เรื่องเล่า จาก KM มัชฌิมนิสิตฝึกสอน ศึกษาศาสตร์


มีเรื่องหนึ่ง ที่ประทับใจสุดๆ คือ ต้มแซ่บ

 มัชฌิมมิติใหม่ เฉิดไฉกว่าเดิม 

             วันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2550

              เป็นโชคดีอีกแล้วที่ ท่าน รศ.เทียมจันทร์ พาณิชผลิญไชย ได้นำกระบวนการ km เข้ามาสู่ชาวศึกษาศาสตร์อีกครั้ง แต่คราวนี้จัดกับนิสิตฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูค่ะ ในส่วนของมัชฌิมนิเทศ

              ครั้งนี้ เราได้รู้จัก หน้าที่ของคุณอำนวยน้อย หรือ Fa น้อย ที่อาจารย์เทียมจันทร์เรียก เจ้าหน้าที่ พี่ๆ ที่นี่เรียกว่า ใหม่ หมด เพราะเพิ่งได้เห็น กระบวนการจริงๆ  เราประชุมกันค่ะ โดยท่านอาจารย์เทียมจันทร์ปรึกษากับท่านอาจารย์ ดร.อมรรัตน์ วัฒนาธร ในการจัดกิจกรรมนี้ แล้วก็ปรึกษาชี้แจงให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ที่จะเป็น Fa น้อย ฟัง

             พอถึงวันจริงเราติดป้าย แบ่งกลุ่มนิสิตตามสาขาวิชาเอกโดยกลุ่มละ ประมาณ 10-12 คน แล้วแต่จำนวนนิสิตในสาขานั้น แล้วรับเอกสารนั่งตามกลุ่มที่มีป้ายตั้งบอกไว้ เรามีทั้งหมด 13 กลุ่มค่ะ และกลุ่มนิสิตที่ฝึกงาน ในสาขาวิชาเทคโนโลยีสื่อสารการศึกษาอีก 2 กลุ่มเป็น 15 กลุ่มค่ะ  ตอนแรกน้องๆ ก็งงๆ ว่าทำไมต้องจัดกลุ่ม แล้วเอกสารที่ให้มาก็ไม่เคยเห็นเลย "การจัดการความรู้ / KM / หัวปลา / หางปลา/ story telling /  ปัจจัยความสำเร็จ / ไม่เข้าใจ ???

             แต่ไม่เป็นปัญหาค่ะ เพราะหลังพิธีเปิด โดยท่าน รศ.ดร.สมบัติ นพรัก คณบดีคณะศึกษาศาสตร์แล้ว ท่านอาจารย์เทียมจันทร์ก็เล่าให้ฟังว่า KM คืออะไร แล้วเราจะทำอะไรกันต่อจากนี้ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง จากนั้นก็ให้นิสิตนั่งสมาธินึกถึงสิ่งที่ตนเองประทับใจอยากจะเล่าให้เพื่อนฟัง โดยมีเพลงของ จำรัส เศวตาภรณ์ ที่เปิดในงานพิธีฉลอง 60 ปี ทรงครองราชให้ฟัง

            จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการเลือกประธาน และเลขา พี่ๆ Fa น้อยทั้งหลายก็ชี้แจงหน้าที่ของ ประธานและเลขา ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง การเล่า เลขาจะเป็นผู้เล่าก่อน เพื่อจะได้จับประเด็นหรือ แก่น ของเรื่องที่เพื่อนเล่าได้ครบ กระบวนการเริ่มต้นดีค่ะ น้องๆ เข้าใจมาก แต่ช่วงแรกนิสิตจะกังวลกับการจดบันทึกเรื่องเล่าของเพื่อนๆ ในกลุ่มเพราะทุกคนจะต้องจดเอาไว้ เผื่อว่าจะตามหาคนที่เล่าเรื่องได้ว่าใครเป็นคนเล่าเรื่องนี้ให้ฟังนะ หรือว่าจะนำไปใช้ได้ในการจัดการกับชั้นเรียนต่อไป   ตอนนี้ Fa น้อย ก็ต้องทำหน้าที่อีกแล้วคือ ช่วนแนะหรือเตือนบ้างเล็กน้อย  

           "แต่สิ่งที่ประทับใจคือ นิสิตเข้าใจกระบวนการเร็วมาก และทำได้ดีเกินคาด คือ Fa น้อยแค่คอยสังเกตการณ์เท่านั้นเอง นิสิตเค้ากล้าที่จะเล่า ภูมิใจ และดีใจที่จะเล่าเรื่องของเขาให้เพื่อนฟัง ว่าเค้าเจออะไรมาและเค้าแก้ไขสถานการณ์นั้นๆ ได้ด้วยวิธีใด ผลของมันเป็นอย่างไร ทุกอย่างไปด้วยดีค่ะ "

          พอเล่าครบทุกกลุ่ม ช่วงเช้าก็ให้นิสิตแต่ละกลุ่มเลือกเรื่องเล่าที่ประทับใจของกลุ่ม และภาพรวมของกลุ่ม โดยเจ้าของเรื่องและเลขากลุ่มมาเล่าให้กลุ่มอื่นๆ ฟัง มีเรื่องหนึ่ง ที่ประทับใจสุดๆ คือ

           ต้มแซ่บ  ใครที่เคยเป็นคอเหล้าคงอดน้ำลายสอ ไม่ได้เมื่อพูดถึงอาหารนี้  นิสิตสาขาชีววิทยาเล่าให้เราฟังว่า เธอสอนนักเรียนที่ร้ายที่สุดในโรงเรียน เป็นห้องเฮี้ยวมาก เรื่องจะเรียนไม่ต้องพูด เข้าห้องนั่งบนเก้าอี้ได้ก็ดีที่สุดแล้ว  นิสิตจะสอนเรื่อง ระบบอวัยวะของ วัว  ซึ่ง วัวนี้มันมี 4 กระเพาะ แต่ละกระเพาะก็มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ที่จำอยากสำหรับพวกนักเรียนเหล่านี้   ด้วยความที่เธอคนนี้เป็นชาวอีสานโดยกำเนิด จึงนึกถึง ต้มแซบ ที่มีชื่ออวัยวะต่างๆ ของวัว เป็นภาษาที่นักเรียนรู้จัก 

                 เธอบอกนักเรียนว่า "อยากได้ต้มแซ่บ ที่ไหนอร่อย ให้นักเรียนนำมา   จากนั้นการเรียนครั้งต่อมาก็มีต้มแซบใส่ถ้วยวางไว้บนโต๊ะกลุ่มละถ้วย พร้อมกับอาวุธในมือคือ ช้อน พร้อมจะจ้วงลงในชามต้มแซ่บ ครูมือใหม่คนนี้เตรียมรูปและการอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์มาพร้อมทีเดียว เพื่ออธิบายก่อน   จากนั้นการเรียนก็พร้อมแล้วนักเรียน ตัก ผ้าขี้ริ้ว อวัยวะหนึ่งของวัวขึ้นมาแล้วก็ชิมกันเลย แล้วเธอก็ชี้ให้ดูว่าอยู่ตรงไหนเรียกว่าอะไร งานนี้ของที่มีเอี่ยวด้วยคือ สีขาวในถุง มันคือ ข้าวเหนียว งานนี้เรียกว่า เรียนแบบแซ่บอีหรี  นักเรียนสามารถจำอวัยวะได้และเรียกได้ถูกต้อง บรรลุตามจุดประสงค์และผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง

          แต่สิ่งสำคัญคือ นักเรียนสนใจเรียนมากขึ้น นับถือครูมากขึ้น ผลการเรียนก็ดีขึ้นมาก

          จากการฟังเรื่องเล่าของเพื่อนครบทุกกลุ่มแล้วก็มาสกัดแก่นความรู้จาก การ์ดเทคนิค แล้วพี่ๆ Fa น้อยก็จะนำไปพิมพ์มาแจกน้องๆ ตอนกลับ ช่วงที่พี่ๆ ดำเนินการอยู่นั้น อาจารย์เทียมจันทร์ก็นำหนังเรื่อง "เสียงกู่ จากครูใหญ่" มาให้นิสิตชมกัน

          ขอเพิ่มเติมตอนท้ายว่า "เราแจก paper AAR" ให้นิสิตเขียนด้วย พร้อมๆ กับสุ่มสอบถาม AAR ไปพร้อมกัน เนื่องจากจำนวนนิสิตเราเป็นร้อย และข้อจำกัดของเวลา เราจึงต้องใช้ทั้ง 2 วิธี

                    ก่อนกลับ อาจารย์ ผศ.ดร.วารีรัตน์ แก้วอุไร หัวหน้าภาควิชาการศึกษา ตอบคำถามนิสิตอย่างเป็นกันเอง

                    บรรยากาศตอนเย็นวันกลับ นิสิตจึงไม่เครียด และพร้อมที่จะกลับไปเผชิญกับประสบการณ์ความเป็นครูใหม่ๆ ด้วยหัวใจที่ถูกเติมพลังเต็มเปี่ยม 

         ครูในอุดมคติ หรืออุดมการณ์ที่มุ่งมั่นคงจักเกิดขึ้นกับพวกเค้าเป็นแน่  เราจะได้รู้กันใน ปัจฉิมนิเทศ ปลายเดือนมีนานี้ค่ะ

                                                                   โปรดติดตามตอนต่อไป...

หมายเลขบันทึก: 75082เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2007 13:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • เยี่ยมจริง ๆ ครับ
  • ชื่นชมกับ ครูบาอาจารย์ที่ มน. ครับ ที่มีผลผลิตที่ดี ๆ อย่างนี้

ขอชมกันเองว่า "ยอดเยี่ยม" ครับ ทั้งการจัด workshop และ การรายงานทางบล็อก ทำกันได้ยอดเยี่ยมมาก จะรอดูความก้าวหน้าต่อไปครับ

  • เยี่ยมยอดครับในทุก ๆ วิถีคิดและวิถีการจัดการความรู้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท