BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

การกระทำเหนือหน้าที่กับระเบิดพลีชีพ ๕ (จบ)


การกระทำเหนือหน้าที่กับระเบิดพลีชีพ

จริยศาสตร์คุณธรรม จัดอยู่ในฝ่ายยอมรับการกระทำเหนือหน้าที่ แนวคิดเชิงทฤษฎี ผู้สนใจดู จริยศาสตร์คุณธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๑.  (มี ๔ ตอน) ในที่นี้จะนำแนวคิดจริยศาสตร์คุณธรรมมาพิจารณาปฏิบัติการระเบิดพลีชีพเท่านั้น...

หน้าที่ ตามแนวคิดจริยศาสตร์คุณธรรม กำหนดให้แน่นอนตายตัวได้ยาก เนื่องจากแนวคิดนี้ยึดถือคุณธรรมเป็นเกณฑ์ แต่คุณธรรมมีหลากหลาย มิใช่มีมาตรฐานเดียวเหมือนประโยชน์นิยมและลัทธิคานต์...

คุณธรรม คือพื้นฐานของจิตใจหรืออุปนิสัยซึ่งใครบางคนแสดงออกมา และมีผู้ยอมรับ โดยการยินดีที่จะเลียนแบบหรือดำเนินรอยตาม ....ผู้ซึ่งมีคุณธรรมเป็นที่ยอมรับเพื่อเป็นแบบอย่างนั้นเรียกว่า ตัวแทนทางศีลธรรม ...ดังนั้น หน้าที่ ตามนัยนี้ ก็คือ การกระทำตามแบบอย่างของตัวแทนทางศีลธรรม นั่นเอง...

ตัวอย่าง มีใครคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนเสียสละ มีสัจจะ มีความอ่อนน้อม มีความขยัน มีความอดทน มีความกล้าหาญ ฯลฯ...ซึ่งเหล่านี้จัดว่า คุณธรรมของตัวแทนทางศีลธรรม ดังนั้น หน้าที่ของเราก็คือการประพฤติปฏิบัติเพื่อให้มีคุณธรรมตามแบบอย่างของตัวแทนทางศีลธรรมผู้นี้...

เป็นไปได้ว่า ตัวแทนทางศีลธรรมจะเป็นคนเสียสละแค่นี้ แต่เราเสียสละเกินกว่าตัวแทนทางศีลธรรมของเรา ..ตัวแทนทางศีลธรรมเป็นคนกล้าหาญแค่นี้ แต่เรากล้าหาญยิ่งกว่าตัวแทนทางศีลธรรมของเรา...การกระทำที่ประกอบด้วยคุณธรรมคือการเสียสละ หรือความกล้าหาญเกินกว่าตัวแทนทางศีลธรรม ทำนองนี้ อาจเรียกได้ว่า การกระทำเหนือหน้าที่....

จะวกกลับไปยังตัวอย่างเรื่องสงครามระหว่างหมู่บ้านในบันทึกครั้งก่อน ... ถ้าทุกคนมีคุณธรรม คือ ความเสียสละและความกล้าหาญเพื่อหมู่บ้าน ผู้ที่มีคุณธรรมภายในหมู่บ้านนี้ก็จัดเป็น ตัวแทนทางศีลธรรมของหมู่บ้าน ...ส่วนชาวบ้านที่เหลือประพฤติเลียนแบบ และอาจทำให้ยิ่งกว่าตัวแทนทางศีลธรรมของหมู่บ้านคือ เสียสละยิ่งขึ้น กล้าหาญยิ่งขึ้น...

ถ้าเป็นไปทำนองนี้ จะเห็นได้ว่า ปฏิบัติการระเบิดพลีชีพจัดเป็นการกระทำเหนือหน้าที่ได้ตามนัยจริยศาสตร์คุณธรรม...

ดังนั้น ปฏิบัติการระเบิดพลีชีพ จึงจัดเป็นการกระทำที่มีคุณธรรมสูงมากกว่าคุณธรรมทั่วไป เพราะเป็นการกระทำเหนือหน้าที่ตามนัยแห่งจริยศาสตร์คุณธรรม...โดยประการฉะนี้

.........

ปัญหาเรื่องเกณฑ์ตัดสินจริยธรรม คือ ประเด็นสูงสุดของ ปัญหาสังคม เศรษฐศาสตร์ หรือการเมือง... ถ้าอยากทราบว่าปัญหาเหล่านี้จะมีทางออกอย่างไร ก็ต้องศึกษาถึงประเด็นขัดแย้งของเกณฑ์ตัดสินจริยธรรม ซึ่งผู้เขียนค่อยนำบางนัยมาเล่าในโอกาสต่อไป 

 

หมายเลขบันทึก: 76612เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2007 13:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท