การเขียน...ไม่ยาก...แต่ก็...ไม่ง่าย (จริงๆนะ)


ตอนแรกคิดว่ายาก....สักพักก็คิดว่าไม่เห็นยากเท่าไหร่....กลับมาคิดใหม่ว่า....ยากอีกแล้ว

ตอนเด็กๆชอบอ่านหนังสือมากๆถึงมากที่สุด อะไรเป็นตัวหนังสือ อ่านหมด ทำให้อ่านภาษาอังกฤษคล่องไปด้วย เพราะมีในบ้านให้อ่านเสมอ เสียดายที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้มีหนังสือภาษาอื่นอยู่ในบ้านนะคะ ไม่งั้นก็คงไปหาวิธีอ่านจนได้อีกไปแล้ว แต่ไม่เคยจำได้ว่าชอบเขียน เป็นคนชอบคิดในใจมากกว่า บางทีก็ลืมไปนึกว่าพูดออกมาดังๆแล้ว ทั้งๆที่คิดในใจเฉยๆ คิดไปคิดมาตรงนี้อาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนชอบมาคุยด้วย เพราะเป็นคนพูดตอบในใจยาวกว่าพูดออกมาจริงๆ ทำให้ฟังได้มากแล้วสื่อสารด้วยท่าทาง สายตามากกว่า จะใช้คำพูดจริงๆเพียงสั้นๆเท่านั้น

ไม่รู้สึกว่าเป็นคนชอบเขียนเลย แต่เขียนจดหมายเยอะ (กับเพื่อนผู้ชายที่รักกันมาก...เราทั้งคู่เป็นคนเขียนจดหมายเก่ง ก็เลยเขียนจดหมายถึงกันมากกว่าพูดคุยกันจริงๆตลอดระยะเวลาที่เรียนเตรียมอุดมและเตรียมทหารจนจบ) เขียนไดอารี่มาตั้งแต่จำความได้ แต่เขียนแบบพิเศษคือ ส่วนมากจะเป็นแค่บอกว่าวันนั้นทำอะไรบ้าง เขียนความคิดน้อยมากและไม่ได้ระบายความรู้สึกอะไรเลย จึงเป็นเหมือนบันทึกช่วยจำมากกว่า จำได้ว่าน้องสาวชอบมาใช้ไดอารี่เราเป็นที่ตรวจสอบว่าซื้ออะไรเมื่อไหร่ ทำอะไรเมื่อไหร่ เพราะรู้ว่าพี่โอ๋จดไว้แน่

สิ่งที่เขียนเป็นชิ้นเป็นอันส่วนมากทำเพราะอยากลองว่าทำได้ไหม และมักจะทำหนเดียว เช่น เขียนเรื่องสั้นได้รับคัดเลือกลงในหนังสือ"สตรีสาร" แปลหนังสือเรื่องผจญภัยสำหรับเด็ก 1 ชุด จะมีที่ทำหลายครั้งหน่อย ก็คือเขียนกลบทลงใน"สตรีสาร" (เป็นหนังสือนิตยสารในดวงใจ ท่านอ.นิลวรรณ ปิ่นทอง-คุณย่าบอ.กอ.ก็เป็นผู้หญิงเก่งและดีในดวงใจคนแรกด้วยเช่นกันค่ะ) เพราะเขียนส่งไปทีไร ก็ได้ลงทุกที แต่จะเปลี่ยนนามปากกาไปเรื่อยๆ และมักจะเป็น "ปิ๊งแว้บ" คือมันมาเองแล้วรีบจดลงไว้ ถ้าตั้งใจจะทำทีไรต้องเลิกทุกที เพราะไม่สำเร็จ

สิ่งที่เขียนจริงจังมากที่ชุดในชีวิต ก็คงจะเป็น PhD thesis ซึ่งเป็นลักษณะของเรื่อง 3-4 เรื่องที่ค่อนข้างไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง ทำให้ต้องเขียนบทนำของทุกเรื่อง จำได้ว่าทำได้โดยการสร้างเค้าโครงสิ่งที่คิดว่าคนอ่านต้องรู้ แล้วจะทำความเข้าใจกับสิ่งที่เราทำได้ จากนั้นก็อ่านๆๆๆๆๆ แล้วก็นำข้อมูลทั้งหลายมาเล่าใหม่เป็นขั้นตอน ในแบบที่คิดว่าถ้าเราไม่เคยรู้เรื่องนี้มาเลย เราต้องรู้เป็นขั้นๆยังไง พบว่าวิธีนี้เป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น เวลาที่เราต้อง present งาน และผลของการพิจารณา thesis ก็ได้รับคำชมในแง่นั้นด้วย

มาถึงสิ่งที่อยากบอกจริงๆแล้วค่ะ คือพบว่าการเขียนบล็อกง่ายที่สุด เพราะเขียนสิ่งที่คิดในวันนั้นโดยไม่ได้เตรียมล่วงหน้า เพียงแต่คิดว่าจะบอกอะไรเท่านั้น ที่เหลือมาเองตอนเริ่มเขียน บางทีเขียนๆไปแล้ว อ่านอีกทีก็จับแต่ละวรรคสลับที่กัน เพื่อให้อ่านแล้วเข้าใจง่ายขึ้น (คิดเอาเองนะคะ ยังไม่มีใครมาวิจารณ์การเขียนให้สักที) แต่สิ่งที่พบก็คือ ความคิดเป็นระบบมากขึ้นตามระยะเวลาที่เขียนค่ะ ต้องจับวรรคสลับที่กันน้อยลง กลับมาอ่านเองใหม่บางครั้งก็ยังคิดว่า เขียนได้ยังไงอยู่เหมือนกัน

นอกจากการเขียนบล็อกแล้ว ก็มีอันได้เขียนบทความเล็กๆในวารสารสายใยพยา-ธิ เรื่อง "ย้อนรอย PhD ฯลฯ" บทความเกี่ยวกับ KM ต่างๆที่เขียนลงใน KM News และ ข่าวคณะแพทย์  รวมทั้งจดหมายข่าวของสคส. พบว่าการเขียนแบบนี้ไม่ยากเลย เขียนแล้วอ่านเองอีกครั้ง ก็ยังรู้สึกว่าเขียนแล้วได้ข้อคิด (แต่ไม่สนุกสนาน)

อยากเขียนเรื่องที่ให้ข้อคิดและสนุกสนานด้วยได้ แต่พบว่าทำไม่ได้ค่ะ น่าอึดอัดมาก มีการบ้านที่อยากจะทำให้เสร็จ แต่รู้ตัวแล้วว่า เขียนยังไงก็ไม่ได้มาตรฐานที่ตัวเองต้องการ คงจะต้องขอยอมแพ้ และคิดใหม่ตามชื่อบันทึกนี้แหละค่ะ ว่า...การเขียน (ให้ได้สาระและสนุก) นั้น....ไม่ง่ายเลยค่ะ และเขียนบันทึกนี้เพื่อสารภาพและขออภัยที่ต้องผิดสัญญากับคุณเอื้อผู้แสนขยัน...นะคะ รู้สึกผิดจริงๆ แต่ก็ต้องยอมรับตัวเองค่ะ

หมายเลขบันทึก: 76768เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2007 23:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ยังรออยู่นะคะ คุณโอ๋ ไม่ยอมให้ยกธงขาวง่ายๆ หลอกค่ะ  เรื่องนี้ไม่ได้ ก็จะหาเรื่องอื่นให้เขียนจ๊ะ
การเขียน (ให้ได้สาระและสนุก) นั้น....ไม่ง่าย...พี่เม่ยสนอเคล็ดลับให้คุณโอ๋อย่างนึงค่ะ...
    ผสมผสาน สาระ+สนุก ให้เป็น "สุข"...ก็เขียนแบบที่คุณโอ๋รู้สึกว่าเขียนแล้วมีความสุขนั่นล่ะ... ได้แล้วจ้า!

พี่เม่ยจ๋า..............(ลากเสียงยาวๆหน่อยนะคะ) พี่เม่ยพูดเคล็ดลับที่ฟังง้ายง่ายค่ะ แต่รู้ไหมคะว่า นอกจากพี่เม่ยและคุณ nidnoi แล้ว หาคนทำได้ยากค่ะ.....ยาก....ถึงยากสุดๆค่ะ ไอ้ที่โอ๋เขียนแล้วมีความสุขน่ะ อ่านเองก็ยังไม่สนุกสนานเลยค่ะ แต่สาระน่ะมักจะเพียบ....เกิน...

ถึงยังไงก็จะพยายามเท่าที่ทำได้ค่ะ มีตัวอย่างดีๆให้อ่านอยู่ใกล้ๆนี่เอง เวลาอ่านที่พี่เม่ยเขียนทีไร ก็ชอบคิดว่า เอ๊ะ...เราน่าจะทำได้ แต่ลงมือทีไร...แฮ่ะ แฮ่ะ ...ก๊อไปทางเดิม รู้ตัวว่าคงจะ....ใช้เวลาอีกนานนนนนน......ค่ะ จึงจะสนุกได้สักครึ่งของพี่เม่ย

อ่านแล้วมีสาระแฝงความสนุกนั้นเขียนยากนะค่ะ แต่คิดว่า อาจารย์หมอสมบูรณ์เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ค่ะพี่โอ๋
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท