เรื่องเล่าจากดงหลวง 13 เร่วที่ดงหลวง


...เร่ว.เป็นพืชท้องถิ่น ขึ้นตามป่าใต้ร่มไม้ใหญ่ เหมือนต้นข่า ขึ้นเป็นกอและแตกขยายออกไปเป็นดงขนาดใหญ่ ออกผลสีส้มหรือสีแดง ที่ผลมีขน ขนาดผลเท่าผลมะปรางย่อมๆ เร่วเป็นสมุนไพร

 

1.        ดงหลวงกับการเมืองไทย: ขณะที่บ้านเมืองกำลังมีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันนี้ พี่น้องดงหลวงก็ยังใช้ชีวิตดิ้นรนไปตามเงื่อนไขที่แต่ละคนมีอยู่ ไม่น่าเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยครั้งใหญ่ๆนั้นพื้นที่ดงหลวงเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย..จริงๆ เป็นเพราะดงหลวงมีสภาพเป็นป่าเขา  พื้นที่ปิด ติดต่อกับโลกภายนอกโดยการเดิน หรือขี่ม้า เพิ่งจะมีเส้นทางคมนาคมแบบง่ายๆเมื่อ พ.ศ. 2520 โดยประมาณ  ดงหลวงเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างสกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ และอำนาจเจริญ หรือ อุบลราชธานีในสมัยก่อน และที่สำคัญใกล้ชิดติดกับแม่น้ำโขงซึ่งสามารถข้ามไปฝั่งประเทศลาวโดยสะดวก 

 ลักษณะทำเลแบบนี้จึงเหมาะที่จะเป็นที่ฝังตัวของขบวนการเสรีไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้เฒ่าบ้านมะนาวกล่าวว่า บนภูเขาฝั่งขวามือนั่นมีถ้ำ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักสงฆ์ ถ้ำแห่งนี้เป็นที่หลบภัยของผู้นำเสรีไทยสายอีสานและเป็นที่เก็บอาวุธเพื่อเอามาต่อสู้กับทหารญี่ปุ่น  ต่อมาเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้นและเผยแพร่ลัทธิสังคมนิยมนั้น ดงหลวงก็คือเป้าหมายและเป็นที่กำหนดเขตปลดปล่อยแห่งแรกๆ บนภูเขามีทั้งโรงเรียนการเมือง โรงพยาบาล ค่ายทหาร การฝึกอาวุธ คลังอาวุธ และที่พักพิงของคณะกรรมการกลางหลายต่อหลายคนพลัดเปลี่ยนกันมาอาศัย นับตั้งแต่คุณรวม วงศ์พันธ์ ยุคแรกๆของ พคท.ด้วยซ้ำ จนดงหลวงคือเป้าหมายของการตีให้แตกของทหารในยุค หลังเสียงปืนแตก ระหว่าง พ.ศ. 2508-2523 สหายเก่าเล่าว่า ทหาร 15 กองพันบุกขึ้นภูเข้าตี พคท. ทั้งหมด ซึ่งก็คือพี่น้องไทโซ่ ที่เข้าป่าร่วมกับ พคท.แบบยกหมู่บ้าน ยกตำบลขึ้นไปเลยนั้นเป็นที่เล่าขานกันมากว่า ทหารทำอะไรไม่ได้เลย มีแต่ นโยบาย 66/23 และเนื้อในของ พคท.เองที่แตกแยกจึงทำให้ พี่น้องไทโซ่ตัดสินใจลงมาจากป่าแบบยกทัพลงมาหมด ที่น่าคิดคือ เป็น พคท.กลุ่มสุดท้ายที่มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยจนถึงปัจจุบัน... 

2. ไกลลงไปในประวัติศาสตร์อดีต: ในเอกสาร ทางราชการจังหวัด และเอกสารของท่าน สุรจิตต์ จันทรสาขา กล่าวไว้ว่า สมัยรัชการที่ 5 ไทโซ่เคยได้รับบรรดาศักดิ์เป็นท่านขุนคนหนึ่ง เพื่อเป็นตัวแทนปกครองไทโซ่ดงหลวง และส่งส่วยให้กับทางราชการ  ผู้สนใจประวัติศาสตร์ก็จะพบว่า การส่งส่วยจากหัวเมืองนี้เข้าสู่ราชสำนักบางกอกนั้น หนึ่งในเครื่องราชบรรณาคาร หรือ ส่วยก็คือ ผล เร่วเท่านั้นเท่านี้หาบ  ในประวัติศาสตร์เมืองมุกดาหารนั้นก็มีการพูดถึงว่าเจ้าเมืองต้องเข้าเฝ้ากษัตริย์ไทยทุกปี โดยการอาศัยลงเรือล่องแม่น้ำโขงไปขึ้นที่นครจำปาสัก หรือเสียมราฐ พระตะบอง แล้วจึงขี่ช้างจากทิศตะวันออกเข้ากรุงเทพฯ  สิ่งที่ต้องนำไปด้วยคือเร่วจากพื้นที่ดงหลวงนี่เอง  แม้แต่ก่อนหน้านั้นผู้บำเพ็ญบุญของดงหลวงที่เรียกกันในปัจจุบันว่า ท่านปู่ผ้าดำก็เคยได้รับพระราชทานไม้เท้าจากกษัตริย์ไทยมาแล้ว

3. เร่ว หรือ หมากเหน่งคืออะไร: เป็นพืชท้องถิ่น ขึ้นตามป่าใต้ร่มไม้ใหญ่  เหมือนต้นข่า ขึ้นเป็นกอและแตกขยายออกไปเป็นดงขนาดใหญ่ ออกผลสีส้มหรือสีแดง ที่ผลมีขน ขนาดผลเท่าผลมะปรางย่อมๆ เร่วเป็นสมุนไพร ที่ส่งออกไปเมืองจีนทำยาแก้โรคเกี่ยวกับท้องแน่นท้องเฟ้อ ชาวไทโซ่ในปัจจุบันกล่าวว่าทุกป่ามีเร่วเต็มไปหมด เมื่อมันมีมูลค่าก็เก็บส่งขายที่ตลาดในเมืองมุกดาหารจนหมด เหลือน้อยเต็มทีแล้ว  

หมายเลขบันทึก: 75024เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2007 01:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 21:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท