ไม่รู้จะตั้งชื่อบันทึกว่าอะไรดี


บันทึก ๘-๒-๕๐

   เมื่อคืนผมโทรศัพท์ไปหาอาจารย์ท่านหนึ่งที่มหิดล ผมคุยกับท่านชั่วโมงกว่า คราวหนึ่งผมเอ่ยขึ้นว่า "ตอนนี้ผมขอยอมรับความจริงอันหนึ่งของสังคมแล้ว จากเมื่อก่อนผมเชื่อว่าทุกคนมีความเป็นกลาง โดยเฉพาะผู้เป็นปัญญาชน ตอนนี้ผมเปลี่ยนความคิดแล้วว่า ความเป็นกลางแม้ไม่ใช่ปัญญาชนก็เป็นได้ และความไม่เป็นกลาง ปัญญาชนบางคนไม่สามารถจะทำให้เกิดได้ ดังนั้นทุกอย่างจึงอยู่ที่ตัวบุคคลเป็นสำคัญ" อาจารย์ท่านนั้นเสริมในตอนท้ายว่า "มันเป็นกันอย่างนี้ทั่วโลกแหละ"

   ผมคิดหาเหตุผลว่า ทำไมก่อนนั้นผมคิดอย่างนั้น เฝ้าทบทวนก็เข้าใจว่า สิ่งแวดล้อมทำให้ผมคิด และอิทธิพลอย่างมากคือ ครูบาอาจารย์ที่ผมคุ้นเคยท่านจะมีความเป็นกลางให้ผมได้เรียนรู้เสมอ ไม่สนใจว่าคนนั้นเคยเอื้อเฟื้อเพียงใด โดยแยกความเป็นส่วนตัวกับความเป็นส่วนรวมออกจากกัน

   อันที่จริงการที่เรามุ่งมั่นทำอะไร โดยไม่ใช่ใจกับการประกาศให้ใครรับรู้นั้น เราทำสำเร็จ เราดีใจ เราพอใจ แต่ในความเจริญทางสังคม ถ้าผู้มีส่วนในการเปิด-ปิดทางความเจริญทางสังคมให้กับบุคคลอื่น ไม่เห็นความดีความงาม ก็ยากที่จะได้รับความเจริญทางสังคม ท่านบอกให้ผมฟังว่า เงินเดือนข้าราชการของท่านเคยชะงักอยู่ ๕ ปี ติดกัน แต่ไม่ได้คิดอะไร นอกจากเรามีงานต้องทำมากกว่าความน่ากังวลดังกล่าวนั้น ข้อสรุปของผมคือ "ปิดทองหลังพระ ถ้าหวังความเจริญทางสังคม ต้องทำให้ผู้ปิด-เปิดความเจริญทางสังคมได้รับรู้ เพราะผู้นั้นมิได้หูตากว้างไกล หรือมีเวลามาตรวจสอบว่า ทองที่แปะอยู่หลังพระเป็นทองของใคร เท่าที่พบเรามักมองฉากของการจัดแสดงมากกว่ามองเบื้องหลัง ในญัตตินี้ มีตัวอย่าง ๓ ตัวอย่างให้คิด

ตัวอย่างที่ ๑ "ตึกสูงหลังนี้ใครสร้าง"

   เช้าวันนี้ ระหว่างรอนักศึกษาเข้าห้องเรียน ผมเดินออกไปยืนที่ระเบียงตึกบนชั้น ๑๐ ของตึก ๑๕ ชั้น มองออกไปทางตะวันออก คือฟากถนนพหลโยธิน มีรถราขวักไขว่ตลอดสาย ถัดเข้ามาจากฟากถนน ตรงสระภายในมหาวิทยาลัย คนงานกำลังก่อสร้างหอประชุมหลังใหม่ ก่อขึ้นเป็นรูป เป็นคานและเสาใหญ่ เทพื้นชั้นแรกเรียบร้อย ดูกระชับและหนาแน่นดีทีเดียว สิ่งที่ผมเห็นคือ คนงานกำลังสร้างหอประชุม (ผมก็ไม่รู้ว่าหลายชั้นหรือว่าชั้นเดียว น่าจะเป็นชั้นเดียว) และภาพที่เลยออกไปคือ หอประชุมกลางสระบัวที่สวยงามเป็นสง่า แล้วตึกที่ผมยืนอยู่นี้ก็น่าจะเริ่มต้นจากตรงนั้นเหมือนกัน "ใครกันนะสร้างตึกนี้ สวยดีแท้" คำตอบที่เราตอบกันคือ "ไม่ใช่คนงานที่ผมเห็น หากแต่เป็น..."

ตัวอย่างที่ ๒ "โบสถ์นี้ใครสร้าง"

   กรณีเดียวกันกับตึกสูง "ใครกันนะสร้างโบสถ์สวยจัง" คำตอบคือ ไม่ใช่คนขนอิฐ หิน ปูน ทราย หรือคนฉาบปูนแน่นอน หากแต่เป็น...."

   จาก ๒ กรณีนี้ กรณีที่ ๒ ถ้าเราตอบว่า เจ้าอาวาสองค์นั้นสร้าง ก็มีคำถามตามมาว่า แน่ใจหรือว่าเจ้าอาวาสสร้าง ในเมื่อเงินทั้งหมดคือเงินบริจาค เงินทำบุญ ของใครๆ หลายๆคนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก กรณีที่ ๑ เช่นกัน ผู้ที่เราบอกว่าเขาผู้นี้ได้สร้างขึ้นมา เขาออกเงินกี่บาท เพื่อจะบอกได้อย่างภาคภูมิใจว่า "ฉันสร้าง" เดินเข้าไปในหมู่บ้านก็เช่นกัน หรือศาลาริมทางก็เช่นกัน ที่เรามักเห็นตัวอักษรเขียนให้รู้ว่าใครสร้าง เราแน่ใจได้อย่างไร

ตัวอย่างที่ ๒ "แมว ๒ ตัว"

   เมื่อสัปดาห์ก่อนผมกลับไปชุมพรบ้านเกิด ปกติก็กลับอยู่บ่อยถ้ามีโอกาส ที่บ้านผมแม่เลี้ยงแมวไว้ตัวหนึ่ง และอีกตัวหนึ่งเป็นของเพื่อนบ้าน ผมเคยเจอแมวตัวนั้นเพียงครั้งเดียว แต่คราวนี้เหมือนกับว่ามันคุ้นเคยกับผมมาก ผมมาจากวัดจะขึ้นบ้าน ระหว่างเดินขึ้นบันไดไปเปิดประตูบ้าน เสียงแมวตัวนั้นร้องเสียงดังมาก ดังมากจริงๆ แล้วมันก็วิ่งมาหาผม อีกตัวหนึ่งก็ตามมาด้วย ผมก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากมาย ผมเดินเข้าไปในบ้าน หยิบหมอนออกมา ปูเสื่อและนอน แมวของแม่ก็เข้ามา แล้วมานอนเบียดที่หน้าผม ผมคิดในใจว่า เอ๊ะ แมวตัวนี้มันยังไงนะ ที่นอนมีเยอะแยะ ทำไมต้องมาเบียดผม แต่ผมก็ปล่อยให้มันนอน อีกตัวหนึ่งไปนอนห่างๆ คงจะไม่คุ้นเคย จากนั้นผมก็แกล้งนอนดิ้นๆ ไปทับมัน มันก็พยายามขยับ ผมเอามือปัดมันลงไปข้างตัว มันก็ลุกขึ้นและมานอนเบียดตัวผมอีก ผมคิดในใจว่า ผมจะรู้สึกอย่างไร อืมมม มันก็รู้สึกดีนะ ไอ้การคลอเคลียนี่ มันทำให้เราเปลี่ยนความรู้สึกบางอย่างให้มันเย็นนิ่งลง ผมก็ถามผมเองว่า ผมชอบหรือ ผมก็บอกตัวผมว่า ผมไม่ได้ปฏิเสธ เพราะไม่รู้สึกเดือดร้อนอันใด ผมเริ่มเปรียบเทียบพฤติกรรมคนทันที และได้คำตอบว่า นั่นนะสิ......................."

---------------การเป็นผู้บริหารหรือผู้เปิด-ปิดประตูความเจริญทางสังคมให้กับผู้อื่น พึงเว้นอคติ ๔ ไม่ลำเอียงเพราะรักใคร่ชอบพอ ไม่ล้ำเอียงเพราะกลัว ไม่ลำเอียงเพราะหลงงมงายไร้ปัญญา ไม่ลำเอียงเพราะโกรธเคืองอาฆาตพยายาท  ผมคิดว่า ตำราเล่มนี้ยังคงใช้ได้อยู่ในปัจจุบัน ---------------------- ปัจจุบันเราเรียนตำราคนละเล่ม เราจึงคิดเห็นต่างกันไปแล้วแต่ว่าเราซึมซับอะไรกันมามากกว่ากัน เราก็จะมีฐานคิดจากสิ่งนั้นมาก---------------ผู้ปฏิบัติงาน อย่าพึงเก็บความดีไว้เพียงคนเดียว จงกระจายความดีนั้นให้กับบุคคลอื่นได้ซึมซับด้วย................

หมายเหตุ โปรดงดการซื้อเก้าอี้ให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเท่านั้นด้วย

คำสำคัญ (Tags): #บันทึกความคิด
หมายเลขบันทึก: 77175เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2007 16:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"ปิดทองหลังองค์พระปฎิมา" ครับ

 

ชื่อบันทึกนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท