มหกรรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน : เรื่องดี ๆ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว


ผมถึงขั้นสัญญากับตนเองว่า เสร็จสิ้นภารกิจนี้แล้ว ยังไงเสียต้องหันเหชีวิตกลับไปเยี่ยมบ้านสักครั้ง หลังจากที่ไม่ได้กลับบ้านมานานนับหลายเดือน

(๑)  

 

ในรอบเกือบ ๑๐ ปีที่ผ่านมา  ผมเคยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการต่าง ๆ  ของนิสิตมาไม่น้อย แต่ มหกรรมศิลปวัฒนธรรมคนอีสาน  เป็นโครงการหนึ่งที่ผมชื่นชอบและภาคภูมิใจมากที่สุดเลยก็ว่าได้  ทั้งในฐานะที่ผมเป็น ลูกอีสาน  มีเลือดอีสานข้นและเข้มอยู่เต็มร้อย  จึงเป็นเหมือนแรงขับให้อุทิศกายใจร่วมคิด  ร่วมสร้าง และร่วมทำงานกับน้องนิสิตในทุกกระบวนการอย่างไม่ลดละ 

 

 

หรือหากจะเรียกว่ากิจกรรมนี้  เป็นเสมือนการตอบสนองกิเลสทางวัฒนธรรมของตนเองโดยแท้ก็ไม่ผิด ! 

 

                                                    (๒)     

 

มหกรรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน  เป็นกิจกรรมที่พรรคชาวดินริเริ่มขึ้นช่วงปลายปี ๒๕๔๐ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทบวงมหาวิทยาลัย จำนวน ๕๐,๕๐๐ บาทและจัดขึ้นเมื่อวันที่  ๓๐ มกราคม ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑    ลานจอดรถด้านหน้าสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มีนายอารยันต์  แสงนิกูล อุปนายกองค์การนิสิตเป็นแม่ทัพใหญ่  พร้อมนายสมเกียรติ สรรพทรัพย์  ผู้ซึ่งชาวดินปลุกปั้นหวังจะให้ลงชิงตำแหน่งนายกองค์การนิสิตคนถัดไปเป็นขุนพลรับผิดชอบโครงการฯ 

 

 

ครั้งนั้น,  ไม่เพียงแต่เฉพาะพรรคชาวดินเท่านั้นที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว  แต่ยังมีการประสานใจร่วมกับอีก ๒ องค์กร  คือ  ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง (วงแคน) และชมรมวรรณศิลป์  โดยต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือการแสดงจุดยืนของหนุ่มสาวชาวมหาลัยที่มีต่อการอนุรักษ์และสืบสานศิลปะและวัฒนธรรมของคนอีสาน   

 

กิจกรรมในครั้งนั้นมีหลายรูปแบบ  แต่ทั้งหมดคือการสะท้อนภาพ วิถีชีวิตคนอีสาน  ทั้งสิ้น  นับตั้งแต่นิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับมหกรรมแห่งท้องทุ่ง  การแสดงผลงานวิชาการของบุคลากรของมหาลัย  นิทรรศการภาพเขียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมและประเพณีของนักศึกษาจากสถาบันราชภัฏมหาสารคาม การจัดแสดงวรรณกรรมสะท้อนภาพชีวิตคนอีสานไม่น้อยกว่า ๑๐๐ เรื่อง รวมถึงการประกวด วงโปงลาง ของนักเรียนมัธยมศึกษาจากทั่วภาคอีสาน

 

   

โดยส่วนตัวแล้ว,   ผมชื่นชอบภาพถ่ายที่จัดแสดงมากเป็นพิเศษ ถึงแม้เป็นเพียงมือสมัครเล่นจากนิสิตก็ตามเถอะ   แต่ทุกภาพเหมือนมีมนต์สะกดผมให้แน่นิ่ง  พร้อมชักพาผมกลับไปสู่วันวัยในอดีตที่โลดแล่นอยู่ท่ามวิถีท้องไร่ท้องนาทั้ง ๓ ฤดู

 

 

 

          ภาพของ เถียงนา  ที่ยืนต้านลมฝน 

 

 

          ภาพของผู้คนที่ลงแรง  ลงชีวิต  ไถหว่าน  ปักดำและเก็บเกี่ยว

  

          ภาพการหาบคอนสำรับอาหารผ่านคันนา 

 

 

          ภาพของเพื่อนทุยผู้ซื่อสัตย์ที่นอนพักกายในห้วงของการพักงาน  

 

และอื่น ๆ  ที่ถูกนำมาจัดแสดงให้ได้ชมในรูปของภาพถ่าย  ซึ่งแต่ละภาพได้สื่อความหมายในเชิงชีวิตและวัฒนธรรมของคนอีสานอย่างชัดเจนและมีชีวิตชีวา….   

 

ผมถึงขั้นสัญญากับตนเองว่า  เสร็จสิ้นภารกิจนี้แล้ว  ยังไงเสียต้องหันเหชีวิตกลับไปเยี่ยมบ้านสักครั้ง หลังจากที่ไม่ได้กลับบ้านมานานนับหลายเดือน และจะไม่ยอมให้งานประจำพรากตัวเราไกลห่างออกไปจากบ้านมากไปกว่านี้อีกแล้ว

 

 

อย่างไรก็ดีการจัดกิจกรรมครั้งนั้นทั้ง ๓ องค์กรได้มอบหมายภารกิจกันอย่างชัดเจน  เริ่มจากพรรคชาวดินบริหารจัดการภาพรวมทั้งหมด ตั้งแต่เขียนโครงการ เสนอขออนุมัติ  ติดต่อประสานงานและรับผิดชอบด้านพิธีการทั้งปวง  ขณะที่วงแคนดูแลให้คำปรึกษาเกี่ยวกับรูปแบบการประกวดวงโปงลาง พร้อมการประสานเชิญกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาตัดสิน  ส่วนชมรมวรรณศิลป์ก็ดูแลเรื่องนิทรรศการวรรณกรรม  

 

การแบ่งภาระงานเช่นนี้ได้สะท้อนให้เห็นกระบวนทัศน์ที่สำคัญเกี่ยวกับการถ่ายโอนงานไปสู่กันและกันอย่างมีหลักการ   แต่ละองค์กรถูกมอบหมายงานให้ทำตามที่ตนเองสันทัดและช่ำชอง  จนช่วยให้สามารถสร้างสรรค์งานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ  รวมถึงการพยายามสร้างรูปแบบเวทีของการนำเสนอภาพชีวิตคนอีสานในแง่มุมต่าง ๆ  ผ่าน สื่อ  ที่หลากหลายทั้งภาพถ่าย  ภาพวาด  ดนตรี  วรรณกรรม ทั้งที่เป็นบทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย ความเรียง งานวิจัย  ซึ่งต่างช่วยให้กิจกรรมมีความเป็น มหกรรม  ตรงตามที่ทีมองค์กรวาดหวังไว้   ...  ที่สำคัญคือวันสุดท้ายของกิจกรรมได้กลายมาเป็นจุดเด่นและจุดแข็งที่ถูกยอมรับและชื่นชมจากมหาลัย  ก็คือการประกวดวงโปงลางในระดับมัธยมศึกษา   

 

ถึงแม้การประกวดวงโปงลางครั้งนั้นจะมีสถาบันเข้าร่วมเพียง ๗ สถาบันจาก ๔ จังหวัด  แต่ต้องไม่ลืมว่าทีมที่มาแข่งขันประชันฝีมือล้วนเป็นระดับพระกาฬในยุคนั้นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเมืองกาฬสินธุ์ โรงเรียนจุมจังพลังราษฎร์  ลูกหลานเมืองน้ำดำ จากจังหวัดกาฬสินธุ์ต้นกำเนิดโปงลางขนานแท้  โรงเรียนผดุงนารี จากจังหวัดมหาสารคาม โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม จังหวัดร้อยเอ็ด  โรงเรียนประสาทวิทยาคาร จังหวัดสุรินทร์  โรงเรียนภูเขียว โรงเรียนบ้านหัน จากชัยภูมิ 

 

 

 

 และหนึ่งในนี้ก็คือวงโปงลางที่ไปคว้าแชมป์ประจำปีในระดับประเทศมาแล้ว...

 

 

 

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่านักเรียนหลายคนฉายแววความสามารถอันโดดเด่นและประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในมหาลัยของเรา  แต่ช่วงนั้นเป็นห้วงเวลาที่มหาลัยไม่มีนโยบายเปิดรับโควตาพิเศษในด้านศิลปวัฒนธรรม  จะมีก็แต่เพียงโควตาพิเศษด้านกีฬาเท่านั้น  

 

นึกแล้วยังสะท้อนใจไม่หายกับนโยบายที่หลุดหายไปจากรากเหง้าอันเป็นตัวตนที่แท้จริงของ มมส  ซึ่งไม่รู้ว่า ณ วันนี้เด็กนักเรียนเหล่านั้นไปเติบโตอยู่ ณ มุมในของสังคม  มีโอกาสเข้าสู่รั้วแห่งการศึกษาหรือไม่  และยังคงสืบต่อมรดกวัฒนธรรมทางดนตรีกันอยู่หรือเปล่า ?

 

   

ท้ายที่สุด มหกรรมศิลปวัฒนธรรมคนอีสาน  ในครั้งนั้นปิดตัวลงในช่วงค่ำของวันที่ ๑ กุมภาพันธ์  โรงเรียนบ้านหันคว้าถ้วยและเงินรางวัลตามความคาดหมาย  บรรยากาศอบอวลด้วยความอาบอิ่มใจ  ร่ำรากันด้วยมิตรภาพอันคุ้นเคย  และไม่ลืมที่จะฝากคำเร้าเตือนประหนึ่งอยากให้เราได้จัดกิจกรรมนี้อีกครั้งในปีการศึกษาต่อไป

 

   

เราเองก็มิได้ลั่นวาจาเป็นสัญญาใด ๆ  หากแต่ในใจอันอิ่มเอมนั้นก็ดูเหมือนจะเปรยกับตัวเองแล้วในทำนองที่ว่า  อีกทางเลือกหนึ่งของกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ณ สถาบันแห่งนี้

 

 

     

(๓)

 

 

    

ปีการศึกษา ๒๕๔๑  พรรคชาวดินแพ้การเลือกตั้งให้แก่พรรคพลังสังคม  ซึ่งผู้ลงสมัครในตำแหน่งนายกองค์การนิสิตภายใต้สังกัดพรรคชาวดินก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นั่นก็คือ เจ้าแสบ สมเกียรติ สรรพทรัพย์ ผู้รับผิดชอบโครงการมหกรรมศิลปวัฒนธรรมคนอีสานนั่นเอง  ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นพลเมืองของ มมสและรับใช้มหาลัยภายใต้สังกัดสำนักกิจการหอพัก

  

ความพ่ายแพ้ต่อการเลือกตั้งองค์การนิสิตในครั้งนั้น  ไม่มีผลต่อแนวคิดการ ต่อยอด โครงการมหกรรมศิลปวัฒนธรรมคนอีสานที่พลพรรคชาวดินได้ทำการริเริ่มสร้างสรรค์ไว้แล้วบนถนนสายกิจกรรม

  

ตรงกันข้ามกลับเป็นแรงหนุนผลักให้บรรดาพลพรรคชาวดินทั้งหลายได้หลอมรวมศรัทธากลับมาพลิกฟื้นกิจกรรมนี้กันอีกครั้งอย่างจริงจัง และมุ่งมั่น

  

          กอปรกับถือเป็นความโชคดีที่กองกิจการนิสิตยังคงจัดสรรงบสนับสนุนจากทบวงมหาวิทยาลัยให้พรรคชาวดินได้สานต่อเจตนารมณ์โครงการนี้อีกครั้ง -  แต่จำไม่ได้ว่ามหกรรมศิลปวัฒนธรรมคนอีสาน ครั้งที่ ๒  จัดขึ้นเดือนไหน  ?  และจัดในปี  ๒๕๔๒ หรือเปล่า ?

 

แต่ที่จำได้แน่นอนก็คือ  สถานที่ถูกย้ายจากลานจอดรถหน้าสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสานมาสู่อาคารพลศึกษา ณ ที่ตั้งขามเรียง

รูปแบบของกิจกรรมยังคงต่อยอดจากครั้งแรกแทบทุกอย่าง แต่ครั้งนี้,  ได้เปิดให้องค์กรนิสิตต่างๆ  มีส่วนร่วมมากขึ้นกว่าเดิม  เช่น ออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง ประกวดแข่งขันประชันฝีมือ ส้มตำปัญญาชน : คนชาวค่าย โดยเชิญชวนชมรมชาวค่ายทั้งหลายให้ส่งแม่ครัวเบอร์หนึ่งของแต่ละชมรมมาประลองฝีมือตำส้มตำชิงเงินรางวัล  เพื่อให้รู้ว่ารสชาติส้มตำของชมรมใดจะ แซบ ถึงใจกว่ากัน ! และผมมีโอกาสได้เดินเที่ยวชมกิจกรรมครั้งนั้นนานพอสมควร  ชื่นชอบกับบรรยากาศของการแข่งขันประชันฝีมือการตำส้มตำของชมรมต่าง ๆ 

            ภาพของการควงสาก (ไม้ตีพริก) ของแม่ครัวตัวน้อยยังติดตรึงอยู่ในห้วงคำนึงของผมอย่างแจ่มชัด เพราะขณะที่ควงสากอยู่นั้น  ส่วนผสมของเส้นมะละกอ  พริก ปลาร้าและเครื่องเทศอื่น ๆ

กระเด็นกระจายไปสู่ไทมุง  จนกระเจิงกันไปคนละทิศคนละทาง

       ...และนั่นก็คือครั้งสุดท้ายของโครงการนี้ที่เกิดขึ้นในมหาลัย   

 

จากปี ๒๕๔๐  นับล่วงมาสู่วันนี้ร่วมเกือบสิบปี  แต่ความทรงจำเกี่ยวกับโครงการนี้ยังแจ่มชัดในห้วงคำนึงของผม -

ผมมีความสุขทุกครั้งที่ได้หวนรำลึกถึงกิจกรรมดังกล่าวนี้  ชื่นชมและศรัทธาในสำนึกที่ดีของเด็กนักเรียนและหนุ่มสาวมหาลัยเลือดอีสานที่ยังรักและเห็นคุณค่ามรดกวัฒนธรรมของบรรพชนและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ฉีกและแหวกออกไปจากขนบวัฒนธรรมเดิม ๆ ในถนนสายกิจกรรม  แต่อดสะท้อนใจไม่ได้เมื่อเห็นวงดนตรีสตริงวัยรุ่นกระหึ่มเสียงอยู่บนเวทีอาคารพลศึกษา  พร้อม ๆ กับภาพของหนุ่มสาวในชุดหลากสไตล์เต้นกรีดกรายอยู่อย่างเสรี    

 

โลกเปลี่ยนไป,  กิจกรรมดี ๆ เปลี่ยนแปลง แตกดับ และเกิดขึ้นใหม่  - ไม่รู้จบ

ขณะที่ วงโปงลางสะออน โด่งดัง  แต่ไม่มีการประกวดวงโปงลางในนามองค์กรนิสิตของมหาลัยอีกแล้ว ...

             และนี่คือเรื่องดี ๆ ของวันนี้เมื่อ 10  ปีที่แล้ว

หมายเลขบันทึก: 75736เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2007 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • กิจกรรมดีดีควรมีอย่างต่อเนื่อง
  • ถ้ามีการจัดอีกหรือฟื้นกิจกรรมด้านวัฒนธรรมเช่นนี้อีกจะไปร่วมครับ สัญญาจะไปร่วมครับ
  • บันทึกยาว เสนอแนะให้แบ่งเป็นสองตอน(สองบันทึกต่อเนื่องครับ)

 

  • ขอบคุณครับคุณออต
  • เรื่องนี้เน้นปรากฏการณ์อันเป็นข้อมูลกิจกรรม เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์กิจกรรมของชาว มมส
  • ขอบคุณครับสำหรับข้อเสนอะแนะเกี่ยวกับการบันทึกเป็นตอน ..
  • ถ้ามีโอกาสที่องค์กรนิสิตจัดอีกครั้งจะเรียนเชิญคุณบอนโดยตรงเลยนะครับ... แต่แว่ว ๆ ปีนี้รู้สึกสถาบันวิจัยศิลปะฯ ก็มีโปรเจคเช่นนี้แล้วเเหมือนกัน
  • เจ้าแสบ...เป็นเพื่อนเรียนโทด้วยกันกับอ้อค่ะ แต่อ้อชิงจบก่อนเจ้าแสบแล้วค่ะ.... 
  • กิจกรรมนี้น่าสนใจมากมาก  ตอนนี้กำลังสนใจเรื่องวัฒนธรรมอีสานมากมาก... ความจริงอ้อก็แม้จะไม่ใช่คนอีสาน 100% แต่ก็มาใช้ชีวิตอยู่อีสานนานมากเช่นกันค่ะ   จัดที่ไหน เมื่อไหร่ บอกนะคะ  จะไปร่วมแจม...
  • บันทึกนี้ยาวมาก..เห็นด้วยกับคุณออต ที่จะต้องแบ่งเป็น 2 ภาค แต่ดิฉันเสนอให้แบ่งอีกเป็น 3 ภาคแล้วกันนะคะ
  • ขอบคุณค่ะ
  • ขอบคุณครับคุณอ้อ
    P
  • แม้นมีกิจกรรมเช่นนี้จะนำมารายงาน (ข่าว) ให้ทราบกันล่วงหน้านะครับ เผื่อบางทีจะได้ร่วมแจมเป็นส่วนหนึ่งของงานนั้น ๆ
  • เกี่ยวกับความยาวของบันทึกนั้น ..ขอบคุณมากครับและรับข้อเสนอแนะนี้ไว้ แล้วจะปรับแก้ภายหลังนะครับ

ใช่ๆ  ยาวจริงๆเลยค่ะ คุณแผ่นดิน  ทำเป็น series เลยดีกว่านะ  เผื่อจะได้ใส่รูปด้วยไงคะ ^__*

 

  • ขอบคุณเจ้...
  • ผมจะไปหารูปที่ไหนล่ะตั้ง 10 ปีที่แล้ว
  • แต่เรื่องความยาวนั้น..น้อมรับครับผม
  • เมื่อเจอข้อคิดเห็นเรื่องสุดท้ายนี้ของคุณแผ่นดิน
  • ทำให้ผมนึกถึงหอจดหมายเหตุหรืองานด้านจดหมายเหตุในองค์กร
  • นี่หากการจัดระบบจดหมายเหตุดีดีเราจะมีภาพประวัติศาสตร์มาประกอบเรื่องเล่าของคุณแผ่นดินได้นะครับ
  • เรื่องนี้ผู้บริหารสถาบันต่าง ๆ เห็นความสำคัญน้อยเกินไป ไม่คิดถึงการใช้งานในอนาคตอีกยาวไกล
  • ต่อไปภาพ เอกสารเหล่านั้นจะมีมูลค่าทั้งราคาและคุณค่าครับ

กรุรูปในตู้ของกองเราไม่เหลืองานนี้เลยหรอ

  • ขอบคุณมากครับคุณออต
  • ผมเองเคยเสนอผู้บริหารต้นสังกัดทำห้องจดหมายเหตุ หรือห้องสมุดกองกิจฯ แล้ว แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบ
  • ในเว็บกองกิจฯ ผมจึงต้องไปสร้างเว็บบอร์ดตำนานกิจกรรม เน้นเรื่องเล่าเกี่ยวกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นใน มมส (เป็นการทดแทน)..
    เห็นด้วยกับคุณออตในทุกกระบวนความครับ..
  • จะลอง ๆรื้อค้นดูสักรอบนะครับเจ้...
  • ขอบคุณครับ
  • ห้องที่ว่าง ๆ เราน่าจะถูกทำเป็นห้องข่าวสารข้อมูลกองกิจฯ บ้างนะ
  • เรียนพี่พนัส ผมก็เคยเป็นสาวกร "พรรคชาวดิน" เช่นกันครับ
  • แต่ไม่รู้ว่าตอนนี้ ยังคงสภาพอย่างไร ก็ไม่ทราบกครับ
  • ยินดีอีกครั้งครับ..และอิ่มใจทุกครั้งที่ได้ยินคำว่า "สาวก" ชาวดิน
  • ตอนนี้ก็เตรียมทีมลงเลือกตั้งองค์การนิสิต หลังจากไม่ลงสมัครมา 2 ปี...
  • คิดว่าชุดนี้น่าจะผลิบานได้

อาจารย์ บุรี บูรวัฒน์ เป็นครูนาฎศิลที่หาตัวทดแทยคงไม่มี ท่านทำเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังของความสำเร็จและสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนมากมาย พาทีมงานแข่งขันที่ไหน จะไม่มีคำว่าลำดับที่ 2 พวกเราเป็นที่ 1มาตลอด ในที่สุดเราก็เป็นแช่มป์ ดนตรีพื้นเมืองระดับประเทศ ในปี2535 จาก กวางลูกศิษย์ที่รักอ. บุีรีเสมอครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท