ทบทวนชีวิตใน ๒ สัปดาห์ ๗ – ๒๐ พ. ย. ๔๘


สนุก เหนื่อย และสุข

ทบทวนชีวิตใน ๒ สัปดาห์  ๗ ๒๐ พย. ๔๘

·        ในช่วงสัปดาห์แรก (๗ – ๑๔ พย.) เป็นชีวิตที่ไม่เป็นไปตามปกติ    มีงานพิเศษเกิดขึ้น ๒ งาน     งานแรกผมเกี่ยวข้องไม่มากนัก    เพียงเข้าร่วม    และเป็นวิทยากรนำเสนอคนหนึ่ง    คืองาน 3rd  Thailand – US Roundtable in Education ซึ่งครั้งนี้เน้น Higher Education & Science Education    ผมได้นำเสนอ concept ของ การนำ KM ไปใช้สร้างทักษะสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต    ซึ่งวงการศึกษาทั้งของสหรัฐและของไทยยังไม่ได้เอาใจใส่เรื่องนี้มากพอ    ยังไม่มีทักษะด้านหลักการและวิธีการในการใช้ KM หนุนการเรียนรู้    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้จากเรื่องราวของความสำเร็จ    ที่เป็นความรู้ฝังลึก
                         ในช่วงปลายสัปดาห์แรกมีงานหนักที่ต้องทำปีละครั้ง คืองานของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ     
               ช่วงวันที่ ๙ – ๑๑ เป็นการประชุมตัดสินรางวัล    ซึ่งปีนี้กรรมการฝ่ายไทยได้รับคำชมเชยมาก ว่าทำการบ้าน
              มาดี    วันที่ ๑๒ – ๑๔ เป็นการตามเสด็จองค์ประธานมูลนิธิฯ สมเด็จพระเทพรัตนฯ ไปทัศนศึกษาที่ภูเก็ต   
             สมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงจัดพระราชทานแก่กรรมการรางวัลนานาชาติ    ทั้งสนุก ได้เรียนรู้ และเหนื่อย
·        การเตรียมงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒  พบปัญหาตรงกันข้ามกับที่เราคิด    ตอนแรกเรางงๆ เพราะไม่ค่อยมีคนลงทะเบียน    คนที่จะลงทะเบียนก็บ่นว่าแพงบ้าง ขอจองไว้ก่อนค่อยจ่ายเงินบ้าง    ต้องชี้แจงกันอุตลุด     แต่พอปลายเดือน ตค. คนก็เริ่มล้น และต้องปิดรับสมัครเมื่อวันที่ ๔ พย.    แต่ก็ยังมีคนอ้อนวอน  ขอร้อง  ขู่เข็ญ  เล่นเส้น กันอุตลุด    ต้องชี้แจงกันอุตลุด แต่เป็นการชี้แจงในทางตรงกันข้าม    ได้เขียนชี้แจงไว้ในบันทึกท้ายเล่มของจดหมายข่าว ถักทอสายใยแห่งความรู้ ฉบับที่ ๑๕ แล้ว    จากการเตรียมงานนี้ทำให้เราตระหนักว่าสังคมไทยมีความต้องการเรียนรู้เรื่อง KM มาก   สคส. จะรีบจัดบริการฝึกอบรมให้    ถือเป็นการหารายได้ไปในตัว    ท่านที่ลงทะเบียนเข้าร่วมงานมหกรรมฯ เป็นเงิน ๑,๗๐๐ – ๒,๐๐๐ บาท โปรดทราบว่าท่านได้รับ subsidy จาก สสส. ผู้อุปถัมภ์การเงินแก่โครงการนี้เกือบ ๒ เท่าของเงินที่ท่านจ่ายไป    ท่านจะได้เห็นจากคุณภาพของการประชุม
·        ทำงานของศิริราช ๒ เรื่อง    คือ R2R  กับคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการดำเนินการ โครงการพัฒนาศิริราชสู่สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์
โครงการ R2R เข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านอีกครั้งหนึ่ง เพราะ อ. หมอสมเกียรติ วสุวัฏฏกุล จำเป็นต้องไปทำหน้าที่รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ แทน รศ. นพ. อภิชาต ศิวยาธร ซึ่งลาออกจากราชการตั้งแต่ ๑ มค. ๔๙ ไปเป็น ผอ. ฝ่ายพัฒนาคุณภาพของ รพ. บำรุงราษฎร์     โครงการ R2R จึงต้องหา ผอ. โครงการใหม่     โชคและเคราะห์ก็ไปตกที่ อ. นพ. อัครินทร์ นิมมานนิตย์ ผู้มีอายุเพียง ๓๐ ปี     หมอสมศักดิ์กับผมจึงต้องเริ่มต้นโค้ช ว่าที่ ผอ. R2R คนใหม่     ภาระของผมเรื่อง R2R ที่ค่อยๆ ลดลง ก็กลับมาเข้มข้นขึ้นใหม่    ประเด็นสำคัญที่ผมชี้ให้เห็นคือเราจะไม่กลับไปเริ่มโค้ช หมออัครินทร์เหมือนตอนโค้ชหมอสมเกียรติ    เพราะตอนนี้โครงการ R2R ได้เดินมาไกลพอสมควรแล้ว     เรามีความรู้ความเข้าใจ ทักษะ และความสำเร็จเล็กๆ เกิดขึ้นเป็น “ทุนเดิม” มากมาย สำหรับนำมาต่อยอด    ความหนักใจต่อการที่ ผอ. R2R คนใหม่มีอาวุโสน้อย     จึงผ่อนเบาลงด้วย “ทุนเดิม” ที่สูงขึ้นอย่างมากมาย
ที่จริงการที่โครงการ R2R ต้องกลับมาเริ่มโค้ช ผอ. คนใหม่ซึ่งดูเหมือนทำให้ผมมีภาระมากขึ้น    แต่มองอีกมุมหนึ่งก็เป็นโอกาสของการเรียนรู้อย่างสูงยิ่ง    เพราะจะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วในศิริราช ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ R2R    
 คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการดำเนินการ โครงการพัฒนาศิริราชสู่สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์เป็นงานระยะสั้น    การประชุมในวันที่ ๑๗ พ. ย. เป็นการประชุมครั้งที่ ๒     คาดว่าประชุมอีกครั้งเดียวในวันที่ ๑๓ ธ. ค. ก็จะเสร็จงาน    ถ้าคณะกรรมการกำกับโครงการที่มี รมต. ศึกษาธิการเป็นประธานไม่มอบหมายงานมาให้เพิ่มขึ้น    เรื่องสำคัญที่สุดที่คณะอนุกรรมการแนะนำ (มาจากหมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ) คือให้เขียนโครงการแบบ ข้อเสนอโครงการ (project proposal) ไม่ใช่เขียนแบบ รายงานการดำเนินการอย่างที่เขียนอยู่     และได้แนะตัวบุคคลมาช่วยเขียนให้ด้วย คือคุณวรัญญา เตียวกุล จากสภาพัฒน์
ตอนนี้ผมรับใช้ศิริราช โรงเรียนเก่าของผม อยู่ ๓ เรื่อง     เรื่องที่ ๓ ซึ่งดูจะเป็นงานระยะยาวที่สุด คือเรื่องรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ
·        โครงการ HKM หรือเครือข่าย จค. รพ. ภาคเหนือตอนล่างเข้าสู่การประชุมครั้งสุดท้ายเพื่อสรุปโครงการ    แต่ผมหวังว่าไม่ใช่การสิ้นสุดการ ลปรร. ในเครือข่าย    การประชุมครั้งสุดท้ายนี้จัดแบบมหกรรม ๒ วัน     ผมไปร่วมวันที่สอง     มีผู้เข้าร่วมจาก ร. พ. ภาคเหนือตอนล่าง ๙ จังหวัด รวมประมาณ ๑๐๐ โรงพยาบาล    คนประมาณ ๔๐๐ คน    สาระของการอภิปรายสูงยิ่ง  คือเล่าออกมาจาก Tacit Knowledge จริงๆ     ผมฟังแล้วก็เกิดความสุข ว่าโครงการ HKM ได้เป็นกลไกให้ KM เข้าสู่วงการโรงพยาบาลได้อย่างดียิ่ง     ทำให้เกิดความคิดว่าน่าจะจัดเครือข่าย SKM (School KM Network) ขึ้นสักหนึ่งเครือข่าย บริหารจัดการในรูปแบบคล้ายๆ กัน
·        ทางศิริราชได้ให้ความอนุเคราะห์ทดสอบความแข็งแรงของหัวใจ (stress test) และทำ echocardiogram ให้    ข่าวดีคือหัวใจของผมแข็งแรงระดับนักกีฬาสมัครเล่นทีเดียว  คงจะเป็นอานิสงส์ของการวิ่งเหยาะเกือบทุกเช้า    ข่าวร้ายคือมีหลักฐานว่าการควบคุมระดับความดันเลือดยังไม่ดีนัก หัวใจและหลอดเลือดแดงใหญ่ (aorta) โตขึ้น แต่ยังไม่เข้าขั้นผิดปรกติ    เป็นสัญญาณเตือนให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต/พฤติกรรมให้ดียิ่งกว่าเดิม    และเป็นมรณานุสติด้วย    ขอขอบคุณอาจารย์หมอเดโช ผู้ตรวจและให้คำแนะนำมา ณ โอกาสนี้   
เรื่องหัวใจแข็งแรงนี้ ผมบอกภรรยาว่าเป็นเพราะผมมอบให้เขาหมดแล้ว    และเขาก็ทะนุถนอมดี    หัวใจของผมจึงแข็งแรงผิดคาด
·        ปลายสัปดาห์ได้พักผ่อนอยู่กับบ้าน    มีเวลาคิดไตร่ตรอง   บันทึก บล็อก  และไปดูปลาที่วัดบางพัง คราวนี้ได้เห็นปลาจะละเม็ดน้ำจืด ตัวโตประมาณเกือบฟุต แต่มันเปรียว ถ่ายรูปไม่ทัน   มีคนบอกว่าเนื้อมันอร่อยมาก แต่ผมยังไม่เคยกิน   ได้ออกกำลังมากหน่อย    พักมากหน่อย มีความสุขมาก    ชีวิตต้องการจังหวะ (rhythm)     มีช้ามีเร็ว   มียุ่งมีว่าง  และบางครั้งก็มีมั่วบ้าง  เป็นชีวิตที่ดี
วิจารณ์ พานิช
๒๐ พ. ย. ๔๘
หมายเลขบันทึก: 7589เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2005 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอให้ท่านอาจารย์มีสุขภาพแข็งแรง ยืนหยัดเป็นหลักให้กับวงการ KM ของไทยไปนาน ๆ ครับ
  • ผมได้ใช้บทความที่ท่านอาจารย์เขียน ตั้งแต่อยู่ที่ blogger.com ในการทำ KM Workshop ให้กับ สสอ.ละแม จ.ชุมพร ไป 2 ครั้งแล้ว รวบรวมข้อมูลได้ชัดเจนแล้วจะเขียนลงใน gotoknow.org ครับ ... ขอขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท