บันทึกครั้งที่ ๑๔/๑ ความคิดเห็นด้านกฎหมายต่อปัญหาภัยที่มากับเทคโนโลยี


ข่าวจาก  http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9500000010481

เด็กไทยติด cam frog อันดับ 1 โลก

ในงานอภิปรายรวมพลังเยาวชนขับเคลื่อนสังคมคุณธรรม พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่าเด็กไทยติดอันดับ 1 ของโลกในการเล่นโปรแกรมแคมฟรอก (cam frog) ซึ่งเป็นโปรแกรมพูดคุยสนทนากันแบบมีกล้องสามารถเห็นหน้ากัน และผู้เล่นจะถอดเสื้อผ้าโชว์ โดยพบว่าประเทศจีนมีผู้เล่นอินเตอร์เน็ต 400-500 ล้านคน มีห้องสำหรับเล่นแคมฟรอก 3 - 4 ห้อง ส่วนในประเทศไทยมีคนเล่นอินเตอร์เน็ต 5 - 6 ล้านคน แต่มีห้องแคมฟรอกกว่า 300 ห้อง โดยห้องฮิตติดอันดับ 1 - 60 ของโลกเป็นของคนไทย 55 ห้อง ที่เหลือเป็นของเกาหลี และญี่ปุ่น     โปรแกรมนี้เข้ามาแพร่ระบายในประเทศไทยได้ 7 - 8 เดือน อายุผู้เล่นอยู่ระหว่าง 18 - 40 ปี ซึ่งพบว่าต่ำกว่า 18 ปีก็ยังมี โดยวิธีการป้องกันเด็กไทยเล่นโปรแกรมนี้ คือ การอบรมให้รักษาศีลห้า เพื่อให้เด็กมีพฤติกรรมให้ดีขึ้น และพ่อแม่นั้นต้องอบรมสั่งสอนบุตรหลานด้วย

 และอีกข่าวจากเดลินิวส์ 30 ธันวาคม 2549

http://www.dailynews.co.th/dailynews/pages/front_th/popup_news/Default.aspx?Newsid=112448&NewsType=1&Template=1 

ตำรวจบุกทลายโปรแกรมฉาวแพร่ภาพ'ลามก'

กองปราบปรามร่วมกับ บก.ปดส.นำกำลังทลายโปรแกรมแคมฟร็อกที่เป็นห้องสนทนาเผยแพร่ภาพลามกอนาจารผ่านเว็บแคมในระบบอินเทอร์เน็ต ขณะที่ 3 หนุ่ม เจ้าของแชตรูม รีบเดินทางเข้ามอบตัว อ้างเปิดห้องสนทนาไว้ให้สมาชิกที่เป็นชาวเกย์เอาไว้ "แชต" คุยกัน ไม่ได้หวังทำเป็นการค้า แต่พอมีคนมากขึ้นสมาชิกบางคนจึงส่งภาพลามกให้ต่อ ๆ กัน ตำรวจไม่เชื่อควบคุมตัวดำเนินคดีฐานเผยแพร่ภาพลามก อนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.287 (2) ประกอบ ม.86   ที่กองปราบปราม (บก.ป.) เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 29 ธ.ค. พล.ต.ท.มนตรี จำรูญ ผบช.ก. พล.ต.ต.ชัยวัฒน์ โชติมา รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร ผบก.ป. พ.ต.อ.จารุวัฒน์ ไวศยะ รอง ผบก.ปดส. ร่วมกันแถลงข่าวกรณีที่ นายจตุพล เรียบร้อย อายุ 25 ปี อยู่บ้านเลขที่ 112 ซอยอุดมสุข 45 ถนนอุดมสุข แขวงบางจาก เขตพระโขนง นายฐีรวัฒน์ มะลิวัลย์ อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 44 ถนนวิชิตภักดี ต.แม่กลอง อ.แม่กลอง จ.สมุทรสงคราม และ นายจักรพันธุ์ ภู่ม่วง อายุ 26 ปี เดินทางเข้ามอบตัวที่ บก.ป. หลังจากตกเป็นผู้ต้องหาคดีเผยแพร่ภาพลามกอนาจารตามกฎหมายอาญามาตรา 287 โดยมีพฤติกรรมในการเปิดห้องสนทนาในโปรแกรมแคมฟร็อกให้หญิงสาวจำนวนมากเข้ามาสนทนา และเปลือยกาย โชว์ผ่านกล้องเว็บแคมที่แพร่ภาพเข้าไปในระบบอินเทอร์เน็ต  ทั้งนี้สืบเนื่องมาจาก พ.ต.ท.พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ รอง ผกก.ปพ.บก.ป. พ.ต.ต.กฤษณะ พัฒนเจริญ สว.ฝอ.บก.ป.ได้นำหมายศาลเข้าตรวจค้นเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (เครื่องเซิร์ฟเวอร์) ที่ใช้ในการกระทำความผิด 3 ห้องสนทนาได้แก่ ฮาเร็ม ไทยเกย์แคม และไทยเกิร์ล มูฟ เอ็กซ์ เอ็กซ์ เอ็กซ์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ กับการสื่อสารแห่งประเทศไทย กระทั่งได้มีการขยายผลจากเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายจนทราบชื่อเจ้าของห้องผู้ให้บริการที่มีการเปิดบริการโชว์ลามกอนาจาร ก่อนเข้าตรวจค้นพร้อมกับยึดของกลางเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์   พล.ต.ต.ชัยวัฒน์ เปิดเผยว่า สำหรับวิธีการเข้าใช้โปรแกรมแคมฟร็อกนั้น ผู้ใช้บริการจะต้องเข้าไปลงทะเบียนในเว็บก่อน โดยผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าของแม่ข่ายจะปล่อยภาพในห้องสนทนา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาพลามกอนาจารให้กับสมาชิกที่ลงทะเบียนแล้ว พร้อมกับโปรโมต ห้องสนทนาดังกล่าวเพื่อเรียกเรตติ้ง และเมื่อมีผู้สมัครสมาชิกเข้ามาใช้บริการในห้องสนทนา มากขึ้นแล้ว ผู้ต้องหาก็จะได้ประโยชน์จากการขายต่อห้องสนทนาให้กับกลุ่มผู้ที่เข้ามาใช้บริการ และจากการสำรวจขณะนี้พบว่า ห้องสนทนาฮาเร็มมีผู้เข้าไปใช้บริการกว่า 1,000 คนต่อวัน นอกจากนั้นยังมีข้อมูลว่าแชตรูมเหล่านี้ยังมีอีก 40 กว่าราย ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อจับกุมในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือให้ผู้อื่นกระทำการแสดงอวดภาพลามกอนาจารแก่ประชาชน เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287(2) ประกอบ มาตรา 86    ด้าน นายจตุพร เจ้าของห้องสนทนาฮาเร็ม ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า ห้องสนทนานี้เปิดให้บริการมาได้ 2 เดือน ปัจจุบันมีสมาชิก 1,800 คน โดยการเปิดห้องสนทนานี้ตนทำกันเองในกลุ่มเพื่อความสนุกสนาน ไม่ได้หวังผลตอบแทนหรือผลประโยชน์อะไร แต่เนื่องจากสมาชิกในห้องตนมีเยอะจึงไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง อย่างไรก็ตาม ตนมีหลักเกณฑ์และกฎกติกาประจำห้องอยู่แล้ว และหากพบผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎตนก็จะปิดกั้นทันที กระทั่งต่อมาหลังจากมีข่าวเผยแพร่ออกมาตนจึงปิดห้องสนทนาไป แต่หลังจากนั้นทราบว่ามีตำรวจกองปราบปรามมาเข้าตรวจค้นและยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนไป จึงตัดสินใจเข้ามอบตัว  ส่วน นายฐีรวัฒน์ ให้การว่า ช่วงแรกตนเปิดห้องสนทนาขึ้นเพื่อเป็นที่พบปะในกลุ่มเพื่อนชาวเกย์ แต่หลังจากเปิดบริการได้ไม่นานก็มีสมาชิกเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยบางคนมีการแสดงพฤติกรรมลามกอนาจาร ซึ่งตนได้พยายามสกัดกั้นด้วยการบล็อก แต่เมื่อมีสมาชิกจำนวนมากจึงควบคุมไม่ได้ ทั้งที่เจตนาในการเปิดห้องครั้งแรกไม่มีความต้องการให้มีการแสดงลามกอนาจาร เพียงแต่มีเจตนาให้เป็นที่พบปะกันของเพื่อนชาวสีม่วง และทำเพื่อความสุขเท่านั้นไม่ได้นำเสนอขายห้องสนทนาเพื่อแสวงหาผลกำไรใด ๆ.

ความคิดเห็นของผม

ผมได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเวปไซด์อื่นๆ ที่จะมาอธิบายว่าเราควรจะดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้ ซึ่งพบว่า http://biolawcom.de/?/blog/401   ได้ให้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำข้อความบางส่วนมาเสนอครับ    สิ่งที่ควรต้องรู้อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ แล้วอายุเท่าไหร่หรือ ที่กฎหมายถือว่าเป็น เด็กและเยาวชน ที่อยู่ในข่ายที่ควรได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ ? ซึ่งกรณีนี้ มีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เนื่องจาก วัฒนธรรม ระบบกฎหมาย วุฒิภาวะของเด็ก และปรัชญาการให้ความคุ้มครอง ที่แตกต่างกัน

Cybercrime-Convention หรือ สนธิสัญญาว่าด้วยอาชญากรรมอินเตอร์เน็ต ที่ออกโดยคณะมนตรีร่วมยุโรป (Europarat) ซึ่งถือเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับแรก ที่เกี่ยวกับอาชญากรรมเครือข่าย และมีผลใช้บังคับไปแล้วตั้งแต่ กุมภาพันธ์ปี 2004 กำหนดไว้ใน มาตรา 9 ให้ประเทศสมาชิก (และไม่สมาชิก) ที่ลงนาม และให้สัตยาบันแล้ว กำหนด หรือ ปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศ ให้ การผลิต เสนอช่องทางเข้าถึง เผยแพร่ ส่งต่อ รวมทั้ง การสืบค้น และครอบครอง ภาพลามกเด็ก เป็นความผิด โดยในอนุมาตรา (3) กำหนดว่า เด็ก และเยาวชน ตามสนธิสัญญานี้ หมายถึงบุคคลที่ อายุต่ำกว่า 18 ปี หรือบางประเทศอาจจะกำหนดที่ อายุต่ำกว่า 16 ี ก็ได้   ซึ่งสอดคล้องกับ อายุเด็กและเยาวชน (ต่ำกว่า 18 ปี) ที่กำหนด คุ้มครองไว้ใน มาตรา 1 a) ของ กรอบความร่วมมือที่ว่า ด้วย การป้องกัน และปราบกรามการกระทำความผิดทางเพศต่อเด็ก และ ภาพลามกอนาจารเด็ก (Framework decision on combating the sexual exploitation of children and child pornography) ของสหภาพยุโรป (European Union)      กฎหมายอเมริกาให้ความคุ้มครองเด็ก อายุต่ำกว่า 16 ปี    ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพึ่งบัญญัติคุ้มครองเด็กและเยาวชนไว้โดยเฉพาะในประเด็นการเผยแพร่ และครอบครองภาพลามกเด็ก เมื่อปี 1998 นี้เอง คุ้มครองที่ อายุต่ำกว่า 18 ปี   และในขณะที่หลายประเทศในยุโรป อาทิ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ต่างให้ความคุ้มครองเรื่องนี้กับเด็ก อายุต่ำกว่า 16 ปี กฎหมายอาญาเยอรมัน (§§ 176-176b, 184b StGB) และออสเตรีย กลับ คุ้มครองเด็กที่ อายุต่ำกว่า 14 ปี เท่านั้น (ตอนนี้เยอรมันกำลังเถียงกันอยู่ว่า ควรปรับเปลี่ยน ให้ช่วงอายุสูงขึ้น ดีหรือไม่ ?)

คำถามก็คือ เรื่องนี้ ประเทศไทยมีบทคุ้มครองเด็กไทย ไว้ที่อายุเท่าไหร่ หรือภาพลามกของคนไทยอายุเท่าไหร่จึงจะถือว่า เป็นภาพลามกเด็ก ที่รัฐต้องหามาตรการปราบปรามเป็นพิเศษ ?    ขอตอบแบบไม่อายเลยว่า กฎหมายไทยเท่าที่มีใช้บังคับอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายทั่วไป อย่างกฎหมายอาญา กฎหมายเฉพาะ อาทิ พระราชบัญญัติปรามการทำให้แพร่หลายและการค้าวัตถุอันลามก, พระราชบัญญัติสิ่งพิมพ์ รวมทั้ง พระราชบัญญัติควบคุมสื่ออื่น ๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ เทป ฯลฯ ไม่ได้มีบทบัญญัติ หรือมาตราใดเลย ที่กำหนดให้ความคุ้มครองเด็ก และเยาวชนเป็น "พิเศษ" ในเรื่องการเผยแพร่ "ภาพหรือสิ่งลามก" ครับ!   สาเหตุก็เพราะ ตามกฎหมายไทยเรา กำหนดห้ามการเผยแพร่ ภาพ หรือสิ่งลามกอนาจาร ทั้งหมด ทั้งปวง ไม่ว่าภาพนั้นจะเป็นภาพของ เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ แม้กระทั่ง วัยชราภาพ (ถ้ายังสามารถยั่วกามรมณ์ของใครได้อยู่) เรียกว่า มีความผิดเสมอหน้ากันหมด
โดยในที่นี้ ขอยก มาตรา 287 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาให้อ่านเท่านั้นก่อน เพราะถือเป็นมาตราหลักที่มีวัตถุประสงค์ควบคุมสิ่งลามกอนาจารไม่ให้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชน เนื่องจากเห็นว่า จะก่อผลเสียต่อสังคมโดยรวม และกระทบต่อจารีตประเพณี และศีลธรรมอันดีงาม    ดังนั้น กฎหมายของเราในเรื่องนี้ จึงค่อนข้างแตกต่างกับประเทศอื่น ๆ ...

มีต่อครับ ในบันทึกครั้งที่ ๑๔/๒

หมายเลขบันทึก: 74697เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2007 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เพิ่มเติม

มาตรา 287 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ผู้ใด

(1) เพื่อความประสงค์แห่งการค้า หรือโดยการค้า เพื่อการแจกจ่ายหรือเพื่อการแสดงอวดแก่ประชาชน ทำ ผลิต มีไว้ นำเข้า หรือยังให้นำเข้าในราชอาณาจักร ส่งออกหรือยังให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พาไป หรือยังให้พาไปหรือทำให้แพร่หลายโดยประการใด ๆ ซึ่งเอกสาร ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ หรือสิ่งอื่นใดอันลามก


(2) ประกอบการค้า หรือมีส่วนหรือเข้าเกี่ยวข้องในการค้าเกี่ยวกับวัตถุหรือสิ่งของลามกดังกล่าวแล้วจ่ายแจก หรือแสดงอวดแก่ประชาชน หรือให้เช่าวัตถุหรือสิ่งของเช่นว่านั้น

(3) เพื่อจะช่วยการทำให้แพร่หลาย หรือการค้าวัตถุหรือสิ่งของลามกดังกล่าวแล้ว โฆษณาหรือไขข่าว โดยประการใด ๆ ว่ามีบุคคลกระทำการอันเป็นความผิดตามมาตรานี้ หรือโฆษณาหรือไขข่าวว่า วัตถุ หรือสิ่งของ ลามกดังกล่าวแล้ว จะหาได้จากบุคคลใด หรือโดยวิธีใด

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จะเห็นได้ว่า

ปัญหาอยู่ที่ตัวเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นแต่ก็ยังเป็นสิ่งที่เด็ก เยาวชน และครอบครัวไม่ทราบถึงสิ่งที่เป็นภัยกับตัวเขาเอง และไม่ทราบวิธีการป้องกันตัวเองจากสิ่งเหล่านี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท