สมการความโง่


มอง "ความโง่" แบบวิเคราะห์เชิงระบบ

ในสถิติ มักมีการมองผลกระทบแบบลดหลั่น ไล่จากผลกระทบที่เกิดระดับมหภาค เรียงไปหาผลกระทบที่เกิดระดับจุลภาค หรือปัจเจก เช่น

ผลรวม = ผลจาก main efect + ผลจาก individual + ผลจากความไม่แน่นอน

ในสมการความสุข ผมก็มองว่าเป็นเรื่องคล้ายกัน

ความสุข = โครงสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมเอื้อ + ปัจจัยส่วนตัวเอื้อ + สันตุฏฐีธรรม(ในใจ)

การมองแบบลดหลั่น เป็นเรื่องที่ทำกันทั่วไป เช่น นักลงทุนสถาบัน เวลาจะลงทุนในหุ้นตัวไหน ก็ต้องเริ่มมองตั้งแต่ผลกระทบระดับประเทศ ของประเทศที่จะไปลงทุน ว่าประเทศนี้ มีปัญหา มีโอกาสอะไร แล้วค่อยดูผลกระทบจากกลุ่มอุตสาหกรรม ว่ามีกลุ่มไหนให้เลือกบ้าง กลุ่มไหนน่าสนใจบ้าง แล้วถึงค่อยมองหาว่าจะลงทุนในหุ้นตัวไหนดี

ถ้าเขาเจอหุ้นดีเยี่ยม แต่อยู่ในประเทศที่ฟันธงว่า กำลังจะมีสงครามกลางเมืองแน่ ฝรั่งนิยมถอยการลงทุนเพื่อหนีตาย ดีแค่ไหน ยินดีขายทุกระดับราคา (ฮา)

เวลาสอนถึงเรื่องเกี่ยวกับปรากฎการณ์อะไรก็ตาม เขาก็นิยมไล่เรียงลำดับความหนักเบาแบบนี้ เพราะทำให้เห็นภาพได้ง่าย เด็กเรียนแล้วก็เห็นภาพชัดดี

แต่มีประเด็นหนึ่ง ที่ผมไม่ค่อยเห็นคนพูดถึง

คือเรื่องความโง่

ความโง่นี่ก็สามารถมองแบบเดียวกันได้ครับ

คือมี "โง่โดยโครงสร้าง","โง่โดยสภาพแวดล้อม","โง่โดยตัวของมันเอง" และ "บังเอิญโง่"

โง่ = โง่โดยโครงสร้าง + โง่โดยสภาพแวดล้อม + โง่โดยตัวของมันเอง + บังเอิญโง่

เป็นไปตามหลักคิดเชิงสถิติเชียวนั่น

เราจะคุ้นกับการ "โง่โดยตัวของมันเอง" เพราะเป็นสิ่งที่เราถูกปลูกฝังเชิงโครงสร้างให้ชินมาแบบนั้น

เราพอจะรู้จัก "บังเอิญโง่" ด้วยการจ่ายให้ตัวเอง (คำพ้อง: เสียค่าโง่) หรือโดยคนอื่นจ่ายให้ (คำพ้อง: ลปรร)

เราพอจะนึกออกราง ๆ ถึง "โง่โดยสภาพแวดล้อม" เมื่อได้ยินประโยคว่า "เฮ้ย ทำไมข้าจะทำอย่างนี้ไม่ได้วะ ก็คนอื่นใคร ๆ เค้าก็ทำกัน" (The Famous Last Words - ประโยคสั่งเสียของแมงเม่าก่อนบินเข้ากองไฟ)

แต่เราไม่ค่อยคุ้นชิน กับ "โง่โดยโครงสร้าง"

(ดูดี ๆ นะครับ ผมใช้คำ "คุ้นชิน" แต่ไม่ใช้คำว่าคุ้นเคย เพราะเป็นศัพท์ที่กล่าวแล้ว "ผิดผี" สำหรับคนใต้)

"โง่โดยโครงสร้าง" คือการที่โครงสร้างเอื้ออำนวยให้โง่ เป็นการโง่เชิงระบบ

ส่วนใหญ่ที่ผมเห็น การ"โง่โดยโครงสร้าง"มักเกี่ยวข้องกับการเลือกค่าย เลือกพรรคพวก เลือกคบคน เลือกเสพข่าว

ในมงคล 38 (ดูปรัชญามงคลสูตร ๑) มงคลแรกก็คือการไม่คบคนพาล

เพราะคนพาล จะทำให้เราหลงเข้าไปอยู่ในโครงสร้างเชิงระบบของความโง่ได้ ด้วยการป้อนข่าวผิดพลาด ป้อนความเชื่อที่ผิดพลาด ป้อนมุมมองที่ผิดพลาด ให้กับเราได้ตลอดเวลา

ข่าวผิด - ข่าวที่บิดเบือน คือ การทำให้โง่โดยโครงสร้าง

ข่าวที่บิดเบือน จึงสามารถทำให้ อัจฉริยะ กลายเป็น โง่จนดูจืด ไปได้

สื่อมวลชนขายตัว จึงน่ากลัวพอ ๆ กับมหาโจร เพราะสามารถป้อนความโง่โดยโครงสร้างให้คนได้มากนับล้าน ๆ คนแบบฝังหัว


บางทีข่าวไม่ได้บิดเบือน แต่คนฟังมี "หูที่บิดเบือน" ก็เกิดผลประมาณกัน คือ คนเรา จะได้ยิน แต่สิ่งที่ตัวเองอยากฟัง)

หรือข่าวที่ "ไม่เชิง" บิดเบือน (ฟังไม่ได้ศัพท์ "จับมาเหนียด")

...เป็นข่าวประเภท "ฟังแล้วเชิญต่อจุดไข่ปลาเอาเองนะ"

คือ ชวนให้คนคิดเองเออเองไปในร่องในรอยที่เขาขุดหลุมวางรอไว้ ด้วยชิ้นส่วนความจริงที่ชี้นำให้เข้าใจผิด เช่น โฆษณายุคนี้ ต้นเรื่อง เด็กเก่งจนเหาะเกือบได้ ท้ายเรื่อง กลับบ้านไปกิน XXX (ไม่ได้ติดเรทนะวุ้ย -.-) เพื่อให้คนดูพูดประโยคที่เขาไม่ได้พูดให้ฟัง

ข่าวบิดเบือน จึงถือเป็นโครงสร้างของความโง่เชิงระบบ ที่เป็นต้นตอของความโง่เรื้อรัง ที่สามารถเอาชนะได้ทุกอย่าง แม้แต่ความฉลาดของปัจเจกที่ลุขั้นอัจฉริยภาพ

การเลือกคบคน จึงเป็นมงคลในอันดับแรกสุด เพราะเป็นการป้องกันความโง่โดยโครงสร้าง

คนเราไม่ต้องฉลาดมาก หากโชคดีได้อยู่ในระบบที่ไม่ทำให้คนโง่โดยโครงสร้าง ก็สามารถทำอะไรที่สร้างสรรค์ ฉลาด ๆ ได้มากแล้ว

ในมุมกลับ ต่อให้เป็น "อัจฉริยะตั้งแต่เกิด" เมื่อมาเจอ "โง่เชิงโครงสร้าง" ผลทั้งสองก็จะหักกลบลบล้างกันได้ แล้วยังมิหนำ ผลยังล้ำลึก กินลึกถึงกระดูก จนทำให้ดูเผิน ๆ เหมือน "โง่แต่กำเนิด" ไปเลย

เคยเห็นมาแล้วครับ ... ขอบอก

หมายเลขบันทึก: 75646เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2007 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สิ่งที่ท่านพูด น่าจะพ้องกับเรื่อง การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy) หรือ กาลาสูตรกังขานิยฐาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท