ผู้ประสานงานวิจัยมือใหม่ : (10) รายละเอียดโครงการ "ABC เหนือล่าง สกว."


โครงการ สำนักประสานงานการวิจัยและพัฒนาเฉพาะพื้นที่
ภาคเหนือตอนล่าง สกว.
(Area-Based Collaborative Research and Development in Lower Northern Area Program)

ความเป็นมาและเหตุผล

         จากการสนับสนุนการวิจัยของ สกว. ที่ผ่านมาพบว่า การผลักดันให้เกิดงานวิจัยที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงในทางปฏิบัตินั้น จำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกับฝ่ายผู้ปฏิบัติตั้งแต่ในกระบวนการตั้งโจทย์ การดำเนินงานวิจัยในกระบวนการต่างๆ อาทิ การเก็บข้อมูล การตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลตลอดจนกระบวนการสรุปและสร้างข้อเสนอแนะ ทางเลือกในการแก้ปัญหาที่เป็นโจทย์ของการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวิจัยที่มีลักษณะที่เน้นปฏิบัติการในพื้นที่ สกว. มีประสบการณ์สนับสนุนงานเชิงพื้นที่ผ่านการดำเนินงานวิจัยใน 4 กลุ่มงาน คือ

         1. งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เริ่มต้นดำเนินการโดย สกว. สำนักงานภาค ตั้งแต่ปี 2541 โดยเน้นการใช้กระบวนการวิจัยเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนต่อปัญหา สาเหตุของตนเอง และร่วมกันค้นหาทางออกในการแก้ปัญหาร่วมกัน ภายใต้เงื่อนไขของสภาพในท้องถิ่น งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นนี้เน้นการทำงานในระดับชุมชน (หมู่บ้าน) เป็นหลักและมีการดำเนินงานระดับตำบลอยู่บ้าง

         2. งานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่เฉพาะ ดำเนินการโดยฝ่ายชุมชนและสังคมซึ่งได้เริ่มให้การสนับสนุนการวิจัยในพื้นที่เฉพาะหลายระดับตั้งแต่ปี 2545 ได้แก่

         - ระดับอำเภอ ได้แก่ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอภูเวียง อำเภอหนองเรือ และอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น

         - ระดับลุ่มน้ำย่อย ได้แก่ ลุ่มน้ำแม่ตาช้าง (ข้ามตำบล) ลุ่มน้ำปากพนัง (ข้ามอำเภอ)

         - ระดับเขตอนุภูมิภาค ได้แก่ เขตอีสานใต้

         จุดเน้นของงานวิจัยในลักษณะนี้เน้นการสร้างกระบวนการศึกษาเพื่อให้ชุมชนรู้จักตนเอง สภาพปัญหา สาเหตุ และค้นหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน โดยการใช้ข้อมูลที่ศึกษาตามประเด็นปัญหาของพื้นที่เป็นเครื่องมือสร้างกระบวนการเรียนรู้ รวมทั้งสร้างนักจัดการความรู้ของท้องถิ่นเพื่อให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่สามารถสืบสานการยกระดับการเรียนรู้ของคนในชุมชนได้ในระยะยาว

         3. งานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ (DSS) เป็นงานวิจัยที่เน้นการพัฒนาระดับจังหวัดแต่เน้นเพียงเฉพาะในมิติของการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของคนในพื้นที่ อาทิ ผู้บริหารในภาครัฐในจังหวัด ผู้ประกอบการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

         องค์ประกอบที่สำคัญของระบบสนับสนุนการตัดสินใจประกอบด้วย 3 ส่วน โดยแต่ละองค์ประกอบอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์และกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ที่เป็นเป้าหมาย ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้อาจแบ่งออกได้เป็น 1) ระบบจัดการฐานข้อมูลในระบบภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System, GIS) 2) ระบบวิเคราะห์และประมวลผลที่อาจจะเป็นแบบจำลองและการจำลองสถานการณ์ (Modeling and Simulation) หรือระบบผู้ชำนาญการ (Expert System) และ 3) ระบบแสดงผลและโต้ตอบกับผู้ใช้แบบกราฟฟิก (Graphic User Interface, GUI) ซึ่งมีประสิทธิภาพและใช้งานง่าย และทำให้การใช้งาน DSS มีความคงเส้นคงวา (consistency) มากขึ้น


แผนภาพที่ 1 แสดงองค์ประกอบของระบบสนับสนุนการตัดสินใจ
(สามารถคลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขนาดใหญ่ได้)

         ตัวอย่างระบบที่มีการดำเนินงานแล้ว ได้แก่ การวางแผนจัดการทรัพยากรเพื่อการเกษตรและการบริการ ระยะที่ 1: ภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน) ระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการพัฒนาพื้นที่และชุมชนในเขตการจัดระบบเศรษฐกิจชายแดนตามแนวตะวันออก-ตก ระบบสนับสนุนการตัดสินใจผลิตพืชในระดับท้องถิ่น: “ท้องถิ่นไทย”, ระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เป็นต้น

         4. งานวิจัยนำร่องการบูรณาการจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความยากจน เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน (ศตจ.) ดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัด กล่าวได้ว่างานนี้เป็นการดำเนินงานในพื้นที่ในระดับจังหวัดอย่างเต็มรูปแบบของ สกว. โดยเน้นการสร้างภาคีความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน ภาควิชาการในจังหวัดเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาความยากจน โดยใช้แผนชุมชนที่ได้จากกระบวนการเก็บข้อมูลครัวเรือน ที่ชุมชนเป็นผู้จัดเก็บเองเป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการเรียนรู้และความตระหนักในปัญหาและสาเหตุร่วมกันระหว่างชาวบ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งนำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะนายอำเภอ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน


แผนภาพที่ 2 Design ของการบูรณาการจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความยากจน
(สามารถคลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขนาดใหญ่ได้)

         ผลลัพธ์จากการดำเนินงานพบว่า นอกจากจะทำให้ได้รูปธรรมของข้อมูลครัวเรือน แผนชุมชนเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและข้อเสนอแนวทางสำหรับ ศตจ. ชาติ ในการบริหารยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความยากจนในจังหวัดแล้ว ยังเกิดผลกระทบในแง่ของการทำให้ชาวบ้าน อปท. และหน่วยงานรัฐเริ่มคุ้นเคย และเห็นประโยชน์ของการมีและใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจมากขึ้นเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมการใช้ความรู้เพื่อการพัฒนานอกจากนี้ยังทำให้ อปท. และจังหวัดสามารถจัดสรรงบประมาณได้ตรงกับความต้องการของชุมชนมากขึ้น รวมทั้งเกิดการปรับความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนให้เข้ามาสัมพันธ์กันในลักษณะของ “หุ้นส่วน” การพัฒนามากยิ่งขึ้นด้วย

         ยิ่งไปกว่านั้นประสบการณ์จากการบริหารจัดการโครงการนี้ยังทำให้ สกว. ได้สะสม “ทุนการทำงาน” ทั้งในด้านของความเข้าใจงานวิจัยเชิงพื้นที่ และในด้านฐานความสัมพันธ์กับกลไกการจัดการใน 12 จังหวัดนำร่อง ด้วยประสบการณ์การสนับสนุนการวิจัยในพื้นที่หลายลักษณะดังกล่าวข้างต้นทำให้ สกว. มองเห็นโอกาสการพัฒนาระบบการบริหารจัดการการวิจัยซึ่งจะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศ และจะช่วยลดช่องว่างระหว่างการวิจัยและนักวิจัย กับการพัฒนาและนักพัฒนาทั้งในภาครัฐ เอกชน และประชาชนลงด้วย

วัตถุประสงค์

         วัตถุประสงค์ของการวิจัยเชิงพื้นที่ในภาพรวม เน้นการพัฒนาความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจสังคมของจังหวัดจากฐานภายในอย่างยั่งยืน มิติของการพัฒนาครอบคลุมถึง

         1. การแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่

         2. การเสริมสร้างเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจภายในจังหวัดและสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างจังหวัดและกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีพรมแดนติดต่อกัน

         3. การสร้างความเชื่อมโยงเชิงสร้างสรรค์ระหว่างภาคเศรษฐกิจสมัยใหม่กับภาคเศรษฐกิจท้องถิ่น

         4. การพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา และสุขภาวะของคนในพื้นที่

         5. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ระดับของพื้นที่

         เน้นระดับจังหวัด และกลุ่มจังหวัด ในเขตภาคเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด และจังหวัดลำปาง

ยุทธศาสตร์

         จุดเน้นในการดำเนินงานประกอบด้วย

         1. การสร้าง “กลไกการจัดการ” ของจังหวัดที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคีภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาควิชาการ ในการพัฒนาโจทย์ และทำงานร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างภาคีฝ่ายต่างๆ ในการเป็น “เจ้าของ” ทิศทางการพัฒนาร่วมกัน

         2. การพัฒนาระบบข้อมูลและความรู้ที่จำเป็นเพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาและทิศทางการพัฒนาของจังหวัดที่เป็นโจทย์ร่วม ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมของการใช้ข้อมูลและความรู้ในการทำงานพัฒนามากขึ้น

         3. การสร้างกระบวนการทำงานร่วมกันผ่านกระบวนการวิจัย เพื่อให้เกิดการสานความสัมพันธ์ระหว่างภาคีฝ่ายต่างๆ ในการทำความเข้าใจกับปัญหาสาเหตุ การมองหาทางเสือกการแก้ปัญหา การทดลองปฏิบัติการแก้ปัญหา ประเมินผลและปรับปรุงแก้ไขร่วมกัน อันจะเป็นการทำให้เกิดกระบวนการแก้ปัญหาและขัอเสนอทางเลือกที่สามารถปฏิบัติได้จริงตามเงื่อนไขของพื้นที่

         จากประสบการณ์การบริหารการวิจัยเชิงพื้นที่ที่ผ่านมา ทำให้ สกว. เห็นว่าภายใต้แนวยุทธศาสตร์การพัฒนากลไกการจัดการของจังหวัดโดยการมีข้อมูลและความรู้ผ่านกระบวนการวิจัยนั้น ควรจำแนกจุดเน้นของงานเป็น 2 ระดับ คือ

         1. ระดับครัวเรือนและชุมชน เน้นการเก็บข้อมูลครัวเรือนโดยครัวเรือนและวิเคราะห์ร่วมกันในชุมชนอันจะนำไปสู่การนทำให้ครัวเรือนและชุมชนในฐานะกลไกจัดการระดับล่างสุดสามารถปรับพฤติกรรมการบริโภค การออม วิธีการทำเกษตรเพื่อลดรายจ่าย การทำวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนการจัดสวัสดิการชุมชน คิดเป็นส่วนสำคัญของการแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ และเสริมสร้างเศรษฐกิจพอเพียงจากฐานระดับครัวเรือนและชุมชนขึ้นมา

         2. ระดับจังหวัด เน้นการวิจัยและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัญหา และความริเริ่มในการแก้ปัญหา รวมทั้งพื้นที่ต้นแบบต่างๆ ที่เป็นการพยายามของคนในท้องถิ่นในการแก้ปัญหาของตนเอง ทั้งนี้ เพื่อใช้ข้อมูลดังกล่าวในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของคนในจังหวัด ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาควิชาการเพื่อให้ทุกฝ่ายได้เห็นปัญหาที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน มิติของงานพัฒนาในระดับจังหวัด ได้แก่ เรื่องของการพัฒนาอุตสาหกรรมและแหล่งจ้างงานนอกภาคภารเกษตรในพื้นที่ การค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน การจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า สิ่งแวดล้อม การพัฒนาเด็กเยาวชนและการจัดการศึกษา ทั้งนี้ การดำเนินงานจะเน้นการทำให้จังหวัดมีข้อมูลและข้อเสนอทางเลือกในการแก้ปัญหา เพื่อให้จังหวัดในฐานะกลไกการจัดการระดับบนที่มีทรัพยากรสนับสนุนสามารถตัดสินใจดำเนินงาน/โครงการที่ตรงเป้าต่อการแก้ปัญหาของจังหวัดได้

แนวทางการดำเนินงาน

         ในการผลักดันให้ยุทธศาสตร์ข้อนี้บรรลุผลมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

         1. สร้างความร่วมมือย่างใกล้ชิดกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ ทั้งนี้โดยเริ่มตั้งแต่การตรวจสอบความร่วมมือเดิมที่มีอยู่ และสร้างมาตรการสู่ความร่วมมือที่ดีขึ้นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 4 ส่วน คือ 1) กลไกภาครัฐและท้องถิ่น ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ. เทศบาล หรือ อบต.) และหรือหน่วยงานอื่นในพื้นที่ที่มีภารกิจตามกฎหมาย เช่น อุทยานแห่งชาติ 2) ภาคประชาชน ที่มีทุนเดิมของการทำงานร่วมกันอยู่แล้วในพื้นที่ 3) ภาคธุรกิจ ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญอยู่ในพื้นที่ และ 4) ภาควิชาการ เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้ที่จำเป็นในการขับเคลื่อน

         2. ร่วมกันพัฒนาโจทย์วิจัยที่เป็นปัญหาใหญ่ของพื้นที่ เช่น แก้ไขปัญหาความยากจน หรือใช้ยุทธศาสตร์ระดับพื้นที่ เช่น จังหวัด เป็นจุดเริ่มต้น และร่วมกันสนับสนุนให้เกิดการวิจัยเพื่อการแก้ปัญหาในพื้นที่นั้นๆ ทั้งนี้ งานวิจัยบางส่วนอาจเป็นโครงการระยะสั้น (6-8 เดือน) ที่จะตอบคำถามของภาคีได้โดยประมวลจากข้อมูลที่มีอยู่แล้ว และทำโดยนักวัยที่มีประสบการณ์มาแล้ว เพื่อให้ได้คำตอบอย่างรวดเร็ว

         3. ดำเนินกระบวนการวิจัยโดยการทำงานร่วมกันระหว่างภาคี และสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อวิเคราะห์เป็นระยะๆ เพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจต่อปัญหาสาเหตุ แนวทางแก้ไขร่วมกัน รวมทั้งสร้างสานความสัมพันธ์ระหว่างภาคีต่างๆ ให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ผ่านกระบวนการทำงานร่วมกันด้วย

         4. สนับสนุนเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายนักวิจัยที่ทำงานเชิงประเด็น กับโจทย์การวิจัยและทีมงานวิจัยเชิงพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเสริมแรงกันในการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีเฉพาะด้าน/ประเด็น มาปรับใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนะทางเลือกในการแก้ปัญหาของพื้นที่

         5. สนับสนุนการจัดการความรู้ในฐานะกระบวนการสำคัญในการดึงเอาความรู้จากประสบการณ์ และความริเริ่มสร้างสรรค์ของคนในพื้นที่มาผสมผสานกับความรู้จากภายนอก และยกระดับความรู้เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่

         6. ติดตามและประเมินการทำงานร่วมกันอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และความเข้าใจร่วมกัน ตลอดจนนำเอาผลงานที่ได้ในระหว่างการนำวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานของภาคีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการทำงานวิจัย และการตั้งโจทย์วิจัยใหม่ในระยะต่อไปด้วย

         วิบูลย์ วัฒนาธร

.

หมายเลขบันทึก: 75780เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2007 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
    เรียนรู้ร่วมกันไปพร้อมๆกันค่ะ ดีใจที่ได้อาจารย์ลงมาช่วย เป็นผู้ประสานงานวิจัยเชิงพื้นที่นี้ เป็นกำลังใจค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท