หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี


หากมีสำนึกที่ดีว่าตนเองกำลังใช้เงินผู้อื่นอยู่ พึงใช้อย่างระมัดระวังมากที่สุด หากมีสำนึกเรื่องความซื่อสัตย์ ปัญหาเรื่องฉ้อโกงก็ไม่น่าจะมี
 

เนื่องจากขณะนี้ฉันกำลังเขียนรายงานประจำปีของบริษัทอยู่ จึงอยากเล่าเรื่องประเด็นหนึ่งในรายงานนี้ให้ฟัง

รายงานประจำปีนี้เป็นสิ่งที่บริษัทที่จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จำเป็นต้องส่งทุกๆปี เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของบริษัทในปีที่ผ่านมา เล่าให้ผู้สนใจฟังว่า ธุรกิจของบริษัทตนนั้นมีการดำเนินงานอย่างไร มีปัจจัยความเสี่ยงอะไรที่อาจมีผลกระทบ ทีมงานผู้บริหารเป็นใครมาจากใคร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทเป็นใครบ้าง ผลประกอบการเป็นอย่างไร และส่วนหนึ่งที่ทางตลท.เน้นเป็นนักเป็นหนาคือการกำกับดูแลกิจการที่ดู (Good Governance หรือ Corporate Governance หรือที่เรียกกันย่อๆว่า CG)  

 

หลักการสำคัญที่ตลท.กำหนดเรื่อง CG นั้นเป็นเพราะว่า การดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้ เป็นการดำเนินงานที่ใช้เงินของคนอื่นส่วนหนึ่ง ซึ่งตลท.จึงวางกฏเกณฑ์มากมายเพื่อป้องกันการใช้เงินของคนอื่นตรงนี้ ให้รัดกุม และให้สามารถตรวจสอบได้

 

อีกประการหนึ่งคือจากเรื่องการฉ้อโกงครั้งประวัติศาสตร์จากบริษัทต่างประเทศเช่นเอ็นรอน เวิลด์คอม ซึ่งโกงกันโดยการตั้งใจลงบัญชีให้ผิด ตั้งใจไม่ลงรายการบัญชีบางรายการ โกงกันตั้งแต่ระดับหัวแถวของบริษัทเลยคือตัวประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และหัวแถวของฝ่ายการเงิน เลยเถิดไปถึงบริษัทสอบบัญชีที่เข้ามาตรวจสอบด้วย

 

ตลาดหลักทรัพย์ประเทศต่างๆก็พากันตื่นตัวกันใหญ่ที่จะป้องกันการโกงแบบนั้น เช่นการออกกฎหมายของสหรัฐเรื่อง Sarbanes-Oxley act ซึ่งผู้บริหารสูงสุดของบริษัทและทางการเงินต้องลงนามในเอกสารเพื่อแสดงความรับผิดชอบ หากเกิดการผิดพลาดในรายงานทางการเงินขึ้นมา (ไม่ว่าจะผิดพลาดโดยสุจริตหรือไม่)

 

ตลท.ของเราซึ่งก็รับลูกอย่างว่องไว มีการกำหนดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีออกมา http://www.set.or.th/th/regulations/corporate/corporate_p1.html

 ว่าบริษัทที่ดีต้องมีหน้าที่ดังนี้ (คุ้นๆเหมือนเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดีมั้ยค่ะ) ต้องดูแลผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมแนวทางอีก ๘ ข้อ ต้องเคารพสิทธิผู้ถือหุ้น และมีแนวทางปฎิบัติให้ ๖ ข้อ ต้องดูแลผู้มีส่วนได้ตามกฎหมายและเหมาะสม พร้อมแนวทางอีก ๓ ข้อ ต้องเปิดเผยข้อมูลในเวลาที่เหมาะสมอย่างโปร่งใส พร้อมแนวทางอีก ๕ ข้อ ต้องระบุความรับผิดชอบของกรรมการ พร้อมแนวทางอีก ๗ ข้อ ฟังดูเยอะแยะไปหมด

 

ความจริงจะเพิ่มอีกมากแค่ไหนก็เพิ่มได้ เหมือนกับการวิ่งไล่จับปูใส่กระด้ง ตราบใดที่คนยังมีกิเลส และยังไม่มีรู้จักความพอ ก็ต้องมากำหนดกฎเกณฑ์กันมากมายเหมือนเด็กๆ การมีหลักเกณฑ์ความจริงก็ดีค่ะ สามารถใช้เป็นแนวทางได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เหล่าชาวประชาที่ฉลาดๆทั้งหลายก็สามารถหาช่องทางหลบเลี่ยงเพื่อให้เข้าประโยชน์ตนได้อยู่ดี

 

ยิ่งถ้าดูทรัพยากรต่างๆที่ตลท.ทุ่มเทลงไปเพื่อสร้างการรับรู้เรื่องหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น ใช้ไปไม่น้อยเลย ทั้งจัดประกวดบริษัทที่มีหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จัดประชุม จัดเก็บข้อมูลและพิมพ์รายงานสรุป น่าเสียดายที่ต้นเหตุของปัญหาไม่สามารถแก้ได้ง่ายๆด้วยวิธีนี้ หากมีสำนึกที่ดีว่าตนเองกำลังใช้เงินผู้อื่นอยู่ พึงใช้อย่างระมัดระวังมากที่สุด หากมีสำนึกเรื่องความซื่อสัตย์ ปัญหาเรื่องฉ้อโกงก็ไม่น่าจะมี วิธีการสร้างสำนึกที่ดีแก่ผู้บริหารฉลาดๆทั้งหลายนั้นจะทำอย่างไร ฉันเองก็คิดว่าเรื่องนี้ต้องสร้างกันแต่เด็กแล้ว รอจนแก่แล้วให้สำนึกมันเกิดเอง ฉันก็จนปัญญาเหมือนกัน

หมายเลขบันทึก: 76677เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2007 16:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
กำลังหาข้อมูลเรื่อง Corporate Governance อยู่เลยค่ะ ดีจังเลย ที่มาเจอบล๊อคของคุณเอ๋ ขอบคุณค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท