BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปรัชญามงคลสูตร ๕ : เริ่มต้นแห่งชีวิตใหม่ (จบ)


มงคลสูตร

 ปรัชญามงคลสูตร ๓ : เริ่มต้นแห่งชีวิตใหม่ (กด ตรงนี้.. สำหรับผู้แรกมาเยือน) หรือ ปรัชญามงคลสูตร ๔ : เริ่มต้นแห่งชีวิตใหม่ (ต่อ) เพื่อย้อนหลังครั้งที่แล้ว

การอยู่ในถิ่นสมควร. ความเป็นผู้มีบุญในปางก่อน. การดำรงตนไว้ชอบ. สามอย่างนี้จัดเป็นมงคลอันสูงสุด

การอยู่ในถิ่นอันสมควร จะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับบุญที่ได้กระทำไว้แล้วในอดีต และพ่อแม่สามารถจัดการให้ลูกอยู่ในถิ่นอันสมควรได้ ตามประวัตินิทานของเม่งจื้อ ซึ่งผู้เขียนได้เล่าไปแล้วในบันทึกครั้งก่อน ...แต่ การดำรงตนไว้ชอบ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อให้การปูรากฐานแห่งความมั่นคงในอนาคต...

เราลองมองดูญาติมิตรหรือเพื่อนใกล้ชิดดูก็ได้ บางคนพ่อแม่ก็มีฐานะและเป็นคนดี หวังความเจริญต่อลูกทุกประการ แต่ความไม่เอาไหนของลูก ก็ไม่สามารถทำให้ลูกประสบความสำเร็จได้ ฉะนั้น การดำรงตนไว้ชอบจึงขึ้นอยู่กับตัวเราเอง ดังชีวประวัติของเม่งจื้อ ซึ่งต่อจากครั้งก่อนดังต่อไปนี้....

ม่งจื้อ พอโตในวัยสมควร ก็ได้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนนั้น ในวันแรกๆ เม่งจื้อก็มีความสนใจในเรื่องต่างๆ ...ฝ่ายแม่ก็สอบถามลูกถึงการเรียนเสมอว่า วันนี้เรียนอะไรบ้าง ครูคนไหนสอน ...ทำนองนี้ ตามประสาแม่ผู้รักใคร่ห่วงใยลูกทั่วๆ ไป...

เย็นวันหนึ่ง แม่ของเม่งจื้อนั่งทอผ้าอยู่ เห็นลูกกลับจากโรงเรียนด้วยใบหน้าไม่ค่อยร่าเริงเหมือนทุกวัน จึงถามว่า วันนี้เป็นยังไงบ้าง... เม่งจื้อก็ตอบว่า ก็เหมือนๆ วันก่อนนั้นแหละ แม่...ครูสอนซ้ำๆ ซากๆ ไม่ค่อยสนุกเลย... ลูกว่าจะเลิกเรียนแล้ว ปีหน้า...ประมาณนี้

แม่ของเม่งจื้อ ได้ยินดังนั้น จึงใช้กรรไกรตัดผ้าที่กำลังทออยู่ ทำให้ผืนผ้าที่ขึงอยู่ขาดออกจากกัน...เม่งจื้อเห็นดังนั้นก็สะดุ้ง จึงถามว่า ทำไม แม่ทำอย่างนั้น แม่ทออยู่ตั้งนานกว่าจะได้ผืนขนาดนี้ ยังทอไม่เสร็จเลย...ประมาณนี้

แม่ของเม่งจื้อจึงบอกว่า การทำอะไรก็ตาม ถ้าเราทำไปครึ่งๆ กลางๆ ยังไม่สำเร็จ แล้วก็ล้มเลิกไป นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว จะทำให้เสียเวลา และเสียของอีกด้วย...เจ้าก็เหมือนกัน เรียนหนังสือได้ไม่นานนัก ก็มาขี้เกียจเบื่อหน่าย จะเลิกเรียนเสียแล้ว คล้ายๆ กับผ้าที่แม่ทอขึ้นมาแล้วถูกกรรไกรตัดขาดไปผืนนี้...

เม่งจื้อขอโทษแม่ แล้วก็บอกว่า ต่อไปลูกจะตั้งใจเรียน จะขยัน จะเรียนให้จบ...ทำนองนี้ ...

เม่งจื้อเล่าไว้ว่า คำสอนของแม่ครั้งนั้น ทำให้เค้าระลึกถึงเสมอเมื่อยามเบื่อหน่ายหรือท้อถอยสิ่งหนึ่งสิ่งใด....

จบนิทานเพียงแค่นี้ และนี้คือ การดำรงตนไว้ชอบของเม่งจื้อ...

.......

อนึ่ง ยังมีอีกประเด็นหนึ่ง คือ ความมีบุญที่กระทำไว้แล้วในปางก่อน ผู้รู้ท่านหนึ่ง บอกว่า มีความหมาย ๒ นัย คือ

๑. บุญกรรมในอดีตชาติ ซึ่งเราเคยบำเพ็ญมา จะเป็นพื้นฐานทางจิตใจ ความถนัด หรือความคุ้นเคยของเราในชาตินี้ ในเรื่องต่างๆ (สิ่งที่เป็นบาปกรรมก็เหมือนกัน แต่จะกล่าวเพียงแต่บุญ) เช่น...

 พวกเราเอง บางอย่างเราไม่ต้องใช้ความพยายามมากก็ทำได้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยทำ... แต่บางอย่าง เราฝึกหัดหลายๆ ครั้ง ก็ยังไม่ค่อยเป็นที่พอใจเท่าไหร่เลย....ขณะอีกคนทำสิ่งนั้นได้น่าอัศจรรย์ แต่เค้าก็ทำบางอย่างไม่ได้เหมือนเรา....ที่เป็นไปทำนองนี้ อาจกล่าวได้ว่ามี บุญกรรมในอดีตสั่งสมมาต่างกัน...

๒. ความคุ้นเคยในชาตินี้ หมายถึงสิ่งใดๆ ก็ตามที่เราเคยฝึก เคยเรียน หรือเคยกระทำมา จัดว่าเป็นบุญที่ได้กระทำไว้แล้วในปางก่อนเหมือนกัน เพราะแม้ว่า เราจะเลิกทำสิ่งนั้นมานานแล้วก็ตาม แต่เมื่อเรามีโอกาสกระทำอีก เราก็ย่อมฝึกได้เร็วขึ้น เช่น...

ตอนแรกบวช ผู้เขียนเคยสอบเทียบม.๖ กับ กศน. และเรียนพิมพ์ดีดสัมผัสอีกหนึ่งวิชาเพื่อเทียบโอน...หลังจากนั้นมาผู้เขียนก็ไม่เคยใช้วิชาพิมพ์ดีดเลยประมาณสิบกว่าปี จนกระทั้งเริ่มมีคอมฯ ก็หัดใหม่ เพียงไม่กิ่วัน ผู้เขียนก็ฝึกพิมพ์ดีดสัมผัสไทยและอังกฤษจนสามารถใช้งานได้ ...ที่เป็นเช่นนี้ อาจเทียบได้ว่า บุญที่กระทำไว้แล้วในปางก่อน เช่นเดียวกัน

การดำรงตนไว้ชอบ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ถามว่า จะดำรงตนไว้ชอบในเรื่องอะไรบ้าง นั่นคือ คาถาต่อไปในมงคลสูตรที่จะอธิบายเรื่องนี้  

คำสำคัญ (Tags): #ปรัชญามงคลสูตร
หมายเลขบันทึก: 77275เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2007 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2012 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อือม์...พระอาจารย์ครับ...การดำรงตนไว้ชอบนั้นเป็นประเด็นหนึ่งที่เห็นชัดเจนว่าถูกต้องตรงตามมงคลคาถา...

 

แต่ความมีบุญที่กระทำไว้แล้วในปางก่อน ตรงนี้เป็นเคล็ดวิชา(ปริศนาธรรม)ที่ควรเฉลยให้กระจ่างแจ้ง...

ความที่พระอาจารย์ไม่กล่าวถึงปางก่อนว่า อดีตชาติ คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนที่เราจะเกิดหรือไม่...แม้จะมีข้อดีคือคนที่เชื่อเช่นนั้นก็จะไม่เสียจริต...

แต่หากคนเชื่อแล้วกล่าวโทษเรื่องตั้งแต่ยังไม่เกิดว่าแล้วแต่เวรกรรมแล้วไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตัวเองกระทำในปัจจุบัน....ซึ่งทำอย่างไรก็ได้ไว้รอชดใช้กรรมชาติหน้า(หลังตายแล้ว)...

 

มีเพียงตัวอย่างพิมพ์ดีดของพระอาจารย์เท่านั้นที่บอกชัดเจนว่า...แต่ปางก่อนหรือ อดีตชาติ อยู่ในช่วงชีวิตเดียวกันนี้....

 

คุณโยมขำ...

พวกปล่อยตามเวรตามกรรมที่ว่า ถือว่าไม่ดำรงอยุ่ในปธานธรรม ซึ่งได้เขียนไว้แล้ว ดู  หัวหน้าธรรม 

ช่วงคุณโยมหายไป มักจะนึกได้ว่า หยุดราชการ พอมาเยี่ยมก็นึกได้ว่า วันจันทร์ (.....) 

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท