ปวดศีรษะทำอย่างไร


วันนี้รู้สึกว่าสุขภาพไม่ค่อยดี มีอาการปวดและมึนศีรษะ บางครั้งคลื่นไส้ (ไม่ได้แพ้ท้องนะคะ)จึงสนใจที่จะรู้ถึงที่มาที่ไป หาสาเหตุของการปวด และวิธีแก้ไข เชื่อว่าทุกท่านคงเคยปวดศีรษะกันทุกคน แต่จะปวดแบบไหน มากน้อยต่างกันไป หากสนใจลองเข้ามาอ่านดูนะคะ ปวดศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อยมากที่สุด ทุกคนเคยปวดศีรษะมาแล้วทั้งนั้น ซึ่งอาจมีความรุนแรงเยงเล็กน้อย ไม่ทำให้ผู้ที่มีอาการปวดเดือดร้อนแต่ประการใด จนถึงมีอาการปวดมากที่สุดจนทุรนทุราย แต่ในบางครั้งอาการปวดศีรษะไม่ว่าจะมีอาการปวดรุนแรงมากน้อยเพียงใดก็ตาม อาจเป็นสาเหตุที่รุนแรงและมีอันตรายได้ สาเหตุของการปวดศีรษะมีได้หลายประการ 1. มีความผิดปกติในเนื้อสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง เส้นเลือดในสมองโป่งพอง 2. มีความผิดปกตินอกเนื้อสมอง เช่น โพรงจมูกอักเสบ, หูอักเสบ, สายตาผิดปกติ 3. มีความตึงเครียดทางอารมณ์ ส่วนการรักษานั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุของการปวด อาการปวดศีรษะที่พบบ่อยและควรทราบเพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้องคือ 1. ปวดศีรษะไมเกรน (Headaches, Migrain) มีลักษณะเฉพาะคือปวดศีรษะข้างเดียวอย่าง รุนแรง มักจะเริ่มปวดรอบ ๆ ลูกตาก่อน (ส่วนน้อยปวดทั้งสองข้างพร้อมกัน) ลักษณะการปวดจะปวดตุบ ๆ แปลบ ๆ เป็นระยะ ๆ ก่อนเกิดอาการปวดจะมีอาการนำมาก่อนประมาณ 10 - 30 นาที เช่น คลื่นไส้ อาเจียน งุนงง วิงเวียน เห็นภาพซ้อน ตาไวต่อแสง พูดลำบาก (บางครั้งการอาเจียนทำให้อาการปวดศีรษะดีขึ้น) สาเหตุการปวดศีรษะแบบไมเกรนยังไม่ทราบแน่นอน มีผู้ศึกษาพบว่าเกิดจากการอักเสบหรือการระคายเคืองของเส้นเลือดที่บริเวณหนังศีรษะ ทำให้มีการหดตัวและขยายตัวของเส้นเลือดบริเวณดังกล่าว จึงเกิดอาการปวดศีรษะขึ้นและพบว่า 70 % ของผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรนเป็นหญิง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนและการมีประจำเดือน ปัจจัยอื่น ๆ กรรมพันธุ์มีความสำคัญมาก การมีประวัติปวดศีรษะในครอบครัว อาหารที่มีสารปรุงแต่งของผงชูรส สารกันบูด อาหารรมควัน ตับไก่ พืชตระกูลส้ม มะนาว ชอคโกแลต แนยแข็ง ไวด์แดง กลิ่นคาว ๆ แสงจ้า ๆ และเสียงดัง เป็นต้น ระยะเวลาการปวดศีรษะชนิดนี้ อาจเป็นนาทีและอาจจะนานเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ได้ การรักษา อาการปวดศีรษะไมเกรนไม่เป็นอันตรายมากนัก อาจหายได้เอง แต่อาจทำให้คุณภาพชีวิตเปลี่ยนแปลงไป หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองขาดเลือด (Stroke) ได้ 1. การรักษาที่ได้ผลดีที่สุดคือ การหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะและพยายามหลีกเลี่ยงสาเหตุนั้น ๆ 2. การเริ่มรักษาเมื่อเริ่มมีอาการนำมาของการปวด โดย - รับประทานยาแก้ปวดแอสไพรินหรือพาราเซตามอล 2 เม็ด โคลา กาแฟ - นอนพักในที่มืด ๆ เงียบ ๆ ประคบด้วยความเย็นที่หน้าผาก 3. อาการปวดเกิดอยู่นานควรพบแพทย์ แพทย์อาจให้ยาป้องกันอาการปวดให้ 4. อาจใช้วิธีไม่รับประทานยา เช่น การผ่อนคลอาย ทำสมาธิ โยคะ ฝึกใช้ความคิดเชิงบวก ท่าน จะหลีกเลี่ยงอาการปวดศีรษะไมเกรนได้อย่างไร 1. สังเกตเรื่องอาหาร สิ่งแวดล้อม อารมณ์ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวด 2. เรียนรู้การแก้ไขความโกรธ ความเครียด 3. เรียนรู้เทคนิคการผ่อนคลายที่จะช่วยขจัดความรุนแรงของการปวด 4. กำหนดการรับประทานอาหาร การนอน การออกกำลังกายให้เหมาะสม (เพื่อเกิดความสมดุลย์ของร่างกาย) 5. ปวดนาน ๆ ควรพบแพทย์ 2. ปวดศีรษะจากอารมณ์และความเครียด (Headeches, tension) อาจเกิดจากการใช้ความคิด มีปัญหาซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง เช่น ปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ เพื่อนร่วมงาน ปัญหาทางเพศ การทำงาน การสอน ลักษณะการปวด จะปวดตื้อ ๆ เหมือนมีผ้ามาบีบรัด หรือมีผ้ามาโพกรอบศีรษะ ขมับท้ายทอย รอบ ๆ กระบอกตา อาจจะปวดตรงด้านหน้าลงมาตามกล้ามเนื้อท้ายทอย อาการปวดมักจะเป็นตอนบ่าย หลังจากทำงานมาเป็นเวลานาน ๆ ผู้ที่ปวดศีรษะประเภทนี้มักจะเป็นผู้ที่มีความมุ่งหวังในความสำเร็จสูง ขี้อาย กลัว เป็นต้น คำแนะนำ 1. พยายามหาสาเหตุของกาปวดศีรษะและหลีกเลี่ยงสาเหตุนั้น ๆ 2. รับประทานยาแก้ปวดหรือแอสไพรินหรือพาราเซตามอล ถ้าไม่หายรับแระทานซ้ำทุก 4 - 6 ชั่วโมง 3. ลดความเคร่งเครียดในการทำงานและพักผ่อนให้เพียงพอ 4. ตรวจสอบสายตา แว่นตา เพราะอาจเกิดจากตาเพลียได้ 5. ลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการออกกำลังกายทุกวัน เช่น ว่ายน้ำ วิ่งเหยาะ ๆ เดินเร็ว ผ่อนคลายโดยการฟังเพลง การนวดต้นคออย่างถูกวิธี กดบริเวณขมับ ทำโยคะและสมาธิ 6. ปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเอง อาจจะขอคำปรึกษาจากผู้ให้การปรึกษา เช่น พยาบาล นักจิตวิทยา จิตแพทย์ เพื่อระบายความไม่สบายใจ และร่วมกันหาแนวทางแก้ไข 7. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือเป็นบ่อย ๆ แพทย์อาจให้ยากล่อมประสาท ยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการปวดลง จะหลีกเลี่ยงอาการปวดศีรษะจากความเครียดได้อย่างไร 1. ให้เวลาในการพักผ่อนและคลายเครียดในแต่ละวัน 2. มีเวลาเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง สร้างพลัง ลดความตึงเครียด โดยการออกกำลังกาย 3. พยายามหาสาเหตุและขจัดสาเหตุของความเครียดออกจากการดำเนินชีวิต 4. เปลี่ยนงาน (อาชีพ) หรือเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต หรือหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด 3. การปวดศีรษะรุนแรงแบบเกาะกลุ่ม (Headeches, cluster) เป็นอาการปวดที่รุนแรงจะปวดข้างเดียวหลังลูกตา อาการปวดจะปวดนานเป็นวัน เป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือนหรือนานกว่านี้ หรืออาจเกิดอาการปวด 10 ครั้ง ใน 1 วันก็ได้ มักเกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิงพบได้ในช่วงอายุ 20 - 30 ปี อาการปวดบางครั้งอาจเกิดขึ้นกลางดึกได้ แพทย์บางท่านเชื่อว่าการปวดศีรษะชนิดนี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดความดันเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ แผลในกระเพาะอาหาร เบาหวาน สาเหตุ ของการปวดเกิดจากการหดตัวขยายตัวของเส้นเลือดบริเวณหนังศีรษะคล้ายปวดไมเกรน แต่แตกต่างในระยะเวลาและความถี่ บางรายเชื่อว่าเกิดจากระบบประสาท และมีความเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่มากหรือดื่มเหล้าจัด การวินิจฉัย จากประวัติเอ็กซเรย์สมอง (CT. MRI) คำแนะนำ 1. บันทึกอาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นเพื่อหาสาเหตุที่อาจเกิดจากอาหาร เครื่องดื่มและกิจกรรมในชั่วโมงที่มีอาการปวดศีรษะ 2. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ ซึ่งจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว 3. การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และนิสัยการนอน จะช่วยควบคุมการปวดศีรษะได้ 4. การรับประทานยาแก้ปวดอาจช่วยได้บ้าง สิ่งที่จะช่วยได้ดีที่สุดคือ การป้องกัน 5. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพราะจะได้ยารับประทานอย่างต่อเนื่องหรืออาการปวดนั้นอาจมีโรคอื่น ๆ เช่น ต้อหิน เป็นต้น 4. ปวดศีรษะจากความดันเลือดสูง ลักษณะการปวดจะปวดแบบมึน ๆ ตื้อ ๆ ตลอดเวลา จะเป็นมากเวลาตื่นนอนกลางวัน อาการปวดจะทุเลาลงหรือปวดขณะไอ จาม เบ่งอุจจาระ เพราะจะทำให้ความดันในกระโหลกศีรษะสูงขึ้นชั่วคราว ถ้าปวดรุนแรงอาจมีอาเจียนร่วมด้วย อาจมีตามัวก่อนวัย ตำแหน่งที่ปวดคือบริเวณท้ายทอย คำแนะนำ 1. ไปรับการตรวจจากแพทย์ รับประทานยาตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอ มาตามนัดทุกครั้ง 2. พยายามคุมน้ำหนัก ลดอาหารเค็ม และอาหารที่ทำให้อ้วน 3. ทำจิตใจให้สบายและพักผ่อนให้เพียงพอ 5. ปวดศีรษะเนื่องจากสายตาผิดปกติ ลักษณะการปวดจะปวดมากเวลาใช้สายตามองไกลหรือมองใกล้ไม่ชัด ปวดข้างเดียวตื้อ ๆ รุนแรง ตาแดง ตาพร่ามัว ตำแหน่งที่ปวดคือ บริเวณกระบอกตา หน้าผาก และขมับ เกิดจากการใช้สายตามากเกินไป เช่น อ่านหนังสือนาน ๆ สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ต้อหิน คำแนะนำ ควรไปรับการตรวจจากจักษุแพทย์ 6. ปวดศีรษะเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น จากไข้หวัด โพรงจมูกอักเสบ เป็นฝีที่รากฟัน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ สมองถูกกระทบกระเทือน คำแนะนำ ปวดศีรษะจากสาเหตุดังกล่าว ต้องได้รับการตรวจจากแพทย์และรับคำแนะนำเป็นระยะ ๆ ไป ปัญหาการปวดศีรษะในประชากรบางกลุ่ม อาการปวดศีรษะในผู้สูงอายุ ส่วนน้อยที่จะเกิดจากปัญหาเส้นเลือด การหดตัวของกล้ามเนื้อและไมเกรน ส่วนใหญ่จะมีเรื่องของอาการมึนงง ซึ่งบางครั้งอาจจะให้ประวัติสับสนกับอาการปวดศีรษะ อาการเหล่านี้ในผู้สูงอายุมีสาเหตุมากมาย เช่น เรื่องของความดันเลือดต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ การทรงตัวไม่ดีเนื่องจากโรคของหู ตา หรือประสาทรับความรู้สึกเสียไป นอกจากนี้ผู้สูงอายุอาจมีอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อต้นคอ ซึ่งเกิดจากการเสื่อมของกระดูกบริเวณต้นคอเพิ่มขึ้น อาการปวดศีรษะในหญิงจะค่อนข้างสูง โดยเฉพาะไมเกรนมักเกิดร่วมกับการมีประจำเดือนหรือการหมดประจำเดือนได้ ส่วนรายที่ตั้งครรภ์อาการปวดศีรษะเพราะไมเกรนดีขึ้นเมื่อตั้งครรภ์เกิน 3 เดือนไปแล้ว อย่างไรก็ตามหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการปวดศีรษะควรพบแพทย์เพราะมีโรคทำให้ปวดศีรษะกำเริบขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ อาการปวดศีรษะในเด็กถ้าอาการปวดศีรษะเป็นเรื้อรังและเป็นเรื่อย ๆ ส่วนมากจะมาจากความผิดปกติของเนื้อสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื้องอกต่าง ๆ ส่วนเด็กที่ปวดศีรษะเป็น ๆ หาย ๆ อาจเกิดจากไมเกรนได้ เอกสารอ้างอิง กัมมันต์ พันธุมจินดา. การรักษาอาการปวดศีรษะทางอายุรกรรม. คลินิก, ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (มกราคม) 2537 หน้า 9 - 18 .
หมายเลขบันทึก: 74919เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2007 10:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
รับไม่ไหว อ่านมากไปก็พาลทำให้ปวดศีรษะเหมือนกัลค่ะ ขอพาราหน่อย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท