ความสุขมองเชิงโครงสร้าง 2


 ความไม่โปร่งใส และคุณลักษณะอื่นๆของสถาบันการเมืองของไทย และองค์กรหลักของสังคม (เช่น ตำรวจ หรือบริการอื่นๆของภาครัฐ) มีผลต่อความสุข(ความจริงต้องบอกว่าสร้างทุกข์) ของประชาชนอย่างไม่ต้องสงสัย

ในขณะที่เราเองก็ยังมีสถาบันหลักของชาติที่มีผลในทางสร้างความสุขให้กับคนไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

ใครที่คิดว่าเราทำงานของเราให้ดี หาเงินหาทองมาให้พอใช้ ไม่มีความโลภ ไม่เอาเปรียบใครก็คงจะมีความสุขแล้ว ก็อาจจะต้องหันมาดูผลการวิจัยข้อนี้อยู่เหมือนกัน

แล้วถามตัวเองว่า การขาดธรรมาภิบาลของกลไกในสังคม หรือการมีทุนทางสังคมน้อยๆ มันกระทบความสุขของเรามากน้อยเพียงไร

ผมเข้าใจว่าอย่างน้อยการที่เรารู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อต้องออกไปนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเพราะโอกาสที่จะพบการจี้ปล้น หรือ ประสบอุบัติเหตุจราจรจากความไม่รับผิดชอบของคนอื่นๆที่ใช้รถใช้ถนนอยู่ หรือบางทีอยู่ในบ้านก็ยังไม่รู้สึกปลอดภัยเลย เพราะไม่รู้ว่าจะถูกจี้ปล้น หรือบ้านจะโดนไฟไหม้เมื่อไร คงเป็นตัวอย่างใกล้ตัวที่สุดในการบอกเราว่า ความโปร่งใส และประสิทธิภาพของกลไกหลักในสังคมมันกระทบต่อความสุขของเรามากน้อยแค่ไหน

ดูเหมือนว่าทุกสังคมต้องมาช่วยกันกำหนดว่า กลไกอะไรในสังคม หรือทุนทางสังคมแบบไหนที่ทุกคนในสังคมต้องมาช่วยกันดูแล และสร้างความเข้มแข็งให้มากขึ้น เพื่อจะทำให้ผู้คนในสังคมมีชีวิตที่เป็นสุขมากขึ้น และทุกคนก็คงมีหน้าที่ต้องช่วยกันดูแลไม่ให้กลไกเหล่านี้มันเพี้ยน

การร่างรัฐธรมนูญ การออกกฏหมาย และการมาช่วยกันทำให้บทบัญญัติในกฏหมาย และรัฐธรรมนูญเป็นจริง และมีประสิทธิภาพ เป็นตัวอย่างของเรื่องที่ผู้คนในสังคมควรจะร่วมกันเอาใจใส่ ถ้าเราเห็นถึงความสัมพันธ์ของกลไกเหล่านี้กับความอยู่เย็นเป็นสุขของพวกเราเอง

สิ่งที่น่าเป็นห่วงในหลายสังคมอยู่ที่การไม่เห็นความเชื่อมโยงเหล่านี้ มักจะมองเห็นเป็นคนละเรื่องกัน และยังเชื่อว่า ถ้าอยากมีความสุขก็ตั้งหน้าตั้งตาทำหน้าที่ของเราให้ดี หาเงินทองมาให้พอใช้ก็เอาแล้ว

แต่ก็ชัดเจนว่าเงินที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ประกันว่าจะมีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะการวิจัยในประเทศอเมริกา พบว่าในช่วง 45 ปีระหว่างปี 2489 -2534 รายได้ของคนอเมริกันเพิ่มขึ้นราว 2.5 เท่า จาก 11,000 เป็น 27,000 เหรียญสหรัฐ (เทียบเป็นมูลค่าเงินของปี 2539) แต่คนอเมริกันมีความสุขโดยเฉลี่ยเท่าเดิม หาได้เพิ่มขึ้นเป็น 2.5 เท่าเหมือนเงินในกระเป๋าแต่อย่างไร

และแม้ปัจเจกจะมีความสุขเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งๆ เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นแต่พอดูไปตลอดช่วงชีวิต กลับพบว่าความสุขโดยเฉลี่ยในช่วงชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างไร เขายังมีผลการวิจัยต่อไปอีกพบว่า การว่างงานมีผลอย่างยิ่งต่อความสุข โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องรายได้

เพราะคนว่างงานในประเทศที่มีระบบสวัสดิการ แม้รัฐบาลจะมีเงินให้ทดแทนการไม่มีงานทำ และรายได้ที่ได้ก็ใกล้เคียงกับตอนมีงานทำ

แต่คนที่ว่างงานกลับมีจิตใจหดหู่ขาดความสุขอย่างเห็นได้ชัด

ที่ว่ามาทั้งหมดไม่ได้สรุปว่า เรื่องรายได้ เรื่องการมีงานทำ หรือปัจจัยทางการเงิน หรือศรษฐกิจไม่มีความหมายต่อความสุข

แต่การวิจัยพวกนี้คงช่วยกระตุกให้เราเห็นคววามสำคัญของปัจจัยอื่นๆที่เราต้องมาช่วยกันจัดการ มาช่วยกันจัดโครงสร้างสังคมที่จะทำให้คนไทยมีความสุขอย่างจริงจังมากกว่านี้ ก่อนที่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความมีน้ำใจ ที่เราภูมิใจกันนักหนาจะหมดไป

เพราะโครงสร้างทางสังคมที่เรามีอยู่ค่อยๆทำลายความสุขของคนไทย เพราะความไม่เข้มแข็ง ไม่มีคุณภาพ ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่มีคุณธรรม และทำให้คนไทยกลายเป็นคนไร้น้ำใจไปโดยไม่รู้ตัว

ใครว่าความสุขความทุกข์อยู่ที่ใจเราเองอย่างเดียว

หมายเลขบันทึก: 75417เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2007 01:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท