แม่ผมเป็นบ้านนาคู (2)


3. สิ่งแวดล้อม : เน่าตามฤดูกาล

            คนชนบทสมัยผมยังเด็ก ไม่รู้จักคำว่า สิ่งแวดล้อม หรอก

            ผมเองก็ไม่เคยได้ยิน มาได้ยินได้ฟังมาเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง

            เพราะเมื่อก่อนนี้สิ่งแวดล้อมยังไม่เป็นปัญหา โดยเฉพาะในชนบท คนทั่วไปยิ่งนึกไม่ออกว่า สิ่งแวดล้อม จะเป็นปัญหาไปได้อย่างไร

            อากาศแสนบริสุทธิ์ อาจจะร้อนระอุในหน้าร้อน เย็นเฉียบเมื่อถึงฤดูหนาว มีพายุลมแรงเป็นครั้งคราวในหน้าฝน ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาของธรรมชาติ

            ฝนชุก ฝนแล้ง สลับกันไป นับว่าปกติ

            น้ำจากฝน น้ำจากคลอง น้ำจากบ่อ มีเพียงพอสำหรับการทำนาทำไร่ทำสวน สำหรับเป็นน้ำดื่มน้ำใช้ และเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ ได้แก่ปลา

            ดินมีคุณภาพดีพอควร ปลูกข้าว ปลูกพืชไร่ ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ได้งอกงาม มีการใช้ปุ๋ยบำรุงดินบ้างก็คือปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ซึ่งเป็นของตามธรรมชาติ มาจากสัตว์ มาจากพืช มาจากคน

            ชาวบ้านไม่เคยใช้ และไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าปุ๋ยเคมี

            ผมเองจำไม่ได้ว่า รู้จักคำว่า ปุ๋ย หรือไม่

            แต่ได้เห็นแม่เอาขี้ควายที่ปนกับดินแล้วไปใส่โคนต้นไม้และหลุมปลูกผัก ก็รู้ว่านั่นจะช่วยให้ต้นไม้และพืชผักงอกงามดีขึ้น

            ได้เห็นมูลคนหรือมูลสัตว์เกลื่อนกลาดตามทุ่งนา และเห็นว่าที่ใดมีมูลสัตว์มูลคน ที่นั่นมักมีต้นอะไรสักอย่าง ขึ้นอย่างงอกงามดี

            สมัยนั้นคนบ้านนาคู ล้วนแต่ใช้ท้องทุ่งหรือพื้นนาหลังบ้านเป็นส้วมกันทั้งสิ้น

            ในฤดูน้ำหลากน้ำล้นฝั่งคลองและท่วมเต็มท้องทุ่ง ชาวบ้านนาคูจะต้องถ่อเรือไปกลางทุ่งที่เต็มไปด้วยข้าว เพื่อปลดปล่อยของที่ร่างกายไม่ต้องการ โดยนั่งบนหัวเรือและทำกิจวัตรดังกล่าว

            เป็นศิลปะที่ผู้ไม่เคยฝึกหัดมาก่อนจะทำได้ยากทีเดียว

            ดีไม่ดีอาจหงายหลังตกน้ำตามของที่ตนเองปลดปล่อยออกมา!

            ทั้งคนทั้งสัตว์ที่บ้านนาคูต่างปล่อยของที่ร่างกายไม่ต้องการลงดินลงน้ำเป็นปกติวิสัย

            แต่แปลก ชาวบ้านไม่ยักรู้สึกว่าน้ำมีปัญหาด้านคุณภาพแต่ประการใด

            สามารถใช้กินใช้อาบได้อย่างสบาย

            ในฤดูน้ำหลาก ชาวบ้านนาคูต้องไปไหนมาไหนทางเรือทั้งนั้น

            ผมเองต้องพายเรือไปโรงเรียน  2  กิโลเมตร กลับ 2  กิโลเมตร เป็นประจำ

            เมื่อพี่และลูกพี่ลูกน้องยังเรียนหนังสืออยู่ที่บ้านนาคูพร้อมกับผม ก็ลงเรือลำเดียวกันและช่วยกันพาย

            พอพี่และลูกพี่ลูกน้องเรียนจบเหลือผมคนเดียวในบ้านที่ยังเรียนอยู่ ก็เลยต้องใช้เรือขนาดเล็กพายไปคนเดียว

            ขณะพายเรือไปในลำคลอง ถ้าหิวน้ำก็ใช้มือวักน้ำในคลองมาดื่ม

            จำได้ว่าน้ำในคลองสมัยนั้นดูใสสะอาด น่าดื่ม ไม่มีลักษณะน่ารังเกียจแต่ประการใด

            ยกเว้นเมื่อถึงช่วงเวลา น้ำเน่า ซึ่งมาตามฤดูกาล

            นั่นคือเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำไหลมาจากภาคเหนือของประเทศอันเนื่องมาจากฝนที่ตกลงบนภูเขาและพื้นดินที่สูงกว่า

            น้ำจะล้นแม่น้ำลำคลอง เอ่อท่วมพื้นดินสองฝั่งเจิ่งนองทั่วไป

            ระดับน้ำจะสูงขึ้น สูงขึ้น จนบางแห่งสูงถึง 2 หรือ 3  เมตร เหนือพื้นดิน

            ต้นข้าวในนาที่น้ำท่วมเช่นนี้จะโตสูงตามน้ำไปเรื่อยๆ เช่นกัน ในท้องนาจึงยังคงเขียวชอุ่มไปด้วยต้นข้าว 

            ถือเป็นสภาพปกติของชาวนาภาคกลางรวมทั้งคนบ้านนาคู

            ในช่วงที่น้ำกำลังมีระดับสูงขึ้นมากๆ นี้ น้ำจะใสสะอาดน่าดื่มน่าใช้

            โดยปกติจะตรงกับเดือน 12 ทางจันทรคติ

            ก่อนวันเพ็ญเดือน 12 แม่มักจะสอนให้ลูกๆ หัดทำ กระทง เอาไว้ลอยตามประเพณี

            กระทงนี้มักทำด้วยต้นโสน (อ่านว่าสะโหน) ซึ่งเบาและลอยน้ำได้เองตามธรรมชาติ จะเรียกว่า เป็นโฟมธรรมชาติก็คงได้

            คืนวันเพ็ญเดือน 12  หลังจากลอยกระทงกันอย่างสนุกสนานเบิกบานแล้ว แม่จะให้ลูกๆ ช่วยกันตัก น้ำเพ็ง เข้าตุ่มไว้มากๆ

            เพราะน้ำเพ็ง” (ซึ่งชาวบ้านนาคูเรียกกันอย่างนั้น และอาจเพี้ยนมาจากคำว่า น้ำ (คืนวัน) เพ็ญ) นอกจากเป็นน้ำที่ใสสะอาดแล้ว ชาวบ้านยังเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์อะไรบางอย่างรวมอยู่ด้วย

            เมื่อคืนวันเพ็ญเดือน 12 ผ่านไประยะหนึ่งก็จะมาถึงช่วงระดับน้ำถึงจุดสูงสุด น้ำจะนิ่งไม่ไหลขึ้นหรือไหลลง

            ช่วงนี้แหละที่น้ำจะเน่า มีฟองปุดอยู่ทั่วไป ส่งกลิ่นเหม็น

            การใช้น้ำจากคลองเพื่อดื่ม หรือเกี่ยวกับอาหารการกิน ต้องหยุดชั่วคราวจนกว่าช่วง น้ำเน่า จะได้ผ่านพ้นไป

            หลังจากช่วงน้ำเน่าผ่านไปแล้วก็เริ่มฤดูน้ำลด น้ำจะใสมากมองเห็นปลาในน้ำได้ชัดเจน 

            ชาวบ้านนิยมตั้งซุ้มลอยน้ำอยู่ข้างคลอง

            ซุ้มทำให้เกิดร่มเงาทอดลงในน้ำ คนที่นั่งอยู่ใต้ซุ้มจะสามารถมองเห็นปลาในน้ำได้ถนัดมาก

            ประจวบกับในฤดูน้ำลดนี้ ปลาหลายชนิดจะพากันว่ายจากนาสู่คลอง จากคลองสู่แม่น้ำ

            คนที่นั่งอยู่ใต้ซุ้มพร้อมฉมวกจะสามารถล่าปลา โดยใช้ฉมวกแทงได้วันละมากๆ

            ผมเคยทำอย่างนั้นบ้างเหมือนกัน รู้สึกสนุกเพลิดเพลินจริงๆ แต่ไม่เก่งเท่าไร ได้ปลาไม่ค่อยมาก

            แต่แม่ไม่เคยทำเพราะการใช้ฉมวกล่าปลานี้นิยมกันในหมู่ผู้ชาย ผู้หญิงจะใช้วิธีอื่นมากกว่า

            การมีชีวิตอยู่บ้านนอกอย่างบ้านนาคูสมัยที่ผมอยู่กับแม่ ไม่ค่อยรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมมีพิษภัยอะไร

            แม้แต่เรื่องน้ำเน่าตามที่ว่ามาก็ดูเป็นเรื่องปกติตามฤดูกาล ผ่านมาระยะหนึ่งแล้วก็ผ่านไป ทุกอย่างดูเรียบร้อย ไม่ใช่ปัญหาที่ทำให้คนรู้สึกเดือดร้อน

            ไม่เฉพาะน้ำในคลองที่ชาวบ้านอาศัยอาบ กิน ใช้ 

            น้ำในหนองกลางทุ่งนาชาวบ้านก็ใช้ดื่มได้ในสมัยนั้น

            แม่เคยให้ผมร่วมไปกับญาติๆ เอาควายไปเลี้ยงกลางทุ่งไกลจากบ้าน

            เราจะเอาใบตองห่อข้าวสวยพร้อมด้วยกับข้าวประเภทแห้งๆ ใช้ปลายผ้าขาวม้าห่อทับอีกชั้นเพื่อให้สะดวกในการหิ้วไปกับตัว สำหรับไว้กินเป็นอาหารกลางวัน

            เวลาที่รู้ว่าอาหารมันแห้งคอเกินไป เราก็เอาน้ำในหนองมาพรมข้าวให้เปียก จะได้กินคล่องคอขึ้น

            อาจเรียกว่า ข้าวแช่ ตำรับบ้านนาคูได้กระมัง!

4. เศรษฐกิจ : ไม่มีไม่กิน

            แม่เป็นคนขยัน ประหยัด อดทน เอื้ออารี

            ข้าวเปลือกที่เราปลูกได้ แม่นำมาสีด้วยเครื่องสีด้วยมือให้เปลือกหลุดจากเมล็ดใน แล้วนำมาซ้อมมือใน ครกตำข้าว ให้เป็นข้าวสารเอาไว้หุงข้าว

            รำและปลายข้าวเอาไว้เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่

            แกลบเอาไว้ สุมไฟ ให้เกิดควันสำหรับไล่ยุงไม่ให้กัดควายในคอก

            แม่ปลูกผัก ทำสวนครัว เลี้ยงไก่ เป็ด หมู เป็นงานเสริมนอกจากการทำนา

            เราจึงมีอาหารประเภทผัก ไข่ไก่ ไข่เป็ด ทานเป็นประจำ

            ส่วนเนื้อไก่ เนื้อเป็ด เนื้อหมู นั้นนานๆ ครั้งจึงได้ทาน

            ปลาเป็นกับข้าวหลักของชาวบ้านนาคู รวมทั้งครอบครัวของผม

            เรามีปลากินทั้งในฤดูน้ำ ซึ่งชาวบ้านนาคูเรียกว่า หน้าน้ำ และในฤดูแล้ง (หน้าแล้ง)

            ในฤดูน้ำเราจะจับปลาจากคลอง จากท้องนาที่เต็มไปด้วยน้ำ และจากใต้ถุนที่มีน้ำเอ่อล้นพื้นดิน 1-2 เมตร

            เครื่องมือจับปลามี ยอ แห ตะแกรง สวิง เบ็ด ลอบ ไซ ฉมวก เป็นหลัก

            นอกจากปลา สัตว์น้ำอย่างอื่นที่มีมาก และชาวบ้านนิยมนำมาเป็นอาหาร ได้แก่ กุ้งฝอย กุ้งก้ามกราม หอย ปู ปลาไหล 

            แม่ชำนาญในการใช้เบ็ด สวิง ตะแกรง อย่างหลังนี้ส่วนใหญ่ใช้ช้อนกุ้ง

            แม่พายเรือไปตกปลาทีไรมักได้ปลามามาก

            ถ้าไปช้อนกุ้งต้องไปสองคน คนหนึ่งพายอีกคนช้อน

            ผมเคยพายให้แม่ช้อนกุ้งรู้สึกสนุก และดีใจที่เห็นแม่ช้อนกุ้งได้

            นานๆ ได้ปลาไหลติดมาด้วย รู้สึกตื่นเต้นดี

            การใช้เบ็ดตกปลาทำได้ทั้งในคลอง ในทุ่งนาที่น้ำท่วม และใต้ถุนบ้านที่น้ำขึ้นสูงพอ

            แม่ชำนาญเรื่องนี้และสอนลูกทุกคนให้ทำได้

            ผมเองทำได้ดีพอควร คงไม่เก่งเท่าแม่ แต่พอจับปลาเป็นอาหารเลี้ยงตัวเองได้

            การหากับข้าวแต่ละวันในสมัยนั้นดูง่ายและสะดวก

            ตกเย็นกลับบ้านจากโรงเรียนแล้ว ถ้าผมอยากกินปลาเป็นกับข้าวก็เอาเบ็ดเกี่ยวเหยื่อทำด้วยข้าวสุกผสมรำข้าว หย่อนลงในน้ำใต้ถุนบ้าน

            ภายในเวลาครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงก็ได้ปลาเล็กปลาน้อยเพียงพอสำหรับเป็นกับข้าวหนึ่งมื้อหรือมากกว่า

            นานๆ ครั้งโชคดีอาจได้ปลาตัวใหญ่หน่อย เช่น ปลาตะเพียน หรือ ปลาอีกา (สีดำเหมือนอีกา)

            แต่ก็อาจทำให้เครื่องมือตกปลาเสียหายได้เหมือนกัน ถ้าปลาใหญ่เกินไป เช่น ขอเบ็ดอาจล้าหรือสายเบ็ดขาด หรือคันเบ็ดหัก

            ในช่วงน้ำลดใกล้จะแห้งท้องนา ชาวบ้านมีโอกาสจับปลาได้มากเป็นพิเศษ เพราะปลาจะว่ายออกจากท้องนาสู่คูคลอง

            ที่บ้านผมแม่และน้าๆ ช่วยกันขุด บ่อโจน (หรือบ่อโจร ผมก็ไม่แน่ใจ) ซึ่งเป็นบ่อขนาดเล็กที่ไม่มีน้ำ หรือเป็นหลุมขนาดใหญ่นั่นเอง ขวางทางน้ำที่ไหลจากทุ่งนาลงคลอง

            ใช้ดินเหนียวทำเป็นคันบ่อให้สูงกว่าระดับน้ำนิดหน่อย เสมือนเป็นเขื่อนเล็กๆ กั้นทางน้ำ ปรับผิวของคันบ่อหรือเขื่อนเล็กๆ นั้นให้ลื่น เหมาะสำหรับให้ปลากระโดดหรือตะกายข้าม

            เวลากลางคืนปลาจะว่ายตามร่องน้ำที่ออกจากท่งนา เมื่อมาเจอเขื่อนเล็กๆ ที่เป็นดินลื่นๆ สูงกว่าระดับน้ำนิดเดียว หรือปริ่มๆ น้ำด้วยซ้ำ ตะกายหรือกระโดดข้ามเขื่อนตกลงไปในบ่อหรือหลุมที่เราขุดดักไว้ 

            ในวันแรกๆ ของแต่ละฤดูที่เราจับปลาด้วยวิธีนี้ จะได้ปลาคืนละเป็นร้อยๆ ตัว ส่วนใหญ่เป็นปลาช่อน แต่ก็มีปลาดุกและปลาอื่นๆ ด้วย

            แม่จะนำปลาส่วนใหญ่ที่จับได้ซึ่งไม่สามารถกินสดๆได้หมด มาทำเป็นปลาเค็มและปลาย่างเก็บไว้กินเองส่วนหนึ่ง แจกญาติโยมและเพื่อนบ้านอีกส่วนหนึ่ง

            พอน้ำแห้งท้องทุ่งและใต้ถุนบ้าน เราก็มีบ่อและ คู (แอ่งน้ำยาวๆไม่กลมเหมือนบ่อ) สำหรับเป็นแหล่งน้ำใช้ และเป็นที่อาศัยของปลานานาชนิดซึ่งว่ายเข้ามาอยู่ในบ่อหรือคูเองโดยอัตโนมัติ

            แหล่งน้ำนี้ใช้สำหรับอาบ ซักเสื้อผ้า รดต้นไม้ โดยเฉพาะประเภทผัก เป็นน้ำดื่มให้สัตว์เลี้ยงและอื่นๆ

            แต่ถ้าจะใช้เป็นน้ำดื่มหรือใช้หุงหาอาหาร ก็มักจะแยกบ่อไว้พิเศษ 1 บ่อ เพื่อการนั้น คือ ไม่ให้คนลงไปจับปลา ถ้าจับต้องใช้เบ็ด และไม่ให้สัตว์เลี้ยงลงไป 

            การลงไปจับปลาในบ่อหรือในคูที่มีไว้เพื่อการนั้น แม่จะไม่เป็นคนทำเพราะชาวบ้านนาคูไม่นิยมให้ผู้หญิงลงน้ำจับปลา 

            ผมจึงมักอาสาทำหน้าที่นี้ โดยใช้ สุ่ม สำหรับ สุ่มปลา เป็นหลัก และมักทำในวันที่ไม่ได้ไปโรงเรียน

            พอได้ปลาสดมาเป็นอาหารประจำวัน นอกเหนือไปจากปลาแห้งที่แม่ทำเก็บไว้จากผลผลิตของ บ่อโจน 

            ปลาบางชนิดชอบอยู่ในโคลน หรือตามโพรงดินของขอบบ่อส่วนที่อยู่ใต้น้ำ

            เราสามารถดำน้ำลงไปจับด้วยมือเปล่า แต่ต้องชำนาญหน่อย 

            ผมทำอย่างนั้นบ้างเหมือนกัน พอได้ผล แต่บ่อยครั้งก็ถูกปลาที่มี เงี่ยง หรือส่วนของลำตัวที่คมๆ ทำให้เกิดบาดแผลที่มือ เจ็บพอดูทีเดียว

            เมื่อผมจับปลามาได้ก็ขอให้แม่ช่วยทำเป็นอาหารให้

            แม่ทำอาหารถูกปากลูกๆ มาก แม้เป็นของง่ายๆ มี ปลา ผัก ไข่ เป็นพื้น 

            มีอาหารกิน มีบ้านอยู่ มีเสื้อผ้าใช้พอสมควร มียาและการรักษาโรคแบบชาวบ้าน เรารู้สึกว่าชีวิตไม่เดือดร้อนอะไรนัก

            แต่แม่ไม่เคยอยู่เฉยๆ หรือว่างๆ 

            แม่ตื่นแต่เช้ามืดเป็นประจำ มักจะก่อนใครๆ ทั้งสิ้น แล้วก็ทำอะไรต่ออะไรง่วนไปทั้งวัน

            ใช้เวลาที่มีอยู่ทำประโยชน์อย่างเต็มที่ ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง    

            อาศัยทรัพยากรธรรมชาติรอบข้างตามสมควร ได้แก่ ดิน น้ำ ปลา สัตว์น้ำอื่นๆ พืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น โสน บัว ผักบุ้ง ผักกะเฉด

            อะไรที่หายากเกินไปก็ไม่ดิ้นรนหามา

            มีรายได้จากการขายของที่ผลิตได้ แม้ไม่มากเท่าไร ก็ใช้เพียงส่วนหนึ่ง เก็บออมไว้ส่วนหนึ่ง

            ญาติพี่น้องหรือคนคุ้นเคยที่เดือดร้อนที่แม่รู้เข้า หรือเขามาหาแม่ แม่ก็มักให้ความช่วยเหลือเท่าที่พอช่วยได้

            อุปนิสัยและการปฏิบัติตนของแม่ได้ซึมซาบสู่ลูกๆ โดยแม่ไม่ได้เอ่ยปากสอนแต่ประการใด

            แม่ถ่ายทอดวิชาเศรษฐกิจ หรือหลักการทำมาหากินและการดำเนินชีวิตด้วยการทำให้เห็นเป็นสำคัญ

            เป็นวิธีการสอนที่ได้ผลมาก

            โดยพวกเราลูกๆ แทบไม่รู้ตัวเลย

5. สุขภาพ : เจ็บหนักก็ตาย

            แม่เป็นคนแข็งแรง สุขภาพอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่ค่อยป่วย ไม่ค่อยไข้

            ระหว่างที่อยู่บ้านนาคู แม่ไม่เคยเจ็บป่วยมากๆ เลย

            แต่สำหรับคนบ้านนาคูโดยทั่วไป เรื่องเจ็บป่วยก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา

            เจ็บบ้าง ไข้บ้าง เป็นมากบ้าง เป็นน้อยบ้าง โรคนั้นบ้าง โรคนี้บ้าง

            เป็นอะไรขึ้นมาก็รักษากันตามมีตามเกิด เท่าที่ชาวบ้านนาคูสมัยนั้นพอจะมีความรู้ความเข้าใจ หรือมีหมอชาวบ้านมาแนะนำหรือรักษาให้

            การรักษามีแบบต่างๆ กินยาหม้อ ยาดอง ทาสมุนไพร นวด พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ไล่ผี แล้วแต่ผู้รักษาจะวินิจฉัยและแนะนำ

            คนบ้านนาคูไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการแพทย์ เรื่องการรักษาโรค

  &nb

คำสำคัญ (Tags): #รัฐมนตรี
หมายเลขบันทึก: 76313เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2007 07:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท