แนวคิดเครือข่ายนักจัดการความรู้ระดับชุมชนบุรีรัมย์ ตอนที่ 1


ถ่ายทอดให้เครือข่ายให้เป็นคนต้องการเรียนรู้ ถ้าเป็นนักมวยถือว่าครูบาซ้อมหนักเลย เปรียบเทียบได้ 200 ยกต่อการชกแต่ละไฟท์ และเครือข่ายได้เรียนรู้ว่า ถ้าเราอยากทำอะไร ก็ให้ทำ แต่จะบอกว่าต้องทำเรื่องธรรมดา ให้เป็นเรื่องไม่ธรรมดา

         พ่อวิจิตร  จันทรานุวงศ์   ที่อยู่  42 หมู่2  ต.หายโศก  อ.พุทไธสง  จ.บุรีรัมย์เจ้าของความคิดโรงแรมหมู หรือคอนโดหมู    

            จากการที่เข้ามาเป็นเครือข่ายทำให้ผมได้อะไรเยอะมากได้เปลี่ยนตนเอง ให้เป็นคนคิดเก่งขึ้น คิดอยากทำโน่นทำนี่  มีหลักการในการคิด คิดจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้น  และสามารถคิดหาวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้         
              
ได้เรียนรู้ การเรียนรู้เป็นเรื่องของการต่อยอดความรู้ที่ผมมีอยู่เดิมแล้ว มีนักวิชาการมาแนะนำถึงหลักการที่ถูกต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  พอนำมาลองใช้เพิ่มเข้าไปจากที่เรามีอยู่มันยิ่งทำให้เห็นผลเร็ว เพราะเดิมมันเป็นบริบทของเราอยู่แล้ว  ยิ่งทำให้เราอยากเรียนรู้มากขึ้นเพิ่มขึ้นบางวันก็คิดว่า  เอ...มันทำไมค่ำเร็วนัก  เหมือนทำให้เรากลับมาเป็นนักเรียนอีกครั้งหนึ่ง         
             
ได้ความรู้ใหม่  จากที่มีความรู้เดิมแล้วมีความรู้จากคนอื่น ๆ มาต่อยอดให้เรามันทำให้เรามีความรู้ใหม่เพิ่มเข้ามาอีก และอีกอย่างคือมันมีความสุขตรงที่เรามีเพื่อน มีพรรคพวกที่ทำเหมือนหรือคล้ายเรา อยู่ใกล้กัน ติดต่อ พูดคุย สอบถาม หรือนัดกันกินข้าวเย็น ข้าวเที่ยง ด้วยกันได้บ่อย ๆ มีปัญหาก็ได้ช่วยกันแก้ปัญหา หรือใครมีความรู้อะไรใหม่ ๆ ที่ทำไปแล้วเจอปัญหาหรือทำได้สำเร็จก็จะนำมาพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แล้วนำไปปฏิบัติหรือลองทำตามที่ได้รู้มา  ก็จะมีความสุขกับการทำงานขึ้นไปอีก เพราะเรามีความหวังที่จะเห็นว่ามันดีขึ้น          

            ความรู้ที่ได้มาถ้าเรามีความรู้เฉย ๆ แต่เราไม่ได้นำไปลองทำดู มันก็ไม่เห็นจะเกิดประโยชน์อะไร แต่ถ้าเราได้พัฒนาตนเองโดยนำไปลองทำลองปฏิบัติแล้วมันดี เราก็เห็นว่ามันดีกว่าความรู้ที่เรามีมาแต่เดิม คนอื่น เห็นก็แอบดูเราทำ ก็เห็นว่าดีเหมือนกัน เห็นเราเป็นตัวอย่างในการทำงานต่าง ๆ แล้วคนในหมู่บ้านก็คิดทำตามเรา  เราก็ได้เป็นคนแนะนำให้เขาไป มันเป็นความภาคภูมิใจของเรา  เสียงก็จะดังออกนอกหมู่บ้านไป คนอื่นก็มาขอดู ขอศึกษาว่าเราทำอะไร อย่างไร เขาก็นำกลับไปลองทำบ้าง ก็ขยายความรู้ออกไปได้อีก   
            
การไปศึกษาดูงาน ไปเห็นสิ่งดี ๆ ที่คนกลุ่มอื่นเขาทำกันแล้วสำเร็จ  มันเป็นประโยชน์มากจริง ๆ เพราะเรานำความรู้ที่เห็นที่ได้ มาลองทำของเราดูบ้างแต่ต้องทำต่อยอดในความรู้เดิมของเรานะ  เพราะมันเป็นบริบทของเรา  เรานำมาประยุกต์ใช้ของเรา มันก็เห็นผลดีขึ้นมาเยอะแยะเลย  ทำให้เราเข้าใจที่จะพัฒนางานให้เหมาะกับพื้นที่ และความจำเป็นของเราได้มากขึ้น         
             
อีกอย่างเราได้ความรู้ไปพัฒนาแล้ว ถ้าเราจัดการไม่ได้ ให้กลับมาถาม มาพูดคุยกันใหม่ มาต่อความรู้กันใหม่ ต้องชัดเจนจึงนำไปปฏิบัติได้ แต่ไม่ได้บังคับให้ทำเพราะถ้าขืนบังคับให้ทำก็จะยิ่งกลัวว่าทำไม่ได้แล้วจะไม่มีความคิดที่จะนำความรู้ไปใช้ได้เลย เราจึงต้องเป็นคนอยากทำเองงานจึงจะสำเร็จและทำให้เกิดความภาคภูมิใจ  อยากให้เราคิดทำเรื่องใหม่ได้  อยากทำเรื่องโน้น อยากลองเรื่องนี้ แต่เรื่องที่เราทำสำเร็จเราก็ยังทำอยู่นะ           

            ครูบาสุทธินันท์ได้ถ่ายทอดให้เครือข่ายให้เป็นคนต้องการเรียนรู้  ถ้าเป็นนักมวยถือว่าครูบาซ้อมหนักเลย เปรียบเทียบได้  200  ยกต่อการชกแต่ละไฟท์  และเครือข่ายได้เรียนรู้ว่า ถ้าเราอยากทำอะไร ก็ให้ทำ แต่จะบอกว่าต้องทำเรื่องธรรมดา  ให้เป็นเรื่องไม่ธรรมดา คือทำให้เป็นเรื่องพิเศษ แต่เราต้องได้ประโยชน์ ไม่ใช่ทำแบบเดิม ๆ เหมือนเดิม เหมือนกับไม่ได้พัฒนา ทำในเรื่องที่เราทำอยู่แล้วแต่ทำให้มันพิเศษขึ้นไปอีก          
            
บอกให้ไปทำอันโน้น อันนี้ โดยให้หาความรู้ด้วยตนเอง ไปทำเอง เปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ รู้จากประสบการณ์จริง  ในขณะที่เราทำ ครูบาก็ทำในสิ่งที่บอกเราไปทำเหมือนกัน พอมีปัญหา มีอุปสรรคเราก็จะมาพูดคุยกันหาแนวทางแก้ไข ครูบาก็จะมีคำแนะนำ จากสิ่งที่ครูบาทำเหมือนกับที่เราทำ แต่มีความรู้ใหม่มาบอกมาคุยกับเรา แลกเปลี่ยนกัน เช่นเรื่องของการปลูกกล้วย เราคิดจะปลูก  สักร้อยหน่อ  ต้องไปซื้อเขามาปลูกเพราะเราไม่มีหน่อ ครูบาบอกไม่ต้องซื้อ แล้วให้เราเอาหน่อไป 4-5 หน่อ บอกว่าฝนหน้าต้องได้สัก 50 หน่อ บอกวิธี บอกแหล่งปลูก บอกว่ากล้วยชอบดินแบบไหน  ให้เรานำกลับไปปลูก แล้วอีกสามเดือนต้องได้หน่อ 50 หน่อให้ได้ 
             
คิดดูมันก็เป็นกุศโลบายเหมือนกัน พอเราเอาไปปลูกตามที่บอกก็ได้ดูแลเอาใจใส่มากขึ้น สังเกตความเติบโต ขยันเร่งให้โตวันโตคืนโดยปลอดสารเคมี และการเกิดหน่อของกล้วยทำให้เข้าใจและมีความรู้พอที่จะไปปลูกมาก ๆ ได้ นั่นเอง เป็นการช่วยให้เราตัดสินใจได้อีกทางหนึ่งว่าการปลูกกล้วยเป็นอาชีพเหมาะกับเราหรือไม่
 
           
เช่นพาเราไปขายของที่เมืองทองธานี  ครูบาบอกต้องดูแนวทางว่าจะตั้งราคาอย่างไร และต้องหาคุณภาพของสินค้าเราให้ได้ถือเป็นจุดขาย ถ้าขายถูกหาว่าสินค้าเราไม่คุณภาพ ถ้าขายแพงต้องดูว่าคุณภาพสินค้าเราอยู่ที่ใหน หมาะสมกับราคาแพงหรือไม่ ก็ทำให้เราได้วิธีคิด ได้เรียนรู้สังคมเพิ่มขึ้น         
            
เป็นการบอกเล่าจากผู้เฒ่าที่มีหัวใจ 
KM  แล้วคอยติดตามตอนต่อไปนะคะ         

 

หมายเลขบันทึก: 76773เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2007 23:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • โลกแห่งการเรียนรู้ใน G2K ทั้งสาระชีวิตและสาระวิชาการ   คือโลกธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
เห็นด้วยค่ะและอยากให้คนทั้งประเทศ ประเทศไทยของเรานี่แหละค่ะได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ในโลกแห่งการเรียนรู้ใบนี้ร่วมกันทุก ทุกคน คงจะเป็นอะไรที่วิเศษที่สุดเลยค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท