เชื่อมวิจัยสู่นโยบาย


ทางการแพทย์ใครมาบอกให้รักษาคนไข้โดยใช้ความคิดใหม่ๆแล้วค่อยมาวิจัยคงถูกโห่ไล่ลงเวที

ผมขอเล่าเรื่องที่ไปประชุม ขององค์การอนามัยโลกที่ขอนแก่นเมื่อเดือน ธคที่ผ่านมาให้ฟังหน่อย เพราะมีเรื่องที่ชาว R2R อาจจะสนใจเนื่องด้วยมันเกี่ยวกับการเอางานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ เพียงแต่ว่าเขาคุยกันเรื่อง เอาวิจัยไปผลักดันนโยบาย ว่าควรทำกันยังไง ไม่ใช่เรื่องเอาวิจัยไปปรับปรุงงานประจำอย่างที่ชาว R2R คุยกันอยู่ แต่มีอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจ ครับ

องค์การอนามัยโลกมาจัดประชุมที่ขอนแก่น โดยมี อจ หมอภิเศก ลุมพิกานนท์ เป็นผู้็จัดการใหญ่ โดยวัตถุประสงค์การประชุมคือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของการเอาความรู้จากการวิจัยไปใช้สร้างนโยบายสุขภาพ ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้มีอำนาจใช้แต่ความเห็น หรือประสบการณ์ตัวเองเป็นหลัก

เรื่องแบบนี้พูดกันมาเป็น10 ปีแล้ว ด้วยนักวิชาการมีความเชื่อว่า คนมีอำนาจมักตัดสินใจโดยไม่มีความรู้และข้อมูล โดยเฉพาะความรู้จากการวิจัย

เหมือนที่เชื่อกันว่า คนที่เป็นหมอมักรักษาคนไข้โดยใช้ความรู้จากตำรา ซึ่งอาจจะล้าสมัย ในขณะเดียวกันก็จะใช้ยาใหม่ๆโดยฟังจากผู้แทนยามากกว่าศึกษาจากผลการวิจัย หรือไม่ก็ไม่ได้ตามผลการวิจัยล่าสุดใช้แต่ความรู้เก่าๆ

จะเห็นว่านักวิจัยเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไร แม้กระทั่งวิชาชีพที่ดูเหมือนจะมีความรู้สูงๆอย่างแพทย์ก็ยังต้องอาศัยการวิจัยตลอดเวลา ไม่ควรใช้แต่ประสบการณ์หรือความรู้เดิมๆ ยิ่งเป็นนักการเมือง หรือผู้มีอำนาจตัดสินใจทางนโยบายก็ยิ่งตกเป็นเป้าว่าไม่รู้จักใช้การวิจัยให้เป็นประโยชน์

ที่น่าสนใจกว่านั้นคือวงการแพทย์และสาธารณสุขดูจะเป็นวงการที่มีการวิจัยออกมามากมาย โดยมีเป้าหมายให้คนกลุ่มต่างๆเอาไปใช้ประโยชน์ต่อ ไม่ว่าจะเป็นคนในวิชาชีพหรือแม้กระทั่งนักการเมือง

เริ่มจากวงการแพทย์มีคำว่า evidence-based medicine ลามมาจนถึงวงการนโยบายสุขภาพมีคำว่า evidence-based policy development

แต่ที่แน่ๆคือสองวงการนี้ไม่เหมือนกัน หลายคนยอมรับตรงกันว่าทำงานกับวงการนโยบายสุขภาพยากกว่าทำงานกับวงการแพทย์ และเมืองไทยก็ดูจะเป็นที่รู้จักกันในวงการสาธารณสุขนานาชาติว่ามีการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพได้ค่อนข้างดี โดยมีการเน้นเรื่องการใช้ความรู้เป็นเครื่องมือสำคัญ

ทฤษฏีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของ อาจารย์ประเวศเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในองค์การอนามัยโลก แต่ดูเหมือนคนที่คลุกคลีอยู่ในวงการนโยบายจะรู้ดีว่าธรรมชาติหนึ่งของเรื่องนโยบายคือเงื่อนไขเรื่องเวลา เพราะคนกำหนดนโยบายมักต้องตัดสินใจรวดเร็วให้ทันกับเหตุการณ์ บ่อยครั้งไม่อาจรอมาทำวิจัยก่อนได้

งานวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบายจึงมักต้องเป็นงานที่ทำไว้ก่อน

ซึ่งแปลว่านักวิจัยต้องมองไปข้างหน้า แล้วสร้างความรู้รอไว้ ถ้าปล่อยให้ผู้กำหนดนโยบายเป็นฝ่ายรุกมาตั้งโจทย์แล้วขอคำตอบให้ทันใช้ ก็มักจะไม่ทันการ หรือไม่นักวิชาการก็ต้องมองไปข้างหน้า และวิเคราะห์ทางวิชาการแล้วหาทางนำเสนอเพื่อให้เกิดนโยบายที่ควรเป็น โดยไม่ต้องรอให้ผู้กำหนดนโยบายมาเป็นคนขอให้ทำวิจัยให้

ซึ่งว่าไปแล้วตรงนี้คือจุดสำคัญของแนวคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของอาจารย์ประเวศ แต่คนทั่วไปมักไม่ไม่ค่อยมองในมุมนี้ เพราะว่าไปแล้วการเอาความรู้ไปเคลื่อนนโยบาย นักวิชาการต้องเป็นฝ่ายรุกตั้งแต่การสามารถมองไปข้างหน้า เหมือนที่มีคนเคยบอกไว้ว่า งานวิจัยคืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง

หรือพูดอีกอย่างคือการวิจัยคือการสร้างอนาคตที่พึงเป็น

คนที่ทำวิจัยแล้วค่อยมาวางแผนว่าจะใช้ประโยชน์ยังไงจึงมักจะพบปัญหาว่า นักการเมืองหรือผู้กำหนดนโยบายอาจไม่อยากฟัง หรือไม่ก็ตกอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้กำหนดนโยบายได้ เพราะมัวแต่ไปรอโจทย์จากผู้กำหนดนโยบาย พอได้โจทย์มาก็ทำไม่ทันใช้เป็นส่วนใหญ่

แต่อีกเรื่องที่มีการพูดกันพอสมควรในการประชุมคือเรื่องการพัฒนานโยบายที่ไม่ได้เริ่มจากผลการวิจัย แต่เริ่มจากความคิดใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งประสบการณ์ หรือแนวคิดบางอย่างที่อาจจะยังไม่มีผลการวิจัยมาสนับสนุน ซึ่งเรื่องนี้ถกเถียงกันมาก ว่าควรเป็นอย่างไรดี

เพราะถ้านักวิชาการปล่อยให้เกิดนโยบายที่มาจากความคิดริเริ่มของฝ่ายการเมือง โดยไม่มีฐานมาจากการวิจัย มันอาจเป็นนโยบายที่มีอันตราย และทำความเสียหายได้มากมาย

นักวิชาการทางฝั่งอังกฤษ จะพูดถึงนโยบายสาธารณสุขของรัฐบาลแธตเชอร์อย่างเรื่องการสร้างตลาดภายใน (internal market) ว่าทำความเสียหายมากมาย และก็ต้องเลิกไป หลายเรื่อง ถ้ารัฐบาลเชื่อนักวิจัย หรือใช้นักวิจัยมากกว่าดันทุรังจะทำตามความคิดตัวเองก็น่าจะทำความเสียหายน้อยกว่านี้

ส่วนฝั่งไทยเราที่มองโลกตามความเป็นจริงมากกว่าก็บอกว่าเรื่องความคิดริเริ่มแม้จะมาจากนักการเมืองก็อาจจะไม่ใช่เรื่องผิดไปเสียหมด บางทีเขาก็ต้องตัดสินใจรวดเร็ว หน้าที่ของนักวิจัยอาจจะอยู่ที่การลงไปทำการประเมิน เพื่อปรับนโยบาย มากกว่าที่จะตั้งเป้าทำวิจัยเพื่อเสนอนโยบายแต่เพียงอย่างเดียว

ถ้ามองจากมุมของการแพทย์ ถ้าใครมาบอกว่าให้รักษาคนไข้โดยใช้ความคิดใหม่ๆ แล้วค่อยวิจัยตามหลัง คงถูกโห่ไล่ลงเวที เพราะคงไม่มีใครอยากให้หมอใช้ความเห็น หรือความคิดริเริ่มเป็นหลัก ตัวอย่างยาใหม่ๆดูจะชัดเจนว่าถ้าไม่ผ่านการวิจัยอย่างเข้มข้นก็ยากที่จะผ่านการอนุมัติให้ใช้ได้

แต่ถ้าลงไปดูจริงๆก็จะพบว่าแม้ในวงการแพทย์เองก็มีการรักษาผู้ป่วยโดยใช้ความรู้วิชาการผสมกับความคิดริเริ่มโดยไม่มีการวิจัยอยู่ไม่น้อย อย่างเช่นการใช้ยาสเตียรอยด์รักษาสมองบวม หรือรักษาคนไข้มาเลเรียที่ไม่รู้ตัว ซึ่งต่อมาจึงมีการวิจัยว่าได้ผลหรือไม่ได้ผลแค่ไหนเพียงไร

หรืออย่างการตัดฝีเย็บเพื่อให้คลอดง่ายและลดการติดเชื้อหลังคลอดก็ทำกันมานานกว่าจะมีผลวิจัยมาบอกว่าการทำแบบนี้ไม่มีประโยชน์อย่างที่เชื่อกันมานาน แต่ดูเหมือนก็ยังมีการตัดฝีเย็บเวลาคลอดทางช่องคลอดเป็นปกติอยู่

ที่พูดแบบนี้คงไม่ได้หมายความว่าให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดใหม่ๆเป็นหลักในการสร้างนโยบาย โดยไม่ต้องสนใจเรื่องการทำวิจัย

แต่ที่แน่ๆคือไม่มีวันที่ใครจะสร้างนโยบายจากการวิจัยแต่เพียงอย่างเดียว

และว่าไปแล้วนโยบายจำนวนไม่น้อยก็เป็นการเลียนแบบกันมาจากประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ แม้จะรู้ดีว่าพื้นฐานประเทศแตกต่างกัน

สิ่งสำคัญในเรื่องการเอาวิจัยไปรับใช้การพัฒนานโยบายจึงดูจะอยู่ที่ความสามารถในการสร้างการเรียนรู้ในนโยบายต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มาจากการวิจัยของนักวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว

ในขณะเดียวกันนักวิจัยก็ต้องพร้อมจะเข้าไปประเมินแนวคิดใหม่ๆของฝ่ายนโยบายว่ามีพื้นฐานทางวิชาการเข้มแข็งเพียงไร และแม้จะมีการประกาศใช้เป็นนโยบายแล้วก็ต้องลงไปติดตามประเมินผล เพื่อเอามาใช้ปรับปรุงให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ โดยถือหลักสร้างการเรียนรู้ด้วยกัน แม้จะรู้ดีว่านโยบายบางเรื่องอาจก่อผลเสียหายในช่วงที่ยังมีความรู้ไม่ชัดจนเพียงพอ

การจะทำแบบนี้ได้ต้องมีการทำงานแบบใหม่ จะไปมัวทำวิจัยทีละโครงการคงไม่ได้ แต่ต้องมีการจัดตั้งทำเป็นเรื่องราวอย่างต่อเนื่อง โดยเกาะติด แต่ไม่ตกเป็นเบี้ยล่างของฝ่ายนโยบาย พร้อมกันนั้นก็ต้องดูจังหวะก้าวของกระบวนการนโยบาย

พร้อมกับการเข้าไปสร้างกระบวนการนโยบายตามแนวคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ไม่ปล่อยให้ฝ่ายการเมืองผูกขาดกระบวนการนโยบายอยู่ฝ่ายเดียว ส่วนนักวิชาการก็ตั้งหน้าตั้งตาทำแต่วิจัยโดยมีเป้าหมายจะให้งานออกมามีคุณภาพดีที่สุด

การให้นักวิชาการมายุ่งเกี่ยว หรือให้ความสำคัญกับกระบวนการนโยบาย พร้อมๆกับพยายามทำงานวิจัยให้มีคุณภาพดีที่สุด เป็นการเรียกร้องที่เกินกว่ามาตรฐานการทำงานของนักวิชาการ

แต่เป็นประเด็นสำคัญหากเป้าหมายอยู่ที่การทำให้งานวิจัยส่งผลต่อการพัฒนานโยบาย

คงต้องมาช่วยกันสร้างทัศนคติ และความสามารถของวงการวิชาการในการทำงานแบบนี้ ไม่ปล่อยให้นักวิชาการอยู่แต่ในกระบวนการวิจัย แล้วปล่อยให้กระบวนการนโยบายอยู่ในมือของฝ่ายนโยบายแต่เพียงฝ่ายเดียว

หมายเลขบันทึก: 74965เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2007 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 15:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท