หาความรู้ก่อนออกจากร่องเดิม


ฉันก้าวออกจากพื้นที่เดิมแล้ว ได้ก้าวเดินไปข้างหน้าแล้ว (คุณได้ไปต่อ...)...เหลือเพียงว่าเราจะเดินต่อไปให้ดีที่สุดได้อย่างไร..เท่านั้น

หาความรู้ก่อนออกจากร่องเดิม

โดย นวลทิพย์ ชูศรีโฉม             

            (ต่อจากบันทึก http://gotoknow.org/blog/LEI-central/75959 ) ประมาณ ๒ เดือนต่อมาจะมีเวทีเสริมศักยภาพเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพที่จังหวัดแพร่ เป็นเวทีที่ผู้เขียนมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง “เวทีนี้เริ่มเลยนะ ทำกิจกรรมเลย” เสียงอาจารย์บอก ผู้เขียนฟังแล้วก็ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ ได้แต่แบ่งรับแบ่งสู้ในใจ “ไม่เริ่มตอนนี้จะไปเริ่มตอนไหน” ผู้เขียนบอกตัวเอง  จากนั้นก็พาตัวเองไปร้านหนังสือ ซึ่งปกติแล้วร้อยวันพันปีผู้เขียนไม่เคยเฉียดไปร้านหนังสือหรืออ่านหนังสือจบเล่มนานมาแล้ว

              การไปร้านหนังสือคราวนี้เป้าหมายคือ เพื่อซื้อหนังสือที่ว่าด้วยเรื่อง “กิจกรรมสันทนาการ” ได้ตามที่ตั้งใจมาหนึ่งเล่ม พร้อมกับลงทุนซื้อนกหวีด ๑ อัน เพื่อเป็นอุปกรณ์เตรียมไว้ในการทำกิจกรรมในเวที ผู้เขียนตั้งใจอ่านหนังสือนั้นและเตรียมการเงียบไม่บอกให้ใครรู้ว่ากำลังเตรียมอะไรอยู่ ไม่น่าเชื่อ อ่านหนังสือจบเล่มด้วย นานมาแล้วที่อ่านหนังสือไม่จบเล่ม แถมการอ่านครั้งนี้ยังเป็นการอ่านด้วยความจดจ่อ อ่านเพื่อการนำไปใช้งาน ใช้ประโยชน์ อ่านแล้วอ่านอีก...อ่านอีกก็อ่านแล้ว
 

              สองอาทิตย์ต่อมาถึงเวลาเดินทางไปเวทีที่จังหวัดแพร่  พวกเรา (อาจารย์ทรงพล น้องเอกซึ่งเป็นช่างภาพ และผู้เขียน) เดินทางโดยรถไฟ ผู้เขียนตื่นเต้น ปนกังวลใจเล็กๆ “เอาแน่หรือเรา

              เวทีวันแรกเริ่มช่วงเย็น กลุ่มที่เข้ามาเวทีครั้งนี้ เป็นกลุ่มที่ทำเรื่องสุขภาพในพื้นที่จังหวัดแพร่ มีทั้งผู้สูงอายุ และวัยรุ่นเยาวชน วัยทำงาน รวมแล้วประมาณ ๕๐ กว่าคน ในช่วงเปิดเวที ทันใดนั้นเอง พลันได้ยินเสียงอาจารย์บอกว่า “วันนี้พี่ไม่ลงไปน่ะ ให้อ๊อตไปทำกระบวนการเลยนะ กิจกรรมอุ่นเครื่อง พร้อมฉายหนังให้ผู้เข้าร่วมเวทีดูแล้วชวนเขาคุยถอดบทเรียนจากกิจกรรมจากการดูหนัง” นี่คือภารกิจที่ได้รับมอบหมายสำหรับเวทีช่วงเย็นนี้  ฟังแล้วหัวใจแทบหยุดเต้น ถึงจะมีการเตรียมตัวมามากแล้วในความคิดของตัวเอง แต่ก็กังวลและตื่นเต้นมาก ผู้เขียนก็แก้อาการตื่นเต้นโดยการเข้าไปพูดคุยทักทายกับคนโน่นคนนี้ เป็นการปูทางและลดความตื่นเต้น ว่างั้นเถอะ!


                จากนั้นก็มานั่งดูโพยกิจกรรม ว่าเตรียมกิจกรรมอะไรบ้าง แล้วก็วางแผนอยู่คนเดียวว่าเริ่มอะไรอย่างไรตรงไหน คิด ๆ ๆ ๆ ๆ วางแผนๆ ๆ ๆ ๆ ตั้งสติเขียนโพยยาวเหยียด ว่าจะทำอะไรก่อนหลัง........

              พอถึงเวลาก็ลงไปที่เวที ผู้เข้าร่วมเวทีมานั่งรอเพื่อเปิดเวที โดยนั่งล้อมวงเป็นวงกลม ผู้เขียนก็ไปทำกระบวนการ พร้อมกับน้องเอกซึ่งต้องไปเก็บภาพเพื่อผลิตเป็นซีดี เชื่อหรือไม่ กิจกรรมอุ่นเครื่องครั้งแรกของผู้เขียนกับกลุ่มการเรียนรู้ประมาณ ๕๐ กว่าคน ใช้เวลาเกือบชั่วโมงกว่า โดยไม่ได้ดูโพยที่เตรียมไว้เลยสักนิด ผ่านไปด้วยดี ด้วยความสนุกสนานและเป็นที่ชื่นชอบของผู้เข้าร่วม (สังเกตจากท่าที)

            ต่อด้วยกิจกรรมด้วยการชวนคุยซึ่งเริ่มด้วย (ด้วยเสียงที่สั่นๆ เล็ก ๆ พยามยามสะกดไว้ให้เป็นปกติอย่างสุดฤทธิ์ ก็คนไม่เคยนี่นา!) ถามไถ่เรื่องปกติธรรมดาใกล้ตัว เรื่องที่คนจะสามารถตอบได้ พูดคุยกับเราได้โดยไม่ต้องมีเหตุผลมาก “รู้สึกอย่างไรบ้างค่ะ มาร่วมเวทีครั้งนี้ มากับใครบ้าง...มาจากที่ไหน ...ทำอะไรอยู่เกี่ยวกับสุขภาพ...”  อะไรเหล่านี้เป็นต้น จากนั้นก็ชวนทำกิจกรรม ให้ผู้เข้าร่วมมีส่วนร่วม ดึงโน่นผสมนี้ ใครมีความสามารถอะไรก็ให้แสดงออกมา ปรากฏว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี คงเป็นเพราะกลุ่มนี้เป็นชาวบ้าน จึงค่อนข้างจะชอบความสนุกสนาน .......... (โอ้!..เราก็สนุกสนานได้ตามจริตของเราได้นี่นา... แต่เรากดทับมันไว้เพราะกังวลแต่แสดงภาพลักษณ์ที่เรียบร้อย)


               และแล้ว กิจกรรมสันทนาการ กิจกรรมให้ดูหนัง และการชวนกลุ่มพูดคุย ในวันนั้นผ่านพ้นไปได้ด้วยดี.... พระเจ้า! ยังกับถูกรางวัลที่ ๑ ก็ไม่ปาน “ฉันก้าวออกจากพื้นที่เดิมแล้ว ได้ก้าวเดินไปข้างหน้าแล้ว (คุณได้ไปต่อ...)...เหลือเพียงว่าเราจะเดินต่อไปให้ดีที่สุดได้อย่างไร..เท่านั้น” 
 

             เมื่อจบเวทีช่วงเย็น ผู้เขียนก็มาขอดูภาพที่น้องเอกบันทึกไว้ เพื่อจะดูว่า กิจกรรมหรือการแสดงออกท่าทาง น้ำเสียงขอตัวเองเป็นอย่างไรบ้าง หากได้ทำใหม่ต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไร ดูแล้วก็คิดในใจว่า หากทำใหม่ควรจะทำอย่างดี...  ทีนี้หล่ะเกิดความโลกมากขึ้นมาทันใด อยากจะมีเกมหรือรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลายไว้ในคลังสมองเยอะๆ อยากรู้โน่นรู้นี่ ขึ้นมา เรียกว่าหื่นกระหายก็ว่าได้...... จนต่อมา หากมีโอกาสไปในที่ที่เขามีความรู้ประเภทนี้ ผู้เขียนจะทำตัวเป็น “นักฉกทันที  ฉกมาเพื่อมาให้เป็นของตัวเอง” หลังจากเป็นนักฉก... ต่อมาก็เริ่มจะพยายามเป็นนักคิด... นักออกแบบ... และตามมาอีกหลายๆ นัก ...
 

            เกิดท่าทีการเรียนรู้แบบใหม่ที่แตกต่างจากที่เคย มีการจดจ่อการคิดการกอบโกย...ความรู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทั้งนี้ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ “ผู้ช่วยวิทยากร” นั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 76665เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2007 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท