"ประวัติศาสตร์" เรียนไปเพื่ออะไร? (ฮึ)


วันก่อนมีนักศึกษาเขียนลงในกระดานข่าวคณะแพทย์ว่า

"History of Medicine" วิชานี้เรียนไปเพื่ออะไรกัน?"

"นึกว่าสอบ entrance เข้าคณะแพทย์ฯได้แล้ว จะไม่ต้องมาเรียนสังคมศาสตร์อีก ปรากฏว่าต้องมาเรียนอะไรก็ไม่รู้ ช่วยสอนวิชาที่ทำให้ผมเป็นแพทย์จริงๆเสียทีเถอะครับ" (NB: วิชาสังคมศาสตร์ที่ว่าคือ "จริยศาสตร์" !!!)"

"ผมมาเรียนแพทย์แผนปัจจุบันนะครับ ทำไมอาจารย์ต้องให้มาเรียนวิชาสมุนไพร แพทย์แผนโบราณ (ชื่อก็ไม่น่าเรียนแล้ว) หรือว่านี่ต้องไปเรียนผูกดวง โหราศาสตร์ด้วย เวลาเรียนวิชาหลักๆก็แทบจะไม่พออยู่แล้ว"

แต่ละคำถามสามารถนำไปสู่คำอภิปรายได้อีกมากมาย (ซึ่งก็มีจริงๆ) แต่นั้นไม่ใช่ประเด็นหรือหัวข้อหลัก ผมพึ่งมองเห็น "ความสัมพันธ์" ของทั้งสามคำถาม ของนักเรียนทั้งสามคน ของทั้งสามวิชา เป็นความสัมพันธ์ของ "ปัญหา" นั่นคือ เดี๋ยวนี้เรา "ขาด" การรับรู้ว่าเราเรียนไปเพื่ออะไรกันจริงๆจังๆ (หมายถึงขาดอย่างจริงๆจังๆ ไม่ใช่เพื่ออะไรจริงๆจังๆ)

เราแบ่งวิชาต่างๆออกเป็นวิทยาศาสตร์/สังคมศาสตร์ แบ่งสายวิทย์/สายศิลป์ แบ่งหมอยา/หมอศัลย์/หมอจิต/หมอกระดูก (มีรุ่นน้องผมเรียกผมว่า "หมอจิตวิญญาณ!!" ซึ่งผมว่าเท่ห์ไม่เบา ถ้าเขาไม่ได้เรียกลับหลังแล้วก็หัวร่อต่อกระซิกกัน)

เราเจอคนไข้ที่ ER ก็เริ่มมีการถามกันว่า "ของใคร" ทักจะหมายถึง ของเหม็ด ของสัน ของเด็ก ของออโถ

มีบทความที่น่าสนใจของ Fritjof Capra .ในหนังสือ The Hidden Connections ว่าด้วยคำ "Interconnectedness" ความต่อเนื่องเชื่อมโยง ที่น่าสนใจก็คือ กิจกรรมหลายๆอย่างที่เราทำไปทุกเมื่อเชื่อวันนี้ มีส่วนหนึ่งที่กำลังพยายามจะ "แบ่งแยก" มากกว่า "รวบรวม" เราจะแก้ปัญหาอะไร เราก็จะ "วิเคราะห์" วิ ก็คือ แยก ทำเป็นส่วนๆ พิจารณาเป็นส่วนๆ เราพยายามที่จะถกเถียงเพื่อ "เอาชนะ" แทนที่จะ "เรียนรู้" เพิ่มเติม เราจึง "อภิปราย" discuss หรือ dissect แทนที่จะ "สนทนา" หรือมี dialogue กัน

ถึงตอนนี้ผมเริ่มมีความเห็นใจนักศึกษาแพทย์ทั้งสามท่านที่ถามคำถามข้างต้น เดี๋ยวนี้เรามาเรียนอะไรก็เพราะมีคน "สั่ง" หรือ "มอบหมาย" ให้เรียน แจกคู่มือ มี learning objectives มีให้หมด อ่านดูซิจ๊ะว่าเรียนอะไรไปทำไม

ใน Contemplative education หรือจิตปัญญาศึกษา หรือ การเรียนรู้ด้วยใจที่ใคร่ครวญ เป็นการเรียนรู้ที่เน้นการ "เชื่อมใยง" เน้นการศึกษา "ความต่อเนื่องเกี่ยวพัน"

ขณะที่เรากำลังมีวิชาจริยศาสตร์ และนั่งคิดว่าวิชานี้มันควรจะกี่หน่วยกิต เรียนวันละ อาทิตย์ละกี่ชม. มี self-directed กี่ ชม. มี workshop/seminar/small group กี่ ชม. แต่ตราบใดที่วิชาเหล่านี้ "แยกตัวออกมา" จากสิ่งที่นักเรียนกำลังจะเป็น แยกออกมาจากสิ่งที่เขาอยากจะทำ เป็นวิชาต่างหาก แล้วมันจะเกิดขึ้นได้จริงๆหรือ?

คำถามของนักศึกษาเริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น เด็กของเราทราบหรือไม่ว่าประวัติศาสตร์การแพทย์จำเป็นต่อการเป็นแพทย์ หรือมันต่อเนื่องกันอย่างไร สังคมศาสตร์กับแพทย์ศาสตร์เป็นเรื่องเดียวกันไหม ความรู้แพทย์โบราณมีอะไรที่เกี่ยวเนื่อวมาถึงแพทย์ปัจจุบัน?

นอกจากเด็กทราบหรือไม่แล้ว อาจารย์ทราบหรือไม่? เจ้าของหลักสูตร คนเขียนหลักสูตรล่ะ ทราบหรือไม่?

บางที "เหตุผล ที่มา ความต่อเนื่อง" อาจจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการเรียนรู้ก็ได้

หมายเลขบันทึก: 76304เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2007 00:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

น่าจะเรียกได้ว่ามาจากระบบพื้นฐานเลยนะคะ ปัญหานี้ พวกเราเรียนอะไรแบบแยกส่วนกันมาเสมอ ทำให้เด็กเล็กไล่มาถึงระดับอุดมศึกษา เรียนเพื่อสอบให้ผ่าน ไม่ได้เป็นเพราะใช้ความคิดของตัวเอง ไม่ได้ทำเพราะมีครูไปกระตุ้นให้อยากรู้อยากเรียน แต่ครูบังคับให้เรียน บังคับให้จำ เพื่อสอบให้ผ่าน

เราจะมีกระบวนการอะไรจึงจะปรับวิธีการคิดให้อนาคตของชาติเรากันล่ะคะนี่

  • ประวัติศาสตร์คือคลังแห่งความรู้ของโลก
  • ประวัติศาสตร์คือกระจกเงา ฉายสะท้อนปัจจุบัน และอนาคต

ขอบคุณสำหรับแง่คิดจากบล็อกนี้ค่ะ

แล้วก็ดีใจ ที่ได้ทราบว่า อาจารย์ Phoenix  แห่งบอร์ดคณะแพทย์ฯ ที่แท้คือใคร

ดีใจที่ได้เจออาจารย์ที่นี่ค่ะ

^___^

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจมากเลยครับ ผมมองว่านี่เป็นปัญหาหลักของการเรียนแบบ integrated เลย

อยากจะตั้งข้อสงสัยว่าการสอนแบบ integrate จะทำให้นักเรียนมองเห็นความเชื่อมโยงของทุกสาขาวิชาได้หรือเปล่า ผมคิดว่าประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ทีเด็กคิดอย่างไร แต่คือเด็กเห็นอะไรบ้าง

สิ่งที่เด็กเห็นจากครูบาอาจารย์ทุกวันนี้มันเป็น ทำนอง "แม่ปูกับลูกปู" ครับ

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการมองอย่างเชื่อมโยง  การสนับสนุนให้เด็กรุ่นใหม่มองอะไรแบบเชื่อมโยง ไม่แยกส่วน แต่ความเป็นจริงที่เด็กเห็นอยู่ตรงหน้าเขาในแต่ละวันมันขัดแย้งกับสิ่งที่เราต้องการ  i.e. การสอนแบบเอาวิชาต่างๆ มาปะไว้ด้วยกันภายใต้หัวข้อเดียวกัน แต่ต่างคนต่างสอนไม่เกี่ยวกัน   การที่อาจารย์สอนนักเรียนโดยไม่สนใจประเด็นอื่นเพราะตัวเองไม่รู้ ไม่สนใจ การที่อาจารย์หลุดหงิดเมื่อนักเรียนสนใจสิ่งอื่นมากกว่าสิ่งที่ตนเองเห็นว่าสำคัญ

 เอาสั้นๆ นะครับ ผมเห็นว่าสิ่งสำคัญในเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่นักเรียน แต่อยู่ที่อาจารย์ และไม่ได้อยู่ที่ความรู้ของอาจารย์ แต่อยู่ที่ attitude และการปฏิบัติจริงๆ

ผมมองว่าถึงเราจะสอนแบบแยกชั่วโมง  แยกวิชากัน แต่ถ้าในทางปฏิบัติอาจารย์ทำแบบ integrate นักเรียนก็จะเห็นภาพ นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ในแต่ละชั่วโมงมาผสมผสานกันตามสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้า ยิ่งเห็นมากขึ้นยิ่งมีการผสมผสานที่ลึกขึ้น

แต่ถ้าสอนแบบ integrate แต่อาจารย์มองคนไข้เป็นส่วนๆ สิ่งที่อาจารย์สอนก็เป็นเำพียงแค่ intellectual excercise เท่านั้นครับ

เวลา ลูก ขาดอะไร เรามักจะเห็นภาพ คุณพ่อคุณแม่ของเขา อยู่ด้านหลัง

เวลา นักเรียน ขาดอะไร  เรามักจะเห็นภาพครูของเขา อยู่ข้างหลัง

สกลครับ ผมว่า เรา คงต้องงานหนักกันขึ้นครับ แต่คงต้้องถามเขาเหมือนกันนะ ว่า อะไรทำให้เขาคิดอย่างนั้น

 

อา... น่าตื่นเต้นยินดี สำหรับเช้าวันจันทร์วันนี้จริงๆ

เป็นการต้อนรับน้องใหม่ผู้เล่น blog ที่อบอุ่นดีจริงๆครับ ขอบพระคุณทุกๆคน พี่เต็ม อาจารย์มาโนช โอ๋ และคุณ k-JIRA

ผมเริ่มมองเห็นปัญหาเฉพาะหน้าของ blog แล้ว ก็คือ น่าเป็น activity ที่ addict ได้โดยง่าย โดยเร็ว

สำหรับคำ comments บางบท เพียงพอที่จะตั้ง blog ใหม่ ผมจะพยายามรับรู้ นิ่ง จม กับความคิดสักพักก่อนจะตอบ (เป็นสิ่งที่ไม่เคย ไม่ค่อย ทำมาก่อนเหมือนกัน) ขณะนี้ อย่างที่โก้วเล้งว่า "มาแล้วไม่ไป เสียมารยาท" ขอสะท้อนโดยไม่ได้เรียบเรียงไปก่อน แล้วค่อยๆรอขาขึ้นของ U-wave อีกทีนะครับ

==================================

ตอนที่ Howard Gardner เขียนเรื่อง Multiple intelligence มานั้น เป็นปรากฏการณ์ที่มีคนตื่นเต้นเป็นอันมาก แต่กลุ่มที่ตื่นเต้นที่สุดกลับไม่ใช่ cognitive psychologist กลับเป็นกลุ่มพวกนักการศึกษา Gardner เขียนหนังสือเล่มนี้มาเพราะกว่าร้อยกว่าปีมานี้ มีเครื่องมือชิ้นหนึ่ง ผลิตขึ้นมา และส่งผล (เสีย) ให้คนจำนวนมากโดยไม่รู้ตัว นั่นคือ IQ test (intelligent quotience) เพื่อพยากรณ์ว่าใครจะ "ทำได้ดี" ในอนาคต ใครจะประสบความสำเร็จ แต่เนื่องจากความสนใจในพฤติกรรม และ cognitive science ของ Gardner เขามีความสงสัยอย่างยิ่งว่า tests ต่างๆของ IQ test นั้นทำได้จริงๆอย่างที่ว่าหรือ?

IQ test โดยทั่วไปมีการทดสอบแค่ 2 domains เท่านั้น คือ mathmatic/logistic และ liguistic นั่นคือ คุณสื่อได้ไหม คิดเป็นระบบเป็นตรรกะได้ไหม เป็นความคิดแบบที่แบ่งแยก science/logic/thinking ออกจาก emotion/feeling อย่างชัดเจน

แต่ถ้าให้ Mozart มาทำคณิตศาตร์ ให้ David Beckham (ซึ่งพูดจาแทบจะไม่ค่อยรู้เรื่อง) ซึ่งทำเป็นอยู่อย่างเดียวคือสามารถส่งบอลจากเท้าขณะที่วิ่งด้วยความเร็ว 15 km/hr ไปลงตรงไหนก็ได้ตามใจชอบในระยะ 30-45 หลา ถามว่าสองคนนี้ (ซึ่งอาจจะทำ IQ test ได้ไม่ดีเท่าไร) ประสบความสำเร็จในชีวิตไหม?

Gardner จึงเขียนออกมา แจกแจง ให้ความเห็นว่า Intelligences น่าจะมีอะไรมากกว่านั้น มีพวกที่ควบคุมร่างกายได้เก่งกาจ เช่น นักกีฬา นักเต้นรำ มีพวกที่เก่งด้านสังคมศาสตร์ การเมือง มีพวกที่จมลึกรอบรู้ในปรัชญา อภิปรัชญา มีพวกที่มีประสาทหูตาอารมณ์สุทรีย์ไว ผลิตงานที่ "โดนใจ" คนจำนวนมากจาก งานประพันธ์ รูปวาด ประติมากรณ์ ปฏิมากรณ์ ฯลฯ

นักการศึกษานำไปเรียกสรุปสั้นๆว่า "there is no student's fail, but the teacher's fail"

X-project ของ Harvard university จึงมี colleges พิเศษที่จะมีการศึกษาค้นคว้า "ความถนัด" หรือ intelligent domain ของเด็กก่อน เพื่อที่จะ "ส่งเสริม"ให้เด็กคนนั้นได้ใช้ full potential ของเขาในอนาคต ไม่ได้ถูก labelled ว่า idiot เพียงเพราะ 2 domains ใน IQ test เท่านั้น

โดยสรุปในขณะที่ผมเห็นด้วยว่า "ครู" และ "วิธีสอน หรือประสบการณ์ถ่ายทอดความรู้" มีบทบาทสำคัญยิ่งยวด และสามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนาได้อีกเยอะ เยอะ เยอะ มากๆ แต่ผมยังขอ preserve idea ในประเด็นที่ว่า "ส่วนของเด็กเอง" มีความสำคัญมากน้อยเพียงใด

เห็นด้วยกับ อ.มาโนชว่าหลายๆครั้งวิชาที่เราเรียก so-called integrated หรือแม้กระทั้ง holistic นั้น ยังไม่ได้บูรณาการอย่างแท้จริง ยังเป็นการรวมแบบ "ขนมชั้น" คือรวมเสร็จก็เห็นเป็นท่อนๆ เป็นชั้นๆ เพียงแต่จับเอามาใกล้ๆกัน ในที่ประชุมวิชาการที่บ่อยครั้งมี session เรียกซะโก้ว่า symposium แต่ที่จริงส่วนหนึ่งกลายเป็น serial lectures มากกว่า symposium เพราะมีปฏิสัมพันธ์ระหว่าง panels น้อยมากๆ

อืม... รู้สึกชักจะยาว ผมไม่แน่ใจว่า response นึงของ blog นี่ควรจะยาวแค่ไหน จบแบบไร้เดียงสาตรงนี้ก่อนก็แล้วกัน

See you soon

สวัสดีค่ะ อาจารย์หมอสกล อ่าน blog ของอาจารย์แล้วถูกใจมาก เรียกได้ว่าเป็นหมอจิตวิญญาณก็ไม่น่าจะผิดนะคะ ฉันคิดว่าโชคดีของนักศึกษาแพทย์ มอ.ที่มีอาจารย์ช่วยปรับแนวคิดด้านนี้ไม่เช่นนั้นแล้วหมอที่จบไปก็จะดูคนไข้แบบ เป็นวัตถุมากไป ไม่ได้เน้น คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ

ขอบคุณหมอหลองครับ

จริงๆ นักศึกษาคงจะได้เรียนจากอาจารย์ทุกท่านเป็นส่วนใหญ่แหละครับ ว่าไปตามบริบท ทุกระยะของโรค ไม่จำเป็นต้องเรียนเรื่องนี้ตอนเป็น end-stage of the disease เท่านั้น

เรามีอาจารย์อย่างอาจารย์พรรณทิพย์ อาจารย์พันธุ์ทิพย์ อาจารย์ขจรศักดิ์ อาจารย์มยุรี และอื่นๆอีกมากมายที่กำลังสอดใส่ "วิชา" จริยศาสตร์ แบบ seamless integrated คือ "ไร้ตะเข็บ" เหมือนสำนวนกำลังภายในต้องบอกว่าเหมือน "ภูษิตฟ้า ไร้ตะเข็บ" นั่นทีเดียว เพียงแต่เราต้องเปิดโอกาสให้เด็กเขาเติบโตงอกงามทางนี้โดยการให้น้ำ ให้ปุ๋ย กันหลายๆมือเท่านั้นเอง

สวัสดีค่ะคุณหมอ

  • ได้ข้อคิดบันทึกของอาจารย์มาก
  • ทุกคนต้องเรียนประวัติศาสตร์
  • ประวัติศาสตร์คือขุมความรู้
  • เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์เกิดซ้ำรอย
อ่านบันทึกนี้ของอ.วิจารณ์แล้วเห็นว่า เกี่ยวข้องกับความคิดที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้ จึงนำมาฝากไว้ด้วยกันค่ะ

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการก็คือ เมื่อเราตั้งใจจะเอาประวัติศาสตร์เป็นบทเรียน เรากำลังปรับปรุง สภาวะ ใหม่ ของสถานภาพจากอาจารย์ จากนักเรียน กลายเป็นทั้งหมดเป็นนักเรียน

ก่อนกลับจากเรียน Ph.D. ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ supervisor ผมหลายทีนอกวิชาเรียน ซึ่งถือว่าเป็น valuable time เป็นการ share มุมมองความคิดเห็นจริงๆ ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่ แต่การที่ต้องสนทนาเป็นภาษาอังกฤษตลอดนั้น ผมรู้สึกการลดช่องว่าง ลดศักดิ์ศรี ย่นความต่างของ "กรอบ" ต่างๆลงอย่างมากมาย (อาจจะเป็นเพราะนึกศัพท์ก็ทุลักทุลีพออยู่แล้ว กฏกติกามารยาทก็เลยหดหาย ละเลย) มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่งผมจำได้ และมานึกย้อนตอนนี้ เข้าใจว่าเราได้ miss อะไรที่น่าสนใจไปคือ supervisor ผมบอกว่า

"Since you are going to be supervisor of many students, you will learn soon enough that teacher always learn more from students than they ever do from teacher"

ตอนนั้นผมก็คิดว่าแกคงจะชมหรืออะไรสักอย่างทำนองนั้น แต่ตอนนี้ หลังจากได้กลับมาทำหน้าที่ครูอยู่ 4 ปีกว่าๆ ผมคิดว่าแกกำลังพูดอะไรบางอย่างที่จริงมากๆ

การเรียนรู้เป็นอะไรที่เป็น super, very, active process และเมื่อเทียบระหว่าง "ใจ" ของคนที่กำลังเรียบเรียง สอน สะท้อน ปรับปรุงนั้น สภาวะจิตที่กำลังเรียนรู้จะเกิดขึ้นกับครูเป็นส่วนใหญ่!! ผมพูดเช่นนี้หลังจากที่ผมได้ลองทำ palliative care ให้กับผป.อยู่พักหนึ่งที่ ม.อ. นี่ ผมบอกใครต่อใครเสมอตอนนี้ว่า การทำ palliative care นั้น คนที่จะ "ได้" เป็นคนแรกก็คือคนทำนั่นเอง

การเรียนรู้เป็นเสมือนการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ยิ่งทำยิ่งได้ ยิ่งให้ยิ่งอิ่มตัว ยิ่งศึกษาเพื่อสอนคนอื่น เรายิ่งต้องทำจิตให้ไร้เดียงสา สลัดความแกร่งกล้าเชี่ยวชาญออก นึกถึงกระบวนการเรียนรู้บริสุทธิ์ของเด็กๆที่ยังไม่เรียนรู้ กระบวนการสลัดเปลือกกระพี้นี้เหมือนหนอนที่เรียนมากๆจนเป็นดักแด้ ต้องสลัดเปลือกที่หนาแน่นที่ออกทิ้งจึงจะกลายเป็นผีเสื้อโบยบินต่อไป หากเราติดกับดักนึกว่าใยดักแด้คือความรู้ที่แท้ ไม่สงสัย ไม่ดิ้นรนออกนอกกรอบ เราก็จะไม่มีวันเป็นผีเสื้อ แต่จะเป็นดักแด้ที่อ้วนขึ้นเรื่อยๆ อยู่ในใยไหมที่หนาขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่เรา "สอน" นักเรียนนั้น ผมคิดว่าเราน่าจะคิดว่าเรา (คืออาจารย์) กำลังเรียนรู้ กำลัง recite บทเรียนให้น่าสนใ หาสิ่งใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้น ถ้าเราทำอะไรทุกอย่างเป็น routine เรื่องนั้นๆต่อให้น่าสนใจแค่ไหน ก็จะขาดรสชาติไปทันที กฤษณมูรติกล่าวว่าแม้แต่การมองดอกไม้กอเดิมหน้าห้อง คนละเวลา คนละบริบท เราจะสามารถเสพสิ่งใหม่ๆได้ตลอดเวลา

ระหว่างครู นักเรียน ความเหมือน ความต่าง

ครูคือนักเรียนที่เรียนได้มากกว่า เร็วกว่า และสนุกกว่านั่นเอง

บ่อยครั้งที่นักเรียนเป็นครูที่ประเสริฐต่อครูอาจารย์ซะด้วยซ้ำไป บางทีเราอาจจะต้องขอบคุณนักเรียนเพราะเรา "ได้" มากกว่าที่เขาได้ "จากเรา" เยอะมาก

  • มาทักทายอาจารย์ครับ
  • เราเรียนแบบแยกส่วนและเชื่อตะวันตกมากเกินไปไหมครับ
  • ขอบคุณมากครับที่ให้ความรู้ที่เกิดประโยชน์

อาจารย์ Phoenix ครับ ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ว่า ในการสอนถ้าผู้สอนไม่ทำแบบ routine หากแต่เป็นกระบวนการที่มี interaction ระหว่างกัน ผู้สอนจะได้เรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง ยิ่งสอนผ่านมากกลุ่มขึ้นก็จะยิ่งได้เรียนรู้มากขึ้นจากข้อมูลที่ใหม่สดและจากการ synthesis ข้อมูลสดๆ เหล่านี้
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากคนไข้ก็มากมายเช่นกันครับ เรียกว่าเป็นความรู้สดๆ ที่อยู่ตรงหน้า ที่ตำรายังมีไม่เท่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท