มองสกว.ย้อนดู นครศรีธรรมราช (2)


นโยบายและกลไกปฏิบัติของรัฐบาลที่ส่งผ่านมายังนครศรีธรรมราชทั้งก่อนหน้าและปัจจุบันเป็นอย่างไร?

โครงการเสริมสร้างกระบวนการชุมชนเข้มแข็งอย่างสมบูรณ์และยั่งยืนของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมีเป้าหมายเพื่อแก้ข้อจำกัดเหล่านี้ แต่ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงกลไกและตัวบุคคลไม่มากนัก

จะเข้าใจระบบหรือกลไกการจัดการของนครศรีธรรมราชได้ก็ต้องเข้าใจประเทศไทย เพราะจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริหารจัดการของรัฐไทยที่แบ่งเป็น 3 ส่วนคือส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น มีกฏหมายและระเบียบปฏิบัติมากมายที่สานกันเป็นร่างแหเพื่อป้องกันการประพฤติผิดของคนอย่างไม่จำแนก จึงเปรียบดังตราสังข์มัดร่างให้ราชการกระทำการได้ในกรอบที่กำหนดโดยไม่มีผู้รับผิดชอบ    
นอกจากนี้อำนาจรวมศูนย์ที่ตกทอดมาตั้งแต่รัชกาลที่5 และการเถลิงอำนาจขึ้นของรัฐราชการในการปฏิรูปการปกครองปี2475ซึ่งมีทหารเป็นเอกอำนาจก็ได้ยึดครองพื้นที่ประชาธิปไตยไว้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม อำนาจที่ว่านี้ดำรงอยู่ในความเปลี่ยนแปลงที่มาจากขุมพลัง2ส่วนคือส่วนที่เป็นโลกาภิวัฒน์ที่มีตลาดภายใต้ระบบทุนนิยมเป็นพลังขับเคลื่อน และพลังชุมชนท้องถิ่นที่มีรากฐานทางศาสนาเป็นกรอบยึดเหนี่ยว

ความด้อยประสิทธิภาพและการคอรัปชั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐราชการไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในสังคมประชาธิปไตยที่มีเทคโนโลยีข่าวสารเป็นสื่อเรียนรู้สำคัญ จึงเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงขึ้นเป็นรัฐธรรมนูญ2540 ซึ่งเป็นที่มาของรัฐบาลธุรกิจที่มีความสามารถสูงซึ่งเป็นไปได้ก็ด้วยการปฏิรูประบบราชการซึ่งเป็นกลไกปฏิบัติอย่างขนานใหญ่และการเชื่อมต่อกับผู้รับประโยชน์โดยตรงเพื่อให้เป็นนโยบายที่กินได้

มีการปรับเปลี่ยนกลไกปฏิบัติทั้ง3ส่วนคือส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่นเพื่อให้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล แต่ก็ทำได้ไม่ง่ายนักด้วยแรงต้านจากความเคยชินที่มีอยู่เดิม ซึ่งทำให้ภาคนโยบายและการปฏิบัติไม่สอดประสานกัน จึงบอกได้ยากว่าล้มเหลวเพราะนโยบายหรือเพราะกลไกปฏิบัติเป็นอุปสรรค แต่ที่แน่ๆคือ ล้มเพราะข้อกล่าวหาเรื่องคอรัปชั่นทั้งโดยตัวบุคคลและนโยบายซึ่งรัฐบาลขิงแก่ได้เข้ามาคั่นเวลาไว้ตามข้อตกลงคือ1ปีตามที่รับรู้กัน

นโยบายและกลไกปฏิบัติของรัฐบาลที่ส่งผ่านมายังนครศรีธรรมราชทั้งก่อนหน้าและปัจจุบันเป็นอย่างไร?

โดยกรอบเดิมของรัฐราชการ อำนาจจะอยู่ที่กระทรวงและกรมซึ่งเป็นหน่วยบริหารจัดการหลักของชาติ แม้ว่าจะมีราชการส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น แต่ก็เชื่อมโยงตามแท่งมายังศูนย์อำนาจที่กระทรวงและกรมในกรุงเทพ ซึ่งเชื่อมต่อกับการเมืองอีกทอดหนึ่ง เป็นระบบศักดินาตามฐานมูลนายที่เน้นการคุมกำลังคนเป็นลำดับชั้น โดยมีประชาชนเป็นลิ่วล้อในหนังจีน ตัวแสดงที่มีบทบาทเคียงคู่กันคือราชการและนักธุรกิจที่ผลัดกันสวมเสื้อการเมือง โดยไม่มีแนวความคิดที่จะทำให้ผู้คนในประเทศซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายได้สร้างอัตลักษณ์ของตนเองขึ้นมาด้วยโลกทัศน์และผลประโยชน์ร่วมกันที่ต้องมีการเจรจาต่อรองอย่างเท่าเทียมเพื่อให้แต่ละคนได้เป็นคนใดคนหนึ่งในสังคมที่มีตัวตน ซึ่งเป็นหัวใจของความเป็นประชาธิปไตย

สิ่งที่รัฐบาลนายกทักษิณทำไปคือ การทลายการคุมกำลังคนของมูลนายเดิมทั้งนักการเมืองและ ราชการเพื่อให้มาขึ้นต่อมูลนายใหม่คือพรรคไทยรักไทยและรัฐบาลซึ่งมาจากประสบการณ์การจัดการในภาคธุรกิจของคุณทักษิณที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกค้ามากยิ่งขึ้น

รัฐบาลใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือเมื่อพบกับอุปสรรคของระบบระเบียบราชการโดยการใช้งบขนมชั้นคือชั้นยุทธศาสตร์ชาติ(agenda) ชั้นโครงสร้างหน้าที่(function) และชั้นพื้นที่(area)ทั้งกลุ่มจังหวัด จังหวัดและต่อถึงชุมชนโดยตรงคือแนวทางการบริหารจัดการของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ซึ่งทำไปท่ามกลางข้อจำกัดมากมาย

ข้อเด่นของคุณทักษิณคือกระบวนการร่วมฝันและสร้างทีมเรียนรู้โดยการนำเสนอต่อคนไทยทั้งชาติอย่างต่อเนื่องทั้งในความคิดและการดำเนินงาน(ซึ่งถูกกล่าวหาว่าโฆษณา)โดยสื่อสาธารณะทุกรูปแบบทั้งในคณะรัฐมนตรี ที่ประชุมข้าราชการในระดับต่างๆ รวมทั้งในเวทีธุรกิจและผู้นำชุมชน ท้องถิ่น

จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดใหญ่ โครงสร้างหลักถูกขับเคลื่อนโดยราชการส่วนภูมิภาค (ที่จริงชีวิตชาวบ้านดำเนินไปโดยไม่ได้ข้องเกี่ยวกับราชการสักเท่าไร หุ้นส่วนสำคัญในชีวิตคือตลาดภายใต้ระบบทุนนิยมและวิถีชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับขนบธรรมเนียมและประเพณีวัฒนธรรมที่มีรากฐานทางศาสนา) ที่แยกกันบริหารจัดการพื้นที่ตามภารกิจของกรม ที่เป็นหลักคือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตร (ที่เข้าถึงเรามากกว่าแต่เราไม่ค่อยใส่ใจคือกระทรวงการคลัง เพราะเรียกเก็บเงินจากเราทุกคนเมื่อจับจ่ายใช้สอยในภาษีมูลค่าเพิ่ม)

คำสำคัญ (Tags): #แก้จนเมืองนคร
หมายเลขบันทึก: 76830เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2007 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรียน อ. ภีม

แนวทางแก้ไขหรือวิธีการที่จะทำให้สัจจะวันละ 1บาทมีเงินเพียงพอจ่ายตาม สวัสดิการ9 ข้อที่กำหนดในโอกาสหน้าโน้น  ทางกลุ่มจะได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า  ผมอ่านของดรวรเวช   แล้วเสียว ๆ

เถลิง

ครูชบบอกว่ามีเวลาเตรียมการ12-13ปี ถ้าทำตอนนี้ได้ก็เป็นการทำเรื่องสำคัญที่ไม่ด่วน ก็จะไม่ต้องทำเรื่องด่วนที่สำคัญในตอนนั้นครับ

พี่ภีมครับ   งานนี้พี่เขียนยาวแบบหนังสือบู๊ลิ้มเลยนะครับ

เรื่องระบบราชการนี่  เท่าที่ทราบ ประเทศไหนๆก็เหมือนกันครับ  คือ  ข้าราชการเล่นเกม "ปลอดภัยไว้ก่อน"  เช่น  เอากฎระเบียบเป็นตัวตั้ง (อย่างน้อยก็เป็นข้ออ้างที่ชาวบ้านไม่รู้จะโต้เถียงอย่างไร)  เพราะถ้าไม่รักษากฎ ตนก็มีความผิด

ในทางตรงข้าม   เนื่องจากรัฐเป็นผู้จัดการทรัพยากรโดยวิธีสั่งการและควบคุม  ทำให้ตัวแทนรัฐมีอำนาจผูกขาดบางอย่าง  ข้าราชการบางคนก็สามารถแสวงหาประโยชน์จากการเป็นผู้มีสิทธิ์(ที่ชาวบ้านไม่มี) ในการใช้อำนาจนี้

ทางที่ดี  ทำระบบชุมชนชาวบ้านให้เข้มแข็งเพื่อจะได้ควบคุมผู้ใช้อำนาจในท้องถิ่นได้ ทำระบบราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้เล็กทำหน้าที่กำกับดูแลตลาดให้เอกชนแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม   และถ่ายโอนอำนาจให้ท้องถิ่นและชุมชน 

ฝันไปรึเปล่า...

ญี่ปุ่นกระจายอำนาจมาตั้งแต่สมัยเมจิ สมัยนั้นไทยใช้วิธีรวมศูนย์อำนาจ เพราะโจทย์ของสองประเทศขณะนั้นต่างกันไกล  (ใครว่าญี่ปุ่นเริ่มพัฒนาสมัยใหม่พร้อมกับไทย แต่ที่จริงเคลื่อนกันไปคนละทิศเลยครับ)

ไทยเพิ่งเริ่มกระจายอำนาจกันมาไม่กี่ปี  หนทางยาวไกล

 พี่ภีมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เร่งด่วนไหมครับนี่  แต่ที่แน่ๆ   แม้มีข้อจำกัดแต่เมืองนครฯเรามาถูกทิศแล้วละครับ

คุณนนท์ไม่ได้ฝันไปหรอกครับ เพราะเรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก็เหมือนยุคศักดินาล่มสลาย ย่อมเกิดความงุนงง(chaos)ขึ้นเป็นธรรมดา ความเข้าใจการเปลี่ยนผ่านของแต่ละยุคโดยทำตัวให้เป็นประโยชน์คือคุณสมบัติอย่างหนึ่งของนักจัดการความรู้ เห็นด้วยกับคุณนนท์ว่านครศรีธรรมราชกำลังเดินไปไปทิศทางนั้นครับ

           พี่ภีมเขียนเรื่องนี้ยาวมากจริงๆด้วย พัชซึ่งนาน ๆ ได้เข้ามาอ่านทีต้องตามอ่านเก่ากว่าจนครบทุกตอนครังแรกว่าถ้ามีเวลาอยู่หน้าจอนานจะบันทึกเล่าเรื่องงานสวัสดิการชุมชน คนไม่ทิ้งกันที่มสธ.. และจะดูว่าพี่บันทึกไปแล้วหรือยังจะได้มีแนวการเขียนงานนี้ต้องขอชื่นชมวิธีคิดเชิงวิเคราะห์ที่สุดยอดจริง ๆ
รีบเขียนเล่างานสวัสดิการชุมชน คนไม่ทิ้งกันมาซะดีๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท