เรื่องเล่าที่ผ่านมาจากประสบการณ์ทำงานด้านสาธารณสุขชุมชน สสอ.บางแก้ว


บอกได้เต็มปากว่าประสบการณ์ ในกระบวนการกำหนดวางยุทธศาสตร์สุขภาพระดับอำเภอนั้น มีทั้งที่ล้มเหลว และประสบความสำเร็จ ให้เลือกงัดเอามาใช้ได้เสมอ

     หลังจากที่ย้านมาจาก สอ.ต.นาปะขอ เมื่อครบกำหนด 6 เดือนตามที่ขอผัดไว้กับ สาธารณสุขอำเภอแล้ว ผมก็ย้ายมาอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบางแก้ว เป็นการย้ายภายในก่อน (คำสั่งนายอำเภอ) เพราะอยู่ในอำเภอเดียวกัน ก็มาเริ่มต้นด้วยการเป็นนักวิชาการสาธารณสุข ระดับ 3 จากนั้นประมาณ 15 วัน (หลังจากปรับเป็นนักวิชาการ) ผมก็ได้รับคำสั่งให้เลื่อนเป็นระดับ 4 ในต้นปีงบประมาณ 2541

     การที่ได้รับมอบหมายให้เป็นนักวิชาการสำนักงานสาธารณสุขระดับอำเภอ ซึ่งโดยวัยวุฒิแล้วถือว่าน้อยมาก ในขณะที่พี่ ๆ ที่ทำงานกันมานาน สั่งสมประสบการณ์ มีลูกล่อลูกชนในการทำงานมาอย่างยาวนาน อีกทั้งช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ไม่เคยได้พิสูจน์อะไรให้สังคมได้ประจักษ์มากนัก จะมีบางก็เพียงแต่การวิจัยเรื่อง “การพัฒนาคุณภาพบริการในชุมชนของสถานีอนามัยในตำบลนาปะขอ” ที่ได้กล่าวถึงแล้วในตอนที่แล้วเท่านั้น แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ได้รับเครดิตบ้าง จากสังคมสาธารณสุขอำเภอบางแก้วว่าเป็นคนที่น่าจะมีประสบการณ์ทางด้านวิชาการ แต่ก็เป็นเพียงเรื่องเดียว ในขณะที่เรื่องอื่น ๆ ไม่มี ผมจะถูกมองไปยังเรื่องความสามารถของการรักษาพยาบาลมากกว่า ด้วยเพราะในช่วงเวลาดังกล่าวมีคนไข้ติด (คำที่ใช้เรียกตัวชี้วัดคุณภาพบริการเชิงสังคมก็ได้สำหรับผมแล้ว) คนไข้ติดหมายถึง คนไข้นิยมที่จะไปหาไม่ว่าเขาจะอยู่ในเขตพื้นที่ของสถานที่บริการใดในละแวกนั้น หรือจากต่างอำเภอ เช่น อำเภอเขาชัยสน นิยมมาเมื่อครั้งที่อยู่ สอ.ต.นาปะขอ โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 35 คนต่อวัน (ภาพรวมทั้งอำเภอเฉลี่ยอยู่ที่ 15 คนต่อวัน) ที่มาจากข้อมูล: สรุปผลการดำเนินงาน คปสอ.บางแก้ว ปี 2540

     การเริ่มต้นทำงานที่ระดับอำเภอเป็นการเริ่มต้นงานสาธารณสุขอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งแตกต่างไปจากเดิมที่เป็นงานชุมชน เป็นงานบริการ เน้นบริการกับประชาชน และตอบสนองแนวนโยบายจากเบื้องต้น จนไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่านั้น แม้จะคิดอยากทำก็ไม่สามารถที่จะทำได้ เนื่องจากเวลาทั้งหมดใช้ไปกับการรักษาพยาบาล การให้บริการประชาชน รวมไปถึงการลงชุมชนลงพื้นที่ แต่การลงชุมชนและลงพื้นที่ในครั้งนั้น ก็ยังเป็นการลงชุมชนลงพื้นที่เพื่อไป “ขโมยข้อมูล” จากประชาชน จากชุมชน (เพราะไม่ได้ใช้ข้อมูลนั้นตอบสนองกลับให้ชุมชน) แล้วนำมารายงานสนองต่อหน่วยงานผู้นิเทศ หรือหน่วยงานบังคับบัญชา เท่านั้น

     ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ จึงต้องเริ่มต้นเรียนรู้กระบวนการ ช่วงแรกก็ใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อดูว่า ตกลงเรามีหน้าที่รับผิดชอบหรือมีกรอบ มีพันธกิจอะไรบ้างในขอบเขตที่ได้รับมอบหมาย อะไรที่ยังเป็นปัญหาในงานของเรา ซึ่งขาดช่วงขาดตอนของการดำเนินงานมาระยะหนึ่ง จริง ๆ แล้วการมาดำเนินงานที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบางแก้วนี้ ผมมารับช่วงงานต่อจากพี่นันทาฯ (คุณหลานตาแขก) ซึ่งได้ย้ายไปปฏิบัติงานที่กิ่งอำเภอศรีนครินทร์ เป็นคุณูปการอย่างหนึ่งที่คุณหลานตาแขกได้สร้างไว้ ได้ทำไว้ ก็คือระบบของงานที่ดี เป็นระเบียบเรียบร้อย หาง่าย แต่ในลักษณะที่ต้องมารับงานใหม่ก็เพิ่มภาระงานมากกว่าเดิมที่คุณหลานตาแขกต้องรับไว้เดิม (คุณหลานตาแขกรับงาน ขณะเป็นเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน ส่วนงานวิชาการแบ่ง ๆ กันไปหลาย ๆ คน) คือกรอบงานในฐานะนักวิชาการของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ก็จะมีงานในหลายภาคส่วน เช่น งานแผนงาน โครงการ ยุทธศาสตร์สุขภาพของอำเภอ งานข้อมูลข่าวสาร งานวิจัยและการประเมินผล รวมถึงงานอื่นๆ อีกมาก ซึ่งหากแบ่งหยาบ ๆ แล้วบนสำนักงานสาธารณสุขอำเภอจะแบ่งงานได้เป็น กลุ่มงานวิชาการสาธารณสุข กลุ่มงานสนับสนุนบริการสาธารณสุข และงานบริหาร

     ประเด็นที่เข้ามารับงานในช่วงต้นเมื่อวิเคราะห์งานก็พบว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับตำบล ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ผมทำงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับตำบล จนถึงขณะนั้นภาระงานส่วนใหญ่เป็นการรวบรวมรายงานซึ่งเป็นตัวเลขทางคณิตศาสตร์ พิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นผลการปฏิบัติงานจริง ๆ เป็นสถานะสุขภาพของประชาชนจริง ๆ หรือเป็นตัวเลขที่ถูกส่งขึ้นมาเพื่อให้ทันเวลาเท่านั้น การที่เจ้าหน้าที่ต้องสูญเสียเวลาไปมาก เพื่อการจัดทำข้อมูลรายงานส่ง น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กระแสซึ่งเป็นเสียงบ่นว่า “ไม่มีเวลา” สำหรับเจ้าหน้าที่ระดับตำบล ทำให้การพัฒนาคุณภาพบริการไม่สามารถรุดหน้าไปได้ อีกทั้งการนำข้อมูลรายงานนั้นมาใช้ประโยชน์ในระดับหน่วยบริการของตัวเองหรือที่ระดับอำเภอก็น้อยมาก เมื่อจะใช้ก็พบว่าข้อมูลยังมีความผิดพลาดสูงจากการตรวจสอบกันเอง (recheck) อีกทั้งการวางแผนงานในแต่ละเดือน แต่ละงวด แต่ละปี ก็ไม่ปะติดปะต่อ จึงทำให้เกิดงานเร่งอยู่เสมอ (โดนทวงจาก สสจ.) ทำให้งานขาดคุณภาพ

     การดำเนินงานในช่วงนี้จึงเป็นการเน้นที่กระบวนการวางแผน การแนะสอนให้เจ้าหน้าในระดับตำบลทำแผนอย่างเป็นระบบ ว่าจะเริ่มอะไรก่อนหลัง นโยบายอะไร หรือแผนของจังหวัดเป็นอย่างไร ก็จัดทำให้สอดคล้อง จึงจะทำให้เราจัดระบบได้ และทำได้ทันเวลาโดยไม่ถูกทวง งานก็จะมีคุณภาพขึ้นเพราะมีเวลาได้ไตร่ตรองตรวจสอบได้อย่างถี่ถ้วน จากนั้นก็ค่อย ๆ ขยายไปสู่การแนะสอนให้มีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้วางแผนของหน่วยงานตัวเอง ก่อนส่งมาให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบูรณาการอีกครั้ง ผมใช้การทำแผนจากข้างล่าง และนำจากข้างบนมาบูรณาการ

     แต่เมื่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเอง ก็ยังเป็นปัญหาเรื่องเดียวกัน ทำให้ปรับเปลี่ยนแผนบ่อย โดยเมื่อเปลี่ยนก็ไม่ได้แจ้งกลับมาให้ทราบเหมือนตอนแรก ๆ ผมก็เริ่มประสบปัญหา “วิกฤติศรัทธา” เรื่อย ๆ (โดนด่า) ก็พยายามประคับประคองไปเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กับการพัฒนาด้านอื่น ๆ ไปด้วย เช่นศูนย์ข้อมูลข่าวสารฯ ระดับอำเภอ ขณะนั้นจะเห็นได้ว่า สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ เริ่มถูกขอข้อมูลจากส่วนราชการอื่นถี่ขึ้น อันนี้ก็เป็นตัวชี้วัดได้ตัวหนึ่ง

     ช่วงหลังจากที่เริ่มอยู่ตัวผมก็มีเวลาที่จะได้ทำวิจัยอีกครั้ง ก็ยังไม่ลืมงานชุมชน งานวิจัยเรื่องนั้นคือ "การพัฒนารูปแบบการให้แรงสนับสนุนทางสังคมเพื่อพัฒนาสุขภาพชุมชน" พ.ศ.2542 เรื่องนี้ ตอนหนึ่งถูกแยกไปเขียนรายงาน คือ "การพัฒนารูปแบบการให้แรงสนับสนุนทางสังคมเพื่อพัฒนาสุขภาพชุมชน กรณีพื้นที่รับผิดชอบของ สอ.หาดไข่เต่า" โดยน้องเกี้ยฯ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ สอ.หาดไข่เต่า และเป็นเรื่องที่ผ่านการคัดเลือกจากจังหวัดไปนำเสนอในการประชุมวิชาการ “ทศวรรษพัฒนาสถานีอนามัย” ที่ จว.ยะลา แต่ไม่ติด 1-3 ครับ แต่สิ่งที่ได้ชัดเจนมากคือ ความชอบและการพัฒนาตนเองในด้านการวิจัย ทั้งผมและน้องเกี้ยได้รับ

     จากนั้นผมก็ลา (เต็มเวลา) ไปเรียนต่อในหลักสูตร (วท.ม) การวิจัยและพัฒนาระบบสาธารณสุข ณ คณะพยาบาลศาสตร์ มอ. (ซึ่งตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้เมื่อได้พบและช่วยกันเล่าเรื่อง กับเพื่อนซี้คือ คุณเก๋ ก่อน) เป็นระยะเวลา 1 ปี 10 เดือน ก็กลับมาทำงานต่อที่เดิม

     ตอนนี้เปลี่ยนสาธารณสุขอำเภอไปแล้ว 2 ท่านครับ พอผมกลับมาถึงก็งานชิ้นแรกที่เริ่มลงมือจับตามที่ถูกมอบหมายก็คือ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คปสอ.บางแก้ว ส่วนงานอื่น ๆ ก็เหมือนเดิม การเข้าไปทำงานในส่วนของ คปสอ.นั้น ก็เพื่อจัดวางโครงสร้าง คปสอ. การกำหนดวางยุทธศาสตร์สุขภาพระดับอำเภอ ภายใต้กรอบคิด “โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ที่นี่ผมได้ดำเนินการด้วยกระบวนการคล้าย ๆ กับที่ทำให้กลุ่มงานประกันสุขภาพ และ คปสอ.เขาชัยสน (รายละเอียดจะบันทึกไว้แล้ว และอาจจะสรุปบทเรียนอีกครั้งหลังจากที่ทำให้ คปสอ.เขาชัยสนผ่านไปแล้ว)

     สักระยะหนึ่งไม่ถึงปี หลังจากกลับมาจากเรียนต่อ ผมก็ย้ายไปทำงานที่กลุ่มงานประกันสุขภาพ สสจ.พัทลุง ซึ่งจะได้เขียนบันทึกในลำดับต่อไป แต่ที่แน่ ๆ เมื่อไปอยู่ที่ สสจ.พัทลุงแล้ว ประมาณ 3 เดือน หันกลับมาที่ อ.บางแก้ว ผู้อำนวยการคนที่ช่วนกนผลักดันเรื่องสุขภาพระดับอำเภอ จนได้ประกาศใช้แล้ว ก็ลาออกเพื่อไปเรียนต่อที่ USA แผนฯดังกล่าวจึงเป๋ และไม่เป็นกระบวนท่าอีกต่อไป จนในที่สุดไม่มีการนำมาใช้ แต่นำมาโชว์เมื่อมีการนิเทศงานเท่านั้น เกิดอะไรขึ้น ผมควรจะได้กล่าวถึงในบันทึกเฉพาะหลังจากดำเนินการของ คปสอ.เขาชัยสนให้เรียบร้อยก่อน (ประกาศใช้) ทุกวันนี้ผมก็เลยบอกได้เต็มปากว่าประสบการณ์ในกระบวนการการกำหนดวางยุทธศาสตร์สุขภาพระดับอำเภอนั้น มีทั้งที่ล้มเหลว และประสบความสำเร็จ ให้เลือกงัดเอามาใช้ได้เสมอครับ

[ความรัก ถือเป็นจุดเริ่มต้น]
[เรื่องเล่าที่ผ่านมาจากประสบการณ์ทำงานด้านสาธารณสุขชุมชน สอ.ต.หนองธง, สอ.ต.นาปะขอ, สสอ.บางแก้ว, สสจ.พัทลุง]
[วิธีการไปชักชวนคนทำงานอื่น ๆ ในแวดวงมาพูดคุยกัน]
[วิธีการสร้างบรรยากาศการพูดคุยที่เป็นฉันมิตร]
[การอำนวยให้เกิดเวทีพูดคุยต่าง ๆ ทั้งในส่วนคนทำงาน และชุมชน]

[บทสรุปย่อ]

หมายเลขบันทึก: 7643เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2005 00:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
     รู้สึกดีเสมอที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับคุณชายขอบ  เหตุผลง่ายๆ พื้นๆ ที่มีเหมือนกัน คือ รักในงานที่ทำ และทำงานอย่างมีความสุข   
     เช่นกันครับ และเรายังต้องร่วมงานกันอีกยาวนาน ชวนคนอื่นมาทำสิ่งดี ๆ ที่งดงามให้เยอะ ๆ นะครับ อยากฟังพี่เล่าเรื่องที่ลำสินธ์เมื่อวานด้วยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท