Asia Source 2 กิจกรรมค่าย Open Sourceที่อินโดนีเซีย


Open Source Asia Source 2 ICT

เมื่อวันที่ 21-31 มกราคม 2550 ที่ผ่านมา ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับ ICT ในองค์กรสาธารณประโยชน์ (NGOs) และ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กว่า 130 คนจาก 27 ประเทศ มาใช้ชีวิตร่วมกัน 10 วัน ณ ยาวิตรา รีสอร์ท เมื่องสุกาภูมิ ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กันในเรื่องการใช้ ฟรีและโอเพนซอร์ตซอฟต์แวร์ (FOSS) เพื่อการพัฒนาเศรฐกิจและสังคม ซึ่งมีชื่อกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ว่า "Asia Source 2" โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการรณรงค์การใช้งานซอฟต์แวร์ฟรีและโอเพ่นซอร์ต และสร้างเครือข่ายผู้ใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ตในระดับภูมิภาคเอเชีย

กิจกรรม Asia Source 2 ในครั้งนี้ร่วมกันจัดโดยองค์กรต่างๆ ดังนี้ เครือข่ายโอเพนซอร์ตนานาชาติ ภายใต้องค์การสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนา (UNDP-ISON), InWEnt ประเทศเยอรมัน, Tactical Technology Collective ประเทศเนเธอร์แลนด์, Aspiration ประเทศสหรัฐอเมริกา, and ICTWatch ประเทศอินโดนีเซีย. และสนับสนุนโดย กระทรวงการร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศเยอรมัน, Hivos และโครงการการพัฒนาแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ภายใต้องค์การสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนา (UNDP-APDIP)

งานเริ่มต้นในวันที่ 22 มกราคม โดย พณฯ คาสมายานโต คาดิมาน รัฐมนตรีกระทรวงการวิจัยและเทคโนโลยีของอินโดนีเซียกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง และได้เน้นในที่ประชุมถึงประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจในการใช้โอเพนซอร์ตในองค์กรสาธารณประโยชน์ ร่วมทั้งได้กล่าวถึงนโยบาย "อินโดนีเซียมุ่งสู่โอเพนซอร์ต" และการริเริ่มของรัฐบาลอินโดนีเซียที่จะโปรโมทโอเพ่นซอร์ตซอฟต์แวร์

กิจกรรมในระยะเวลา 10 วันแบ่งหัวข้อของการอบรมเชิงปฏิบัติการเป็น 4 เรื่องหลังด้วยกันคือ 1. การผลิตเนื้อหาแบบเปิด เน้นเรื่องระบบ CMS อาทิ บล็อก,วิกิ การถ่ายและตัดต่อวีดีโอ การทำวีดีโอและวิทยุบนอินเทอร์เน็ต 2. อุปกรณ์ทางเลือกเพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เน้นเรื่องระบบเครือข่ายไร้สาย, VoIP 3. การเปลี่ยนจากซอฟต์แวร์มีค่าลิขสิทธิ์เป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ต เน้นเรื่องแนวทางการเปลี่ยนจากซอฟต์แวร์จากระบบวินโดส์เป็นลินุกซ์ (เน้น Ubuntu) การสร้างระบบช่วยเหลือ การแปลโอเพ่นซอร์ตเป็นภาษาท้องถิ่น การฝึกอบรม การรณรงค์การใช้งานและการทำเอกสารต่างๆ เพื่อใช้งานโอเพ่นซอร์ต 4. การจัดการข้อมูลข่าวสาร อาทิ ระบบข้อมูล ต่างๆ อาทิระบบจัดการข้อมูลเมื่อเกิคภัยพิบัติซาฮานา ระบบรายงานด้านสิทธิมนุษยชนมาร์ตัส ระบบความปลอดภัยของข้อมูล การบริหารข้อมูล และการบริหารโครงการ เป็นต้น

การอบรมเชิงปฏิบัติการสิบวันเป็นไปด้วยบรรยากาศที่ เป็นกันเองและสนุกสนาน ผสมกับกิจกรรมทางวัฒนธรรมเช่นการออกร้านของประเทศต่างๆ การแสดง ทั้งนี้ประเด็นการพูดคุยต่างๆ มีทั้งทางเทคนิค อาทิ การพัฒนาซอฟต์แวร์ ระบบเครือข่ายแบบต่างๆ และประเด็นทางสังคม อาทิ ผลกระทบต่อการสื่อสาร การเท่าเทียมของหญิง ชาย บนโลกไอซีที การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ ICT ในงานรณรงค์ต่างๆ และการทำธุรกิจจากโอเพนซอร์ตซอฟต์แวร์เป็นต้น

กิจกรรม Asia Source ครั้งที่ 2 นี้ คัดเลือกผู้เข้าร่วมจากผู้สมัครกว่า 300 คน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมที่ทำงานที่น่าสนใจในประเทศต่างๆ อาทิ Onno Purbo จากสถาบันเทคโนโลยีบันดุง ผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายไร้สายของประเทศอินโดนีเซีย, Farzaneh Sarafraz จากอิหร่านผู้พัฒนา Sharif Linux ซึ่งสนับสนุนภาษาเปอร์เซีย, Ravindra De Silva จากมูลนิธิซอฟต์แวร์แห่งศรีลังกาผู้พัฒนาระบบจัดการภัยพิบัติ Sahana และทีมพัฒนา OLPC ของประเทศมาเลเซีย ผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติประเทศกัมพูชา กระทรวงกฎหมายและสิทธิ มนุษยชนประเทศอินโดนีเซีย ทั้งนี้มีคนไทยได้รับคัดเลือกไปในงานนี้ทั้งสิ้น 3 คนคือตัวแทนจากชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน (NGO), บริษัท โอเพ่น แอดวานด์ ซิสเต็ม (SME) และผู้เขียนเองจากมูลนิธิกองทุนไทย (NGO)

Asia Source 2 ครั้งนี้ สะท้อนถึงบทบาทของซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ต ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งทำให้หลายๆประเทศมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ มีทางเลือกในการใช้งานโปรแกรมที่หลากหลาย ประหยัดเงินตราที่จะต้องเสียให้บริษัทซอฟต์แวร์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก และมีซอฟต์แวร์ที่เป็นประโยชน์ใช้งานร่วมกันอาทิระบบจัดการภัยพิบัติ หรือ ซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์เพื่อการศึกษาอย่าง OLPC โดยเป็นการจัดต่อเนื่องจาก Asia Source I ที่เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย เมื่อปี 2547 ข้อมูลเพิ่มเติมอาทิ ประเด็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ ผู้เข้าร่วมประชุม องค์กรร่วมจัดและผู้สนับสนุนกิจกรรมเข้าไปที่ http://www.ict.or.th   http://www.iosn.net/regional/asiasource-2007

หมายเลขบันทึก: 75996เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2007 18:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท