บางผรา: วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป


   วันพุธที่ ๓๑ มกราคม ผมเดินทางออกจากรังสิตมุ่งสู่สายใต้ และใช้บริการรถบริษัทพัชราภรณ์ทัวร์ เป็นรถ VIP หลายที่นั่ง ลักษณะเป็นรถ ๒ ชั้น ออกจากสาใต้เวลา ๑๑.๐๐ น. ราคาวันนี้คือ ๓๙๐ บาท เพื่อหวังจะไปให้ถึงชุมพรโดยเร็วที่สุด

   ที่นั่งดูกว้างดี เมื่อผมนั่งจึงมีเนื้อที่เหลือพอประมาณผนวกกับ ๒ ที่โดยผมนั่งคนเดียว (คนไม่เต็มรถ) ที่ยิ่งว่างไปอีก แต่ผมก็รับผิดชอบเฉพาะที่ผมซื้อตั๋วไว้เท่านั้น

   การนั่งรถนานทำให้รู้สึกปวดน่อง หลังจากต้องห้อยขาเป็นเวลานาน ด้วยที่นั่งกว้างทำให้ผมนั่งขัดสมาธิได้ บางทีก็นั่งพับเพียบ ทุกวันนี้ผมไม่ชอบเอาเสียแล้วกับการนั่งรถนาน ไม่เหมือนสมัยหนุ่มๆ ชอบนักกับรถเร็วและขับแบบโฉบเฉี่ยว ไปไหนใกล้ไกลไม่เคยบ่นให้รำคาญใจ วันนี้ต้องขอยอมแพ้แต่โดยดี ดังนั้นบางทีผมก็ต้องนวดขาตัวเองไปด้วยเพื่อคลายเส้นให้เลือดลมเดินทางสะดวก

   รถปรับอากาศ ป.๑ ขึ้นไปที่วิ่ง ชุมพร-กรุงเทพฯ หรือ กรุงเทพฯ-ชุมพร ขณะนี้เห็นจะมีอยู่ ๓ บริษัท คือสุวรรณนทีทัวร์ โชคอนันต์ทัวร์ และพัชราภรณ์ทัวร์ สำหรับพัชราภรณ์ทัวร์เป็นบริษัทเพิ่งมาตั้งใหม่ประมาณ ๒ ปีเห็นจะได้ จุดเด่นของพัชราภรณ์ทัวร์คือ รถ ๒ ชั้น VIP แต่การปรับเอนของเบาะน่าจะสู้ VIP 24 ของโชคอนันต์ไม่ได้ นอกจากนี้ VIP 24 ยังเป็นเบาะปรับนวดและยืดขาได้ยาวอีกด้วย ผมชอบให้เบาะกระดื๊บๆหลัง มันรู้สึกแปลกดี ส่วนรถของสุวรรณนทีทัวร์ ผมประทับใจในบริการ อย่างไรก็ตามเท่าที่ผมใช้บริการรถปรับอากาศมา ที่ที่ผมเดินทางเป็นประจำคือ กรุงเทพฯ-นครศรีฯ นครศรีฯ-กรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-ชุมพร ชุมพร-กรุงเทพฯ, กรุงเทพ-หาดใหญ่-สงขลา หาดใหญ่ สงขลา-กรุงเทพฯ ผมยังไม่เคยเห็นว่าบริษัทใดจะจัดอาหารค่ำให้โดยผู้ใช้บริการมีสิทธิที่จะเลือกรับประทานอาหารใดก็ได้ เห็นจะมีก็แต่ร้านอาหารและอาหารเดิมๆ ผมเฝ้ารอว่า สักวันจะมีบริษัทให้ความสำคัญกับบุฟเฟ่

   จากมุมมองของผม พัชราภรณ์ทัวร์มีจุดเด่นคือรถ ๒ ชั้น แต่ที่นั่งเพื่อการผ่อนคลายและพักผ่อนผมยกให้โชคอนันต์ทัวร์ การที่ผมเลือกใช้บริการของสุวรรณนทีทัวร์ด้วยนั้นก็ด้วยเหตุคือการเอาใจใส่ที่ดีต่อลูกค้า ผนวกกับเคยเห็นเจ้าของบริษัทเมื่อหลายปีก่อนเป็นคนใจบุญ ผมชอบคนใจบุญ เพราะอยู่ใกล้แล้วให้รู้สึกไม่ต้องระแวง เคยเห็นเพื่อนผมนั่งรถบริษัทหนึ่ง และประสบอุบัติเหตุ แต่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากเจ้าของบริษัท รถประสบอุบัติเหตุไม่ใช่ความผิดของผู้โดยสาร ดังนั้น ถ้าสุวรรณนทีทัวร์มีรถ VIP24 เบาะนวดมีที่พักน่องพักผ่อนสบายผมก็จะใช้บริการรถนั้นเป็นหลัก เนื่องจากผมไม่ชอบเครื่องบิน ใช้บริการทีไรนอกจากค่าใช้จ่ายสูงแล้ว ๑) ปวดหู (ปวดจริงๆ) เมื่อลงจากเครื่องหากมีใครมาพูดด้วยก็ไม่ค่อยได้ยิน ต้องสักเกตปากผู้พูดและเดาเหตุการณ์เอาเอง ๒) เบลอ ตาผมจะลาย ฝ้าฟาง สมองมึนตึ๊บ ๓) ไม่ได้เกิดเพียงวันเดียว บางครั้งรอความเป็นปกติถึง ๓ วัน หูจะดีขึ้นก่อน จากนั้นตาจะดีขึ้นและสมองจะดีขึ้นเป็นลำดับ สำหรับผมถือว่าเป็นคนโชคร้ายมากๆกับเครื่องบิน

   ผมเดินทางถึงชุมพรเวลา ๑๘.๐๐ น.โดยประมาณ ให้น้องชายมารับไปงานบำเพ็ญกุศลศพของแม่แก่ (แม่เฒ่า-แม่ของแม่) ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดบางผรา เมื่อไปถึงแต่ละคนก็เฮฮาทักทาย ผมเข้าไปไหว้คนโน้นบ้างคนนี้บ้าง บางคนผมรู้จักแต่หน้าโดยจำชื่อไม่ได้ เป็นนิสัยที่ไม่ดีของผมเอง คือการจำชื่อใครๆไม่ได้ จากนั้นจึงไปจุดธูปพร้อมกับคำกล่าวในใจว่า "กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ กรรมอันหนึ่งอันใดที่กระผมเคยล่วงเกินในแม่แก่ ด้วยเจตนาก็ดี ไม่ได้เจตนาก็ดี ขอให้กรรมนั้นจงเป็นอโหสิกรรม อย่าได้ถือโทษโกรธเคือง ผูกอาฆาตพยายาทต่อกันเลย จุติ จุตํ อรหํ จุติ ขอให้ดวงจิตวิญญาณของแม่แก่จงไปสู่สุคติเถิด" นำธูปปักในกระถางธูปหน้าหีบศพและไหว้แสดงความเคารพ เสร็จแล้วจึงเดินไปในครัว หยิบจานขึ้นมา เดินไปตักข้าวมากิน จริงอยู่นี้คือญาติพี่น้อง ถ้าเป็นเพื่อนบ้านหรือคนอื่นๆ ผมก็จะบอกเขาว่า ค่อยกินก็ได้...ไมต้องรีบหรอก...ยังอยู่อีกนาน...แม้จะหิวแสนหิวอย่างไรก็ตาม

   หมู่บ้านบางผรามีประวัติความเป็นมาอย่างไรนั้นยังไม่เคยถามจากผู้สูงอายุ ปัจจุบันหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ใน ๒ ตำบลคือ ตำบลท่ายางและตำบลบางหมาก ดังนั้น ถ้า ๒ ตำบลนี้คือ ๒ ประเทศ หมู่บ้านนี้ก็คือตะเข็บชายแดน หมู่บ้านนี้มีคลอง ๑ คลองโดยแยกมาจากคลองท่าตะเภาอีกทีหนึ่ง แถบบ้านผมเรียกคลองท่าตะเภานั้นว่า "คลองใหญ่" ชุมชนตรงสะพานปูนข้ามฟากไปปากน้ำสายใหม่เราเรียกว่า "ปากคลอง" ตรงนั้นจะมี ๓ แยก เรียกว่า สามแยกปากคลอง หากมาจากตลาดชุมพรเลี้ยวซ้ายจะไปสุดถนนที่ ปากน้ำเก่า หากตรงไปไม่เลี้ยวซ้ายก็สามารถไปถึงปากน้ำชุมพรและหาดทรายรีที่มีเรือรบกรมหลวงชุมพรได้

   คลองใหญ่นี้ ตอนเด็ก ผมเคยพิชิตการว่ายน้ำข้ามฟากมาแล้วหลายครั้ง โดยเราพายเรือออกจากคลองเล็กไปสู่คลองใหญ่ ผูกเรือไว้กับกอจาก (มีจากเยอะ) แล้วว่ายน้ำข้ามฟาก บางทีเราก็ไปหาลูกลำภูลำแพนมากินกันอร่อยดี บางครั้งเราเข้าไปเล่นในป่าจาก โดยเอาโคนต้นจากมากั้นเป็นกำแพง ๒ ฝ่ายและปาโคลนใส่กัน บางทีเราก็หาหอยกันเอาไปให้แม่แกงส้มกับใบมะขาม อร่อยดี บางครั้งเมื่อมีงานที่หาดทรายรี ผมจำได้ว่าผมนั่งเรือจากคลองบางผราไปคลองใหญ่และเลียบฝั่งทะเลออกไปหาดทรายรีกัน

   สำหรับคำว่า "บางผรา" ผมสันนิษฐานเอาเองว่า เข้าใจว่าหมู่บ้านนี้ทุกบ้านน่าจะมี "ผรา" คือที่สำหรับไว้ของเหมือนตู้ แต่ไม่ใช่ตู้ ซึ่งทำติดกับหลังคาภายในชายคาบ้าน โดยมากที่เห็นจะเก็บของพวกกับข้าว แก้ว หม้อ ไหเล็กๆ หรือเครื่องใช้สอยต่างๆที่ไม่ใหญ่นัก ส่วนวัดบางผราเป็นวัดในปกครองของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย แต่ไม่ค่อยมีพระอยู่จำพรรษาเท่าไรนัก น่าจะเกิดจากลาภสักการะไม่ดีพอ ที่เห็นขณะนี้คือจำนวน ๒ รูป รอบวัดบางผราเดิมทีเป็นป่า มียอดภูมิ (ไม่รู้เขียนถูกหรือไม่) อยู่เยอะมาก ตอนนี้ผมจำไม่ได้แล้วว่า ยอดภูมิเป็นอย่างไร แต่มีความใกล้เคียงกับใบเหลียง ผมเข้าไปถามญาติๆที่กำลังเด็ดใบเหรียงว่า ยอดภูมิกับใบเหรียงแตกต่างกันอย่างไร เขาบอกว่า ยอดภูมิจะมีรสหวานมันกว่า และใบเรียว ผมเดินไปรอบๆ วัดเพื่อหายอดภูมิ แต่จะหาเจอได้อย่างไรในเมื่อผมจำมันไม่ได้แล้ว ตอนเด็กแม่เคยพามาเก็บในป่านี้อยู่

   ๒ ทุ่มเศษ พระขึ้นสวดอภิธรรม ๗ คัมภีร์จำนวน ๘ รูป พิธีกรรมเริ่มตั้งแต่ ๑) เชิญประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (ทุกคนประนมมือ) ผมคิดในใจระหว่างนั้นว่า ทำไมเรามักจะให้นักการเมืองมาเป็นผู้จุดทุกทีไป และก็คิดไปอีกว่า งานแต่งงานก็เหมือนกัน ทำไมให้คนที่มียศตำแหน่งสูงๆทางสังคมมาเป็นประธาน ทำไมไม่ให้พ่อแม่เป็นประธานให้กับเจ้าบ่าวเจ้าสาวก็ไม่รู้ จริงๆแล้วการจุดธูปเทียนน่าจะมอบให้กับผู้สูงอายุหรือปราชญ์ชุมชนที่คนให้การเคารพหรือเป็นแบบอย่างที่ดีน่าจะเหมาะกว่า หรือว่าไม่มีใครเหมาะแล้ว ๒) เชิญรองประธานจุดเทียนหน้าตู้พระธรรม (บางแห่งจุดหน้าตู้พระธรรมต่อเมื่อพระเริ่มสวดอภิธรรมข้อที่ ๑) ๓) เชิญลูกหลานจุดธูปหน้าหีบศพ ๔) กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย / คำอาราธนาศีล / รับศีล ๕) ฟังสวดอภิธรรม ๗ คัมภีร์ (บางแห่งสวดหลายรอบ) ๖) ถวายเทยยทาน ๗) กรวดน้ำรับพร ๘) ส่งพระ

   ครั้งแรกที่ฟังทำนองการสวด เข้าใจว่าเป็นพระวัดบางผราทั้งหมด ถ้าพระที่วัดไม่พอก็จะนิมนต์วัดโพธิการามมา (ธรรมยุติกนิกาย) แต่พอฟังไปเรื่อยๆ ให้แปลกใจว่า ทำไมถึงสวดทำนองแบบนี้ ทำไปทำมาเพิ่งรู้ว่าเป็นพระวัดบางหลงผสมกับพระวัดบางผราจนครบ ๘ รูป (ประเพณีที่นี้ไม่นิยม ๔ รูป)

   หลังจากที่พระกลับวัด กลับกุฎิแล้วนี้เอง ความคิดของผมเริ่มกระจุยกระจาย อะไรที่เป็นเหตุให้กระจุยกระจาย

 

สภาพทั่วไป

   แต่ละคนจากเดิมนั่งอยู่นอกศาลาบำเพ็ญกุศลศพซึ่งตั้งติดกับเมรุเผาศพภายในบริเวณวัด เริ่มทยอยเข้ามาภายในศาลา ไม่นานมีการแปรสภาพจากรายบุคคลเป็นกลุ่มคน คนหนึ่งปูเสื่อลงบนพื้น แต่ละคนเริ่มนั่งล้อมวง บางคนลากเก้าอี้มาจากที่อื่นเข้ามาล้อมวงด้วย ไม่นานก็กลายเป็นกลุ่มใหญ่ พอจะแยกเป็นประเภทได้ดังนี้ ๑) กลุ่มผู้เล่นไฮโล ๒) กลุ่มผู้เล่นน้ำเต้า ปู ปลา ๓) กลุ่มผู้เล่นไพ่ แบ่งเป็น ดำมี่ เก้าเก และไพ่ตอง กลุ่มใหญ่สุดคือกลุ่ม น้ำเต้า ปู ปลา

   เจ้ามือก็ไม่ใช่ใครอื่นก็รู้จักกันดี ผมพยักหน้าเป็นการทักทายเล็กน้อย ผมสัมภาษณ์นักเล่นคนหนึ่งทราบว่า มีเจ้ามือใหญ่ที่ส่งเจ้ามือเล็กออกไปเปิดบ่อนในงานศพ เรื่องนี้จริงหรือเปล่าไม่มีหลักฐานยืนยัน คนที่ถูกสัมภาษณ์อาจรู้ไม่จริงก็ได้หรือเป็นเพียงการคาดเดา ผมสัมภาษณ์ต่อไปว่า เคยเห็นเจ้ามือร่ำรวยบ้างไหม แกบอกว่า ไม่เคยเห็น โดยเฉพาะเจ้ามือน้ำเต้าปูปลา ที่คนชอบเล่นนัก บางทีต้องขายทรัพย์ของตัวเองไปเพื่อนำเงินมาทำทุน ผู้ให้การสัมภาษณ์ยังคุยให้ฟังอีกว่า บางทีเขาเล่นได้เงินเป็นหมื่น และเจ้ามือค้างไว้ก็มี แต่ที่ผมทราบคือ บางคนที่เล่นหมดตัวเป็นหมื่น สองหมื่น/คืน

   ผมเดินไปเดินมาสังเกตวงไพ่บ้าง ไฮโลบ้าง น้ำเต้าปูปลาบ้าง พบว่า ผู้เล่นมีตั้งแต่อายุประมาณ ๑๕ ปี-๖๐ ปีหรือกว่านั้น แต่ละคนจะกำเงินแบงค์ร้อยบ้าง ยี่สิบบ้าง พันบ้าง ห้าร้อยบ้าง นั้นแสดงว่าคนไม่ได้จนจริง ถ้าจนจะไม่มีเงินมาเล่นขนาดนี้ หรือว่านี้คือเงินสำรองเพื่อเก็บไว้เล่น ในคราวที่เจ้ามืองกลิ้งลูกน้ำเต้า ทุกคนมีสมาธิสังเกตตามการวิ่งของลูกน้ำเต้า เมื่อเจ้ามือปิดฝา นักเล่นก็จะนั่งคิดคำนวนว่าลูกน้ำเต้าจะพลิกผันไปที่รูปใด กุ้ง ปู ปลา เสือ ไก่ น้ำเต้า จากนั้นจึงเริ่มวางเดิมพันบนรูปเหล่านั้นบนผืนผ้า เพื่อทายว่าลูกนั้นจะออกมาหน้าไหน เมื่อถูกก็จะเฮโลลั่น ครั้นผิดก็ร้องฮือ...เหม่เฮ้ย...เสียดาย: เป็นต้น

   ตกลงนี้คืองานบำเพ็ญกุศลศพหรือว่าบ่อนการพนันกันแน่ สิ่งที่ผมเชื่อคือชาวบ้านเขาเล่นกันจนกลายเป็นวิถีชีวิตไปแล้ว ชาวบ้านหญิงคนหนึ่งอายุน่าจะประมาณ ๕๐-๖๐ ปี เล่าให้ฟังขณะที่ผมเดินนออกไปซื้อลูกชิ้นทอดและยืนรออยู่ว่า ถ้าแพ้ ๑๐๐ ก็จะหยุดเล่น แต่ถ้าชนะเพียง ๓๐๐ ก็เลิก อย่างนี้ผมมองว่า ยังไม่ถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง ถือว่ายังดีที่ยังรู้จักพอ ผิดกับนักเล่นบางคนหมดตัวไป ๒-๓ หมื่นในคืนเดียวก็ยังไม่ยอมเลิกรา นี้คือการพนันที่ผมถือว่าเป็นระดับล่างๆของอาชีพรับจ้าง ผมเดินกินลูกชิ้นไปดูวงไพ่ ก็เห็นนักการเมืองท้องถิ่นบางคนนั่งเล่นไพ่อยู่ นี้คือวิธีการเข้าถึงชาวบ้านหรือเปล่า

เหตุเกิดที่วัดท่ายางกลางและวัดท่ายางเหนือ

   ก่อนปี พุทธศักราช ๒๕๔๒ มหาเถรสมาคมออกกฎให้วัดเป็นสถานที่ปลอดอบายมุข โดยให้เจ้าอาวาสเอาใจใส่เรื่องนี้อย่างเข้มงวด การพนันและสุราคืออบายมุข เพราะเป็นปากทางแห่งความเสื่อมทั้งตนเองและผู้อื่น (จะไม่เสื่อมก็ต่อเมื่อเล่นแบบสนุกๆหรือเป็นการละเล่นมิใช่พนันและกินเพื่อเป็นยา) แต่ทั้ง ๒ วัดก็ต้องพ่ายแพ้ ด้วยสู้กำลังคนเหล่านี้ไม่ได้ ในเรื่องนี้พระอยู่ส่วนพระ โยมอยู่ส่วนโยม ชาวบ้านเขาให้ข้าวกิน ท่านจงอยู่เงียบๆซะ ที่กัลปนาของวัดท่ายางกลาง ก็ถูกนักการเมืองท้องถิ่นนำไปทำสนามกีฬา โดยที่เจ้าอาวาสมิได้ยินยอม ผมเคยไปสังเกตเมื่อไม่นานมานี้ เห็นหญ้าขึ้นเต็มนั้นแสดงว่า ไม่มีการเล่นกีฬาจริง ครั้นไปถามเพื่อนก็ทราบว่า เขาเล่นกันปีละหนเดียว อันที่จริงไม่ต้องสร้างให้เสียงบประมาณ เพราะสนามโรงเรียนที่ทุกคนเล่นอยู่ทุกวันก็คือสนามกีฬา นั้นก็ที่วัดจัดสรรให้ชุมชนอยู่แล้ว

   อันที่จริงคนที่มักว่ากล่าวพระ โดยมากไม่ใช่คนที่ใส่บาตรให้พระกิน อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่า ชาวบ้านทุกคนจะเห็นด้วยกับการเอาที่วัดไปสร้างสนามกีฬา เพราะจะม ชาวบ้านที่ห่วงวัดแต่ไม่พูด อยู่จำนวนมากทีเดียว

   ปัจจุบัน การจัดบำเพ็ญกุศลศพในวัดก็จึงกลายเป็นช่องทางการเปิดบ่อนการพนัน

ผลพลอยได้จากบ่อนการพนัน

   ก่อนนั้นคนแก่เฒ่าจะพูดหรือทักทายกันว่า ไม่ไปงานบุญหรือ นั้นหมายความว่าไม่ไปงานบำเพ็ญกุศลศพหรือ แต่เดี๋ยวนี้ เราเริ่มทักทายกันว่า ไม่ไปเที่ยวงานศพหรือ นั้นแสดงว่าวิถีชีวิตเปลี่ยนไป ผมไม่อาจใช้คำว่าวัฒนธรรม เพราะไม่มั่นใจว่า วิถีชีวิตอย่างที่ว่านี้คือความเจริญงอกงามของหมู่คณะ ตามความหมายของคำว่าวัฒนธรามหรือไม่

   ผลพลอยได้คือ ผู้เป็นเจ้าภาพหรือเจ้าของงานเห็นว่า ค่าต๋องมันเพียงพอกับความต้องการ อย่าง ๒ คืนที่ผ่านมากับวันหนึ่งได้ค่าต๋อง ๓,๐๐๐ กว่าบาท บรรเทารายจ่ายค่าอาหารได้จำนวนหนึ่ง

   ผมไม่เคยเห็นด้วยกับสิ่งนี้ (แล้วผมเห็นดีอะไรกับใครบ้างเนี่ย..ก็น่าคิดเหมือนกัน) และตั้งใจว่าถ้าพ่อแม่ผมตายลงต้องไม่มีการพนันและสุรา ไม่ได้รังเกียจแต่จะทำบุญตามคติความเชื่อ อย่างไรก็ตาม จากที่สัมผัสมานั้น หากผมเป็นนักธุรกิจ ผมว่าน่าเปิดบ่อนอิสระซะเลย จะได้เก็บภาษีเข้าสู่รัฐ คนก็จะหลั่งไหลเข้ามาเล่นการพนันกันอย่างสนุกสนาน เงินก็จะเข้ามาในหมู่บ้าน และลูกหลานของผมก็จะเป็นเจ้ามือบ้าง เป็นโจรบ้าง เป็นมือปืนรับจ้างบ้าง เป็นเจ้าพ่อบ้าง คงสนุกน่าดู เสียดายที่ไม่ได้เป็นนกตัวนั้นที่ถูกลมพัดให้ไปตกที่คุ้มโจร แต่ไม่แน่ว่า ข้างหน้าผมอาจเป็นโจรปล้นหัวใจผู้ชายหล่อๆ เอ้ยผู้หญิงสวยๆก็เป็นได้ แต่นั่นแหละอายุปูนนี้แล้วจะไปขโมยหัวใจใครเขาได้

การพนันกับระบบคิดของคน

   เท่าที่พูดคุยกับผู้เล่นพบว่า แต่ละคนเห็นว่าการละเล่นในงานศพถือเป็นเรื่องปกติ สิ่งที่ผมคิดในเวลาเดินดูคือ ถ้าเราจะไปนั่งในหัวใจชาวบ้าน เราก็ต้องเล่นกับเขาด้วยใช่ไหม เพื่อให้สอดคล้องกับคำว่า "เขาทำอะไรเราทำสิ่งนั้น" หรือ "เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม" และบางคนก็อย่างว่า การพนันขันต่อเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน ดังนั้นอย่าไปสกัดกั้นเลย อันนี้ก็เป็นเหตุผล

การพนันและผลกระทบต่อระบบเครือญาติ

   เราจะพบว่าการละเล่นการพนันน้อยๆ ในเทศกาลต่างๆ ในเครือญาติคือการเล่นเพื่อความสนุกสนานและสมานใจของเครือญาติ ใครเป็นผู้ชนะก็จะนำเงินนั้นไปแจกจ่ายให้กับลูกหลานในเครือญาติหรือไม่ก็นำเงินนั้นไปแปรสภาพเป็นขนมนมเนยมาเลี้ยงลูกหลานเพื่อกระชับมิตร

   กรณีการพนันที่กล่าวถึงจะพบว่าพี่น้องกันเองก็เริ่มกินกันเอง การเล่นแบบนี้ไม่ได้เล่นเพื่อกระชับมิตร แต่เป็นการเล่นเพื่อประทังชีวิต แม้แต่พี่น้องหรือญาติกันก็กินกัน ดังนั้น ความเป็นเครือญาติจึงเริ่มแปรสภาพด้วยเหตุของ "กินน้องกินพี่" เล่นกันเอาเป็นเอาตาย เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินแม้จากกระเป๋าญาติสายเลือดเดียวกัน

การพนันกับความเรื้อรังในระบบคิด

  ชาวบ้านจำนวนหนึ่ง หรือนักเล่น จะเข้าใจว่าการพนันเป็นเรื่องปกติ และคิดว่าพนันคือช่องทางให้ได้มาซึ่งเงินแต่โดยง่าย จนกลายเป็น "พนันอาชีพ" หรือ "อาชีพพนัน" ถ้ามีโอกาสและทุนเขาจึงมุ่งเข้าสู่วงการพนันโดยมิได้คิดว่ามันจะผิดปกติอะไร เพราะทำกันจนเคยชิน แม่ก็จะนำลูกไปนั่งในตักพร้อมกับจั่วไพ่ตอง พ่อก็จะนำลูกไปเล่นใกล้วงพนันและบางทีให้ลูกนั่นแหละถือไพ่ให้ กลับมาถึงบ้านไม่รู้จะทำอะไร พ่อแม่ลูกก็มาฝึกเล่นการพนันกันฯลฯ

หมายเหตุ  ไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านทุกคนเป็นนักพนัน ชาวบ้านจำนวนหนึ่งยังคงประกอบอาชีพสุจริต ไปวัดไปวา ช่วยเหลืองานในหมู่บ้าน อุปถัมภ์บำรุงวัดอยู่เป็นประจำ แต่มีคนจำนวนหนึ่งที่เห็นว่า "การพนันคือทางออกที่สบายที่สุด"

 

คำสำคัญ (Tags): #บันทึกสังคม
หมายเลขบันทึก: 76120เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2007 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมก็คนบางผรานะ อิอิ

ผมก็คน ชุมพร บ้านเกิดอยู่หาดหรายรี มาทำงานที่ อยุธยา ประเพณีงานศพทางบ้านเราจะเป็นแบบนั้นแล้วมีการเล่นการพนัน

เพื่ออยู่เป็นเพื่อนเจ้าภาพสมัยก่อนมีการร้องเพลงมาลัยเป็นเพื่อนเจ้าภาพและให้คลายความเศราโศกตอนที่คุณตาผมเสียชีวิต

ประมาณ 20 ปีมาแล้วน่าจะมีใครในชุมชนชาวชุมพรศึกษาการร้องมาลัยนะครับ

ผมคิดว่า ความเปลียนแปลงของสังคมใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแบบเดิม หากจะศึกษาเรื่องการร้องมาลัย ก็น่าจะได้จากคนเก่าแก่นะครับ แต่...ไม่รู้ว่าจะเหลือสักเท่าไรที่จำสิ่งเหล่านั้นได้ อย่างไรก็ตาม ก็น่าทำวิจัยทางวัฒนธรรมอยุ่ครับ โดยเก็บความรู้และประสบการณ์จากผู้สูงอายุถอดออกมาเป็นบทเรียนให้เยาวชนได้ศึกษา

ที่บ้านต้นภูมิและมีเมล็ด ซึ่งคล้ายกับต้นเหลียง สนใจนำไปปลูกติตต่อได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท