รักไม่เป็นเข็นไม่ขึ้น ใจขื่นและอักเสบ


บางทีปีนขึ้นไปนั่งร้องอยู่กลางกอไผ่ ต้องเอามีดไปสางกิ่งไผ่ดึงตัวออกมา ที่เจอเป็นประจำคือบาดแผลที่โดนหมากัด แผลที่เกิดจากการชน อุบัติเหตุถือเป็นเรื่องปกติ ตราบใดที่เรายังไม่มีถุงลมนิรภัยติดไว้ที่ตัวแกะ

รักไม่เป็นเข็นไม่ขึ้น

ใจขื่นและอักเสบ 

ผมไปชมภาพยนตร์เรื่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแล้วชอบมาก  ทุกฉากแสดงได้สมจริง โดยเฉพาะตอนชนไก่ ไก่ต่างสะบัดเดือยเข้าใส่กันเสียงดังหนักแน่น สื่อให้เห็นของแข็งดีดเต็มพลังเพื่อให้กระทบเนื้อหรือแทงเข้าไปตัวของฝ่ายตรงกันข้าม ทั้งคู่ต่างโผขึ้นแล้วก็สาดแข้งที่มีเดือยแหลมทิ่มแทงกัน เพื่อให้การทรมานสัตว์ถึงอกถึงใจ พวกมนุษย์ใจบาปก็สร้างกติกาขึ้นมา ว่าจะต่อสู้กันเป็นยก ภาษาไก่ชนเรียกว่าอัน (เอากะลามะพร้าวเจาะรูแล้ววางบนผิวน้ำ กะลาจมเมื่อไหร่ถือว่าครบยก)         

ในระหว่างพักยกเจ้าของไก่จะโผไปอุ้มไก่ขึ้นไปอนุบาล ดูแลซ่อมแซมผิวหนังที่เป็นแผลเหวอะด้วยการเย็บสดๆ หรือไม่ก็เอามาประคบด้วยไอร้อนและสมุนไพร ภาษาไก่ก็ไม่มีใครรู้เรื่อง แต่ทำไมถึงแสวงหาวิธีรักษาไก่บาดเจ็บเฉพาะหน้าได้อย่างมั่นอกมั่นใจกันนักก็ไม่รู้สินะ          

ฉากที่สมเด็จพระนเรศวรหนีไปชนไก่ หลวงตาจับได้ลงหวายเสียหลายขวับ! ถึงกับอักเสบร้าวระบม หลวงตามานั่งบดสมุนไพร แล้วให้เจ้าเสนาน้อยคอยประคบประงม           

เรื่องประคบด้วยไอร้อนสมุนไพรที่รักษาทั้งไก่และคน น่าจะเป็นวิธีรักษาบาดแผลที่ยอดฮิตในสมัยนั้น ก็ลองนึกดูเถิด อาวุธส่วนใหญ่เป็นมีด ดาบ หอก ธนู ปืนไฟ ย่อมสร้างบาดแผลกระจัดกระจายไปทั้งกองทัพ ที่เสียชีวิตก็หามกันไปฝัง ที่มีแผลบาดเจ็บนี่ละจะเอาไปไหน ห้องไอซียู.ก็ไม่มีเสียด้วย

ผู้คนบาดเจ็บพร้อมกันจำนวนมาก ระบบดูแลรักษาบาดแผลกระรุ่งกระหริ่งจะทำกันอย่างไร ไปหาหมอ หาพยาบาล หายาและเครื่องมือมาจากที่ไหน ระบบดูแลสุขภาวะวิกฤติเขาวางไว้อย่างไร     

               

เมื่อก่อนผมเคยเลี้ยงแพะแกะนับพันๆตัว ตอนที่ไปซื้อหาแพะแกะพ่อแม่พันธุ์ เราต้องเดินทางไปที่ชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อประมาณ 25 ปีที่แล้ว ขับรถไปยังเห็นน้ำตกพุ่งลงจากหน้าผาลิบๆ สองข้างทางก็ยังมีสภาพธรรมชาติที่เขียวครึมด้วยป่าไม้  

   

ที่ชายแดนจะมีแพะแกะจากประเทศบังคะลาเทศ อินเดียตอนใต้ และจากที่เลี้ยงไว้ในประเทศพม่าเอง เมื่อมีจำนวนมากพ่อค้าปศุสัตว์จะต้อนวัว ควาย แพะ แกะ เข้ามาขายที่ชายแดนประเทศเรา ผมไปคัดแพะแกะจากคอกที่มีพ่อค้าริมชายแดนเลี้ยงไว้ เนื่องจากเป็นมือใหม่หัดเลี้ยง เลยต้องคุยกันถึงวิธีการเลี้ยง ดูแล นิสัยใจคอสัตว์ ปัญหาและอุปสรรคมีอะไรบ้าง รวมไปถึงเทคนิคการชำแหละ การประกอบอาหาร และการรักษาโรค รักษาพยาบาลบาดแผลต่างๆ         

แพะแกะจะมีบาดแผลบ่อยมาก เพราะเป็นสัตว์ที่ขี้ดื้อ ดันทุรัง บางทีปีนขึ้นไปนั่งร้องอยู่กลางกอไผ่ ต้องเอามีดไปสางกิ่งไผ่ดึงตัวออกมา ที่เจอเป็นประจำคือบาดแผลที่โดนหมากัด แผลที่เกิดจากการชน อุบัติเหตุถือเป็นเรื่องปกติ ตราบใดที่เรายังไม่มีถุงลมนิรภัยติดไว้ที่ตัวแกะ  

ผู้สันทัดกรณีถ่ายทอดวิชาให้หลายเรื่อง เช่นให้มัสร่า เป็นเครื่องเทศไว้ใส่แกงแพะแกะ ทำให้มีกลิ่นหอม กลบกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ได้ชะงัดนัก สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือขมิ้นผง อาจารย์แพะแกะให้เรามาห่อใหญ่ กำชับว่าถ้าสัตว์มีบาดแผลให้เอาเกลือยัดลงในแผล

แล้วเอาผงขมิ้นโรยบาดแผลให้เป็นประจำ บาดแผลจะแห้งและหายเร็ว ทดลองใช้หลายครั้งก็ประจักษ์ เวลาผมอกหักก็ได้วิธีนี้แหละที่รักษาหัวใจไม่ให้ช้ำเลือดช้ำหนอง

  เมื่อเห็นสรรพคุณ กินก็ได้ ทาก็ได้ ใช้ในเชิงป้องกันผิวให้ผุดผ่อง ใช้เป็นยาเสริมภูมิคุ้มกัน ใช้เป็นยารักษาบาดแผลดังกล่าว ขมิ้นจึงน่าจะเป็นยาสามัญจะจำบ้านที่มีความสำคัญมาจนถึงยุคนี้ ในระบบอุตสาหกรรมนอกจากไปทำสบู่เหลวแล้ว ยังนำไปใช้ในกลุ่มงานสปาอีกด้วย  

ปีนี้มหาชีวาลัยอีสานจึงปลูกขมิ้นกันขนานใหญ่ เป็นงานวิจัยชุมชนภาคสนามที่เป็นแบบอย่างในการศึกษารูปแบบการจัดการความรู้ระดับชุมชน ในโครงการKM.ชุมชน  คุณสมพิศ ไม้เรียง พันธมิตรจากกรมวิชาการเกษตร ขนพันธุ์ ขนความรู้มาถ่ายทอดด้วยการลงมือปลูกกันแบบถึงลูกถึงคน มาบัดเดี๋ยวนี้ ขมิ้นสายพันธุ์ที่ปลูกไว้ได้อายุเก็บเกี่ยว เรากำลังระดมขุดหัวขมิ้นขึ้นมาเก็บไว้ ส่วนหนึ่งเก็บไว้รักษาสัตว์ บางส่วนจะส่งไปให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ทำการวิจัย

อีกส่วนหนึ่งไว้แจกให้คนที่อกหักมาดๆได้มียารักษาหัวใจ ส่วนใครเป็นสิวฟ้าหน้าไม่ผ่องใสใจไม่ผ่องแผ้ว ก็จะแจกเช่นเดียวกัน ถ้าเอารอยยิ้มและความดีมาแลก.

หมายเลขบันทึก: 76800เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2007 07:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • เคยเห็นที่ชายแดนเมืองกาญจน์สาวพม่าเอามาทาหน้าคล้ายขมิ้น สีเหลืองๆเขาเรียก อิคา หรืออะไรจำไม่ได้
  • แต่เขาหน้าใสๆผิวพม่าเหลืองๆ
  • สังเกตที่ภาคใต้เขากินอาหารจะมีขมิ้นด้วยเกือบทุกอย่าง ไม่ว่าแกงหรือต้ม
  • คุณหมอบอกว่าทางภาคใต้ไม่ค่อยเป็นโรคเกี่ยวกับท้องเสีย ท่าจะจริงครับพ่อ
  • ผมตั้งใจว่าจะขอขมิ้นไปฝากน้องเอกที่ ปายจังหวัด แม่ฮ่องสอนหน่อยครับ ยิ้ม ยิ้ม ได่ข่าวว่า อกหักมาดๆจะได้มียารักษาหัวใจ
  • ขอบคุณมากครับ

ขมิ้น ขมาย ขโมย ขมอง ขมวด ขมาน ขมับ ขยับ ขยาย เหมือนกันหีอเปล่าละ พืชตระกูลขมิ้นมีนับร้อยชนิด แต่นักวิจัยไทยไปบ้าวิจัยเรื่องอื่น เรื่องดีๆมีประโยชน์โดยตรงไม่เอาไปเป็นหัวข้อวิจัย

ตอบ มีทั้งขมิ้นชัน และขมิ้นไม่ชัน

อ.ขจิต

ถ้าเจอคนใต้ ช่วยถามชุดความรู้เรื่องขมิ้นในวิถีใต้

ถ้าเจอคนเหนือ ช่วยถามชุดความรู้เรื่องขมิ้นในวิถีคนเหนือ

ให้ด้วย

ไม่รู้ว่าต้องทำงานที่ ส.ศิลปไปอีกกี่ปี... คุณแม่ขอร้อง... เปลี่ยนเรื่องดีกว่า

คนเหนือมารายงานตัวค่ะ ขมิ้นเอาไว้ทาเวลายุงกัด เด็กจะไม่แพ้น้ำลายยุงไม่มีแผลเป็น ดีนักแล

ขมิ้นเอาไว้ใส่แกงให้มีสีเหลือง กินแก้ลม ดีนักแล

ที่จำได้แต่ไม่แม่นคือ ขมิ้นผงใส่แกงกระหรี่ ผงกระหรี่ 1 ช้อนเท่ากับแคลเซี่ยม 3000 กรัม คนแขกที่กินขมิ้นไม่ต้องกินแคลเซี่ยมเม็ด..คนจีนแคระจะกินปูผัดผงกระหรี่สัปดาห์ละครั้ง ก็เพียงพอกระดูกแข็งแรงอายุยืน เท็จจริงไม่ทราบค่ะ เขาเล่าว่า...หากมีใครทำวิจัย..ยกหัวข้อให้ฟรีๆค่ะ...

เมื่อวาน(6  กุมภาพันธ์ 50) เพิ่งอบรม Blog  เพิ่งรู้จัก  เมื่อเข้ามาแล้วเกิดความประทับใจ ขอสมัครเป็นอีกหนึ่งคนที่จะติดตาม "ครูบา"  ขอเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมแบ่งปัน  วันนี้คือก้าวแรกที่ยังไม่มั่นคงนัก  แต่ก็จะพยายาม

ทราบมาและประสบกับตนเองเรื่องแผลอักเสบ บวมและมีหนอง  ใช้การะบูนผสมขมิ้นปิดแผลไว้ จะปวดมากแทบทนไม่ไหว  แต่แผลหายภายในหนึ่งวัน

เรียนท่านครูบา

          ราณีเป็นอีกคนหนึ่งที่ที่บ้านได้ทำอาหารอินเดียเป็น เพราะกับข้าวเกือบทุกอย่างจะมีขมิ้น เพราะขมิ้นเป็นสมุนไพร  ส่วนเครื่องเทศอีกชนิดคือ Masara เป็นการนำเครื่องเทศหลาย ๆ ชนิดมารวมกัน ทำยากมาก  แต่ที่บ้านทำเอง และต้องตากเครื่องเทศไว้ให้แห้ง หลาย ๆ วัน แล้วนำมาปั่นรวมกันให้ละเอียด ใส่ในกับข้าว  ช่วยดับกลิ่นและมีกลิ่นหอมมาก 

          เห็นด้วยว่าขมิ้นมีประโยชน์หลายอย่าง ไม่ว่าจะกิน ทา หรือใส่แผลจะแห้งเร็ว  แต่ถ้าทำขมิ้นไปผสมกับน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันอะไรก็ตาม นำไปทำอุ่น แล้วทำแผล จะแห้งเร็วมาก ๆ  เพราะน้ำมันจะไม่ทำให้แผลแห้งตึง และสมานแผลได้ดี  ไม่ว่าแผลจะเป็นหนองหรือไม่ก็ตามเห็นผลชะงัด  (ทดลองด้วยตัวเองแล้วเพราะแม่ทำให้)

เรียน อ.ราณี

ผมเพิ่งจะเข้าใจเรื่อง Masara จากอาจารย์วันนี้เอง เมื่อก่อนนั้นเขาให้มา บอกให้ใส่ในแกงเผ็ด ก็ลองทำตาม อร่อยมาก คนที่ไม่เคยกินเนื้อแพะจะไม่มีทางรู้ว่าเป็นแกงเนื้ออะไร หมดเป็นหม้อๆ แถมชมอีกว่าอร่อยมาก

คนสมัยก่อนมีสมุนไพรให้เลือกเป็นร้อยเป็นพันชนิด เพราะมีอยู่แล้วอย่างสมบูรณ์ในธรรมชาติ ดังนั้นการที่เขาคัดเลือกได้ชนิดหนึ่งชนิดใด ย่อมถือได้ว่า สิ่งนั้นมีคุณสมบัติพิเศษนอกเหนือกว่าชนิดอื่นๆ และก็ผ่านการทดลองใช้มายาวนานแห่งยุคสมัย จนกระทั่งมาถึงวันนี้ ขมิ้นก็ยังเป็นสมุนไพรยอดนิยม และนับวันจะมีความสำคัญมากขึ้น ถ้ามีการวิจัยให้เห็นคุณสมบัติที่ซ่อนอยู่ ซึ่งเราจะติดตามปลูกและทดลองต่อๆไปอีก ขอบคุณมากที่อาจารย์สละเวลาให้ข้อมูล

เรียน อ.จันทรรัตน์

เรื่องขมิ้น อธิบายในส่วนการใช้ความรู้ ผ่านสมุนไพร ของวิถีชีวิต ค่านิยม และความเชื่อ ผสมความรู้ จะเห็นว่าขมิ้นชนิดเดียวกัน แต่ละภาคใช้ประโยชน์ใกล้เคียงกัน ในประเทศภูฐาน ถึงกับพกกันติดตัว และให้เป็นของฝากในวาระที่สำคัญ แสดงว่าชนบางเผ่าใช้ประจำ ต้องหาคนเก่งๆลองค้นความรู้เรื่องนี้จากทั่วโลก น่าจะได้ข้อมูลดีๆ

ขอบคุณมากที่อาจารย์กรุณาเสนอประเด็นแคลเซี่ยม ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่า กลุ่มแร่ธาตุในอาหาร คนสมัยก่อนมีชุดความรู้ จัดการในระบบการกินอยู่ได้ค่อนข้างลงตัวได้อย่างน่าทึ่ง ได้อย่างไร ถ้าพูดถึงความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร คนโบราณเก่งกว่าเรา เพราะรู้จริง ใช้จริงๆ จึงตระหนักความจริงในความรู้.

ขอต้อนรับ จามจุรี

ด้วยมิตรภาพแห่งการเรียนรู้ตามสะดวกครับ

ด้วยความเคารพค่ะ

เรียน ครูบาฯ เรียนเชิญไปอ่านที่นี่ค่ะ http://gotoknow.org/blog/pad-hr-sci/77021

ด้วยความเคารพค่ะ

  • มีคนตามมา tag พ่อแล้วครับ
  • ขำๆๆ
  • อย่าให้เสียชื่อพ่อครูบานะครับ
  • คอยดูก็แล้วกันพี่รัตติยา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท