BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปรัชญาหนังตะลุง : ฤาษีสอนลิงดำลิงขาว


ฤาษีสอนลิงดำลิงขาว

เล่ากันมาว่า หนังตะลุงสมัยก่อนจะเริ่มต้นฉากแรกที่ลิงดำและลิงขาวออกมาทะเลาะกัน และฤาษีก็ออกมาสอน ทำนองว่า อยู่ด้วยกันก็สมัครสมานสามัคคีกัน การอยู่ด้วยกันก็ต้องมีความคิดเห็นแตกต่างกันบ้าง ต่างคนก็ต่างจิตต่างใจ ถ้าต่างคนก็ถือดี ไม่มีใครยอมใคร และทะเลาะกันแล้ว ก็จะเสียหายทั้งสองฝ่าย ธรรมดาอยู่ด้วยกันก็เหมือนลิ้นกับฟัน....อะไรทำนองนี้

เสียดายปัจจุบัน ฉากลิงดำและลิงขาวทะเลาะกันไม่มีแล้ว เริ่มต้นก็ออกฤาษีเลย... จะยังมีอยู่ก็เฉพาะในการแสดงแก้บ่นเท่านั้น ...ประเด็นฤาษีสอนลิงดำลิงขาวนี้ ผู้เขียนคิดว่ามีนัยลึกซึ้งอยู่ ซึ่งพอที่จะแปลความหมายได้ทำนองนี้...

ลิงดำคือฝ่ายชั่ว มาร บาป หรืออกุศล...ลิงขาวคือฝ่ายดี เทพ บุญ หรือกุศล... ส่วน ฤาษีคือธรรม ความเหมาะสม ความสมดุล ...ประมาณนี้

เฉพาะคนๆ เดียว หรือใจเดียวเท่านั้น... คนเรามีทั้งส่วนที่ใฝ่ดีเป็นบุญเป็นกุศล และส่วนที่ใฝ่ชั่วเป็นบาปเป็นอกุศล ถ้าเราไม่รู้จักแยกแยะหรือผสมผสานเพื่อความเหมาะสมในการดำเนินชีวิตแล้ว ก็คงจะเป็นประสาทบ้าตายแน่แท้ ...สิ่งที่จะมาช่วยผสมผสานให้เกิดความสมดุลได้ก็คือ ธรรม นั่นเอง ในกรณีนี้ ผู้เขียนขอเสนอ พนักพิงแห่งชีวิต  เพื่อสร้างความสมดุล ...

การตีความเชิงจิตวิทยาจากฉากแรกของหนังตะลุงนี้ ผู้เขียนว่า ภูมิปัญญาไทยมาแล้วก่อนที่ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)  จะคิดได้เป็นร้อยๆ ปี ... นายฟรอยด์ได้วิเคราะห์จิตออกเป็น ๓ คือ อิต อีโก้ และ ซูเปอร์อีโก้ (id ego superego) ซึ่งผู้ได้รับการศึกษาสมัยใหม่คงจะเคยผ่าน... อิต คือ ฝ่ายชั่ว นั่นคือ ลิงดำ... ซูเปอร์อีโก้ คือ ฝ่ายดี นั่นคือ ลิงขาว ...ส่วน อีโก้ คือ ฝ่ายแสดงออกเป็นพฤติกรรม นั่นคือ ฤาษี ...

เค้าเปรียบเทียบว่า อิตและซูเปอร์อีโก้เหมือนม้าสองตัวที่กำลังลากรถ แต่ละตัวก็ต้องการไปตามที่มันต้องการ ส่วนอีโก้คือนายสารถีบังคับม้า จะต้องให้ดำเนินไปตามเส้นทางที่มุ่งหมาย ....จะเห็นได้ว่า แนวคิดก็มิได้แตกต่างไปจากเรื่องฤาษีสอนลิงดำลิงขาวจากหนังตะลุง...ประมาณนี้...

ประเด็น ฤาษีสอนลิงดำลิงขาว นี้ มีข้อเปรียบเทียบเชิงสังคมตามนัยอุดมรัฐ (Republic) ของพลาโต (Plato) ก็ได้ โดยแปลความหมายในเชิงปรัชญาการเมืองก็ได้เช่นเดียวกัน...เคยฟังว่า แนวคิดของ ฟรอยด์ ก็ประยุกต์มาจากนี้ ขณะที่พลาโตก็ประยุกต์มาจากแนวคิดของพิธากอรัส  (Pythagoras) อีกครั้งหนึ่ง

จะว่าสั้นๆ ..พลาโตแบ่งคนเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มแรกมีความต้องการ อยากได้ คือ ลิงดำ ... กลุ่มที่สองรักเกียรติยศ ศักดิ์ศรี คือ ลิงขาว... กลุ่มที่สามเป็นนักคิด ชอบวิพากษ์วิจารณ์ คือ ฤาษี...

ประเด็นนี้เปรียบเทียบตามนัยอื่นได้อีกหลายนัย..

 

หมายเลขบันทึก: 74808เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2007 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 07:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท