รัฐธรรมนูญใหม่กับการกระจายอำนาจ


ควรส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงาน สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และใช้สิทธิทางการเมืองในหลาย ๆ ด้านอย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้บริหารท้องถิ่น และการเข้าชื่อถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นที่ไม่ต้องใช้เสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากเกินไป รวมไปถึงสามารถเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นต่าง ๆ ได้อย่างเสรี

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ได้บรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการกระจายอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในหมวดที่ 9 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการปกครองตนเองและมีการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่กันอย่างชัดเจน ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกทั้งยังให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายการปกครอง การบริหารงาน การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง และมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ ซึ่งรัฐจะกำกับดูแลท้องถิ่นเท่าที่จำเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และต้องเป็นไปเพื่อความคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

หลังจากการปฏิวัติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ได้ถูกยกเลิก คณะปฏิวัติจัดเตรียมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งกำลังเป็นที่จับตามองว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะสานต่อสาระสำคัญในหมวดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อพิจารณาถึงการกระทำของรัฐที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า รัฐมักจะละเมิดบทบัญญัติบางมาตรามาโดยตลอดทั้งที่จงใจและไม่จงใจจึงทำให้เกิดปัญหาในการบริหารงานในส่วนท้องถิ่นอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการจัดสรรสัดส่วนของภาษีและอากรระหว่างรัฐกับท้องถิ่น ภารกิจการถ่ายโอนอำนาจด้านงบประมาณและบุคลากร ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่โดยเฉพาะภารกิจด้านการศึกษาและสาธารณสุข

ดังนั้นหากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญร่วมกันออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีความก้าวหน้าและเหมาะสมกับวัฒนธรรมการเมืองไทยแล้ว ควรตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารงานด้านท้องถิ่นด้วย ทั้งนี้ควรส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงาน สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และใช้สิทธิทางการเมืองในหลาย ๆ ด้านอย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้บริหารท้องถิ่น และการเข้าชื่อถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นที่ไม่ต้องใช้เสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากเกินไป รวมไปถึงสามารถเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นต่าง ๆ ได้อย่างเสรี สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หน่วยงานราชการส่วนต่าง ๆ ต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับท้องถิ่นในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมาสู่ท้องถิ่น และขณะเดียวกันท้องถิ่นก็ต้องมีความจริงใจในการปกครองตนเอง ภายใต้กรอบกติกาของกฎหมายและเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแน่วแน่

หมายเลขบันทึก: 75513เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2007 14:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท