การบรรยายในงาน HA Nation Forum ครั้งที่ 8


Plan without Passion จะไม่ก่อให้เกิดการดำเนินการใดๆ เพราะเป็นแผนซึ่งไร้จิตวิญญาณ Passion without Plan จะทำให้การดำเนินการนั้นไร้พลัง เป็นการทำงานในสภาพที่ต่างคนต่างทำ ขาดการสร้างพลังผสานร่วม (Synergy)

        สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) จะจัดการประชุมวิชาการประจำปีระดับชาติ ครั้งที่ 8 ขึ้นในระหว่างวันที่ 13-16 มีนาคม 2550 ณ ศูนย์การประชุม IMPACT เมืองทองธานี ภายใต้ Theme หลักเรื่อง Humanized Healthcare – คืนหัวใจให้ระบบสุขภาพ ในงานนี้ผมจะไปบรรยายหัวข้อ “HR – Heart Revolution : เริ่มกันที่ใจในวันที่ 15 มีนาคม 2550 เวลา 8.30-10.00 ผมเอาเนื้อหาคร่าวๆ ที่ส่งให้ทาง พรพ. มาลงไว้ให้อ่านข้างล่างนี้ครับ        

        ท่ามกลางกระแสแนวคิดการบริหารงานสมัยใหม่ (Modern Management Concepts)  ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการบริหารเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) อย่าง Balanced Scorecard (BSC)   หลักการบริหารคุณภาพ (Quality Management) ที่ใช้เป็นแนวทางสำหรับตัดสินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award - TQA) หรือเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Public Sector Management Quality Assessment - PMQA)  แนวทางต่างๆ เหล่านี้มีข้อดีตรงที่ทำให้ผู้บริหารได้มีการตื่นตัว มีความสนใจที่นำหลักการเหล่านี้ไปใช้ในการพัฒนาองค์กร          

        แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การนำแนวคิดเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติ ยังคงเป็นไปภายใต้กระบวนทัศน์แบบเดิมๆ ซึ่งทำให้ในที่สุดแล้ว ยังคงเน้นอยู่แต่เรื่องของการวางแผน (Planning)   เรื่องของการติดตามและประเมินผล (Monitoring & Evaluation) มีการสร้างตัวชี้วัด (KPI) ขึ้นมามากมาย จนกลายเป็นภาระที่หนักอึ้งแก่ผู้ปฏิบัติ มีการกำหนดขอบเขตงานที่ชัดเจน เกิดการแบ่งแยกงานอย่างเด่นชัด ขาดความรู้สึกสำนึกร่วมกัน ขาดความผูกพันที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างพยายามทำเพียงเพื่อให้เป็นไปตามตัวชี้วัดที่ตนรับผิดชอบ           

        สิ่งที่ขาดหายไปคือการใส่ใจในความเป็นมนุษย์ การให้ความสนใจในส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปภายในใจของแต่ละคน   เป็นเรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจ   เป็นเรื่องการ จุดไฟในใจ ผู้ปฏิบัติงาน   ทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจ หรือ “Passion” ให้เกิดขึ้นได้ในใจคน    “Plan และ Passion” ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเดินควบคู่กันไป   แผนซึ่งปราศจากแรงบันดาลใจ (Plan without Passion) จะไม่ก่อให้เกิดการดำเนินการใดๆ เพราะเป็นแผนซึ่งไร้จิตวิญญาณ   และในทางกลับกัน แรงบันดาลใจที่ไม่มีแผน (Passion without Plan) จะทำให้การดำเนินการนั้นไร้พลัง   เป็นการทำงานในสภาพที่ต่างคนต่างทำ   ขาดการสร้างพลังผสานร่วม (Synergy)          

        สิ่งที่กล่าวถึงใน Session นี้ จึงเป็นการชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการบริหารงานที่ต้องผสานพลังจากการทำงานของสมองทั้งสองฝั่ง ทั้งด้านการพัฒนาระบบงาน  และด้านการพัฒนาคน   โดยเน้นให้เห็นว่าการพัฒนาคนที่ได้ผล จะต้องไม่พัฒนาแค่เรื่องของทักษะ ความรู้  ความสามารถ   แต่ต้องพัฒนาให้ลึกลงไปในระดับจิตใจ   ภายใต้สมมติฐานที่ว่า  ถ้าใจยัง ไม่ใส   ก็จะทำให้ เห็นผิด ไปจากความเป็นจริง   การเห็นที่ผิดพลาดจะทำให้ คิดคลาดเคลื่อน   ความคิดที่คลาดเคลื่อนนี้ เป็นที่มาของปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องงาน   หรือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกัน          

        ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาเริ่มต้นกันใหม่อีกที...ที่ใจของเรานี้...นี่คือการปฏิวัติทางใจหรือ Heart Revolution!

หมายเลขบันทึก: 75040เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2007 07:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2012 18:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
พยาบาลที่กำลังจะเจอพรพ.

       ถูกใจมากคะอาจารย์ค่ะ เพราะเบื่อที่จะทำอะไรแต่ละเรื่องต้องมีตัวชี้วัดเป็นตัวเลข บางเรื่องใช้คำบอกเล่าไม่ได้ ใช้สิ่งที่ได้ยินมาก็ไม่ได้ ใช้ความรู้สึกที่ได้ยินได้เจอก็ไม่ได้เลยเบื่อที่จะทำไปเลย หรือบางครั้งก็ทำไปแต่ไม่นับเป็นผลงานเพราะไม่มีขั้นตอนอย่างที่กำหนดมาแต่จริงๆมีแนวทางการดำเนินงานปรากฏแล้วจากการแก้ไขพัฒนางานมาเรื่อยๆ

    แต่การปลูกฝังใจคนให้พัฒนา ให้มีจิตสำนึกยากคะ ขอเน้น!บางครั้งผู้นำไม่เริ่ม ไม่สนับสนุนผู้ตามก็ล้าคะ

ปัญหาเกิดขึ้นเพราะว่าการทำงานของสมองสองฝั่งนั้นไม่สมดุลกันครับ โลกปัจจุบันถูกปกครอง (ถูกบริหาร) โดยพวกที่ใช้แต่สมองฝั่งซ้าย คนพวกนี้ชอบจัดการ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องใจ ...แต่ถึงอย่างไรก็อย่าเพิ่งทุกข์ใจไปเลยครับ ....สุขหรือทุกข์อย่างไรก็เพราะใจของเรานี่เองครับ เราไปจัดการให้คนอื่นมีจิตสำนึก มีทัศนคติแบบนั้นแบบนี้ ไม่ได้หรอกครับ!!
ชอบมากค่ะ อาจารย์ ... และอาจารย์ได้บอกวิธีของ การ จุดไฟในใจ ผู้ปฏิบัติงาน   ทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจ หรือ “Passion” ให้เกิดขึ้นได้ในใจคน ... ด้วยหรือเปล่าคะ
...เพียงแค่ผู้บริหาร "ตระหนัก" ว่ามีอีกด้านหนึ่งของการบริหาร ....การบริหารไม่ได้มีแค่การวางแผน การกำหนด KPI และในทางกลับกัน การบริหารก็ไม่ได้มีแค่ สร้างแรงบันดาลใจให้ไปข้างหน้า โดยไม่รู้ว่ากำลังจะไปไหน ...ตกลงทั้ง Passion และ Plan จึงต้องไปคู่กัน เมื่อไปคู่กัน Plan ที่ว่านั้น จึงไม่ใช่ Plan แบบที่เราคุ้นเคย Plan แบบที่เราคุ้นเคย มันก็คือ Command & Control ที่กลายพันธุ์ไปเท่านั้นเอง !!

การจุดประกายผู้ปฏิบัติงานบ่อย ๆเป็นการกลยุทธ์การขับเคลื่อนวิธีการทำงานให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ค่ะ

  • ผมเชื่อเรื่องของการทำงานด้วยใจครับ จะให้ผลงานออกมาดีที่สุด ดังนั้นแผนงานต่างๆ จึงควรเป็นการกำหนดโดยได้จากกระบวนการกลุ่ม ซึ่งเป็นกระบวนการในการใส่ใจเข้าไปด้วย
  • ผู้บริหารระดับสูง จะมีส่วนสำคัญมากในการได้ใจของผู้ปฏิบัติงาน ผมยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในบล็อกได้ อย่างเช่น ผมรู้สึกเป็นสุขใจมากครับ จากคำชมของอาจารย์ประพนธ์ ในเรื่องการเขียนบันทึกเรื่องพันธนาการ และผมรู้สึกซาบซึ้งใจมากครับ ที่อาจารย์วิจารณ์เข้ามาชมเพียงสั้นๆ ว่า ผมชอบบันทึกนี้ครับ เพียงเท่านั้น ผมก็รู้สึกสุขใจแล้วครับ และมีแรงใจในการเขียนบันทึกเพิ่มขึ้นอีกมาก เช่นเดียวกับที่อาจารย์วิจารณ์เข้าไปคอมเม้นท์ในบันทึกของคุณกฤษณา ซึ่งทำให้เธอตื่นเต้นมาก คุยไปสามวันไม่จบ หรือที่อาจารย์ประพนธ์เข้าไปทักทายเธอในบันทึกเรื่อง prince of Egypt เธอตื่นเต้นมาก จนถามว่า Beyond KM เป็นตัวจริงหรือตัวปลอม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เหลือความคาดหวัง เป็นความประทับใจ หรืออาจสูงได้ถึงขนาดเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้ปลดปล่อยความรู้ออกมาสู่บันทึกได้อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการปฏิบัติงาน ผู้บริหารระดับสูงมีส่วนอย่างยิ่งที่จะสร้างแรงบันดาลใจ หรือจะเรียกว่าสร้างแรงขับเคลื่อนให้ผู้ปฏิบัติงาน ทำงานด้วยใจครับ
  • หรือหากผู้บริหารไม่สามารถซื้อใจผู้ปฏิบัติงานได้แล้ว การรวมกลุ่มกันของผุ้ปฏิบัติงานอย่างไม่เป็นทางการเพื่อทำกิจกรรมบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร เป็นอีกทางหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องมี ผู้นำอย่างไม่เป็นทางการครับ นั่นคือเป็นผู้ที่เพื่อนร่วมงานให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ และคิดว่าเป็นผู้นำของเขา โดยบุคคลนี้อาจไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ การบริหารงานโดยผ่านผุ้นำอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มแต่ละกลุ่ม เป็นการบริหารใจของผู้ปฏิบัติงานเช่นเดียวกันครับ
  • ผมเชื่อว่า การคำพูดทักทาย คำชมจากผุ้บริหารสื่อสารโดยตรงถึงผู้ปฏิบัติงาน หรือร่วมหัวจมท้ายทำงานด้วยกัน ไม่ทอดทิ้งกัน เป็นสิ่งที่ซื้อใจของผู้ปฏิบัติงานได้ครับ  ไม่ใช่เรื่องของผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน
  • ไม่ว่าองค์กรไหน หากทำให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานด้วยใจได้ล่ะก้อ เราจะทำงานด้วยความเป็นสุขครับ แม้งานจะเหนื่อยสักเพียงใดก็ตาม

ขอบคุณทุกๆ Comment ครับ ...คุณไมโตเขียนได้ชัดมากครับ ...ช่วยทำให้สิ่งที่ผมเขียนไว้ออกมาเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น .

...คุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารที่ต้องการมาก ก็คือ ต้องหูตาไว และต้องใจดีครับ ที่ว่าหูตาไว หมายถึงไวต่อสิ่งดีๆ นะครับ และที่ว่าใจดี ก็คือต้องหมั่นขยันชมลูกน้อง ...มองว่าเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ก็ทำได้ไม่ง่ายเท่าใดนัก ต้องฝึกบ่อยๆ ครับ

ดิฉันเข้ามาในบันทึกนี้เพื่อขอขอบพระคุณ...ท่านอาจารย์ พ.วิจารณ์...อาจารย์ ดร.ประพนธ์...และคุณไมโต....ที่ทั้งสามท่านมีส่วนทำให้ดิฉันมีความพยายามที่จะถ่ายทอดงานประจำที่ยากในการเข้าใจของผู้อื่นให้ดีขึ้นๆ...โดยที่มิได้มีใครบังคับค่ะ....โดยเฉพาะคุณไมโตผู้เป็นเพื่อนที่รู้สึกสนิทมากชนิดรู้ใจทั้งๆที่ไม่เคยเห็นหน้าหรือได้ยินเสียงเนื่องจากเราคุยกันทุกเรื่องได้จริงๆอย่างถูกคอกัน..ขอบคุณบันทึกนี้อีกครั้งค่ะอาจารย์ที่ทำให้คนคุณภาพ..สนใจใน"จิตใจของคน"....
สิ่งที่ขาดหายไปคือการใส่ใจในความเป็นมนุษย์ การให้ความสนใจในส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปภายในใจของแต่ละคน   เป็นเรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจ   เป็นเรื่องการ จุดไฟในใจ เป็นเรื่องที่น่าสนใจค่ะ และกำลังจุดไฟในใจตนเองเสมอ เพื่อสร้าง แรงบันดาลใจของตนเองทั้งในการเรียน และการทำงาน แต่บ้างครั้งบ้างสิ่ง เช่น ระบบงาน  หัวหน้า  การไม่ยอมรับที่เราเป็นเด็ก ( อายุน้อยกว่า)ก็ทำให้ไฟเราดับเหมือนกัน บางครั้งก็เป็นเหมือนการทำงานที่เป็นเพียงแค่ทำไปวันๆๆ แต่ก็พยายามที่จะคิดสร้างสรรค์งานอยู่ตลอดค่ะ และจะนำสิ่งมี่ อ. แนะนำไปปฏิบัติค่ะ และขอบคุณค่ะที่เข้าไปเยี่ยมชม เนื่องจากเพิ่งจะได้ลองแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ
  • ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับ การจุดไฟในใจ หรือ การจุดประกาย ที่ใจเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
  • เมื่อวันที่ 24 ที่ผ่านมา เราก็พยายามจะจุดประกาย หรือจุดไฟในใจ ให้คุณเอื้อและคุณอำนวยของ มมส. โดยท่าน ดร. วรภัทร์ ภู่เจริญ

เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ     พยายามทำในหน้าที่คุณเอื้อที่ได้ใจน้องๆแต่ต้องประเมินตัวเองบ่อยๆเพราะเราดูตัวเองไม่ค่อยชัดค่ะ     จะตามไปฟังอาจารย์ค่ะ

พรุ่งนี้ผมจะไปงาน Natonal Forum 8 ที่อาจารย์เล่านี่ละครับ ที่อาจารย์เล่ามานี่ถูกต้อง ใช่เลยครับ ผมว่าเจ้าหน้าที่เรา เหนื่อยเหลือเกินกับ KPI  ที่คนอื่นตั้งให้ แถมไม่รู้ว่า  ที่ขอตัวเลขมา นั้นแสดงถึง perfomance ของงานที่เราทำจริงหรือไม่ เท่าที่ผมได้สัมผัส  indicator ธรรมดา ๆ  data ธรรมดา ๆ ยังเป็น KPI ไปหมด  บทความนี้ถูกใจ ใช่เลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท