จิตคืออะไร


คิดจากหัวใจ
ส่วนที่ใช้คิดของคนเรามาจากไหน?...ถ้าเป็น "คน" ร้อยละ ๙๙.๙๙ (อันนี้ตามทฤษฎีผมเอง) คงต้องใช้สมองคิด อาจจะมีบ้าง ร้อยละ ๐.๐๑ ที่ใช้อวัยวะส่วนอื่นคิดแทนสมอง ถ้ามองในแง่ของวิทยาศาสตร์ก็คงมีแต่สมองเท่านั้นแหละที่เอาไว้ใช้คิด ถ้าใครที่ใช้อวัยวะส่วนอื่นคิด ผมขอจัดให้อยู่ในจำพวก ๐.๐๑ วันนี้ผมขอเป็นหนึ่งใน ๐.๐๑ แล้วอวัยวะอะไรหล่ะที่คิดแทนสมองได้ สำหรับท่านอื่นผมคงไม่สามารถรู้ได้ว่าจะใช้อวัยวะใดคิดแทนสมอง แต่สำหรับผม วันนี้ผมขอใช้หัวใจคิดแทนสมองดูสักวัน หัวใจ เป็นอวัยวะที่มหัศจรรย์มาก หรือว่าท่านไม่เชื่อ หัวใจเต้นได้ตลอดเวลา ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่มีวันหยุดพักตราบเท่ายังมีชีวิตอยู่ หัวใจจึงเป็นอวัยวะที่แข็งแรงมาก แต่ทำไมใครหนอช่างเปรียบเทียบหัวใจกับอารมณ์ความรู้สึกของจิตใจ ทั้งที่หัวใจแข็งแรงกว่าจิตใจเสียอีก ผมลองคิดต่อเล่นๆแบบเด็กเตาะแตะที่พึ่งหัดตีโจทย์ธรรม เปรียบเทียบหัวใจก็เหมือนสิ่งมีตัวตน ที่ไม่มีตัวตน เพราะเจ้าหัวใจมันมองเห็นได้เป็นรูปเป็นร่าง มีกลไกการทำงานชัดเจน แล้วไอ้เจ้าตัวจิตใจหล่ะ มันคืออะไร มองก็ไม่เห็น คืออะไรก็ไม่รู้ แถมยังบังคับมันไม่ได้อีกนะ ผมเลยลองไปหัดตีโจทย์เรื่องจิตมา จิต คือ ธรรมชาติชนิดหนึ่งซึ่ง รู้อารมณ์ จิตเป็นตัวรู้ สิ่งที่จิตรู้นั้นเป็นอารมณ์ จิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้นแหละคืออารมณ์จิตคือธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ รับ จำ คิด รู้ ซึ่งอารมณ์ จิตต้องมีอารมณ์ และต้องรับอารมณ์จึงจะรู้และจำ แล้วก็คิดต่อไป ในปฏิสัมภิทาพระบาลีมหาวัคค แสดงว่าจิตนี้มีชื่อที่ใช้เรียกขานกันตั้ง ๑๐ ชื่อ แต่ละชื่อก็แสดงให้รู้ความหมายว่าจิตคืออะไร ซึ่ง อัฏฐสาลินีอรรถกถา อธิบายว่า ๑. ธรรมชาติใดย่อมคิ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า จิต ๒. ธรรมชาติใดย่อมน้อมไปหาอารมณ์ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า มโน ๓. จิตนั่นแหละได้รวบรวมอารมณ์ไว้ภายใน ดังนั้นจึงชื่อว่า หทัย ๔. ธรรมชาติคือ ฉันทะที่มีในใจนั่นเอง ชื่อว่า มนัส ๕. จิตเป็นธรรมชาติที่ผ่องใส จึงชื่อว่า ปัณฑระ ๖. มนะนั่นเองเป็นอายตนะ คือเป็นเครื่องต่อ จึงชื่อว่า มนายตนะ ๗. มนะอีกนั่นแหละที่เป็นอินทรีย์ คือครองความเป็นใหญ่ จึงชื่อว่า มนินทรีย์ ๘. ธรรมชาติใดที่รู้แจ้งอารมณ์ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า วิญญาณ ๙. วิญญาณนั่นแหละเป็นขันธ์ จึงชื่อว่า วิญญาณขันธ์ ๑๐. มนะนั่นเองเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ จึงชื่อว่า มโนวิญญาณธาตุ สามัญญลักษณะ หรือไตรลักษณ์ของจิต มีครบบริบูรณ์ทั้ง ๓ ประการคืออนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะและอนัตตลักษณะ - จิตนี้เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยง ไม่มั่นคง หมายถึงว่า ไม่ยั่งยืน ไม่ตั้ง - จิตนี้เป็นทุกขัง คือทนอยู่ไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน ทนอยู่ไม่ได้ตลอดกาล จึงมีอาการเกิดดับ เกิดดับ อยู่ร่ำไป อยู่ได้ตลอดกาล - จิตนี้เป็นอนัตตา คือเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน เป็นสิ่งที่บังคับบัญชาให้ยั่งยืน ให้ทนอยู่ไม่ให้เกิดดับ ก็ไม่ได้เลย และเพราะเหตุว่าจิตนี้ เกิดดับ เกิดดับ สืบต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็วเหลือประมาณ จนปุถุชนคนธรรมดาเข้าใจไปว่า จิตนี้ไม่มีการเกิดดับ แต่ว่ายั่งยืนอยู่จนตลอดชีวิตจึงดับไปก็เหมือนกับเข้าใจว่า กระแสไฟฟ้าชนิดกระแสสลับ ซึ่งไปกลับไปกลับอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเราเห็นหลอดไฟสว่างอยู่ตลอดเวลาก็เข้าใจว่ากระแสไฟฟ้าไม่ได้ไหลไปแล้วกลับฉะนั้น จาก คู่มือการศึกษาพระอภิธรรม ปริจเฉทที่ ๑ จิตปรมัตถ์ นี่คือโจท์ธรรมเบื้องแรกที่ผมต้องตีโจทย์ เพราะเรื่อง จิตยังมีมากกว่าที่ผมรับรู้ ใครตีโจทย์เรื่องจิตแตกแล้วแวะเข้ามาคุยนะครับ
คำสำคัญ (Tags): #คิดจากความว่าง
หมายเลขบันทึก: 75759เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2007 14:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2012 20:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • สวัสดีค่ะ
  • บทความน่าสนใจดีค่ะ
  • อยากแนะนำ ให้ลองไปอ่าน
  • หรือลองแลกเปลี่ยนกับ ท่านนี้ค่ะ
  • เห็นมีความสนใจ ด้านเดียวกัน
  • ขอให้มีความสุขค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท