หรือสินค้าเกษตรจะตกอับในยุค Knowledge Economy (ตอนที่ 2)


ที่ผ่านมาเราได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไปอย่างฟุ่มเฟือย เพื่อแลกกับฐานะผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ ในขณะที่รายได้จากการจำหน่ายสินค้าเกษตรของเราที่ได้กลับคืนมานั้นถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย จากมุมมองที่ว่าเราจะผลิตสินค้าเกษตรอย่างไรให้ได้ปริมาณมาก ๆ ผลักดันสู่การส่งออก อาจต้องหันมาพิจารณาการพัฒนาองค์ความรู้ในการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้รูปแบบที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในยุคของ Knowledge Economy น่าจะเหมาะสมกว่า
  จากตอนที่ 1  มีคำถามทิ้งไว้ว่า  ถ้าผลิตภัณฑ์เกษตรถูกลดความสำคัญจนมีสัดส่วนแค่ 4% ของผลผลิตในโลกนี้  โดย 32% เป็นผลผลิตทางอุตสาหกรรม และ 62% เป็นผลผลิตด้านการบริการ..... แล้วประชากรในโลกที่เพิ่มจำนวนแบบทวีคูณ จนปี 1999 มีจำนวนมากกว่า 6,000 ล้านคน จะกินอะไร.......

เป็นการตั้งคำถามจากข้อสังเกตในการถ่ายโอนสัดส่วนผลผลิตในปี 1960 ที่ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมีสัดส่วน 30% ลดเหลือ 4% ในปี 1998  ลดลง 26%  ขณะที่ ผลผลิตด้านการบริการเพิ่มขึ้นจาก 38% ในปี 1960  เป็น 62% ในปี 1998  เพิ่มขึ้น 24%  โดยสัดส่วนผลผลิตด้านอุตสาหกรรมนั้นยังคงที่ในระดับ 32%

 ในทางตรรกะ (Logic)  ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ว่าประชากรในโลกจะกินน้อยลง  เพราะตัวเลขการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าจำนวนคนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในแต่ละปี   การบริโภคอาหารย่อมเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ..... แล้วทำไมสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรซึ่งเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงประชากรโลกจึงได้ลดลงอย่างน่าตกใจเมื่อเทียบกับผลผลิตอื่นๆ..... ค่อนข้างจะสวนทางกับความต้องการบริโภคที่น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ก็เลยมานั่งวิเคราะห์ตัวเลขที่  Juan  Enriquez ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแนวโน้มอนาคต...ไม่แน่ใจค่ะว่าตัวเลขในเอกสารที่ได้มานั้นข้อมูลถูกต้องครบถ้วนหรือไม่  เพราะไม่มีหนังสืออยู่ในมือ แต่จากตัวเลขข้อมูลที่ได้มา  ไม่ได้มีการระบุถึงมูลค่าโดยรวมของผลผลิตในโลก (Global Production) ของปี 1960 และ 1998 ว่ามีเท่าใด    มีเพียงการเปรียบเทียบสัดส่วนเป็นร้อยละเท่านั้น  จึงอาจเป็นไปได้ว่ามูลค่าของผลผลิตด้านการเกษตรนั้นเพิ่มขึ้นตามความต้องการบริโภค  แต่การขยายตัวของอุปสงค์ (Demand) ในผลผลิตด้านอุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์ด้านบริการผลักดันให้ปริมาณการผลิตสินค้าประเภทดังกล่าวเติบโตขึ้นสูงมากจนทำให้ผลผลิตด้านการเกษตรดูน้อยไปถนัดตาเมื่อถูกนำมาเปรียบเทียบกัน

หรืออาจกล่าวได้ว่า  การเปลี่ยนแปลงรูปแบบชีวิต (life style) ของคน ที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้นตามพัฒนาการของเทคโนโลยี   ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรที่ไม่แปรรูป (Agriculture Product) มีน้อยลงส่งผลให้ผลผลิตประเภทนี้ออกสู่ตลาดน้อยลง  ขณะที่สินค้าเกษตรที่ถูกแปรรูปด้วยระบบอุตสาหกรรม (Manufacturing) จะเป็นที่ต้องการมากกว่าเพราะเพิ่มความสะดวกสบาย  มีการปรับแต่งผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับรูปแบบชีวิตของคนได้หลากหลาย   ส่วนความต้องการผลิตภัณฑ์ด้านการบริการ(Service) นั้นเติบโตแบบก้าวกระโดดตามมาตรฐานชีวิตของคนที่เพิ่มสูงขึ้นตามระดับของการพัฒนาประเทศซึ่งสืบเนื่องมาจากแรงผลักของการพัฒนาเทคโนโลยี

ดังนั้น    ในความเป็นจริงแล้วผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรไม่ได้ตกอับ   เพราะยังคงมีความสำคัญอยู่ในการดำรงชีวิตของประชากรโลก  เพียงแต่แรงผลักดันของเทคโนโลยี  และมาตรฐานการดำรงชีวิตของคนที่เปลี่ยนไป  ทำให้รูปแบบของความต้องการผลผลิตเปลี่ยนไป  สินค้าเกษตรแบบดั้งเดิมที่ไม่ผ่านการแปรรูปไม่ค่อยเป็นที่ต้องการเพราะ ไม่สะดวก   ดังนั้น  โจทย์ของบรรดาผู้ผลิตสินค้าเกษตรจึงน่าจะอยู่ที่ว่าทำอย่างไรจึงจะ สะดวก (Convenience) สำหรับผู้บริโภค   

ทั้งนี้แนวทางพัฒนาก็คงจะวนกลับมาที่ประเด็นของ Knowledge Economy ที่จะต้องมีการสร้างเสริมความรู้ให้เกิดขึ้นและกระจายตัวทุกระดับของประชากรในประเทศ    เพราะการสั่งสมความรู้จะทำให้ประเทศร่ำรวยอย่างยั่งยืน ( Consistently richer) จากการที่รู้จักใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างคุ้มค่า ถูกวิธี  

Juan  Enriquez ได้ยกตัวอย่างประเทศที่มีปริมาณทรัพยากรธรรมชาติน้อย แต่มีฐานะร่ำรวย  อาทิ ไต้หวัน   อิสราเอล เนเธอแลนด์    ฮ่องกง   เดนมาร์ค  สิงคโปร์   ในขณะที่ประเทศอีกกลุ่มหนึ่งมีทรัพยากรมาก แต่กลับยากจน อาทิ คองโก  ไนจีเรีย  แองโกลล่า อินเดีย โคลัมเบีย เมกซิโก  

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะนักพัฒนาประเทศกลุ่มที่มีทรัพยากรมากนั้นใช้ ตรรกะทางความคิด ที่มุ่งแต่จะนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรในประเทศที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา  การมุ่งแต่คิดว่าจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร    การทำเช่นนี้มีแต่จะทำให้ประเทศยากจนลง  แนวทางการพัฒนาที่ถูกต้องควรมุ่งให้การศึกษาแก่ประชากรมากกว่า"   (Juan Enriques)

 

ตัวอย่างที่ Enriquez หยิบยกขึ้นมา  คงเป็นข้อเตือนใจได้ดีสำหรับประเทศไทย ในการเลือกใช้แนวนโยบายพัฒนาให้เหมาะสม เพราะที่ผ่านมาเราได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไปอย่างฟุ่มเฟือย เพื่อแลกกับฐานะผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่  ในขณะที่รายได้จากการจำหน่ายสินค้าเกษตรของเราที่ได้กลับคืนมานั้นถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย    จากมุมมองที่ว่าเราจะผลิตสินค้าเกษตรอย่างไรให้ได้ปริมาณมาก ๆ ผลักดันสู่การส่งออก  อาจต้องหันมาพิจารณาการพัฒนาองค์ความรู้ในการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้รูปแบบที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในยุคของ  Knowledge Economy น่าจะเหมาะสมกว่า

   **********************************************************
หมายเลขบันทึก: 74936เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2007 12:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 10:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท