Mr.Kong
นาย กิตตินันท์ อนัมบุตร

สัมปทานบาป สองทศวรรษคลุมถุงชน?


เป็นไปตามคาด ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบยกเลิกการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคม




สัญญาต่างๆ เหล่านั้น หลายคนคงไม่รู้ว่าได้ผ่านการแก้ไขกันเงียบๆ รับรู้กันในวงแคบๆ กันมาครั้งแล้วครั้งเล่า ที่ผลประโยชน์ของประเทศชาติสูญหายไปมหาศาล

ใครถูก? ใครผิด? ต้องเปลือยให้ได้รับรู้!


ข้อมูลสัญญาที่ทำขึ้นหรือแก้ไขหลังปี 2535 รายใดได้มีการแก้ไขสัญญาซึ่งอาจทำให้รัฐเสียเปรียบหรือทำให้ตนได้เปรียบ รายละเอียดและความเป็นมาที่ Telecom Journal ต้องการนำเสนอ ด้วยส่วนหนึ่งในความเป็นไปยังมีมุมมืดบางด้านที่น้อยคนนักจะทราบถึงความเปลี่ยนแปลงในวงการโทรคมนาคมไทยตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทาน การยกเลิกการเก็บภาษีสรรพสามิต กระทั่งแนวโน้มการรื้อสัมปทานใหม่หมด จากความคิดของรัฐบาลชุดขิงแก่ ปูพรมโดยท่าน สิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีกระทรวงไอซีที กำลังเริ่มชี้ทางสว่างให้กับวงการโทรคมนาคมไทย

โดยรายละเอียดของการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดหลายสิบปีนั้น ใครทำสัญญาอย่างไรกับใคร และมีเงื่อนไขว่าอย่างไร มีดังนี้

การแก้ไขสัญญาให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า ระหว่าง TRUE MOVE –กสท.
19 มิถุนายน 2529 TAC (DTAC ในปัจจุบัน) โอนสิทธิให้กับ WCS (TRUE MOVE ในปัจจุบัน) และสัญญาเริ่มมีผลบังคับใช้ หลังจากนั้น 20 มิถุนายน 2539 WCS ลงนามในสัญญากับกสท. ต่อมา 29 พฤษภาคม 2540 WCS ก็ลงนามข้อตกลงเรื่องการเชื่อมโยงโครงข่ายกับ ทศท.

ลงนามแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมเป็นครั้งแรก เริ่ม 23 กุมภาพันธ์ 2543 โดยแก้ไขรายละเอียดหนังสือค้ำประกันที่มอบให้กับ กสท. หวังให้หนังสือค้ำประกันตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ แทนการดำเนินการก่อนปีที่ 1 พร้อมทั้งขอยกเว้นไม่ต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน 15 มีนาคม 2541-30 กันยายน 2543 เนื่องจากบริษัทฯ กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจ รวมทั้งขอปรับลดเงื่อนไขขนาด Capacity และระยะเวลาที่จะเปิดให้บริการลงจากอย่างน้อย 250,000 เลขหมายภายใน16 มิถุนายน 2540 เป็น 50,000 เลขหมาย ภายใน 30 กันยายน 2543

ลงนามแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมครั้งที่ 2 คือ 8 กันยายน 2544 ขอปรับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นปีที่ 1-4 ร้อยละ 25, ปีที่ 5-10 ร้อยละ 20, ปีที่ 11-15 ร้อยละ 25, ปีที่ 16-17 ร้อยละ 30 และขอปรับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 5,046.08 ล้านบาท

ซึ่งเหตุผลของการแก้ไขทั้งหมดเหล่านี้ มาจากสถานภาพทางการเงิน เพื่อปรับอัตราผลประโยชน์ตอบแทนให้เท่าเทียมกับ TAC ภายหลัง WCS จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น TA Orange ในเดือนมีนาคม 2545 แล้วต่อมาก็เปลี่ยนเป็น TRUE MOVE เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2549 กระทั่งปัจจุบัน

การแก้ไขสัญญาให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า ระหว่าง TAC-กสท.
เริ่มมีการลงนามในสัญญาระหว่าง 2 ค่าย เมื่อ 14 พฤศจิกายน 2533 ต่อมา 16 กันยายน 2534 เปิดให้บริการ

แก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งแรก 1/2536 โดยขยายอายุสัญญาจาก 15 ปี เป็น 22 ปี แม้จะดำเนินการมาแล้วกว่า 2 ปี และขอปรับผลประโยชน์ตอบแทนในช่วงขยายปี 16-22 ในอัตราร้อยละ 30 และปรับผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ จาก 4,100 ล้านบาท เป็น 11,051.84 ล้านบาท ทั้งนี้ TAC ต้องขยายเครือข่ายการให้บริการในท้องที่ กสท. ร้องขอ เพราะหากไม่เร่งดำเนินการจะต้องจ่ายให้ กสท. ในกรณีที่ กสท. ดำเนินการเองในระบบของ กสท. ซึ่ง TAC ให้ กสท. ถือหุ้นในราคา PAR เป็นเงิน 5 ล้านบาท ก่อน TAC นำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์

ซึ่งเหตุผลของการแก้ไขในครั้งนี้ของ TAC คือ ต้องการที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ที่ต้องมีอายุสัมปทานไม่น้อยกว่า 20 ปี ตลอดจนมีค่าใช้จ่ายกับ ทศท. มากกว่าประมาณการ เช่น ค่าเช่า ค่าเชื่อมโยง ค่า..........ค่าทางไกล 3, 6 และ 18 บาท ต่อครั้ง

ลงนามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา ครั้งที่ 2/2539 เมื่อ 20 มิถุนายน 2539 ซึ่งก่อนหน้านี้ 6 มีนาคม 2537 DTAC ลงนามข้อตกลงเรื่องการเชื่อมโยงโครงข่ายกับ ทศท. ขอขยายระยะเวลาในการเช่าเป็น 24 ปี และบริษัทต้องจ่ายค่าเช่าตลอดอายุสัญญา 24 ปีนั้นด้วย ซึ่งบริษัทสามารถยกเว้นการเรียกเก็บค่าใช้บริการและหรือค่าธรรมเนียมได้ในกรณีจัดรายการส่งเสริมการขาย และจ่ายผลตอบแทนตามที่จัดรายการส่งเสริมการขาย โดยทำหนังสือค้ำประกันทุก 2,000 เครื่อง ทั้งนี้ TAC ต้องส่งสัญญาเช่าให้ กสท. ทุก 30 วัน หลังจากเริ่มเปิดให้บริการ และจัดทำบัญชีรายได้และส่งให้ กสท. ภายใน 30 วัน หลังจากสิ้นเดือน แต่สามารถแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย (Service Provider) ได้หากว่า กสท.ยินยอม

เหตุผลของการแก้ไขสัญญา มาจากขาดความคล่องในการกำหนดราคา ตั้งตัวแทนจำหน่าย ตัวแทนบริการและตั้งสถานีโครงข่าย
ลงนามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา ครั้งที่ 3/2539 ด้วยการจ่ายค่าสาธารณูปโภคให้กรณีเช่าใช้สถานที่ของกสท. แต่ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า ยกเว้น กรณีบริษัทมีกำไรจากการดำเนินการ TAC ต้องจ่ายครึ่งหนึ่งของผลต่างของรายได้เฉลี่ยหักด้วย 1,250 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน พร้อมทั้งขยายอายุสัญญาจาก 22 ปี เป็น 27 ปี โดยมีผลตอบแทนเพิ่มเติม ได้แก่ ปีที่ 16-20 จ่ายผลประโยชน์ในอัตรา 25 เปอร์เซ็นต์ ปีที่ 21-27 จ่ายผลประโยชน์ในอัตรา 30 เปอร์เซ็นต์ โดยต้องจ่ายขั้นต่ำรวมไม่ต่ำกว่า 17,051.84 ล้านบาท ซึ่งกสท.สามารถให้ผู้อื่นให้บริการได้ โดยใช้คลื่นความถี่ย่านอื่น

สาเหตุของการแก้ไข เกิดจาก กสท. ต้องการขยายเครือข่ายของตนเอง แต่ก็ให้สิทธิผู้อื่นได้ รวมทั้งบริษัทโอนสิทธิได้ (NON-EXCLUSIVE)

ลงนามแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม Prepaid จาก 200 บาท/เลขหมาย เป็น 18 เปอร์เซ็นต์ของบัตรที่ขายได้

การแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระหว่าง AIS – ทศท.

ร่วมลงนามในสัญญา เมื่อ 27 มีนาคม 2533 กระทั่ง 1 ตุลาคม 2533 เปิดให้บริการ จากนั้น 11 ธันวาคม 2534

ลงนามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาครั้งที่ 1 ขอปรับปรุงเงื่อนไขระยะเวลาการเช่าสถานที่จาก 22 ปีเป็นคราวละ 3 ปี

เหตุผลการแก้ไข คือมีข้อจำกัดจากผู้ให้เช่าที่ไม่สามารถทำสัญญายาวถึง 22 ปีได้
ลงนามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาครั้งที่ 2 เมื่อ 16 เมษายน 2536 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อบริษัทฯ จากบริษัทจำกัด เป็นมหาชน

ลงนามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาครั้งที่ 3 เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2537 เพิ่มเติมข้อตกลงการจัดเก็บและการแบ่งรายได้จากการโทรต่างประเทศ

เหตุผลการแก้ไข คือ บริษัทฯ เปิดการให้บริการโทรระหว่างประเทศเพิ่มเติม
ลงนามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาครั้งที่ 4 วันที่ 20 กันยายน 2539 เปลี่ยนแปลงระยะเวลาสัญญาจาก 20 ปี เป็น 25 ปี และผลประโยชน์ตอบแทน และปรับปรุงให้สิทธิในการสร้าง Transmission Network เชื่อมโยโครงข่ายเข้ากับโครงข่าย ทศท. และโครงข่ายอื่นที่จำเป็นและหาประโยชน์จากโครงข่าย Transmission Network ตลอดจนแก้ไขสิทธิในการให้บริการ โดย ทศท. มีสิทธิอนุญาตเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่ผู้อื่นได้ รวมทั้งกำหนดอัตราส่วนแบ่งรายได้ปีที่ 21-25 และอนุญาตให้บริษัทจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน โดยคิดจากรายได้จากการให้บริการที่บริษัทจัดรายการส่งเสริมการขาย ด้วยเหตุผลการแก้ไข ข้อเสนอของบริษัทฯ เพื่อแลกเปลี่ยนกับสิทธิการให้ความคุ้มครอง (ยกเลิกสัญญา ข้อ 18 ในการอนุญาตให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้กับบริษัทแต่เพียงผู้เดียว) และเพื่อแข่งขันกับผู้ให้บริการรายอื่นได้ต่อไป โดยจะมีคู่แข่งมากขึ้น รายได้ของบริษัทจะไม่สูงมาก

ลงนามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาครั้งที่ 5 เมื่อ 22 ธันวาคม 2543 ด้วยข้อตกลงการแสวงหาผลประโยชน์ จากระบบสื่อสัญญาณของบริษัทฯ ที่เหลือจากการใช้งาน โดยมีเงื่อนไขกรณีเป็นผู้ใช้บริการของบริษัท ทศท. ได้รับส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 2

ส่วนเหตุผลการแก้ไข คือ การแสวงหาประโยชน์นี้มิใช่เป็นการให้บริการหลัก ส่วนแบ่งรายได้ที่เกิดขึ้นไม่ควรเท่าส่วนแบ่งรายได้หลักตามสัญญา

ลงนามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาครั้งที่ 6วันที่ 15 พฤศจิกายน 2544 ปรับปรุงข้อตกลงเพิ่มเติมของส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการ Prepaid Card ให้กับ ทศท. ในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าของราคาหน้าบัตร (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ที่ได้จำหน่ายให้กับผู้ซื้อแล้ว

เหตุผลการแก้ไข เพราะบริษัท ฯ ถือว่าเป็นบริการใหม่ ที่มีต้นทุนเพิ่ม ควรตกลงส่วนแบ่งรายได้ใหม่และเพื่อให้แข่งกับผู้ให้บริการรายอื่นได้

ลงนามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาครั้งที่ 7 วันที่ 20 กันยายน 2545 เพื่อทำความตกลงเกี่ยวกับหลักการการใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) เหตุผลการแก้ไข เพื่อลดการลงทุนเครือข่าย และให้เกิดการใช้โครงข่ายที่ได้ลงทุนไปแล้วอย่างมีประสิทธิภาพ

การแก้ไขสัญญาการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า ระหว่าง DPC - กสท.
19 พฤศจิกายน 2539 TAC โอนสิทธิให้กับ DPC และลงนามในสัญญากับ กสท. สัญญาเริ่มมีผลบังคับใช้ ต่อมา 8 กันยายน 2540 DPC ลงนามข้อตกลงเรื่องการเชื่อมโยงโครงข่ายกับ ทศท. และ กสท.

ลงนามแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 เมื่อ 26 สิงหาคม 2542 ผลบังคับใช้ 30 มิถุนายน 2542 โดยปรับผลประโยชน์ตอบแทน เป็นปีที่ 1 ร้อยละ 25 ปีที่ 2-9 ร้อยละ 20 ปีที่ 10-14 ร้อยละ 25 ปีที่ 15-16 จ่ายส่วนแบ่ง 30 % และปรับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 5,400 ล้านบาท

เหตุผลการแก้ไข เพราะสภาพทางด้านการเงิน และเพื่อปรับอัตราผลประโยชน์ตอบแทนให้เท่าเทียม กับ TAC
ปิดฉากจบภาษีสรรพสามิต
เมื่อประกาศไฟเขียวของคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ยกเลิก ครม.วันที่ 28 มกราคม 2546 ในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่ให้คู่สัญญาภาคเอกชน นำค่าภาษีสรรพสามิตไปหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่คู่สัญญาภาคเอกชนต้องนำส่งคู่สัญญาภาครัฐ และยกเลิกมติครม.วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ที่เห็นชอบแนวทางการดำเนินการ เพื่อหักค่าภาษีสรรพสามติออกจากส่วนแบ่งรายได้

โดยครม.เห็นชอบให้กระทรวงการคลังพิจารณากำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากบริการโทรคมนามคม ในอัตรา 0% และให้บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท.โทรคมนาคมจำกัด (มหาชน) พิจารณาจ่ายเงินปันผลให้กระทรวงการคลังเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยรายได้ที่เสียไปจากภาษีสรรพสามิต

“ สิ่งที่ทำให้ทำให้ครม.เห็นด้วยเนื่องจากพิจารณาว่าการใช้บริการโทรคมนาคมไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือย โดยปัจจุบันอัตราการใช้บริการโทรศัพท์ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยขณะนี้ประชาชนใช้บริการมากถึง 46 ล้านคน ไม่น่าจะเก็บภาษีสรรพสามิตเป็นสิ่งที่ถูกต้องมากกว่า ”

ยกเลิกภาษีฯ แต่ผู้ใช้มือถือไม่กระทบ
การยกเลิกเก็บภาษีสรรพสามติเหลือ 0% ถือเป็นการพลิกประวัติศาสตร์โทรคมนาคมไทย แม้จะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปบ้างในการของภาพรวมธุรกิจหรือการให้บริการต่าง ๆ แต่ก็ไม่เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค เหตุเพราะต้นทุนผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์พื้นฐาน หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมากนัก และประชาชนสามารถใช้บริการได้อย่างสมเหตุสมผลของค่าบริการ โดยไม่เกิดสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ใช้บริการอย่างแน่นอน

ครม.ไฟเขียว ลดภาษีฯ เหลือ 0%
จาก มติ ครม. ในปี 2546 ที่ผ่านมา ครม. ได้มีมติให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม ประเภท โทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรศัพท์พื้นฐาน ในอัตราร้อยละ 10 และ ร้อยละ 2 ตามลำดับ โดยให้เอกชนผู้ได้รับสัญญาสัมปทานสามารถนำเงินที่จะต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตไปหักจากส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องจ่ายให้กับเจ้าของสัมปทานได้ โดยในปีงบประมาณ 2548 ที่ผ่านมาภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากกิจการโทรคมนาคมมีมูลค่าถึง 14,071 ล้านบาท และในปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 14,154 ล้านบาท

ซึ่งกรณีการหักภาษีออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องนำส่งนั้นได้กลายมาเป็นข้อพิจารณาถึงความไม่เหมาะสมเนื่องจากผู้ให้สัมปทานจะได้รับรายได้จากส่วนแบ่งรายได้ลดลงและเป็นที่มาของการนำประเด็นเรื่องภาษีสรรพสามิตขึ้นมาพิจารณาว่าจะยกเลิกเงื่อนไขการให้นำภาษีมาหักจากส่วนแบ่งรายได้ซึ่งในกรณีนี้จะทำให้เอกชนผู้ให้บริการจะมีต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้นตามอัตราที่กำหนด หรือ มีการเรียกร้องให้ยกเลิกการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตหรือลดอัตราภาษีให้เหลือ 0 เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ

ล่าสุด จากการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2550 ครม.ได้มีมติเห็นชอบลดภาษีสรรพสามิตโทรศัพท์เหลือ 0% ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ

ชนัฐฐา อยู่เสนาสห์ นักวิจัยอาวุโส บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกร จำกัด กล่าวว่า การลดภาษีสรรพสามิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ จาก 10% เหลือ 0% จะทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กลับไปสู่รูปแบบเดิมของการเก็บค่าสัมปทาน โดยผู้ให้บริการจะจ่ายเป็นส่วนแบ่งรายได้กลับไปที่ บมจ.ทีโอที

ซึ่งตามเพดานเดิมของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมอยู่ที่ร้อยละ 50 ต่อมามีการปรับลดลงมาเหลือร้อยละ 10 สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ ร้อยละ 2 สำหรับโทรศัพท์พื้นฐาน

การลดภาษีดังกล่าวลงมาเหลือ 0% ไม่ได้หมายความว่าจะมีการยกเลิกไปเลย แต่อาจจะมีการเรียกเก็บอีกก็ได้ เพราะมติ ครม. ไม่ได้บอกว่ายกเลิกซึ่งอาจจะมีขั้นตอนมากกว่านี้ แต่โอกาสในการกลับไปเรียกเก็บอีกมีน้อย

เมื่อ ครม.มีมติดังกล่าวคนที่ได้ประโยชน์คือเจ้าของสัมปทานคือ บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม เพราะเอกชนผู้ได้รับสัญญาสัมปทานไม่ต้องต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตในส่วนนี้ และต้องนำเงินส่วนแบ่งรายได้เข้ารัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยให้กับเจ้าของสัมปทานหลังจากก่อนหน้านี้ มีการกำหนดให้เอกชนผู้ได้รับสัญญาสัมปทานสามารถนำเงินที่จะต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตไปหักจากส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องจ่ายให้กับเจ้าของสัมปทานได้

สำหรับ ภาพรวมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการยังคงชะลอดูท่าทีนโยบายจากภาครัฐ ขณะเดียวกันพบว่าผลประกอบการของผู้ให้บริการเริ่มลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว ดังนั้นการแข่งขันของตลาดและสงครามราคาจึงยังไม่เห็นชัดเจน

ดีแทค ขานรับมติครม. พลิกโทรคมนาคมไทย
ซิคเว่ เบรกเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค ให้ความเห็นถึงมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคมลงเหลือ 0% จากเดิมที่จัดเก็บในอัตรา 10% ว่าดีแทคสนับสนุนมติ ครม. ดังกล่าว เพราะนับเป็นการพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้บริโภค และยังส่งผลดีต่อธุรกิจของ ทีโอที และ กสท. ในอนาคต อีกทั้งขอขอบพระคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีที่ได้พยายามขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศให้พัฒนาต่อไป

ทั้งนี้เพราะภาษีสรรพสามิตนั้นถูกกำหนดขึ้นเพื่อควบคุมการบริโภคสินค้าบริการที่ฟุ่มเฟือย และการที่มติ ครม. ได้ประกาศออกมาเช่นนี้เท่ากับเป็นการยืนยันว่าบริการโทรศัพท์มือถือเป็นบริการพื้นฐาน ไม่จัดอยู่ในประเภทฟุ่มเฟือยแต่อย่างใด ตนเชื่อว่าอนาคตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทยจะสามารถพัฒนาก้าวหน้าได้อีกมาก ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากมติ ครม. ครั้งนี้ ก็คือผู้บริโภคนั่นเอง

ที่มา: Telecom Journal
หมายเลขบันทึก: 76241เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2007 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท