มองสกว.ย้อนดู นครศรีธรรมราช (4)


กลไกการทำงานที่เป็นอยู่มีความหลากหลายซ้อนทับกันมากจนไม่สามารถทำงานโดยใช้อำนาจและงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อีกต่อไป แต่จำเป็นต้องใช้ความรู้อย่างบูรณาการและการจัดการความรู้ นั่นคือ การทำงานในลักษณะของเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันอย่างบูรณาการ

ผมได้ปูพื้นพัฒนาการของระบบจัดการของรัฐไทยอย่างย่นย่อ โดยสรุปถึงยุคปัจจุบันคือ รัฐบาลคุณทักษิณได้กระจายการจัดการสู่เอกชนผ่านตลาดและชุมชนเพื่อสร้างเครือข่ายบริวารในจุดแข็งที่ตนเองมีอยู่ เป็นการแข่งขันกับพรรคการเมืองที่คุมกำลังผ่านระบบราชการแต่เดิม โดยที่ไม่ว่าระบบใดก็มีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ มีผู้ตามทันและตามไม่ทัน แต่รูปแบบและวิธีการที่คุณทักษิณโดยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยใช้ถือว่ามีผู้ได้ประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด คนไทยจำนวนมากจึงเลือกคุณทักษิณ

นครศรีธรรมราชเป็นกลไกดำเนินการระดับจังหวัดเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ด้วยกลไกหลักคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งถือเป็นตัวแทนของรัฐบาลกลางที่ต้องตอบสนองนโยบายชาติโดยการทำข้อตกลงร่วมในการปฏิบัติงาน(job agreement)กับนายกฯ รองนายกคุมกระทรวงเป็นพวงหรือประเด็นและแบ่งมาคุมพื้นที่ โดยกลไกนี้มีการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาทั้งระดับกลุ่มจังหวัดและจังหวัด (ซึ่งอาจารย์สุธีระของสกว.ใช้แนวทางนี้ในการพัฒนาABC Researchใน5จังหวัดภาคใต้ตอนกลางซึ่งมีนครศรีธรรมราชอยู่ด้วย)ในระดับจังหวัดมียุทธศาสตร์หลักมาจากนโยบายรัฐบาลคือ แก้ปัญหาความยากจน เกษตรอินทรีย์ ยาเสพติด ฯลฯ ในกระทรวงก็รับนโยบายดังกล่าวผ่านมาทางหน่วยงานตามโครงสร้างหน้าที่

นโยบายแก้ปัญหาความยากจนที่ระบุกิจกรรมจากส่วนกลางให้ทำทั่วประเทศคือ การลงทะเบียนคนจน นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างเสริมอื่นๆอีกเช่นศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติทั้งของรัฐและของประชาชน

ผมเห็นว่า แบบจำลองของรัฐบาลคุณทักษิณต้องการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายกจังหวัด ที่เชื่อมต่อกับรัฐบาลกลาง ต้องมีทั้งอำนาจและงบประมาณ แต่ทำได้อย่างจำกัดจำเขี่ยเพราะติดระบบระเบียบต่างๆมากมาย

นครศรีธรรมราชโชคดีที่ได้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นCKOจึงทำงานท่ามกลางข้อจำกัดได้มากกว่า ที่รัฐบาลต้องการ คือท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนที่เข้าใจข้อจำกัด รู้โลก รู้ชุมชน และรู้จักตนเองเป็นอย่างดี มองเห็นในสิ่งที่คนอื่นๆมองไม่เห็น และมองไม่เห็นในสิ่งที่คนอื่นๆมองเห็น จัดการเรื่องด่วนและสำคัญตามMatrixได้อย่างเหมาะสม กล้าตัดสินใจ (ไม่หนีปัญหา) และที่สำคัญคือ การให้คุณค่า ให้เกียรติคน มีความใส่ใจและแบ่งปัน ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญที่สุดของนักจัดการความรู้

เนื่องจาก การจัดการความรู้ให้ความสำคัญกับคน มองคนอย่างมีคุณค่า ไม่มองข้ามความเป็นคน ทุกคนล้วนมีความสำคัญในบทบาทหน้าที่ที่ตนเองเกี่ยวข้องอยู่ ทุกคนมีศักยภาพที่จะเรียนรู้และสร้างความรู้จากชุดประสบการณ์ของตนเอง

มองเห็นในสิ่งที่คนอื่นๆมองไม่เห็น แง่บวกคือ มีจินตนาการ แง่ลบในบวกคือ มองเห็นโอกาสในอุปสรรคและภยันตราย

มองไม่เห็นในสิ่งที่คนอื่นๆมองเห็น คือ ไม่วนเวียนอยู่ในข้อจำกัดและจุดอ่อนที่มีอยู่

จัดการเรื่องด่วนและสำคัญตามMatrixได้อย่างเหมาะสม คือ พยายามทำเรื่องไม่ด่วนที่สำคัญเป็นลำดับแรก จนกลายเป็นนิสัย (แม้ว่าโดยหน้าที่ต้องมีเรื่องด่วนที่สำคัญและไม่สำคัญเข้ามาเรื่อยๆ ก็ตาม)

กลไกจัดการของผู้ว่าราชการจังหวัด ถ้าเปรียบกับสกว.หรือรัฐบาลมี2แกนสำคัญคือ 1.แกนประเด็นตามยุทธศาสตร์จังหวัดที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ ควบคุมกำกับโดยการประสานงานผ่านหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด 2.แกนพื้นที่ บังคับบัญชาและควบคุมกำกับโดยการประสานงานผ่านนายอำเภอ ทั้ง2กลไกคือการเชื่อมร้อยประเด็นกับพื้นที่เข้าด้วยกัน โดยที่ในแต่ละกลไกก็มีระบบจัดการเชื่อมโยงลงไปยังกลุ่มเป้าหมาย เช่น ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์รับผิดชอบโดยเกษตรจังหวัดซึ่งถือเป็นเสนาบดีของจังหวัดก็มีกลไกทำงานผ่านไปยังเกษตรอำเภอ เกษตรตำบล และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีตำบลด้วยกระบวนการของโรงเรียนเกษตรกร

พัฒนาการจังหวัดรับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงก็มีกลไกของพัฒนาการอำเภอและพัฒนาชุมชน ที่เชื่อมต่อกับกำนันผู้ใหญ่บ้านและองค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งกลุ่มต่างๆในชุมชน สาธารณสุขมีเครือข่ายอสม.เป็นหน่วยเฝ้าระวังและสร้างเสริมสุขภาพนอกจากหน่วยบริการที่สถานีอนามัยและโรงพยาบาล เป็นต้น

2.หน่วยบริหารจัดการและกำกับดูแลเชิงพื้นที่คือ จังหวัด นอกจากดำเนินการผ่านนายอำเภอ ซึ่งกำกับดูแลส่วนราชการต่างๆในพื้นที่อำเภอแล้ว ยังประสานขอความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาลได้ โดยที่นายอำเภอสามารถประสานเชื่อมโยงกับองค์การบริหารส่วนตำบลได้เป็นอย่างดี จะเห็นว่ากลไกการทำงานที่เป็นอยู่มีความหลากหลายซ้อนทับกันมากจนไม่สามารถทำงานโดยใช้อำนาจและงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อีกต่อไป แต่จำเป็นต้องใช้ความรู้อย่างบูรณาการและการจัดการความรู้ นั่นคือ การทำงานในลักษณะของเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันอย่างบูรณาการ

คำสำคัญ (Tags): #แก้จนเมืองนคร
หมายเลขบันทึก: 77118เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2007 12:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท