ข้อเสนอในการจัดทำมติคณะรัฐมนตรีในการจัดการสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว


สาเหตุหลักที่สำคัญที่ทำให้สื่อเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีจำนวนและคุณภาพลดลง ก็คือ ปัจจัยความอยู่รอดของรายการที่ขึ้นอยู่กับการระดับความนิยมและการตลาดเป็นหลัก ดังนั้น ผู้ผลิตที่จะสามารถอยู่รอดได้ จึงต้องผลิตรายการที่ตอบสนองตลาด โดยไม่เน้นความสำคัญของคุณภาพเนื้อหาในมิติของการส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้

ข้อเสนอในการจัดทำมติคณะรัฐมนตรีในการจัดการสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว สภาพปัญหาและความจำเป็น 
 

  •               จากผลการสำรวจของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในปี พ.ศ.๒๕๔๗ ประเด็นเรื่องอิทธิพลของสื่อโทรทัศน์ที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมเด็ก พบว่า เด็กส่วนใหญ่ใช้เวลาว่างชมโทรทัศน์มากที่สุด โดยวันจันทร์ถึงศุกร์เด็กใช้เวลาชมโทรทัศน์เฉลี่ย ๓.๙ ชั่วโมงต่อวัน และเพิ่มเป็น ๕.๕๑ ชั่วโมงต่อวันในวันเสาร์และอาทิตย์
  •            ผลการศึกษาล่าสุดของโครงการ Child watch เกี่ยวกับภาวะด้านเด็กกับสื่อ พบว่า เด็กมัธยมถึงอุดมศึกษาใช้เวลาในการดูโทรทัศน์ร้อยละ 140-160 นาที เล่นอินเทอร์เน็ตวันละ 90-100 นาที และพูดโทรศัพท์วันละ 60-75 นาที เด็กประถม (ป.4-ป.6) มัธยมต้น มัธยมปลาย อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา มีโทรศัพท์มือถือใช้ร้อยละ 44.16 57.93 73.89 79.58 และ 90.43 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กมัธยมถึงอุดมศึกษาที่ดูวีซีดีโป๊เป็นครั้งคราวถึงเป็นประจำ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 39.27 และ 27.23 เป็นร้อยละ 41.35 และ 29.99 ตามลำดับ
  • ในปี พ.ศ.๒๕๔๖ มีการศึกษาพิจารณาสัดส่วนรายการที่สถานีโทรทัศน์ได้แจ้งไว้ในเอกสารสัญญาของสถานีการจัดสัดส่วนรายการ พบว่า ในแต่ละสถานีมีการนำเสนอรายการบันเทิงมากกว่าร้อยละ ๖๕ ทั้งสิ้น[1] โดยจำนวนรายการโทรทัศน์ที่ส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชน ในปีพ.ศ.๒๕๔๖ ลดลงร้อยละ ๔.๗๕ เมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ.๒๕๓๖  ทั้งนี้ยังพบว่ารายการโทรทัศน์สำหรับการส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้มีเวลาออกอากาศคิดเป็นร้อยละ ๔.๙๔ ของเวลาออกอากาศทั้งหมด[2]
  • หากพิจารณาสาระของรายการโทรทัศน์ ระหว่างช่วงเวลาที่มีผู้ชมมากที่สุดคือ ๑๖.๐๐ น.- ๒๒.๐๐ น. พบว่ามีการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมด้านเพศ ความรุนแรง และการตอกย้ำอคติต่อคนบางกลุ่มแทรกอยู่ ผลการศึกษาของโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อฯ (Media Monitor) พ.ศ.๒๕๔๘ แสดงให้เห็นค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งของภาพและเนื้อหาต่อชั่วโมงที่เด็กได้รับขณะดูโทรทัศน์ พบว่า ในหนึ่งชั่วโมงจะมีภาพของความรุนแรงมากที่สุดถึง ๓.๒๙ ครั้ง อคติต่อกลุ่มคนจำนวน ๑.๓๔ ครั้ง ภาษาก้าวร้าว ๐.๒๕ ครั้ง ความไม่เหมาะสมทางเพศ ๐.๑๓ ครั้ง ซึ่งหากนำไปพิจารณารวมกับจำนวนชั่วโมงที่เด็กชมรายการโทรทัศน์แล้วทำให้เห็นได้ว่า ในแต่ละวันเด็กจะเห็นภาพความรุนแรงสูงสุดจำนวน ๙ – ๑๕ ครั้ง ซึ่งเพียงพอต่อการโน้มนำในเชิงพฤติกรรม
  • ด้านสื่อวิทยุ จากการศึกษาพบว่า สถานีวิทยุส่วนใหญ่จากจำนวน ๕๔๒ สถานีทั่วประเทศเป็นสถานีเพลงมากกว่า ๓ ใน ๔ มีสถานีด้านข้อมูลและข่าวสารต่ำกว่า ๒๐ สถานี ในขณะที่ไม่มีสถานีวิทยุเพื่อผู้ฟังเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชนและครอบครัว 
  •  จากการรายงานจำนวนเว็บไซต์ที่มีอยู่ในปัจจุบันทั่วโลกของ www.internetworldstats.com/stats.htm ประมาณว่ามีจำนวนเว็บไซต์กว่า ๓๕ ล้านเว็บ ในขณะที่มีเว็บไซต์สื่อลามกอนาจารกว่า ๑.๒ ล้านเว็บไซต์ จากตัวเลขในเชิงปริมาณดังกล่าว เป็นเครื่องสะท้องถึงสภาพปัญหาด้านสื่อที่อยู่รอบตัวเด็ก เยาวชน ครอบครัวได้เป็นอย่างดี
  • สาเหตุหลักที่สำคัญที่ทำให้สื่อเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีจำนวนและคุณภาพลดลง ก็คือ ปัจจัยความอยู่รอดของรายการที่ขึ้นอยู่กับการระดับความนิยมและการตลาดเป็นหลัก ดังนั้น ผู้ผลิตที่จะสามารถอยู่รอดได้ จึงต้องผลิตรายการที่ตอบสนองตลาด โดยไม่เน้นความสำคัญของคุณภาพเนื้อหาในมิติของการส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ 
  •  จากสถานการณ์การรับสื่อข้างต้น แนวคิดในการพัฒนาให้เกิดการสร้างสรรค์สื่อที่เอื้อต่อการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวให้มีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น มีเนื้อหาที่มีคุณภาพมากขึ้น ประกอบกับ มีช่องทางของการนำเสนอสื่อสร้างสรรค์ที่มากขึ้น นับเป็นการลงทุนที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการสร้างและพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัวให้มีคุณภาพที่ดีอันเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศต่อไป 


ข้อเสนอในการจัดทำมติคณะรัฐมนตรีในการจัดการสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชนและครอบครัว

๑.  ให้สถานีโทรทัศน์ระบบฟรีทีวีทุกช่อง สนับสนุนให้มีผังรายการที่ตอบสนองต่อการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กเยาวชนและครอบครัว ในช่วงเวลาดี (primetime) ๑๖.๐๐ น.-๒๒.๐๐ น. และดูแลไม่ให้มีเนื้อหาที่กระตุ้นความรุนแรง ความไม่เหมาะสมด้านเพศ ในช่วงเวลาดังกล่าว และให้ประชาสัมพันธ์หรือจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กเยาวชนและครอบครัวได้รู้ เข้าใจและสามารถเข้าถึงรายการสร้างสรรค์เหล่านี้ได้ ทั้งนี้โดยมอบให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในมาตรการนี้

๒.      ให้มีมาตรการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อ โดยใช้เกณฑ์การจำแนกเนื้อหาตามช่วงอายุ และถือปฏิบัติในสถานีโทรทัศน์ทุกช่องทั้งระบบฟรีทีวีและระบบบอกรับสมาชิก ซึ่งเป็นระบบการจำแนกเนื้อหาของรายการโทรทัศน์ว่ามีความเหมาะสมกับผู้ชมในช่วงวัยใดอันจะนำไปสู่การกำหนดช่วงเวลาของการออกอากาศเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งเป็นเครื่องมือให้กับครอบครัวในการเลือกรายการ และการจัดกลไกการติดตามและเฝ้าระวังสื่อของภาคสังคม ทั้งนี้ ให้จัดให้มีหน่วยงานหลักในการทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาการใช้เกณฑ์การจำแนกเนื้อหาตามช่วงอายุ โดยอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกรมประชาสัมพันธ์

๓.  ให้มีมาตรการจัดระดับความเหมาะสมของสื่ออีกระบบหนึ่ง คือ ระบบการประเมินคุณภาพเนื้อหา ซึ่งเป็นเกณฑ์พิจารณาสำหรับผู้ผลิตเพื่อให้รายการโทรทัศน์มีคุณภาพด้านการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชนและครอบครัว อันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางเพื่อการสนับสนุนรายการที่มีคุณภาพให้มีจำนวนมากขึ้น ทั้งนี้ โดยให้กรมประชาสัมพันธ์ และกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาและดำเนินการใช้ระบบนี้

๔.      ให้มีมาตรการควบคุมและจำกัดเวลาในการโฆษณาสินค้าที่ไม่เหมาะสมต่อสุขภาพและการบริโภคของเด็ก ดังนี้ ๑) งดการโฆษณาขนมเด็กในรายการโทรทัศน์ที่มีเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายในทุกช่วงเวลา ๒) งดการใช้เด็ก ตัวการ์ตูน ดารา นักร้อง ศิลปิน หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักเป็นผู้นำเสนอสินค้า ๓) งดการส่งเสริมการขายขนมเด็กและการโฆษณาโดยใช้ของแถมของแจก ๔) ในการโฆษณาขนมเด็กทุกครั้งต้องมีคำเตือนในการบริโภคที่ชัดเจน และ ๕) หากผลกระทบต่อสุขภาพเด็กทวีความรุนแรง รัฐบาลควรจำกัดการโฆษณาขนมที่มีผลต่อเด็กในช่วงระหว่างอายุ ๐ ถึง ๑๓ ปีในทุกรายการ ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้ กรมประชาสัมพันธ์ และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นหน่วยหลักรับผิดชอบดำเนินมาตรการนี้

๕.     ให้มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ต้นแบบ โดยเป็นความร่วมมือของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ในกำกับของรัฐที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ สถานีวิทยุและโทรทัศน์ในกำกับของกรมประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุและโทรทัศน์ในกำกับขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุและโทรทัศน์ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้นำเสนอรายการสร้างสรรค์และมีคุณค่าต่อการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กเยาวชนและครอบครัว ทั้งนี้ โดยมอบให้หน่วยงานที่กำกับดูแลสถานีวิทยุและโทรทัศน์ดังกล่าวข้างต้นรับผิดชอบและดำเนินการ

๖.       เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการสร้างแรงจูงใจในการสร้างสรรค์รายการและการพัฒนาสถานีต้นแบบดังกล่าวข้างต้น เสนอให้ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการจัดทำพระราชบัญญัติกองทุนสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว โดยมีภารกิจหลัก ๔ ด้าน คือ

        ด้านที่ ๑         สนับสนุนให้เกิดการผลิตสื่อสร้างสรรค์ให้มีจำนวนและมีคุณภาพมากขึ้น โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกองทุนฯ ได้กำหนดขึ้น    

        ด้านที่ ๒      สนับสนุนให้เกิดการศึกษาวิจัยและพัฒนาสื่อเพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว สนับสนุนการฝึกอบรมผู้ผลิต และการจัดสรรทุนการศึกษาเพื่อสร้างผู้ผลิตสื่อและนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญในสาขานี้


     ด้านที่ ๓     สนับสนุนการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชนและครอบครัว ในระดับการเฝ้าระวังสื่อ และระดับของการผลิตสื่อ เพื่อทำให้รายการโทรทัศน์เกิดความหลากหลาย และ การให้เด็กเยาวชนและครอบครัวในแต่ละพื้นที่มีโอกาสในการผลิตสื่อที่ตรงกับความต้องการของชุมชน


       ด้านที่ ๔    สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาช่องทางเผยแพร่สื่อสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ทั้งนี้ โดยการจัดตั้งสถานีวิทยุและโทรทัศน์ขึ้นใหม่ หรือ การพัฒนาสถานีของรัฐที่มีอยู่ให้เป็นสถานีวิทยุและโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว

         ทั้งนี้ พระราชบัญญัติกองทุนสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชนและครอบครัว จะระบุให้มีกลไกการบริหารจัดการ โดยคณะกรรมการกองทุนฯ และมีการจัดสรรงบประมาณจากแหล่งงบประมาณต่างๆ ที่เพียงพอต่อการดำเนินงานตามภารกิจข้างต้น

 


--------------------------------------------------------------------------------

[1] เป็นผลมากจากการศึกษาวิจัย เรื่อง สภาพคุณภาพเนื้อหาของรายการวิทยุโทรทัศน์ ในชุดโครงการสื่อมวลชนเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ โครงการยุทธศาสตร์สื่อเด็ก โดย ผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ,หน้า๒๕๔๖
[2] เป็นผลมาจาการศึกษาวิจัยของโครงการยุทธศาสตร์สื่อเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ,๒๕๔๘

หมายเลขบันทึก: 74603เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2007 15:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

    ผมว่าประเทศเราก็กำลังจะมีแนวโน้มไปนางทางที่ดีแล้วนะครับเช่นในอินเตอร์เน็ต กระทรวงไอซีทีก็ได้มีโปรแกรม house keeper มาสกีนการใช้งานของเยาวชนแล้วนะครับ แต่ยังขาดการกระจายการนำไปใช้เท่านั้นเอง

     ส่วนทางโทรทัศน์นี่นะแหละเป็นที่น่าเป็นห่วง อีกทั้งยังต้องหวังพึ่งทางบ้านด้วยนะครับ ที่สำคัญก็คือผู้ปกครองทั้งหลายก็ต้องใส่ใจลูกหลานด้วยนะครับ

 

ก็คงต้องรีบผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบครับ

โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องทุนในการสร้างสื่อสร้างสรรค์

ไม่รู้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะเอาอย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท