BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปรัชญาหนังตะลุง : เจ้าครองนคร


เจ้าครองนคร

ยุคสมัยของการปกครองมีพัฒนาการไปเรื่อยๆ และมีมากมายหลายระบบตามที่นักรัฐศาสตร์จะจัดประเภทอย่างไร...ส่วนในหนังตะลุงจะมีการปกครองแบบเจ้าครองนคร (Feudalism)

รูปแบบของการปกครอบแบบเจ้าครองนคร คือ แต่ละนครหรือเมืองจะมีอิสระในตัวเอง โดยมีกษัตริย์หรือเจ้าเมืองเป็นผู้นำสูงสุด ส่วนรายละเอียดในการปกครองภายในก็แตกต่างกันไปในแต่ละเมือง....ในยุคปัจจุบัน ได้มีการรวมเมืองต่างๆ เข้าด้วยกัน กลายเป็นประเทศต่างๆ ในรูปแบบของเอกรัฐ สมาพันธรัฐ ฯลฯ... ส่วนรูปแบบเจ้าครองนครในปัจจุบันยังคงมีอยู่บ้างเฉพาะรัฐเล็กๆ เท่านั้น

เรื่องราวในหนังตะลุงยังคงไว้ซึ่งรูปแบบของการปกครองแบบเจ้าครองนคร นั่นคือ จะมีเมืองต่างๆ มีเจ้าเมือง และมีเจ้าชายหรือเจ้าหญิงเพื่อจะสืบทอดอำนาจต่อไป....แต่ในการละเล่นตามเนื้อเรื่องเป็นการสะท้อนสถานการณ์ของสังคมปัจจุบันเป็นหลัก นั่นคือ การดำเนินเรื่องของหนังตะลุงจะมีการผสมผสานกันระหว่างรูปแบบเจ้าครองนครกับวิถีชีวิตของสังคมปัจจุบันอย่างกลมกลืน...ประเด็นนี้ ผู้เขียนคิดว่าจัดเป็น ปรัชญาในหนังตะลุงได้ประการหนึ่ง....

ประมาณ ๒๐ ปีก่อน ผู้เขียนเคยฟังหนังตะลุงคณะหนึ่งจากวิทยุ นายหนังประกาศในเบื้องต้นว่า จะไม่ใช้การดำเนินเรื่องในรูปแบบเจ้าครองนคร โดยจะใช้วิถีชีวิตของสังคมปัจจุบันเท่านั้น ...(ตามที่พอจะจำได้) เริ่มต้นก็มีหมู่บ้านหนึ่ง ลำบากฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล ตัวละครจึงชวนกันมาหางานทำในเมือง....

ผู้เขียนติดตามฟังอยู่ระยะหนึ่ง ก็รู้สึกว่าตะขิดตะขวงใจ รับไม่ค่อยได้ มิใช่รูปแบบของหนังตะลุงที่เคยประสบมา...และสงสัยว่ารูปแบบใหม่นี้จะได้รับความนิยมหรือไม่....จนกระทั้งปัจจุบัน รูปแบบนี้ก็ยังไม่ได้รับการนิยม นั่น แสดงให้เห็นว่า ผู้ชมหนังตะลุงยังยึดติดในรูปแบบเจ้าครองนครแบบเก่า ผสมผสานกับการดำเนินเรื่องโดยสถานการณ์ปัจจุบัน...

สาเหตุที่ผู้ชมหนังตะลุง ยังคงยืนยันในรูปแบบเดิมๆ คงเป็นเพราะเมืองไทยมีการปกครองระบอบมีพระมหากษัตริย์มานาน เรายังคงยึดถือว่าระบอบนี้เป็นของเราอยู่ ไม่อยากจะให้เปลี่ยนแปลง...สิ่งเหล่านี้ น่าจะสะท้อนค่านิยมของสังคมได้....

แต่ เมื่อประมาณ ๑๐ ปีก่อน เริ่มมีหนังตะลุงบางคณะ ออกเทปหนังตะลุงแบบใหม่ โดยคัดเฉพาะที่เป็นมุขตลกในท้องเรื่องต่างๆ เข้ามารวมกันเผยแพร่ ปรากฎว่าได้รับความนิยมจากแฟนหนังตะลุงโดยทั่วไป ...หนังตะลุงหลายๆ คณะ ก็เริ่มทำตาม (เพราะ ขายได้ ก็หมายถึงรายได้)... เทปรวมมุขตลกรูปแบบนี้มิได้ไปเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเล่นหนังตะลุง ...ประเด็นนี้ สะท้อนให้เห็นได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคมเป็นเกณฑ์

พระยาอนุมานราชธนกล่าวไว้ทำนองไว่า ถ้าสังคมเห็นว่า ขนบ ธรรมเนียม จารีต ประเพณี รูปแบบใดยังคงจำเป็นอยู่ก็จะคงไว้ ถ้าเห็นว่ารูปแบบใดควรจะปรับปรุงก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสม ส่วนรูปแบบใดที่สังคมเห็นว่าไม่มีความจำเป็นและสำคัญแล้ว รูปแบบนั้นก็จะค่อยๆ สลายไป และจะกลายไปเป็นเพียงเรื่องเล่าปรำปราในที่สุด

รูปแบบเจ้าครองนครในหนังตะลุงอาจสะท้อนถึงมุมมองของข้อความข้างต้นได้อย่างชัดเจน  

หมายเลขบันทึก: 76918เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2007 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • นึกถึงหนังตลุงภาคใต้
  • เคยดูที่วัดทรายขาว ทุ่งหวัง ยันเช้าเลยครับ
  • มาขอบคุณครับ
  • Thank You

อาจารย์ขจิต

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก

ททํ มิตฺตานิ พนฺธติ ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้

ทายโก ปฏิทานํ ผู้ให้ย่อมได้รับการตอบแทน

เจริญพร

นมัสการครับ...พี่หลวงชัยวุธ

           ผมก็มีความคิดเหมือนพี่หลวงครับ... เรื่องของ "เจ้าครองนคร" เป็นเพราะประเทศไทยมีสังคม การปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มายาวนาน ที่สำคัญเราได้มองถึงพระมหากษัตริย์ ผู้ครองนครเป็นผู้มีบุญญาธิการสูงส่ง  จึงจะมา ครองนครได้

           ผมเคยติดตามเรื่องหนังตะลุงเรื่องหนึ่ง ของหนังกั้น ทองหล่อ บ้านน้ำกระจาย "เรื่องขอมดำ" เป็นเรื่องเกี่ยวกับตำนานบ้าน ตำนานเมือง เรื่องน้ีการดำเนินเรื่องเข้มข้นมากครับ... เพราะเป็นเรื่องของการ รวบรวมเมืองต่าง ๆ มาเป็นเมืองขึ้นแต่ ผู้ปกครองนครสูงสุดเป็นคน บ้าอำนาจ จึงทำให้มีคนที่มีความรู้ความสามารถ คิดจะล้มล้างอำนาจปลดปล่อยให้เมืองต่าง ๆเป็นอิสระ  เรื่องน้ีให้แง่คิดให้คติสอนใจมากมาย เล่าคร่าวๆ นะครับ....

           เรื่องน้ีน่าจะมีคณะหนังลูกศิษย์ของหนังกั้น ทองหล่อ  นำมาแสดงบ้าง  ที่แน่ๆ ก็มีอยู่ คณะหนึ่งครับ... คือหนังดวงประทีป  แก้วทอง  บ้านทุ่งขมิ้น ตำบลนาหม่อม  จังหวัดสงขลา ... ครับ

           อีกประเด็นหนึ่งครับ...คำว่า "เจ้าครองนคร" ก็เป็นสำนวนไทยที่ใช้เรียกคนที่ชอบทำตัววางอำนาจ ข่มผู้อื่นจนเป็นนิสัย เราจึงมีสำนวนให้กับคนพวกน้ีว่า "ทำตัวเหมือนเจ้าครองนคร"

                    นมัสการมาด้วยความเคารพ

                              ครูราญเมืองคอน คนนอกระบบ
 

 

คุณครูนายหนัง

ทำตัวเหมือนเจ้าครองนคร

เยี่ยมมากเลยคุณครู สำนวนนี้ หายไปจากความคิดนานแล้ว เพิ่งนึกได้ว่า สำนวนนี้เคยฟังคนเฒ่าคนแก่คุยกันเมื่อหลายๆ นาน มาแล้ว....

สมัยก่อน มีเพลงบอกตามงานตอนดึกๆ พี่หลวงชอบไปนั่งฟัง เวลาคนเฒ่าๆ เล่นสำหนวนก็มักจะมีสำนวนนี้อยู่ด้วย....

คุณครู อย่าลืม tag

โปรดอ่าน อีกครั้ง คุณครู อย่าลืม tag

เจริญพร

นมัสการครับ...พี่หลวงชัยวุธ

        พี่หลวงครับ... นอกจากสำนวนที่กล่าวมาแล้ว ยังมีสำนวนที่เกิดจากลักษณะกริยาท่าทาง ของหนังตะลุงอีกมากมายครับ... เช่น

  • ยอดทองบ้านาย  เป็นสำนวนที่ใช้กับคนที่เอาอกเอาใจเจ้านาย จนออกนอกหน้า  คนประเภทน้ีทำอะไรได้ ทุกอย่าง ให้นายรัก และพอใจ แม้ตัวเอง จะเจ็บตัว ก็ยอม เมื่อนายเอ่ยปากชมพวกน้ี จะดีอกดีใจจน ทำตัวไม่ถูก... เช่น

            เมื่อนางเอก  พร้อมด้วยสีแก้ว และยอดทอง ต้องเดินทางอยู่กลางป่า ยอดทองได้แสดง ความสามารถต่าง ๆ จนนางเอก พูดชมว่าเก่ง หลายอย่าง จนสุดท้ายใช้ให้ยอดทองขึ้นเก็บผลไม้ และจะเอาลูกที่อยู่ตรงปลายของก่ิงไม้ ด้วยความต้องการให้เจ้านายรักและเห็นใจ ยอมออกไปเก็บผลไม้จนตกลงมา 

    นางเอก:  เจ็บมั๊ยพี่ทอง

    ยอดทอง: ไม่เจ็บน้อง  ๆ  เพื่อน้องพี่ทองทำได้ (พูดแบบแค้น จุกๆ) 

             นมัสการมาด้วยความเคารพ

                       ครูราญเมืองคอน คนนอกระบบ

 พี่หลวง  รีบเข้า  Tag   พี่หลวง  รีบเข้า  Tag

 ย้ำอีกครั้งครับ...พี่หลวง  รีบเข้า  Tag 

 

คุณครูนายหนัง...

....ยอดทองบ้านาย ....

สำนวนนี้ ได้ยินเรื่อยๆ

สาเหตุหนึ่ง ที่สำนวนใต้หายไป ก็เพราะอิทธิพลของการศึกษาซึ่งเด็กได้รับมาจากโรงเรียน ส่วนปัจจุบันก็ สื่อต่างๆ คือ วิทยุ โทรทัศน์ หรืออินเตอร์เน็ต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ค่อยๆ มาริดรอนทำให้สำนวนใต้เก่าๆ ค่อยๆ เลือนๆ และหายไป...

สังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้บางอย่างหายไปด้วย ในตอนดึกๆ คนเฒ่าคนแก่ว่าเพลงบอกหยอกล้อประสาพี่น้องก ก็หายไปแล้ว ตั้งแต่งานศพย้ายเข้าไปสู่วัดและรูปแบบหนึ่งของธุรกิจ...

คุณครู เล่ามาเรื่อยๆ ตามโอกาส นะครับ...

ก็จะเขียนไปเรื่อยๆ เพื่อค่อยๆ วาง แบบ ขึ้นมา และถักทอจนเป็น รูปร่าง ต่อไป 

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท