ลูกพาไปวัดนครสวรรค์


ประวัติหลวงพ่อศรีสวรรค์..จากสูติบัตรงานสมโภชพระพุทธศรีสวรรค์

    อยู่นครสวรรค์มาก็หลายปี เข้าไปวัดนครสวรรค์ก็เคยไป แต่ไม่เคยศึกษาความเป็นมาของวัดสำคัญของจังหวัดเลย...หลายคนคงเป็นเหมือนกัน   แต่วันนี้ได้โอกาสศึกษาก็เพราะลูกอีกนั้นแหล่ะคะ ลูกถามเรื่องหลวงพ่อศรีสวรรค์ เพราะคุณครูเล่าให้ฟังแล้วพ่อแม่ก็ตอบไม่ได้ เลี่ยงมาหลายครั้งลูกก็ไม่ยอมเลิกถามซักที...เลยต้องพาไปหาแหล่งข้อมูลจากหลวงพี่ที่วัดโดยตรงเลยคะ หลวงพี่ท่านก็เลยให้สูติบัตรมาเลย 1 เล่ม  เลยพบเรื่องที่น่าศรัทธาและควรแก่การเผยแพร่ให้คนในนครสวรรค์และประเทศไทยได้ทราบที่มานี้ด้วย

   วัดนครสวรรค์ เป็นวัดที่เก่าแก่มาแต่โบราณ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพ.ศ. 1972 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (พระเจ้าสามพระยา) มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คือ "พระพุทธศรีสวรรค์(หลวงพ่อศรีสวรรค์)" เป็นพระประธานในพระอุโบสถ มีความสวยงาม เป็นสง่าราศีของวัด

     เมื่อพ.ศ. 2203 ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ชาวจังหวัดนครสวรรค์จับช้างเผือกได้ 1 เชือก ได้ทำพิธีสงฆ์ขึ้นที่วัด แล้วนำไปทูลเกล้าถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่กรุงศีรอยุธยา

   ในบริเวณวัดนครสวรรค์ หน้าพระอุโบสถมีเจดีย์เก่า 3 องค์ 2 องค์แรกสูง 7 เมตร อีก1องค์สูง 5 เมตร เจดีย์เก่าทั้ง 3 องค์นี้ยังไม่ค้นพบว่าสร้างมาแต่เมื่อใดและใครเป็นผู้สร้าง ต่อมาเมื่อเวลาผ่านมายาวนาน  อุโบสถชำรุดทรุดโทรมสิ่งปลูกสร้างหักพังลงมาทับหลวงพ่อศรีสวรรค์ชำรุดมา

    ต่อมาเมื่อปีใดไม่ปรากฏได้มีการซ่อมแซมอุโบสถครั้งใหญ่ และมีการหล่อพระประธานโดยเอาทองเหลืองจากองค์ หลวงพ่อศรีสวรรค์องค์เก่า ถึงในสมัยรัตนโกสินทร์ ซี่งสืบค้นได้เค้ามาบ้างว่า อุโบสถชำรุดทรุดโทรมมากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสเททองเมืองพิษณุโลก เพื่อเททองพระพุทธชินราชจำลองที่วัดมหาธาตุ เมื่อพ.ศ. 2444 พระองค์ได้ทรงเสด็จเยี่ยมเมืองนครสวรรค์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ย้ายหลวงพ่อครุฑ ซึ่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ อยู่ที่วัดจอมคีรีนาคพรตให้มาอยู่วัดหัวเมือง ในครั้งนั้น วัดหัวเมืองทรุดโทรมมมากถูกพายุพัดอย่างแรง ทำให้ผนังโบสถ์ซึ่งสร้างมานานแล้วพังทับพระประธานในโบสถ์ ชำรุดเสียหายมาก เมื่อระหว่าง พ.ศ. 2465-2470 ได้มีการซ่อมแซมอุโบสถ และหลวงพ่อศรีสวรรค์ครั้งใหญ่ที่สุด โดยประชาชนบริจาคทองเหลือง ทองแดงและทองคำ (ปัจจุบันยังมีทองคำอยู่ที่เกศ) หล่อหลอมให้องค์พระมีขนาดใหญ่กว่าเดิมหน้าตักกว้าง 2.50 เมตร ในขณะที่เททองอยู่นั้น พอตกเย็นใกล้คำได้เกิดมีแสงพุ่งออกจากองค์พระ มีลำแสงเป็นสีต่างกันถึง 6 สี ที่เรียกว่า ฉัพพรรณรังสี คือ

1. นิล (เขียวเหมือนดอกอัญชัน)

2. ปีต (เหลืองเหมือนหรดาลทอง)

3.โลหิต (แดงเหมือนตะวันอ่อน)

4.โอทต (ขาวเหมือนแผ่นดิน)

5.มัญเชฐ (สีหงสบาทเหมือนดอกเซ่งหรือหงอนไก่)

6.ประภัสสร (เลื่อมพรายเหมือนแก้วผนึก)

เป็นอัศจรรย์ยิ่ง นอกจากนี้เวลากลางคืนยามดึกสงัด ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ใกล้วัดจะได้ยินเสียงพิณพาทย์ ปี่กลองดังออกจากอุโบสถบ่อยๆ  จากอภินิหารดังกล่าวจึงสร้างความเชื่อถือศรัทธาให้กับชาวบ้านกันอย่างมาก

พระพุทธรูปใหญ่หันหลังให้กัน(หลวงพ่อสองพี่น้อง)

    เดิมอยู่ในวิหารเก่า 2 องค์ ขนาดหน้าตักกว้าง 3.50  เมตร เป็นของเก่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พระพุทธรูปในวิหารเก่านั้นมีด้วยกัน 10 องค์มีขนาดเล็กลงมาตามลำดับ วิหารเก่าเนื่องจากสร้างมานานแล้วจึงชำรุดหักพังไปแล้วหลายครั้ง จะรื้อสร้างใหม่ก็เกิดมีฟ้าผ่าขึ้นหลายครั้งจนเป็นที่เกรงกลัวกันว่า ถ้าก่อสร้างใหม่จะเกิดอันตราย แต่สาเหตุที่สร้างพระพุทธรูปหันหลังให้กันนั้นยังไม่พบหลักฐานที่แน่นอน ได้แต่มีการเล่าสืบต่อกันมาว่าเพื่อเป็นศิริมงคลและปกป้องรักษาบ้านเมืองทุกทิศทุกทาง ในสมัยพระเทพสิทธฺนายก เป็นเจ้าคณะจังหวัดอยู่ที่วัดนครสวรรค์นี้ ก็เล่าว่าเคยเห็นเสาที่เตรียมจะก่อสร้างทิ้งไว้เกะกะจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีใครกล้าสร้าง จนต่อมาเมื่อพ.ศ. 2468 ได้มีบุคคลในตระกูล"อินทร" ได้ซ่อมแซมองค์พระทั้งสอง และทำหลังคามุงสังกะสีไม้เป็นที่มุงบังเฉพาะ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ 2 องค์เท่านั้น เนื่องจากทางด้านหน้า ยังมีหลังคากระเบื้องเก่าเหลืออยู่

   พระพุทธรูปปางสุโขทัย จำนวน 4 องค์ มีชื่อ ดังนี้

1. วรัญญูสุโขทัย

2. ชัยฤทธิ์มงคล

3. ทศพลมุนินทร์

4. ชินณรงค์มุนี

สำหรับพระชินณรงค์มุนี องค์ที่ 4 นั้น ถอดออกเป็นชิ้นส่วน ได้มีหลวงหาญสงคราม นำทัพจากค่ายทหารจิรประวัติไปรบที่เมืองเชียงตุง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้พบพระพุทธรูปปางสุโขทัยแล้ว ได้นำมาถวายพระเทพสิทธินายกเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ ได้ประดิษฐานไว้ที่วัดนครสวรรค์ ครั้งนั้นได้มีการฉลองกันเป็นงานใหญ่ ปัจจุบันนี้ทายาทของหลวงหาญสงครามจะมานมัสการทุกปี เพราะถือว่าเป็นพระพุทธรูปประจำตระกูลด้วยความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง พระพุทธรูปทั้ง 4 องค์นี้ เก็บรักษาไว้ที่กุฏิของเจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์ เมื่อถึงเทศกาลลอยกระทงทุกปี ทางวัดจะนำเอาพระพุทธรูปทั้ง 4 องค์ มาตั้งไว้ในบริเวณงานลอยกระทง เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเคารพสักการะทุกปี

พระพุทธคันธารราฐ

   ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 9 ได้มีพระบรมราชานุญาตให้ดร.แสวงและคุณหญิงสมจิตร กุลทองคำสร้างขึ้นจำนวน 9 องค์เมื่อ 5 สิงหาคม 2527 สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดเบญจมบพิตรเจ้าคณะใหญ่หนเหนือได้ให้ไว้ประจำทางภาคเหนือ 1 องค์ โดยถวายมาให้เป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำวัดนครสวรรค์   เมื่อพ.ศ. 2533 ประสบฝนแล้งมาก พระเทพญานโมลีได้แนะนำให้อาราธนาพระพุทธคันธารราฐไปทำพิธีขอฝน ญาติโยมก็ดีใจและได้นิมนต์พระมาสวดทำพิธีขอฝนต่อหน้าองค์พระหลังจากนั้นไม่นานฝนก็ตกเป็นการใหญ่ หลายวันติดต่อกันจนน้ำฝนท่วม ชาวบ้านวังกรดจึงต้องอาราธนาพระพุทธคันธารราฐมาส่งวัดนครสวรรค์ตามเดิม

 " เข้าวัดกันบ้างนะคะ อย่างน้อยก็ทำให้จิตใจสงบและปลงได้ดีขึ้น"

หมายเลขบันทึก: 74978เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2007 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • เข้าใกล้ความสงบจะพบความสงบ ครับ
  • เข้าใกล้ความดีจะพบกับความดี  ครับ
  • เมื่อช่วงบ่ายก็ไปวัดมา  ครับ
  มีโอกาสมาเที่ยวนครสวรรค์ เชิญอาจารย์ใหญ่ เม็กดำ 1 เที่ยววัดนครสวรรค์นะคะ

บ้านผมอยู่ใกล้วัดนี้ครับ ย้อนกลับไปสัก พ.ศ.2512 ผมไปวิ่งเล่นในวัดนี้บ่อย แทบทุกซอกทุกมุม มีเพื่อนเป็นเด็กวัดนี้ด้วย สมัยนั้นศาลายังเป็นไม้ใต้ถุนสูง เสาไม้สักใหญ่มโหฬาร ด้านริมกำแพงด้านถนนสวรรค์วิถียังมีกรงหมีควายตัวเบ่อเร่อแถมยังตะปบเด็กที่อยู่ใกล้กรงอีก

เดี่ยวนี้กลับไปเห็นแต่กุฎิติดฟิมล์ดำ ติดแอร์เพียบ

เพิ่มเติมส่วนประวัติพระหันหลังชนกัน สมัยเด็กเคยได้ยินมาว่า สร้างสมัยพม่ามารบไทย พม่าสร้างองค์หนึ่งหันหน้าไปพม่า ไทยสร้างองค์หนึ่งหันหน้ามาไทย เพราะทั้งสองไม่ถูกกันในช่วงศึกสงคราม

  • ขอภาพใหญ่ๆ หน่อยสิจ๊ะ ... ป้าแก่แย๊ว ว ว ...
  • ข้างวัดนครสวรรค์มีร้านอาหารอร่อยด้วยนะ
  • แต่ต้องฝึกความใจเย็นรอนานหน่อยนะจ้ะ
คนคอนหวันอยู่เมืองแขก JNU

อ่านแล้วได้ความรู้ดีค่ะ  แวะเข้ามาเพราะคิดถึงบ้านเหลือเกิน (เครียดจากการอ่านหนังสือด้วย) พอดีเปิดเวบแล้วเจอ ข้างวัดมีก๋วยเตี๋ยวอร่อยอยู่เจ้าหนึ่งเป็นรถเข็น กลับจากเมืองแขก -ปิดเทอม ต้องไปกินทุกรอบ  ไปทำบุญที่วัดก็บ่อยค่ะ ก่อนมาเรียนก็ไปไหว้ขอพรหลวงพ่อศรีสวรรค์ด้วยค่ะ น้องชายคนเดียวก็บวชที่นี่ค่ะ...รักคอนหวัน  

คุณ คนคอนหวันอยู่เมืองแขก JNU ตอนนี้วัดเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากแล้วจ้ะ

  • อาคารหลวงพ่อสองพี่น้อง ก็ก่อสร้างใหม่แล้ว 
  • บริเวณด้านในวัดมีอาคารสร้างเพื่อให้ญาติโยมไปทำบุญถวายสังฆทาน ต่อชะตา

แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือข้างวัดก็ยังมีร้านก๋วยเตี๋ยวอร่อยเจ้าเดิมอยู่คู่กับรถเข็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท