ชีวิตจริงของอินเทอร์น : ข้อค้นพบของครู (๒)


เรื่องต่อมาที่คุณครูติ๊ก – เยาวราช เล่าให้ฟังก็เป็นเรื่องที่มีที่มาจากการสังเกตอีกเช่นกัน คราวนี้เป็นเรื่องการสังเกตของคุณครูที่ตั้งคำถามกับวิธีเรียนของเด็กที่มีความแตกต่าง

เด็กคนหนึ่งในห้องเตรียมอนุบาลของครูติ๊ก มีวิธีเรียนรู้ที่ไม่ค่อยจะเหมือนใคร ครูถามอะไรก็ไม่ค่อยตอบ แต่คุณครูก็ยังไม่ตัดสินว่าเด็กคนนี้เป็นอย่างไร กลับพยายามที่จะหาวิธีรู้ให้ได้ว่าเขารู้อะไรแค่ไหน

แล้ววันหนึ่งโอกาสก็มาถึง ... บ่ายวันหนึ่งในขณะที่คุณครูกำลังเก็บของให้เข้าที่เข้าทาง เด็กคนนี้ก็เดินเข้ามาใกล้ๆ แล้วถามว่าคุณครูทำอะไร คุณครูก็บอกว่ากำลังเก็บของเล่นอยู่ และชวนให้มาช่วยกันทำงาน ว่าแล้วก็บอกให้ช่วยหยิบแผ่นแม่เหล็กที่มีรูปลิงมาให้ พร้อมทั้งถามว่าลิงภาษาอังกฤษว่าอะไร เขาก็ตอบถูกว่า monkey เมื่อถามว่าลิงกินอะไร เขาก็ไปหยิบแผ่นแม่เหล็กรูปกล้วยมาให้ แล้วตอบว่า banana เมื่อถามไปจนครบทุกตัว ก็ยังตอบได้อย่างถูกต้อง

ครูติ๊กจึงยิงคำถามที่อยากถามว่า แล้วช้อนล่ะ ภาษาอังกฤษเรียกว่าอะไร ส้อมล่ะ (เพราะเมื่อสองวันก่อน ตอนที่ให้เด็กทำกิจกรรมหยิบช้อนส้อมแล้วไปส่งให้คุณครู พร้อมทั้งบอกคำศัพท์เป็นภาษาอังกฤษนั้น เขาคนนี้ไม่ยอมพูดจาอะไรกับครูสักคำ) แต่วันนี้เขากลับพูดออกอย่างชัดถ้อยชัดคำอย่างถูกต้อง รวมไปจนถึง accent ที่ควรจะเป็น

หากครูด่วนสรุปประเมินตั้งแต่วันที่ทำกิจกรรมการเรียนรู้ โดยไม่หาวิธีการอื่นๆมาช่วยเด็กคนนี้ก็คงจะไม่ผ่านวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ตั้งไว้เป็นแน่

เรื่องเล่าของครูมัธยมคนหนึ่งที่มีความเชื่อมโยงกันกับเรื่องเล่าของครูในชั้นเตรียมอนุบาลเรื่องนี้ก็คือ เรื่องเล่าของคุณครูเกด – สุรางคนางค์

เด็กคนหนึ่งในห้องเรียนชั้นมัธยมต้นของครูเกด เป็นเด็กที่เรียกได้ว่ามีปัญหาในเรื่องการสื่อสารทั้งการพูดและการเขียน วงศัพท์ที่ใช้ก็มีอยู่จำกัดมาก แต่ครูค่อยๆ สังเกตเห็นว่าหากให้โจทย์เป็นภาพครั้งใด เด็กคนนี้ก็จะทำงานได้มากขึ้น และดีขึ้น

ล่าสุดมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีโจทย์คือ การแปลงวรรณกรรมเยาวชนเรื่องที่สนใจ ให้กลายเป็นสื่ออื่นๆ ครูเลือกตัวอย่างขึ้นมาเรื่องหนึ่งแล้วขออาสาสมัครมาช่วยกันสร้างงานชิ้นตัวอย่าง ซึ่งงานชิ้นนี้มีเวลาเตรียมการไม่มากนัก ครูได้ขอให้เด็กชายคนนี้มาเป็นฝ่ายภาพ ที่ต้องเขียนภาพจากการตีความเรื่องที่ได้ยิน เนื่องจากเป็นงานชิ้นตัวอย่างครูจึงมีตัวอย่างงานมาให้นักเรียนอาสากลุ่มนี้ได้ดูเป็นตัวอย่างก่อน

สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กชายคนนี้สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ดีมาก และดีเกินกว่าแบบที่นำมาให้ดูเสียอีก เห็นได้ชัดว่าเขามีการตีความภาพ มีการเน้นอารมณ์ความรู้สึกในจุดสำคัญออกมาให้ผู้ชมเห็นได้ด้วยวิธีการของเขาเอง

ข้อค้นพบของคุณครูทั้งสองนำไปสู่วิธีการเปิดประตูสู่การเรียนรู้ที่ต้องการความแตกต่าง ที่ครูต้องตั้งข้อสังเกต และหาหนทางพาลูกศิษย์ไปพบกับความสำเร็จด้วยศักยภาพที่มีอยู่ในตนให้จงได้

หมายเลขบันทึก: 76008เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2007 20:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท