จิตตปัญญา


ฉันนั้นมีความเชื่ออยู่ว่าความรู้ทางโลกที่เราเรียนกันนั้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แพทย์ สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ ล้วนแล้วแต่เพื่อหารายได้ยังชีพของเราเท่านั้น แต่ปัญญาภายใน (คุณหมอที่ร่วมบรรยายท่านหนึ่งเรียกว่า Inner Wisdom) นั้นต่างหากที่เป็นปัญญาเพื่อความสุขสงบในใจเราจริงๆ

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมานี้ ฉันมีโอกาสได้เข้าไปฟังการประชุมเรื่องจิตตปัญญาศึกษา Contemplative Learning ที่วัดญาณเวสกวัน พุทธมณฑล

 

ที่มาของการประชุมนี้ คือ มหาวิทยาลัยมหิดล มีโครงการที่จะจัดการศึกษาในระดับปริญญาโทในสาขานี้ จึงมีการจัดประชุมเพื่อระดมความเห็นขึ้น โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านเข้าร่วมประชุม รวมทั้งชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณพุทธมณฑลด้วย

 

บางท่านอาจสงสัยว่าจิตตปัญญานั้นคืออะไร จิตตปัญญาตามที่ฉันเข้าใจจากการฟังท่านผู้รู้ต่างๆบรรยายในวันนั้น (อนึ่ง ฉันก็ไม่เคยได้ยินได้ฟังคำนี้มาก่อน) คือปัญญาที่มองเห็นความเป็นไปของธรรมชาติอย่างเป็นธรรมดา ซึ่งแตกต่างจากความรู้ที่เกิดจากร่ำเรียนทางโลก ฉันนั้นมีความเชื่ออยู่ว่าความรู้ทางโลกที่เราเรียนกันนั้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แพทย์ สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ ล้วนแล้วแต่เพื่อหารายได้ยังชีพของเราเท่านั้น แต่ปัญญาภายใน (คุณหมอที่ร่วมบรรยายท่านหนึ่งเรียกว่า Inner Wisdom) นั้นต่างหากที่เป็นปัญญาเพื่อความสุขสงบในใจเราจริงๆ

 

ผู้บรรยายและผู้รู้หลายท่าน ต่างก็เห็นว่าภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในด้านจิตใจของคน การเข่นฆ่าซึ่งกันและกัน ปัญหาสุขภาพ ปัญหาทางกายภาพ ปัญหาการฉ้อฉล หรือจะว่าไปถึงปัญหาในระดับโลก เช่นสงครามระหว่างชนเผ่า สงครามระหว่างประเทศ ภาวะวิกฤตโลกร้อนต่างๆเป็นต้น ล้วนมีเหตุจากการพัฒนาความรู้ทางโลกที่ไปโดยสุดกู่ แต่ขาดปัญญากำกับทั้งสิ้น เป็นความเจริญทางวัตถุที่ไม่สมดุลกับความเจริญทางจิตใจ

 

เมื่อต่างก็ตระหนักถึงความจำเป็นตรงจุดนี้ จึงมีความคิดที่จะพัฒนาจิตตปัญญาขึ้น ซึ่งคำๆนี้แปลจากภาษาอังกฤษว่า Contemplative learning ในระดับอุดมศึกษา ในจุดนี้คุณหมอผู้บรรยายได้กรุณาอธิบายให้ฟังว่า ในช่วงอายุ ๑๒-๒๕ ปี เป็นช่วงที่การทำงานของสมองมนุษย์นั้น เกิดการประสานและจัดระเบียบกันได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง หากในขณะนั้นเราไม่ได้เรียนรู้เรื่องปัญญาภายในที่จะเป็นตัวปรับบุคลิกภาพ ปรับมุมมองทัศนคติ ในการใช้ชีวิตต่อๆไปในอนาคต

 

ที่ประชุมก็มีการเสนอให้ทางมหาวิทยาลัยต่างๆจัดเรื่องจิตตปัญญาเป็นวิชาหนึ่งซึ่งอาจจะบังคับนักศึกษาทุกคนเรียน หรือจะเป็นวิชาเลือกให้ผู้สนใจเรียนก็ได้

 

ในจุดนี้ดร.อาจอง ชุมสาย มีข้อเสนอแนะหนึ่งที่น่าสนใจมากว่า ทำไมเราไม่สร้าง input ที่ดีก่อนเข้ามหาวิทยาลัย โดยเน้นการสร้างคนดี แล้วเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ก็จะเป็นการพัฒนาคนดีนั้นให้เป็นคนเก่งต่อไป

 

สำหรับฉันแล้วฉันดีใจมากที่ในที่สุดสถาบันการศึกษาต่างๆเริ่มจัดระบบการศึกษาที่เน้นเรื่องนี้แล้ว แต่ใจฉันคิดว่าน่าจะเริ่มตั้งแต่เด็กเล็กๆเลย โดยไม่ต้องบอกว่าสอนวิชาจิตตปัญญาก็ได้ แต่นำไปแทรกไว้กับการเรียนอะไรก็ได้ ซึ่งก็ได้พบกับสถาบันอาศรมศิลป์ โรงเรียนรุ่งอรุณที่เน้นการใช้ศิลปะเพื่อการพัฒนาจิตของเด็กๆ ซึ่งคงต้องรอดูต่อไปว่าจะมีแนวทางหรือกิจกรรมใดๆอีกที่ใช้ได้สำหรับเด็ก เพื่อพัฒนาจิตใจคนรุ่นใหม่ของเราต่อไป

 

 

หมายเลขบันทึก: 76827เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2007 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจครับหนูเอ่

ที่จริงโครงการนี้สามารถเริ่มได้ที่ครอบครัว เนื่องจากเป็นสถาบันแรกสุดของมนุษย์ หากพ่อแม่ปู่ย่าตายายหรือสมาชิกคนหนึ่งคนใดของครอบครัวเป็นผู้นำเริ่มได้ ยกตัวอย่างหนูสอนลูก น่าสนใจมาก

จิตตปัญญา จะเกิดขึ้นด้วยขบวนการสองระดับ

คือ 1.ระดับภายใน ได้แก่ปัญญาภายในของบุคคลคนนั้นเอง ที่เกิดขึ้นจากการอบรมบ่มนิสัยของตนเองและพื้นจิตเดิมของตนที่ได้มาจากอดีต

2.ระดับภายนอก ที่ต้องอาศัยกัลยาณมิตร สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันช่วยนำทาง ขัดเกลาและส่งเสริม

ภาษาธรรมเรียกว่า เป็นระดับจิตที่เกิดปัญญาขั้น      สัมมาทิฏฐิ  ที่ต้องอาศัยกระบวนการ

 1.โยนิโสมนสิการ

2.กัลยาณมิตร

ค่ะอาจารย์ หนูเองก็สามารถสอนลูกเท่าที่ทำได้เท่านั้น ถ้าเขาโตขึ้นก็หวังว่าเขาจะได้มีโอกาสได้ไปเรียนกับอาจารย์ อาจารย์อย่าเพิ่งรีบแก่นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท