บทสรุปไตรภาคีฯ 1 ปีที่ผ่านมา (3 พื้นที่ ที่เริ่มต้น)


อ.ตะโหมดที่ชุมชนเกาะเรียน กิ่ง อ.ศรีนครินทร์ ที่ชุมชนบ้านลำกะ และ อ.เขาชัยสน ที่ชุมชนบ้านลานช้าง

     จากการดำเนินงาน “ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน” ทั้ง 3 พื้นที่ คือ อ.ตะโหมดที่ชุมชนเกาะเรียน กิ่ง อ.ศรีนครินทร์ ที่ชุมชนบ้านลำกะ และ อ.เขาชัยสน ที่ชุมชนบ้านลานช้างนั้น หากเอาการวิจัยเป็นตัวตั้ง ก็จะอยู่ในระยะก่อนการวิจัย คือระยะการใช้แนวคิดในการจัดการชุมนุม (Community Organization) เป็นการแสวงหาความร่วมมือ ทำความเข้าใจ ซึ่งหากมองที่ อ.ตะโหมด ก็จะเห็นความเข้มแข็งของชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสูงมาก ในขณะที่ภาคส่วราชการยังไม่ค่อยชัดเจน มีที่มุ่งมั่นสูงก็เป็นเพียงสถานีอนามัย ส่วนระดับหน่วยสนับสนุนยังจับต้องไม่ได้มากนัก ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงเรียนในชุมชน พัฒนาชุมชนที่รับผิดชอบพื้นที่ หน่วยงานด้านการเกษตร หรือฝ่ายปกครอง ซึ่งชุมชนเริ่มเรียกร้องอยากให้เข้าไปร่วมกิจกรรมตั้งแต่ในขั้นตอนต้น ๆ ของการบูรณาการแผนฯ แต่ยังไม่เป็นรูปธรรม ประเด็นนี้จะคล้าย ๆ กับที่กิ่ง อ.ศรีนครินทร์

     ที่กิ่ง อ.ศรีนครินทร์จะมีความเด่นชัดในเรื่องการขยายแนวคิดการพัฒนาชุมชน โดยพยายามที่จะดำเนินการในลักษณะประชาคม เอางบประมาณจากการสนับสนุนไปยัง อบต. เพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน หมู่บ้านละ 10,000 บาท เป็นโจทย์เริ่มต้น ซึ่งผลได้ในระยะยาวก็จะทำให้ชุมชนได้เห็นความสำคัญของการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมประเมิน ร่วมรับประโยชน์ ขบวนการนี้จะเป็นผลดีหากได้สอดแทรกแนวคิดการบูรณาการแผนฯ ตั้งแต่ตอนนี้ เพราะเมื่อชุมชนมีแผนฯ ที่เป็นยุทธศาสตร์ชุมชน ซึ่งผ่านการพินิจพิเคราะห์ร่วมกันของคนในชุมชนเองแล้ว ต่อไปการพัฒนาก็จะไม่ฉาบฉวยอย่างที่ผ่าน ๆ มา ที่นี่จะมีการร่วมมือกับสมาชิกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดี แต่ยังไม่ชัดเจนกับตังองค์การฯ มากนัก ในส่วนการขยายแนวคิดไปยังหน่วยงานระดับการสนับสนุนก็ยังไม่เกิดขึ้น สำหรับที่ กิ่ง อ.ศรีนครินทร์และที่ อ.ตะโหมดจะยังค่อยมีการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบเท่าที่ควร หรืออาจจะมีบ้างแต่ก็ไม่ปรากฏชัดเจนออกมามากนัก

     สำหรับที่ อ.เขาชัยสน จุดเด่นคือหน่วยงานสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาล หรือ ส่วนราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ขานรับการดำเนินงานเป็นอย่างดี เพียงแต่การประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังเพิ่งจะได้เริ่มต้น ไม่ปรากฏชัดของภาพแห่งความร่วมมือกัน โดยเฉพาะตัวชุมชนเองที่ ชุมชนบ้านลานช้าง ก็เพิ่งจะได้รับหลักการกันไป แต่เห็นแววแห่งความมุ่งมั่นมากขึ้นแล้ว จากการติดตามทวงถามว่าจะมีการนัดหมายกันอีกเมื่อไหร่อีก สำหรับที่นี่จะเริ่มมีการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบมากขึ้น มีการถอดบทเรียนหลังการดำเนินงานทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานกิจกรรมอะไร แต่สำหรับวิธีการที่ถูกต้องและให้ครบถ้วนกระบวนความจริง ๆ นั้น ข้อนี้ตัวนักวิจัยอย่างผมเองก็ยังไม่ชัดเจนนัก สำหรับที่นี่อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นจุดแข็ง คือการจัดทำยุทธศาสตร์สุขภาพระดับอำเภอ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เพิ่มเติมแนวคิดในการจัดการชุมนุม (Community Organization) ตั้งแต่แรก ๆ

     จากการสรุปย่อ ๆ ทั้ง 3 พื้นที่ดังกล่าว มีข้อสังเกตไว้ประการหนึ่งคือ การมุ่งเน้นจากทีมนักวิจัยที่แตกต่างกัน แต่ไม่ได้เกิดจากทีมวิจัยไปทำให้บิดเบี้ยว เพียงแต่เติมเต็มไปตามโอกาสที่เห็นว่าจะฉวยโอกาสได้เท่านั้น คือ

          อ.ตะโหมด มุ่งที่สถานีอนามัย และชุมชนก่อน --> ขยายขึ้นสู่หน่วยงานระดับสนับสนุน

          กิ่ง อ.ศรีนครินทร์ มุ่งที่สถานีอนามัย และชุมชนก่อน --> ขยายไปสถานีอนามัย และชุมชนอื่น

          อ.เขาชัยสน มุ่งที่หน่วยงานระดับสนันสนุนก่อน --> ขยายลงไปยังสถานีอนามัย และชุมชน

     ทั้ง 3 วิธีก็พบว่ามีผลได้ มีจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรคที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน ซึ่งจะได้ใช้ทีมงานที่เป็นนักวิจัยในพื้นที่ วิเคราะห์ตนเองออกมาอีกครั้งหนึ่งในภายหลังจากนี้ (เร็ว ๆ นี้)

หมายเลขบันทึก: 7632เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2005 21:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท