BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เมถุน


เมถุน

นิทานในหัวข้อ ปทุม  ยังเล่าไม่จบ ดังนั้น จะเล่านิทานต่อและเสนอคำว่า เมถุน ไปด้วย เพราะเนื้อหาสัมพันธ์กัน..

เมถุน แปลว่า คนคู่ ในภาษาไทย การร่วมเพศ ก็ใช้คำว่า เสพเมถุน ซึ่งคนไทยทั่วไปเข้าใจ และมีชื่อของเดือนมิถุนายน ซึ่งมีคำว่า เมถุน อยู่ด้วย...

ในวรณกรรมบาลี เมถุน มีใช้อยู่ ๒ ความหมาย คือ การพบปะ (สังคม) และ ความยินดี (รติ) ...นัยแรกเป็นคำกลางๆ เมื่อคนสองคนมาพบกันเจอกันก็เรียกว่า เมถุน (คนคู่) ...นัยที่สอง เมื่อคนสองคนเกิดความยินดีซึ่งกันและกันเกิดการร่วมเพศก็เรียกว่า เมถุน (คนคู่) ...ส่วนรากศัพท์จริงๆ ของคำนี้ ผู้เขียนเคยเจอนานมากแล้ว จำไม่ได้... ลองปัดฝุ่นหนังสือที่ใกล้ๆ มือ ก็ไม่เจอที่ถูกใจ พบแต่ที่ท่านก็อธิบายไว้เพียงแค่นี้ ... 

มาอ่านนิทานต่อจาก ปทุม ดีกว่าครับ...เหล่าเทพที่มาจากอาภัสสรพรหมทั้งหลาย แรกมานั้น ยังไม่มีเพศ มีแสงในตัวเอง มีปิติเป็นอาหาร สามารถเหาะเหินลอยตัวไปได้ด้วยอำนาจของฌาน ...ต่อมา เมื่อได้ลองชิม ง้วนดิน เกลือดิน และเกล็ดดิน ตามลำดับแล้ว... กายก็ค่อยๆ หยาบขึ้นมา... แสงก็ค่อยๆ ลดลง... อำนาจฌานก็ค่อยๆ เสื่อมหายไป... จึงไม่สามารถเหาะเหินลอยไปในอากาศได้ ต้องมาอยู่ตามพื้นดินบางส่วนที่เริ่มเกิดขึ้นมา...

ต่อมา เมื่อเทพตกสวรรค์เหล่านี้ อาศัยเก็บกินดินไปเรื่อยๆ เกิดการจ้องตากันขึ้นมาก บางคู่ก็เกิดอาการ ปิ้ง รู้สึกยินดีชอบพอซึ่งกันและกัน... ด้วยอำนาจกรรมในปางก่อน บางคนก็เริ่มมีเพศหญิงก็เริ่มปรากฎ บางคนก็เริ่มมีเพศชายปรากฎ ...เมื่อเริ่มเสพสมซึ่งกันและกัน นั่นคือ ที่มีของคำว่า "เมถุน" หรือ คนคู่ ...ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรก...

นิทานเรื่องนี้ยังมีอีกยาว ว่าโดยย่อๆ... เมื่อมีการเสพสมเป็นคู่ๆ ขึ้นกลางแจ้ง คนอื่นๆ ก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็น อสัทธรรม ก็ใช้ก้อนดินขว้าง ขับไล่ออกไป ....จึงเริ่มมีการสร้าง "เคหา" คือ บ้านเรือน เพื่อคอยปกปิดกิจกรรมของคนคู่ ...ตอนนี้เริ่มมีข้าวสาลีเกิดเอง ก็เก็บกินข้าวสาลี ต่อมา คนมากขึ้น ก็เริ่มมีการถือครอง มีการขโมยของคนอื่น มีการสะสม มีการตั้งหัวหน้าเพื่อคอยเฝ้า เรียกว่า กษัตริย์ หรือ ขัตติยะ แปลว่า คนเฝ้าขอบเขต (นี้ตามความหมายเดิมจริงๆ) ...

ผู้สนใจเรื่องนี้ หาอ่านได้ใน อัคคัญญสูตร ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ ..ซึ่งพระสูตรนี้ มีผู้สนใจนำไปศึกษาในแง่ของ การวิวัฒนาการ ปรัชญาสังคมและการเมือง...

คำสำคัญ (Tags): #เมถุน
หมายเลขบันทึก: 74566เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2007 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท