่าลืมนับแพทย์เป็นผู้ร่วมงานด้วย

ถ้าแพทย์และพยาบาลที่ออกหน่วยในถิ่นที่ลำบากมากๆ ด้วยกันบ่อยๆ จะปรับลักษณะงานเข้าหากันได้เร็วกว่าค่ะ กิจกรรมเสริมหลักสูตรดีๆ เช่นที่ พณฯท่านองคมนตรีเกษม(ขออนุญาตเอ่ยนามท่านค่ะ) เคยนำนักศึกษาสายวิทย์สุขภาพไปออกหน่วยด้วยกันเมื่อปิดภาคการศึกษา มีผลต่อความเข้าใจระหว่างกันมากค่ะ

แต่บางทีก็คิดว่า ปัจจุบันนี้ระบบในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ผ่านมาจากคนทำงานจำนวนหนึ่งในออฟฟิตที่ไม่ค่อยเข้าใจงานของทั้งแพทย์และพยาบาลมากเท่ากับเรื่องของตัวชี้วัด ค่ะ เลยทำให้ตัวชี้วัดแยกส่วนไปหมดหนำซ้ำบางทีตัวชี้วัดก็จับผิดมากกว่ามองส่วนดี...และทำให้ทุกคนต่างก็มุ่งเส้นทางงานของตัวเองให้เสร็จเร็วที่สุด ดีที่สุด บกพร่องน้อยที่สุด ..นะคะ...ก่อนจะเปลี่ยนหลักสูตร ลองจับใครสักคนในโรงพยาบาลมาถามว่า คุณเคยกินข้าวกับเพื่อนร่วมงานต่างสาขากี่คนกี่ครั้ง.....คำตอบอาจน่าทึ่งก็ได้ค่ะ....

ขอบคุณค่ะ

มีชีวิตในการทำงานด้านสาธารณสุขเหมือนกันครับ  ชื่นชมกับแนวคิดของอาจารย์ แค่ได้คิดและเห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกันก็เป็นกุศลแล้วครับโดยเฉพาะการทำงานของคุณพยาบาลทั้งหลายที่มีชีวิตกับความอดทนกับวิชาชีพที่ต้องเสียสละกับการดูแลความทุกข์ของผู้ป่วย บางโรงพยาบาลยังต้องทนกับอารมณ์ของแพทย์ที่ไม่คุ้นุเคยกับพยาบาลที่เป็นทีมงานด้วยแพทย์บางท่านมีงานมากทั้งเป็นส่วนตัวและส่วนรวมลืมนึกถึงจิตใจของเพื่อนร่วมงาน มีเวลาให้กันบ้าง ปรารถนาในสิ่งเดียวกันคือ ผู้ป่วยหายปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี

เห็นด้วยกับอาจารย์สกลมากเลยค่ะ แต่อย่างที่อ.เต็มว่า ไม่ง่าย...  

ตอนนี้ เรื่องการ round เป็น hollistic มีทั้งแพทย์ พยาบาล และ สาขาอื่นๆ มีมากขึ้น เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ดังตัวอย่าง U-round ของภาค ortho

ชอบบันทึกนี้ของอาจารย์จัง ไม่ต้องปีนบันไดอ่าน

เห็นด้วยครับ เพราะตอนเป็น นศพ. ผมอยากจะรู้เหมือนกันว่าเขาทำอะไร แต่ไม่รู้จะเข้าไปถามยังไง  เลยเห็นใจน้องๆ ^__^

ที่จิตเวชรามานี่ อาจเป็นโดยลักษณะ specialty นะครับ พยาบาลสำคัญครับ  อาจารย์พยาบาลที่นี่ก็น่ารักมากครับ สลับกันมาทำงาน ward แบบ GN เลยครับ
การดูแลผู้ป่วยเราเป็น team approach ทั้งแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เข้าทำนอง biopsychosocial
ตอนสอน นศพ. ผมย้ำเสมอว่าข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับผู้ป่วยมาจาก ผู้ป่วย ญาติ และ nurse note เพราะเขาจะเขียนบันทึกละเอียดว่าคนไข้มีพฤติกรรมยังไงบ้าง ขณะเข้ากลุ่มเป็นยังไงบ้าง นักศึกษาทุกคนต้องคุยกับ "ญาติ" เพราะต้องรู้ว่าญาติมองว่าผู้ป่วยเป็นอะไร คิดยังไงกับเขา คิดยังไงกับโรคที่เขาเป็น ต่อไปจะทำยังไง เพราะญาติจะเป็นผู้ที่อยู่กับคนไข้ไปอีกตลอด ขณะที่แพทย์กับพยาบาลเจอคนไข้เทียบเป็นเวลากับที่ญาตเจอแล้วน้อยนิดมาก

ตอนเช้าทุกเช้าที่ ward จะมี morning  round ของแพทย์ พยาบาล นักสังคมฯ นักจิตฯ ทุกคนรู้เท่ากันว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับผู้ป่วย เราจะทำอะไรต่อ อย่างว่าครับในวงประชุมก็หมอ dominate ตามธรรมเนียม แต่ในทางปฏิบัติแล้วเรา respect กันครับ เพราะเขาสำคัญสำหรับคนไข้จริงๆ

 

ขอบพระคุณสำหรับทุกความเห็นครับ และหลายๆข้อคิดยิ่งทำให้อะไรๆงอกเงยต่อไปได้อีก

คำว่า ทีม ของเรานั้นบางทีมันหลวมๆอย่างไรชอบกลอยู่ ผมเคยแอบนิยามคำนี้ไว้ว่า "ทีม คือ กลุ่มของใคร (อะไร) ก็ตามที่มี วัตถุประสงค์ร่วมกัน มาทำงานประสานสัมพันธ์กันเพื่อไปสู่วัตถุประสงค์ร่วมนั้น" ตัวอย่างที่ยกประกอบเสมอในการทำ palliative care ก็คือ ผมมักจะถามนักเรียนแพทย์ว่า "ใครอยู่ในทีมการรักษาพยาบาลบ้าง" มีบางครั้ง (บอ่ยกว่าที่แอบคาดหวัง) ที่นักเรียนตอบมาได้ "เกือบ" หมด มีหมอศัลย์ หมอเหม็ด พยาบาล นักสังคม นักจิตวิทยา นักโภชนการ นักกายภาพ ที่ขาดไปก็คือ "ผู้ป่วย และญาติ" พอเฉลยไป น้องก็ถามว่า -- "อาจารย์ถามว่า "ทีมการรักษา" นี่ครับ ผู้ป่วยและญาติเป็น "ผู้รับการรักษา" ต่างหาก"--

บางทีเราน่าจะมองผู้ป่วยและญาติให้มี "บทบาท" ที่ more active, more involved มากกว่านั้นสักนิด คิดดูง่ายๆ ถ้าเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าความสำเร็จในการเป็นแพทย์ เป็นพยาบาลของเราก็คือ คุณภาพชีวิต ของผู้ป่วย และเราทราบว่า คุณภาพชีวิตนั้นเป็นองค์รวม ในมิติอื่นๆนอกเหนือจาก bio แล้ว คนไข้เราต้องการ empowerment จากมิติที่เขามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงมากกว่าเราเยอะ

อะไรจะเกิดขึ้นถ้า "เป้าหมาย" ของผู้ป่วยและญาติ ไมได้เป็นอย่างเดียวกันกับ so-called team การรักษา เช่น หมอจะสู้ผู้ป่วยจะถอย หมอบอกว่าถอยแล้วแต่ผู้ป่วยยังสู้อยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะมีการยื้อยักฉุดกระชากลากถู ไม่มีใครไปสู่จุดหมายได้อย่างง่ายๆ ลักษณะแบบนี้ไม่ใช่การทำงานเป็นทีม

ดังนั้น objective ของผู้ป่วยและญาติจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องมี alignment เดียวกันกับของที่เหลือทั้งหมด

ในการดูแลแบบองค์รวมนั้น การใช้ทีมมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ไม่เพียงแต่เป็นแค่ "ควร" เท่านั้น แต่เป็น "ต้อง" เลยทีเดียว กาย ใจ สังคม จิตวิญญาณ มีหลายๆมิติที่หมอไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือบางทีก็ไม่มีความรู้ซะด้วยซ้ำไป ฉะนั้น ในขณะที่หมออาจจะเล่นบท "ผู้นำทีม" ตอนสั่ง treatment, order, surgery ต่างๆ แต่เมื่อ "ลำดับความสำคัญของคุณภาพชีวิต" ผู้ป่วย shift ไปจาก bio เราก็จะต้องเลือก "ผู้นำทีม" ที่เหมาะสมกับบริบทนั้นๆ เช่น พยาบาลก็จะเก่งกว่าหมอมากมายในเรื่อง psychosocial เขาจะมีประวัติ มีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ (คำนี้ก็ misleading เหมือนกัน) มากมายนอกเหนือจากการซักประวัติแบบ bio ของแพทย์ส่วนใหญ่ ตอนนั้นพยาบาลน่าจะเล่นบทบาทผู้นำทีมการรักษาได้ดีกว่า บางทีบทบาทของผู้นำทีมก็จะดอนผ่อนย้ายไปพยาบาลบ้าง กายภาพบ้าง นักสิทธิประโยชน์บ้าง หรือแม้แต่พระ นักบวช หลวงพ่อ ภารดา และในบางกรณีภรรยา สามี ลูก ญาติสนิทเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะช่วยผู้ป่วยได้ เมื่อหมอทราบเช่นนี้ เราก็ก้าวถอยออกมา ให้คนอื่นเป็นผู้นำทีมได้ โดยไม่หวงแหนตำแหน่งนั้น ให้ความร่วมมือ ให้เกียรติ และให้ความช่วยเหลือในฐานะผู้ช่วยพระเอก ในฐานะตัวประกอบได้อย่างสมศักดิ์ศรี

 อย่างนี้จึงเป็นทีมที่ยืดหยุ่น และตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

อาจารย์ครับ ศิริราช 93 เท่ากับจุฬารุ่นอะไรนะครับ ผมรู้สึกว่าผมจะอยู่รุ่นใกล้กับอาจารย์นะครับ รุ่นผมสมัยเตรียมฯ ที่ไปเรียนศิริราชก็เยอะครับ
ศิริราช 93 = จุฬา 38 ครับ น่าจะหลังอาจารย์ 4 ปี ผมเตรียมอุดม 845 รุ่น 8 ครึ่ง (ห้องเดียวกับต๊อก อ.ชัยชนะ นื่มนวล ที่อยู่จุฬา อาจารย์น่าจะรู้จัก)

ผมเริ่มมองเห็นอนาคตอันน่าตื่นตาตื่นใจแล้วครับ

เห็นความเป็นไปได้ที่นักศึกษาหมอพยาบาลจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกันไป

นี่ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

เรามีคนเก่งและการแบ่งแยกมากเพียงพอแล้ว

ที่ยังต้องการอีกมากคือการหลอมพลัง

เราเคยคุยกันในวงเชียงรายว่า หากเราทั้งหมดยอมโง่ร่วมกัน

แล้ว "เรา" จึงจะค่อยฉลาดขึ้นทั้งแผง

ขอเป็นกำลังใจให้หมอสกล หมอเต็ม และทีมงานทุกท่านนะครับ

ณัฐฬส

สวัสดีและขอบคุณครับ อ.ณัฐฬส

เคยมีคนขอคำนิยาม "อาสาสมัคร" ว่าคืออะไร บางทีถึงขั้นจะไป "เกณฑ์" มาจากไหน ส่วนใหญ่ผมจะไม่ค่อยอยากจะสร้างกรอบ สร้างจำกัดเท่าไรนัก แต่พอได้ยินคำหลังนี่เลยคิดว่าน่ากลัวเราคงต้องอธิบายสักเล็กน้อย

อาสาสมัคร หรือ volunteer ซึ่งคำหลังนี้พวกแพทย์อาจจะคุ้นๆกับคำว่า voluntary muscle ที่แปลว่ากล้ามเนื้อใต้อำนาจจิตใจ เช่น กล้ามเนื้อที่แขน ขา ที่เราเป็นคนบงการ ต่างจาก involuntary muscle เป็นกล้ามเนื้อนอกอำนาจจิตใจ เช่น กล้ามเนื้อผนังลำไส้ เป็นต้น Voluntas แปลว่า "will" ดังนั้น volunteer หรืออาสาสมัครจึงเป็นคนทำอะไรๆที่อาสามานั้นด้วยแรงปราถนาของตนเอง

ผมเองคิดว่าหมอกับพยาบาลเป็นหนึ่งเดียวกันเป็นแค่ก้าวแรกเท่านั้น ถ้าเมื่อไรก็ตามทั้งหมอ พยาบาล และประชาชน ไม่ได้อยู่ "ฝ่ายเดียวกันทั้งหมด" อนาคตสาธารณสุขของเราก็คงจะไปไม่ถึงไหน

และแน่นอนที่สุดครับ จะเดินไปทางนี้ เราต้องการทั้งขวัญ กำลังใจ และแรงผลักดันตอนเนื่องไม่เหือดหาย เพราะเป็นการเดินทางที่ฝากเป้าหมายไว้กับแรงศรัทธา ยังไม่มีสังคมไหนที่เป็นเป้าให้ได้มองเป็นตัวอย่างเลยซะด้วยซ้ำ (อาจจะมีใน scale เล็ก แต่ไม่มีในระดับประเทศ) ก็ขอบคุณกำลังใจจากอ.ณัฐฬส มากๆครับ เราได้ใช้สิ่งที่อาจารย์ส่งมาแน่ๆ หมดเมือไร หรืออยากจะเติมมาเมื่อไร ก็ได้เลย

สนใจประเด็นนี้มากเลยค่ะ ผ่านมาสามปีแล้วมีความคืบหน้าไหมคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท