ทำไมเราจึงใช้ความรู้เหี่ยวๆในการพัฒนา


ก็เพราะเราไปเด็ดยอดเอาความรู้มาจากฝรั่ง ก็อุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนมาจนได้กระดาษมาติดโชว์ห้องทำงานบ้าง ผนังบ้านบ้าง จนแทบหาที่ติดไม่ได้ จะไม่เอาความรู้มาฝากกันบ้าง เดี๋ยวจะว่าไม่ไปเรียนมา

วันนี้ผมเพิ่งได้อ่านข้อเขียนของครูบาสุทธินันท์ ว่าทำไมเราใช้ความรู้เหี่ยวๆในการพัฒนา จนชาวบ้านเอือมระอากันเต็มทีแล้ว

 

ในฐานะที่ผมทำงานในวงวิชาการ ที่มีการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ ผมถือว่า นี่คือวิกฤติการพัฒนาระดับชาติเลยครับ

 

และผมรับปากว่าวันนี้ผมจะนำประเด็นนี้มาแจงสี่เบี้ย ตามระดับความรู้ระดับหางอื่งที่หาญขึ้นมากระดิกเตือนระดับปรมาจารย์ และตะโกนดังๆขึ้นไปยังยอดเขาหอคอยงาช้าง เชิงร้องขอและขอร้องว่าเพลาๆการแจกความรู้เหี่ยวๆ ให้น้อยลงหน่อยได้ไหมครับ

 

ก่อนอื่นขอย้อนกลับไปว่า ทำไมเราจึงใช้ความรู้เหี่ยวๆมาสอนกันครับ

 

สาเหตุหลัก และสาเหตุแรก

ก็เพราะเราไปเด็ดยอดเอาความรู้มาจากฝรั่ง ก็อุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนมาจนได้กระดาษมาติดโชว์ห้องทำงานบ้าง ผนังบ้านบ้าง จนแทบหาที่ติดไม่ได้ จะไม่เอาความรู้มาฝากกันบ้าง เดี๋ยวจะว่าไม่ไปเรียนมา (แต่ไปซื้อกระดาษมา)  ก็เลยต้องเอามาสอนตรงๆบ้าง เอามาแปลไว้สอน แปลไว้ขอตำแหน่งบ้าง แต่ด้วยความที่ไปเรียนมาหลายปี และระยะทางก็ไกล กว่าความรู้จะมาถึงเมืองไทยก็เลยเหี่ยวครับ จะไปปลูก หรือติดตา ต่อกิ่งต่อยอด ก็ทำไม่เป็น ใช้แบบแห้งๆเหี่ยวๆไปเรื่อยจนกว่าจะหมดอายุการทำงาน แล้วก็เก็บไปใส่กรอบลงรักปิดทองคู่กับใบปริญญาที่ติดไว้ข้างฝามานาน ตั้งแต่วันที่กลับมาแล้ว

 

สมัยนี้แม้จะเป็นยุคข้อมูลข่าวสารเร็วหน่อย อย่าคิดว่าความรู้ไม่เหี่ยวล้าสมัยนะครับ นักวิชาการกลุ่มนี้จะรอว่าฝรั่งจะเขียนตำราอะไร จะได้ "รีบ" ไปซื้อมาแปล ดัดแปลงนิดหน่อย หลบเลี่ยงกฎหมายลิขสิทธิ์ ไปหลอกสอนเด็กนักเรียนที่ไม่รู้เรื่องไปวันๆ คิดว่าทันสมัย แต่หารู้ไม่ว่ากว่าฝรั่งเขาจะเขียนตำราสำหรับประเทศเขาได้ ความรู้ก็ล้าสมัยไปอย่างน้อย ๕ ปีแล้ว

  

สาเหตุที่สอง

สำหรับนักติดตาต่อกิ่งเป็นบ้าง ก็อาจจะเอาความรู้ที่ได้ไปทดสอบขยายพันธุ์ แต่ด้วยความที่ไม่รู้จักบ้านตัวเอง ก็เลยพลาดเอายอดแอปเปิ้ลเหี่ยวๆ หรือบางทีก็แห้งตายแล้วมาต่อกับมะม่วงอกร่อง  หวังว่าจะได้แอปเปิ้ลลูกยาวๆพันธุ์อกร่อง มีผิวเหมือนแอปเปิ้ล แต่เนื้อเหมือนมะม่วง แต่มันต่อกันไม่ติดครับ มันก็เลยเหี่ยว เป็นธรรมดาครับ แต่บางที่เขาก็ไม่ละความพยายามครับ ทั้งๆที่ยอดแอปเปิ้ลเหี่ยว ก็ไปบอกชาวบ้านว่า ลูกแอปเปิ้ลพันธุ์อกร่องนี้ จะมีรสเหมือนมะม่วงแผ่นตากแห้ง ให้ฝันลมๆแล้งๆไปโน่น

 

สาเหตุที่สาม

สำหรับนักวิชาการที่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ พวกนี้จะถือยอดแอปเปิ้ล หรือ ยอดมะม่วง(ที่คิดว่าเป็น)พันธุ์ดี (ขึ้นอยู่ว่าจบ เมืองนอก หรือ เมืองไทย) ชูเหนือหัวไว้กราบไหว้ทุกวัน บางทีก็ปักแจกันเอาไว้บนหิ้งพระ จะนำลงไปปักชำติดตาต่อกิ่งโดยทำงานกับชาวบ้านก็ทำไม่เป็น หรือกลัวชาวบ้านเห็นกำพืดว่าไม่เก่งจริง ก็เลยกอดยอดไม้ ความรู้ ที่เด็ดมาถือ หรือใส่แจกันไว้จนเหี่ยวแล้วเหี่ยวอีก แม้จะเปลี่ยนน้ำในแจกัน หรือพ่นน้ำให้บ้าง โดยการเปลี่ยนปีที่แปลและพิมพ์ตำราให้ดูทันสยัย ก็ยังไม่หายเหี่ยว

 

สาเหตุที่สี่

สำหรับนักวิชาการนักเด็ดยอด ความรู้ โดยไม่เคยสร้างเอง และมักเป็นนักประชุมมืออาชีพ คอยไปรวบรวมความรู้จากที่หนึ่งไปเก็บไว้แลกอีกที่หนึ่ง แต่รอนานเกินไปก็เลยเหี่ยวก่อนที่จะได้แลกจริงๆ

 สาเหตุที่ห้า

 นักวิชาการที่ไม่ค่อยมีเวลา ปลูกความรู้ไว้แล้วไม่ค่อยได้ไปดูแลรดน้ำให้โตเป็นปกติ ก็เลยเหี่ยวเฉา จะเด็ดให้ใครทีไรก็มีแค่เหี่ยวๆนั่นแหละ   

จากสาเหตุห้าประการนี้ ได้มาเท่าที่ผมมีประสบการณ์ตรง เคยเห็นและพอนึกออก และคิดว่าน่าจะยังมีอีกหลายสาเหตุครับ

 

ดังนั้น วิธีแก้ที่สำคัญก็คือ เราต้องปลูกความรู้ที่มีทั้งรากแก้วภูมิปัญญา และรากฝอยของการปฏิบัติที่ได้ผลในวงกว้าง มีลำต้นที่แข็งแรงด้วยพลังของชุมชน แล้วให้ชาวบ้านเขาชื่นชมอยู่ในพื้นที่ของเขาเอง จะได้ไม่เป็นความรู้เหี่ยวๆ ครับ

 ด้วยสองมือของเรานี่แหละครับ ดูแล รดน้ำพรวนดินดีๆ เราจะได้มีความรู้ที่ไม่เหี่ยว แต่สดๆ ให้ทุกคนบริโภคอย่างใกล้ชิด และสมกับความคาดหวังของชุมชน ที่เฝ้ารอผลงานจากนักวิชาการครับ

 

หมายเลขบันทึก: 74666เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2007 19:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

อ่านแล้วเครียดจัง แต่ก็เป็นแค่บางคนใช่มั้ยคะ

แห้งกรอบเป็นข้าวเกรียบเลยท่านเล่าฮู

ประทับใจมากครับอาจารย์

จะมีวิธีการอย่างไรบ้างครับที่จะทำให้นักวิชาการที่อยู่บนหอคอย...งาช้างทั้งหลายได้ตระหนักและรับรู้บ้างครับอาจารย์ เพราะที่ผ่านมา และตอนนี้ยังเป็นเหมือนเดิมอยู่ แล้วจะทำอย่างไรจึงจะทำให้เขาได้หันมาปลูก หรือมาดูคนอื่นที่เขาปลูกบ้างเพื่อจะได้ใช้ และมีความรู้ที่ไม่เหี่ยว

ด้วยความเคารพ

อุทัย

ขออนุญาตร่วมแสดงความเห็นด้วยคนนะคะ

        ดิฉันเห็นด้วยกับอาจารย์ในหลายๆ ประเด็นค่ะ จะเห็นได้จากการตั้งเกณฑ์ ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อประเมินนักปฏิบัติทั้งหลายนั้น ส่วนใหญ่ก็มาจากนักวิชาการที่นั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง ที่คิดว่า วิธีการต่างๆ ที่ควรจะนำมาใช้ประเมินนั้นเหมาะสมดีแล้ว โดยลืมคิดไปถึงประเด็นของบริบทที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ภาระหนักจึงตกอยู่กับนักปฏิบัติตัวน้อยๆ เสียงเบาๆ ที่ไม่ค่อยมีใครรับฟังว่าทุกวันนี้ นักปฏิบัติเหล่านั้น ต้องเผชิญอยู่กับอะไรบ้าง

  • ผมสนใจกลุ่มที่ สี่ ครับ ผมเชื่อว่ามีมากครับแต่ไม่ค่อยแน่ใจว่า เป็นกลุ่ม หรือองค์กรใดบ้าง อยากเรียนถามความเห็นของอาจารย์ครับ

อาจารย์ค่ะพิมพ์ยังไม่จบ ช่วยลบข้อคิดเห็นอันเก่าด้วยค่ะ

        ความรู้เหี่ยว ๆ มาจากคนกายเหี่ยว ไม่มีเรี่ยวแรงขยับตัวออกจากหอคอยงาช้าง ไม่มีโอกาสได้พบได้เห็นความรู้ที่มีชีวิตหน้าตาเต่งตึ่งดึ๋งดั๋ง

       ใจเหี่ยว  เพราะความคิดคับแคบ อัตตาสูง อิงทฤษฎีจ๋าข้าสวามิภักดิ์ 

       ขอบคุณค่ะ

  • อ่านไปก็สะใจไปครับ
  • ความรู้เหี่ยวๆก็ประกอบการขอกำหนดตำแหน่งได้ด้วย ศ. รศ. เหี่ยวๆ ครูเชี่ยวชาญ ครูเชี่ยวชาญพิเศษเหี่ยวๆ นักวิชาการ.....นัก...เหี่ยวๆ
  • อยากให้อาจารย์แจงสี่เบี้ยมาอีกครับ เราอาจจะได้เห็นบางคนใช้วิชาการสดๆแทนวิชาการเหี่ยวๆบ้างก็ได้
สุมิตรชัย คำเขาแดง

จะว่าไปก็ถูกนะครับแต่ไม่ทั้งหมดหรอก 

ความรู้นั้นจะเก่าจะล้าหลังยังไงหรือของฝรั่งของอินเดีย ของอะไรต่อมิอะไรก็ตามเถิดครับ ขอร้องว่าผู้ที่มีความรู้  อย่าได้ดูถูกความรู้เถิดครับ มันจะเหี่ยวจะเฉา  แบบไหนก็ตาม ในแง่หนึ่งมันก็คือความรู้และเป็นรากฐานที่เกิดการต่อยอดเปลี่ยนแปลง เราเรียนทีหลังเราก็รู้ทีหลัง พัฒนาทีหลัง แต่ไม่ใช่ช้า  เพราะเราไม่ได้แข่งขันกัน  ที่จริง ช้าหรือเร็ว น่าจะเลิกพูดถึงกันได้แล้ว  พูดถึงว่ามันสร้างผลกระทบทางเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมแก่โลกมากน้อยแค่ไหนดีกว่า 

บอกตรง ๆ ว่าโลกทุกวันนี้ ไม่ได้คันพบอะไรใหม่เท่าไร ที่พบก็พบจากความรู้เดิม  ในขณะที่โลกจะพังถามว่าความรู้ที่เกิดใหม่จากการต่อยอดความรู้เดิมนั้นก่อประโยชน์ต่อโลกขนาดไหน  บางทีความรู้เหี่ยว ๆ ก็ไม่ใช่สิ่งฉุดรั้งการพัฒนาใด ๆ ไอ้ความรู้ใหม่ ๆ ต่างหากเป็นตัวเร่งความเร็วให้เกิดการผุกร่อนสูงขึ้นไปอีก

ที่พูดมาอาจเป็นนามธรรมไปหน่อย  แต่ ผมไม่อยากให้เราดูถูกมูลฐานความรู้อะไรทั้งสิ้น  มองด้านดีด้านเป็นประโยชน์ก็อาจเห็นบ้าง เพราะพวกเรา GO TO KNOW  ดำเนินไปเพื่อถึงความรู้  ดังนั้นก็อย่าได้ปิดกั้นความรู้เลยเหี่ยว ไม่เหี่ยว เสียยวไม่เสียว  ขอรู้ก่อน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท