"เรื่องเล่าจากดงหลวง" 11 ความขัดแย้งแฝง(3)


สำหรับชาวบ้านนั้นไม่มีทางออกมานักหรอก เมื่อเราให้ความใกล้ชิดและเขาเห็นเราเป็นคนนอกที่มีตำแหน่งหน้าที่การงาน น่าที่จะช่วยความเดือดร้อนได้ละมั๊ง.. บางเรื่องเราก็ส่งต่อไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ บางเรื่องก็แจ้งให้เจ้าตัวทราบข้อเท็จจริงตามความรู้ความสามารถของเรา แต่ก็มีบางเรื่องที่เป็นข้อมูลลับเพราะเป็นการระบุชื่อคนที่ทำผิดต่างๆ

1.             จดหมายน้อยจากชุมชน : มีอยู่หลายครั้งครับที่พวกเราประชุมกับชาวบ้านแล้วได้รับจดหมายน้อย  ส่วนมากก็เป็นเรื่องเดือดร้อน เรื่องร้องเรียน สำหรับชาวบ้านนั้นไม่มีทางออกมานักหรอก เมื่อเราให้ความใกล้ชิดและเขาเห็นเราเป็นคนนอกที่มีตำแหน่งหน้าที่การงาน น่าที่จะช่วยความเดือดร้อนได้ละมั๊ง.. บางเรื่องเราก็ส่งต่อไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ  บางเรื่องก็แจ้งให้เจ้าตัวทราบข้อเท็จจริงตามความรู้ความสามารถของเรา  แต่ก็มีบางเรื่องที่เป็นข้อมูลลับเพราะเป็นการระบุชื่อคนที่ทำผิดต่างๆ เช่น ค้าไม้เถื่อน  ลักทรัพย์ทางราชการไปขาย  ต่อต้านการทำประโยชน์อันเกี่ยวกับป่าชุมชน  ปลอมบัตรเลือกตั้ง...ผู้ยื่นจดหมายน้อยมีประสงค์จะให้รับทราบและหาทางจัดการเรื่องนี้ด้วย???

 2.  คลื่นใต้น้ำที่อยู่เหนือบทบาทหน้าที่ของเรา: เรื่องนี้มีความหมายมากต่อการทำงานของเรา ในเมื่อชุมชนที่เราทำงานด้วยมีความขัดแย้งซ่อนอยู่ หากไม่ได้รับจดหมายน้อยเราก็ไม่รู้ระดับของความขัดแย้งนี้ ขณะที่เราต้องการสร้างความสามัคคี และกระตุ้นให้เกิดความเข้มแข็งทั้งระดับองค์กรและระดับชุมชน แต่การได้รับจดหมายน้อยลักษณะนี้มันทำให้เราตั้งคำถามมากขึ้น ว่าเราจะทำอะไรได้บ้างต่อเรื่องนี้ เราจะทำอย่างไรจึงจะสลายความขัดแย้งนี้ให้หมดสิ้นไป  ที่สำคัญการคิดหาทางออกนั้นอาจจะไม่ยากเท่าใด 

แต่ในทางปฏิบัติคงไม่ใช่เรื่องที่จะเนรมิตในระยะเวลาอันสั้น และ/หรือเราจะเสียเวลาในการแก้ไขปัญหานี้หรือเปล่า บทบาทเราคงเป็นแค่เพียงผ่านเรื่องนี้ไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมากกว่า เราน่าที่จะรักษาสถานภาพมิให้เป็นคนตอกลิ่มของความขัดแย้งนี้  และหากทำได้ด้วยโอกาสหรือเงื่อนไขใดๆก็แล้วแต่ควรจะสร้างเสริมมิตรภาพด้วยกัน   

3. วิเคราะห์: ด้วยทัศนะของผู้เขียนเองมีความคิดเห็นเชิงวิเคราะห์ดังนี้       

  • แสดงถึงการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันชัดเจน และมีฝ่ายหนึ่งเดินเรื่องใต้ดินที่จะทำอะไรสักอย่างให้เกิดกับอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้รับความเสียหาย โดยยืมมือเราเป็นผู้ดำเนินการ หากเราหลงกล นึกไม่ถึง หรือเจตนาดี แต่ไม่เหมาะสมอาจจะผิดพลาดครั้งใหญ่ก็ได้ เพราะสิ่งที่ระบุในจดหมายน้อยนั้นผู้เขียนตรวจสอบแล้วล้วนแต่ไม่เป็นเช่นผู้เขียน เหตุการณ์ที่อ้างมีเกิดขึ้นจริง แต่การระบุผู้ทำนั้นไม่ใช่ ผิดพลาด หรืออีกทีคือมีคนอื่นทำแต่ผู้เขียนระบุคนทำไม่ถูกต้อง       
  • เรื่องนี้จะนำมาพูดต่อสาธารณะไม่ได้  หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ของเราทั้งหมดก็สุ่มเสี่ยงที่หยิบยกมาพูดกันตรงๆ  แต่ต้องนำสาระนี้มาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เราในลักษณะที่ไม่ระบุตัวคน  ให้ทราบลักษณะปัญหา ความสำคัญและความเข้าใจที่จะต้องหลีกเลี่ยงการสร้างการเผชิญหน้ากัน        
  • เราเองเป็นคนนอกตื้นลึกหนาบาง เรื่องราวในอดีตก่อตัวกันมาอย่างไร  แม้เราจะรู้บ้างแต่ก็ไม่รู้ทั้งหมดทั้งสิ้น จึงไม่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย  บทบาทของเรานั้นจึงไม่สามารถก้าวลงไปในรายละเอียดเพื่อ clear ประเด็นออกมา แล้วเป็นคนกลางสมานสามัคคีกันดังกล่าวได้         

4. ผลกระทบต่อระบบกลุ่มผู้ใช้น้ำ: แน่นอนครับเรื่องนี้เกิดขึ้นที่บ้านพังแดง ต.พังแดง ซึ่งเรามีกิจกรรมใหญ่อยู่ที่นั่นคือ งานสูบน้ำเพื่อการชลประทานห้วยบางทราย ซึ่งใครหลายคนเฝ้ามองอยู่ว่าจะดำเนินการไปได้ไกลแค่ไหน กลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำจะเข้มแข็งแค่ไหน  เมื่อมีประเด็นนี้เกิดขึ้น และคู่กรณีส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ จึงยากที่จะใช้เงื่อนไขของเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ทำการผลักดัน  สร้างสรรค์ให้กลุ่มเข้มแข็งต่อไปได้มากที่สุดที่ควรจะเป็น  เมื่อทั้งคู่กรณีเป็นระดับผู้นำทั้งนั้น  นอกจากกลุ่มจะไม่เติบโตเข้มแข็งแล้ว อาจจะล้มลุกคลุกคลานอีกด้วย 

5 ความคิดเห็น: มีผู้นำกลุ่มผู้ใช้น้ำอื่นๆอีกหลายคนที่ไม่ได้อยู่ในคู่กรณี  แต่ในช่วงที่ผ่านมาทั้งหมด ผู้ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำ หรือผู้นำกลุ่มนั้น ไม่ค่อยมีความสามารถในการนำ หรือไม่เคยแสดงการนำอย่างที่คุณสมบัติผู้นำควรจะมี  เช่น มีความคิดความอ่าน  ความสามารถในการพูด ความสามารถในการนำประชุมได้  หรือพูดจาเป็นหลักเป็นเกณฑ์ และสมาชิกฟัง  ดูจะหายากจัง  เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงวันนี้  เห็นมีผู้นำคนหนึ่งแสดงบทบาทออกมาดู เข้าท่า และน่าที่จะพัฒนาขึ้นไปได้อยู่  แต่การที่จะเข้าไปประสานความแตกแยกที่แฝงตัวอยู่นั้นดูจะยังไม่มี บารมี

 พี่น้องไทโซ่ หายากที่จะมีบุคลิกผู้นำ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นลักษณะทั่วไปของชนเผ่านี้เอง  ซ้ำยังมีบุคลิคลักษณะเป็นแบบ วีรชนเอกชนยิ่งทำให้การเกิดการรวมตัวกันอย่างเป็นปึกแผ่นนั้นดูจะต้องใช้เทคนิคการพัฒนาคนมากกว่าชาวบ้านทั่วไป  นั่นหมายความว่าจะต้องมีเจ้าหน้าที่โครงการที่เป็นผู้มีประสบการณ์ และความถนัดในงานพัฒนาคนอยู่ในทีมงานด้วย   เรื่องราวแบบนี้ ลักษณะของชนเผ่าที่เป็นแบบนี้ ไม่มีช่องว่างในรายงานไตรมาสให้อธิบายเหตุผลเพื่อเป็นส่วนประกอบในการประเมินความก้าวหน้าของกลุ่มผู้ใช้น้ำ... 

 แต่ทั้งหมดคือเนื้อหาที่เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของการพัฒนาการมาก หรือน้อย ของกลุ่ม  คนภายนอกมองไม่เห็น ไม่เข้าใจ ไม่เคยถาม แต่จะดูเพียงการบรรลุตัวชี้วัดเท่านั้น  แม้ว่าตัวชี้วัดจะเป็นเครื่องมือที่ก้าวหน้าของการประเมินผล แต่ยังไม่สมบูรณ์ จะให้สมบูรณ์ต้องพิจารณาเงื่อนไขทั้งหมดทั้งมวลด้วย และผู้เขียนคิดว่านี่คือความบกพร่องอันใหญ่หลวงของนักประเมินผล  วันหลังจะหยิบเรื่องนี้มาพูด อภิปรายกันซะหน่อยก็ดีนะ..ผู้เขียนละคันมือจริงๆ..

หมายเลขบันทึก: 74262เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2007 01:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท