ชีวิตที่พอเพียง : 214. ขัดใจตอนหนุ่ม มาคุ้มเอาตอนแก่


        บันทึกของคุณเพ็ญศิริ บันทึกนี้ http://gotoknow.org/blog/lab-chem/72862 ช่วยให้ผมระลึกชาติ     ว่าเมื่อตอนหนุ่มๆ เคยพูดเรื่องอุดมการณ์ อุดมคติ การทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม    ความประหยัด มักน้อย ฯลฯ     เป็นที่เยาะเย้ยของเพื่อนร่วมชั้นเรียน     คล้ายๆ เป็นคำพูดของมนุษย์ต่างดาว     ไม่อยู่กับความเป็นจริง     ผมสงสัยเรื่อยมา ว่าทำไมเพื่อนๆ ผมส่วนใหญ่จึงคิดและแสดงออกเช่นนั้น     ตอนหลังๆ คิดอะไรผมก็เก็บไว้คนเดียว      ไม่แสดงความเชื่อลึกๆ ของผมออกไปให้เพื่อนขบขัน

         การพูด ในกลุ่มคนหนุ่มสาวด้วยกัน เรื่องเชื่อมั่นในความดี ตั้งมั่นในความดี ไม่ถือเป็นสิ่งควรทำ    แปลกแท้ๆ     ผมพกความสงสัยว่าทำไมเป็นเช่นนี้ มาตลอดชีวิต     เพิ่งมาเจอบรรยากาศตรงกันข้าม ก็ใน บล็อก GotoKnow นี่แหละ     ที่สมาชิกชื่นชมและเชียร์การทำความดีของเพื่อนอย่างสุดฤทธิ์     ทำไมเป็นเช่นนั้น

        ไม่ทราบว่าถูกต้องไหมที่จะยกเอาความดีให้แก่
           ๑. กระบวนการ KM    ที่เน้นการเอาเรื่องราวของความสำเร็จออก ลปรร. กัน
           ๒. การใช้ AI เป็นเครื่องมือของการ ลปรร.
           ๓. การเกิดชุมชนใน Gotoknow    ชุมชนที่ชื่นชมการทำความดี

         ชีวิตผมโชคดีจริงๆ ที่ไม่ต้องเก็บความอัดอั้นตันใจไว้จนตายไปกับมัน     เวลานี้ผมสบายใจ ที่ได้มีชุมชน Gotoknow ไว้แลกเปลี่ยนอุดมการณ์ลึกๆ ในใจ

วิจารณ์ พานิช
เริ่มเขียนเมื่อไรจำไม่ได้  เขียนจบ ๔ ก.พ. ๕๐   

หมายเลขบันทึก: 76805เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2007 08:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เรียน อาจารย์หมอวิจารณ์

            สมัยเรียนปริญญาตรี ดิฉันก็เกือบถึงขั้นแตกหักกับเพื่อนรักเพราะการแสดงความคิดเห็นว่า ควรช่วยเหลือคนอื่นๆ ไปพร้อมกับตัวเอง แต่เพื่อนบอกว่า ไม่ได้หรอก เขาจะทำให้ตัวเองมีชีวิตที่ดีจนพอใจก่อนที่จะช่วยคนอื่น ก็เลยเลิกคุยกันเป็นอาทิตย์เลยค่ะ ทุกวันนี้คงเป็นเพราะอายุเยอะขึ้นเห็นโลกมากขึ้น จึงเข้าใจกันมากขึ้นว่าเราทั้งสอง ไม่มีใครผิด

ด้วยความเคารพ

การเชื่อมั่น และตั้งมั่นในความดี  อาจเป็นเรื่องที่ดูเชยจัง เวลาที่พูดให้วัยรุ่นหรือใครๆ ฟัง  แต่วันหนึ่งทุกคนจะต้องถามหาเค้าแน่นอนค่ะ

ถ้าคุณแม่ไม่เห็นด้วยกับวิถีอาสาสมัคร งานมูลนิธิที่เราอยากจะเลือกเดิน แต่สนับสนุนให้เราทำงานในบริษัทที่มั่นคง มีเงินเดือนทุกเดือน เราจำเป็นต้องเลือก เราควรเลือกอะไรค่ะ
สามประสานค่ะอาจารย์ :)

ถ้าไม่มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ความรู้ในสังคมออนไลน์ GotoKnow ในลักษณะการกระตุ้นให้เขียนเป็นบันทึก ก็คงจะเกิดขึ้นได้ลำบากนะค่ะ

ส่วนการมีสุนทรียสนทนา (AI) ในบันทึกและข้อคิดเห็นนั้นก็ดีค่ะ แต่ดิฉันคิดว่าแนวทางการใช้นั้นตัวอย่างในบล็อกยังไม่ชัดเจนค่ะอาจารย์

ทำให้หลายคนหลงคิดไปว่า ​AI เป็นการทำให้คนไม่คิดแตกต่างค่ะ หรือ บางคนอาจจะคิดไปด้วยว่า เป็นการเยินยอกันมากไปค่ะ

ดิฉันเองก็ไม่แน่ใจนะค่ะว่า ข้อคิดเห็นนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของ AI หรือไม่นะค่ะ

ขอบคุณค่ะ
ได้เรียนรู้ที่จะมอง คิด เขียนในด้านบวกให้มากขึ้นกว่าด้านลบหรือปัญหา ระยะแรกๆอึดอัดและสงสัยว่าจะทำไปทำไม..บางทีบางเรื่องก็ไม่เห็นจะต้องพูดเลยแต่พอทำไปเรื่อยๆ..ค้นพบว่าถ้าทุกวันเราจมอยู่แต่อารมณ์ด้านลบมาอย่างเต็มๆแล้วไม่ได้เห็นมุมบวกหรือผู้ที่เขาพัฒนาในระดับที่เหนือกว่าเรามาช่วยแนะนำชี้แนะแล้ว...วงจรชีวิตคนทำงานสาธารณสุขก็อาจกลายเป็นสาธารณทุกข์ได้โดยฟื้นตัวไม่ขึ้น...ดิฉันเรียนไม่สูงและไม่ค่อยสนใจด้วยว่าสุนทรียมันจะเป็นอย่างไรแต่เมื่อได้เข้ามาอ่านมาสัมผัสกับใจ..เริ่มรู้จักว่าการมีความละเมียดละไมทางอารมณ์นั้นมีความหมายและให้ความหวังต่อกำลังใจในการทำงานได้อย่างไร...ทุกวันก็ยังเจอปัญหาอยู่แต่รูปแบบการโต้ตอบกับปัญหาเราเรียนรู้และปรับปรุงใหม่ได้นี้คือสิ่งที่ทำให้รักและชื่นชมผู้คิดระบบและพัฒนาชุมชนG2Kนี้มากๆค่ะ
  ตอนเรียน ปกศ.สูง เราดูแลระบบเสียง เครื่องมือโสตฯ  ขณะที่เขาเต้นเร่าๆกันอย่างมัน  เราออกไปยืนห่างๆ นอกหอประชุม  คิดว่า แล้วอะไรต่อไป  มากไปมั้ย  จำเป็นมั้ย  แค่ไหนจึงจะพอดี  ดีกว่า เหมาะกว่านี้มีมั้ย  มันคืออะไร ฯลฯ .. คิดคนเดียว เพราะคงไม่มีใครอยากคุยด้วยในขณะนั้น .. และคงคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง สู้คุยกับตัวเองคนเดียวไม่ได้  ตั้งประเด็นเองมาโต้กันกับตัวเองก็ทำได้ไม่ยาก  ไม่หนวกหูใครด้วย เพราไม่มีเสียงออกมาภายนอกครับ

เรียนอาจารย์หมอวิจารณ์ ที่เคารพ

กระผมเป็นคนที่ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เป็นคนมักน้อยสันโดษ  ชอบศึกษาธรรมะ เพื่อนๆชอบล้อเลียนว่าเป็นพ่อหลวง(พระ) ก็เลยรู้ว่านี่แหละ "ขัดใจตอนหนุ่ม มาคุ้มเอาตอนแก่" แต่กระผมยังไม่แก่นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท