เด็กไทย อ่าน เขียน เป็นไหม?


เป็นไปได้ไหม ถ้าผมสอน IT แล้วจะสอนการอ่านจับใจความไปด้วย?

ผมเพิ่งมีโอกาสได้อ่านงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาในอเมริกา และปัญหาของการเรียนการสอน แต่งโดย Rod Webb ซึ่งทำให้ผมคิดถึงเรื่องที่ผมเคยคุยกับอาจารย์ ดร. อารี สัญหฉวี เมื่อปีก่อน

ผมได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเรียนการสอนแบบเน้นการพัฒนาสมองในหลายรูปแบบของเด็ก และยังได้รับข่าวดีเกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนของประถมวัย ที่ท่านอาจารย์กำลังศึกษาวิจัย เรื่องมีอยู่ว่าท่านอาจารย์เองไม่ถนัดเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์เท่าไร แต่ท่านมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และลึกซึ้งเกี่ยวกับเด็กในยุคนี้กับระบบอินเตอร์เน็ต
ท่านคิดพัฒนาหลักสูตรการอ่านให้มีระบบมากกว่าที่เป็นอยู่ครับ สอนให้เด็กหัดอ่านจับใจความ ไม่ใช่สอนแบบนกแก้วนกขุนทอง อ่านแล้วก็ไม่ได้คิดตาม

สองเรื่องนี้แม้จะต่างกันทั้งเวลาและสถานที่ –เรื่องแรกนั้นเกิดเมื่อสามสิบปีก่อน เรื่องที่สองเกิดเมื่อปีที่ผ่านมา—แต่ก็เป็นปัญหาเดียวกันที่ยากจะแก้ไข

ปัญหาที่ว่าเราไม่สอนการอ่านและเขียนกันอย่างจริงจัง เด็กไม่รักการอ่าน เขียนไม่เป็น พอเรียนสูงๆ ขึ้นไป ก็ยังไม่อ่าน และเขียนไม่ได้อยู่ดี ครูอาจารย์หลายท่านในมหาวิทยาลัยมีความเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้บ้างครับ? เวลาได้อ่านสมุดคำตอบ ข้อสอบข้อเขียนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เขาเขียนกันเป็นอย่างไรบ้าง ผมอยากจะรู้จัง

สมมติว่าหลักสูตรชั้นประถมยุคนี้ พัฒนาดีขึ้นอย่างมาก ทำให้เด็กอ่าน เขียนกันเก่งกว่าเดิม แล้วเด็กรุ่นก่อนที่กำลังเรียนอุดมศึกษา จะพัฒนาการอย่างไร เปิดวิชาการอ่านเขียนกันอีกสักตัวดีไหม? คงไม่มีใครเห็นด้วยหรอกครับ เพราะ ฉันสอนเศรษฐศาสตร์ จะให้มาสอนการอ่านได้อย่างไร ฉันสอนเคมี จะสอนการเขียนได้เหรอ?

เป็นไปได้ไหม ถ้าผมสอน IT แล้วจะสอนการอ่านจับใจความไปด้วย?
เป็นไปได้ไหม ถ้าผมสอน Web Design แล้วจะสอนการเขียนด้วย?
อยากจะลองครับ แต่ยังไม่มีโอกาส เพราะกลับมาเป็นนักเรียน และคงต้องเรียนไปอีกหลายปี

ใครอยากลองก่อนเชิญตามสะดวกครับ ผมไม่หวง แล้วมาเล่าสู่กันฟังบ้าง

คำสำคัญ (Tags): #การเรียนการสอน
หมายเลขบันทึก: 74254เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2007 23:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 19:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • เป็นแนวคิดที่ดีมากครับ
  • ผมเห็นว่าถ้าครูออกแบบกิจกรรมจากฐานความจริงของชีวิต    ด้วยธรรมชาติของคนตามแนว สุ   จิ     ปุ   ลิ     หรือแนวทางอื่นๆในทำนองเดียวกัน น่าจะเสริมสร้างการอ่านออกเขียนได้ดีขึ้น
  • บางครั้ง  การศึกษาไทย  เปรียบเหมือน การขึ้นต้นไม้ทางปลาย  
  • ยินดีกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้    ครับ
ในฐานะนักศึกษานะคะ เห็นด้วยอย่างมากเลยค่ะ
เพราะ ถ้าไม่ปลูกฝังการอ่าน-เขียน ตั้งแต่เด็กๆ พอโตขึ้นมักจะขาดความมั่นใจค่ะ ไม่ค่อยกล้าเขียนเอง เพราะ ไม่แน่ใจว่าที่เขียนไปนั่นถูกต้องรึเปล่า
  • ปัญหาที่ว่าเราไม่สอนการอ่านและเขียนกันอย่างจริงจัง เด็กไม่รักการอ่าน เขียนไม่เป็น พอเรียนสูงๆ ขึ้นไป ก็ยังไม่อ่าน และเขียนไม่ได้อยู่ดี
  • ผมสนับสนุนข้อพิพากษ์อันสร้างสรรค์นี้ของอาจารย์เป็นอย่างสูงครับ...
  • ผมสังเกตดูว่าเด็กทุกวันนี้ไม่รักการอ่านไม่รักการเขียน  ถึงมีผมว่าน้อยมาก...ดูชัด ๆ ใกล้ ๆ ตัวผม ให้เขียนจดหมายด้วยลายมือขอบคุณเจ้าของทุน  นิสิตบอกลายมือไม่สวย ไม่รู้เขียนจดหมายต้องทำอย่างไร มีองค์ประกอบเช่นไรบ้าง  ไม่ถนัดเขียนหรือคัดลายมือ แต่ให้พิมพ์คอมฯ เป็นจดหมายจะดีกว่าเยอะเลย (ประมาณนี้นะครับ)
  • ผมจำได้ในชั้นประถม ครูสอนให้เขียนจดหมาย และสอนให้รู้ว่าองคืประกอบของจดหมายมีอะไรบ้าง...จำขึ้นใจมาจนถึงทุกวันนี้
  • ในทางวรรณกรรมกลุ่มอาจารย์สลา คุณวุฒิ จึงเร่งกิจกรรมค่ายรักการอ่าน การเขียนอยู่อย่างต่อเนื่อง
  • และผมเห็นด้วยกับวาทกรรมอาจารย์เม็กดำนะครับที่ว่า บางครั้ง  การศึกษาไทย  เปรียบเหมือน การขึ้นต้นไม้ทางปลาย

ขอบคุณสำหรับอาจารย์เม็กดำครับ หย่อนเด็กลงมาจากยอดไม้ ก็ตกมาเจ็บกันเท่านั้นเอง ผมว่าปัญหาคือเราเรียนกันไปจนถึงยอดไม้ แล้วก็เลยนึกว่ายอดไม้มันขึ้นกันง่ายๆ หรือเปล่าครับ? เราควรจะให้เด็กเดินๆ ดูรอบต้นไม้ ดูกิ่งก้านสาขาไหนแข็งแรง แล้วค่อยๆ ขึ้นกันไปคงดีกว่านะครับ 

สรุปว่า ไม่เป็น และดูเหมือนอาจารย์ส่วนใหญ่ก็ปล่อยๆไปครับ เขาเลยรอด "ชั่วคราว" ครับ

       อ่านแล้วประทับใจแนวคิดคุณแว้บมากค่ะ  โดยเฉพาะในเรื่องของการนำ ICTมาใช้ในการพัฒนาการอ่านและเขียน  เด็กไทยซึ่งมีอยู่มากในหลายส่วนภูมิภาค  ที่มีความพร้อมไม่เท่าเทียมกัน  "ครู" เป็นผู้ที่นำประสบการณ์  สื่อ  แหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายไปให้เขาเหล่านั้น  จะทำให้เขารักการอ่าน  ถูกปลูกฝังนิสัยรักการอ่านอย่างไม่รู้ตัวค่ะ

       ฉันเกิดในสมัยที่มีกระดานชนวนค่ะ  แต่ก็มุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ให้เด็กสมัยใหม่มีความสามารถอ่านให้ออกเขียนให้ได้  เช่นเดียวกับคุณแว้บค่ะ

ดิฉันไปนั่งคิดถึงคำถามนี้ของคุณแว้บเป็นเดือนเลยค่ะ   ยิ่งคิดยิ่งมองเห็นว่าถ้ามองทั้งระบบ  และช่วยกันขับเคลื่อนทั้งกระบวน โดยเฉพาะคุณครู  เด็กไทยเราจำนวนมากก็จะพ้นภาวะ " อ่านไม่ออก  เขียนไม่ได้" ดังลิงก์นี้  อย่างรวดเร็ว  

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น  ท่านที่กำหนดนโยบายการให้ตำแหน่งอะไรต่างๆแก่คุณครู  ต้องช่วยคุณครูให้ถูกวิธี  อย่าให้กลายเป็นรังแกครู  ดิฉันขอโทษทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ต้องเขียนเช่นนี้   อาจเป็นความเขลาของดิฉันเองที่ไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งในระดับนโยบาย     แต่ดิฉันได้เห็นวิธีการกำหนดหลักเกณฑ์  รวมถึงการประเมินอะไรต่างๆ ในบางช่วงแล้ว รู้สึกหนักใจและเสียใจเหลือเกิน

ดิฉันเป็นครูบ้านนอกที่ไม่มีกำลังจะไปต่อสู้กับนโยบายอะไรได้   แต่ก็ได้เห็นว่า ครูอุดมศึกษามีอิสระอยู่มากในการสื่อสารเรื่องนโยบายเช่นนี้ และสร้างวิชาการของตนได้อย่างอิสระกว่า

แต่ครูที่สร้างเด็กอย่างหนัก  เพื่อส่งต่อมาให้ครูอุดมศึกษาสอนอย่างไม่หนักมือนั้น  กลับต้องรับภาระหนักที่ตนไม่ได้ก่อ  และจะต้องรับภาระสร้างหลักฐาน แบกลังกระดาษ ต่อไปอีกนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ 

ขอโทษคุณแว้บด้วยเถิดนะคะ ดิฉันเข้ามาทีไรก็บ่นยาว แล้วก็ไม่เข้าประเด็นที่คุณแว้บตั้งไว้ซักที   :)

คุณAdd_educations ครับ

จริงครับที่ครูมีส่วนในการเป็นแบบอย่างให้นักเรียน แต่ผมในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย ขอไม่ยอมรับฐานะพ่อพิมพ์แม่พิมพ์นะครับ ผมคิดว่านิสิตนักศึกษาต้องแยกแยะ ได้แล้วว่าบางครั้ง อาจารย์บอกว่าอะไรดี ไม่ดี แต่ตัวเองทำไม่ได้ ต้องเข้าใจว่าคนเราต่างกันนะครับ (เหมือนผมจะแก้ตัวน้ำขุ่นๆ) คงเหมือนที่โปรเฟซเซอร์ที่นี่บอกในชั้นว่า Do what I say, not what I do. ประมาณนั้นแหละครับ

ตัวอย่างง่ายๆ คือการส่งงานครับ อาจารย์หลายคนเข้มงวดเรื่องการส่งงานของนักศึกษา แต่ตัวเองตรวจงานช้า ผมพยายามจะทำเป็นตัวอย่าง แต่ก็ลงเอยว่าเสร็จช้าทุกทีไป เฮ้อ 

อาจารย์สุขุมาลครับ

อาชีพครูเป็นอาชีพที่(ผมรู้สึกว่า)น่าสงสารและน่าสรรเสริญ คือเป็นอาชีพที่สังคมตั้งความหวังไว้สูงมาก บางครั้งกลายเป็นการโอนความหวังจากผู้ปกครอง คือถ้าลูกไม่ฉลาด จะโทษครู ทั้งที่สังคมให้คุณค่าทางความรู้สึกมาก แต่คุณค่าที่จับต้องได้นั้น แทบไม่มีให้เห็นเลย คนที่อยู่ในอาชีพนี้เลยต้องผจญกับขวากหนามนานา

ขอเป็นกำลังใจให้ครูไทยด้วยครับ 

ขออนุญาตเข้ามาต่ออีกหน่อยค่ะ  อาจารย์วสะ  :)

คำถามที่อาจารย์ถามไว้ให้คิดต่อดีนี้มากนะคะ 

 การสอน IT แล้วจะสอนการอ่านจับใจความไปด้วยนั้น   เป็นไปได้ไหม?

ดิฉันอยากตอบว่า เป็นไปได้ และเห็นด้วยทุกประการค่ะ   หากอาจารย์ผู้สอนระดับอุดมศึกษา  สามารถให้เวลาและใส่ใจกับการฝึกทักษะในการสื่อสาร  ด้วยการอ่านและการเขียน ในทุกรายวิชาที่ทำได้  จะช่วยให้นักศึกษาพัฒนาทักษะนี้ได้เร็วมาก  

แต่หากเด็กเรียนรู้อย่างถูกวิธีมาตั้งแต่ประถมและมัธยม  เด็กก็น่าจะเรียนได้ดี และจับประเด็นได้  อ่านเป็น เขียนเป็น  เมื่อมาถึงระดับอุดมศึกษา  อาจารย์จะได้สื่อสารความรู้ใหม่ตามศาสตร์ได้เต็มที่โดยไม่ต้องกังวลกับทักษะ(ซึ่งเด็กควรจะมีอยู่แล้วโดย)พื้นฐาน

ดิฉันเคยคุยกับพ่อ    พ่อบอกว่าในระดับโรงเรียนนั้น  น่าจะลองทำดังนี้  คือ  

 แยกวิชาที่เด็กจะต้องเรียนออกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่วิชาอ่าน วิชาคิด และ วิชาทำ

ประการแรก  วิชาอ่าน มีหนังสือให้อ่านทุกเรื่อง วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์(คงต้องเรียบเรียงใหม่ให้อ่านง่ายกว่าเดิม) สังคมทุกแขนง มนุษย์ศาสตร์ทุกแขนง เป็นต้น

หนังสือแบบเรียนทุกเล่ม นำมาให้นักเรียนอ่านได้หมด ให้เด็กอ่านเหมือนอ่านหนังสือการ์ตูน    (คือพ่อคงหมายความว่าน่าจะหาวิธีสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากอ่านเพื่อรู้จริงๆ)  อย่าอ่านแบบที่ครูให้ยืนขึ้นอ่านทีละคน

ทั้งนี้  ครูลองแยกแยะความแตกต่างให้ดี และต้องยอมรับเด็กว่า เขาจะอ่านของเขาอย่างไรก็ต้องยอม โดยไม่ไปซักไซ้ไล่เลียงว่าอ่านแล้วรู้อะไรบ้าง เรื่องนี้ไว้ว่ากันทีหลัง

แต่ขอให้โน้มน้าว จูงใจ  ให้อ่านอย่างเต็มใจก่อน  เพื่อให้เขามีภาษาของศาสตร์นั้นๆไว้เป็นฐานความรู้

ประการที่สอง   วิชาคิด มีสองวิชา คือ ภาษาไทย และคณิตศาสตร์

ภาษาไทย ต้องสอนหลักวิชาภาษาไทยให้เด็กสามารถอ่านหนังสือออก อ่านให้แตกฉาน เขียนถูกต้อง ออกเสียงชัดเจน รู้จักจับใจความ

ที่สำคัญที่สุดต้องให้เริ่มต้นด้วยการเรียนภาษาไทยแบบผันอักษร  ไม่ใช่เริ่มต้น  ให้เรียนภาษาไทยเป็นคำ ๆ เพราะเป็นการสวนระบบภาษาไทย  และจะส่งผลถึงการสร้างคำใหม่ (อ่าน-เขียน รับรู้ความหมาย  เพิ่มคำ  เพิ่มความหมาย)  อันจะส่งผลถึงความแตกฉานทางภาษาได้

(คำในภาษาไทย (คำไทย)  เกิดจากการการผสมพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ โดยไม่เปลี่ยนรูปคำ   มิใช่การมีคำเป็นคำๆเป็นตัวตั้ง   แล้วมาเพิ่มหน้า กลาง หลัง แบบวิภัติปัจจัย )

 คณิตศาสตร์  ต้องสอนให้น้อยที่สุด   แต่ฝึกให้รู้จักจำนวนนับ  แบบเห็นปุ๊บบอกจำนวนได้ปั๊บเป็นอัตโนมัติ ตั้งแต่ 0-9 

คือให้มองเลข 0-9 เป็นภาษา  เหมือน  0  เป็นหนึ่งคำ  3  เป็นคำหนึ่งคำ  เห็นของสามชิ้น  บอกได้ทันทีว่า สาม   โดยไม่ต้องใช้นิ้วมือนับใต้โต๊ะ ว่า 1...2.... 3 
หากฝึกได้อย่างนี้ เด็กจะคำนวณ(พื้นฐาน)ได้อย่างรวดเร็ว  เพราะมีภาษาเลขคณิต(พื้นฐาน)ใช้เป็นอัตโนมัติ

การบวก ก็จะมีความหมายว่า  จุดจุดจุด  กับอีก จุดจุดจุด เป็น จุดจุดจุด  ทำให้คิดได้เป็นอัตโนมัติ 

แล้วสอน การเขียนตัวเลขฐานสิบ(ทศนิยม)     การเขียนเศษส่วน บวกจำนวนนับ(มีหนึ่งร้อยคู่) ลบ(มีหกสิบสี่คู่) ,การคูณ(สูตรคูณ) ,การหาร ,จำนวนเต็ม จำนวนตรรกยะ เท่านี้พอแล้วในเบื้องต้น

ประการที่สาม   วิชาทำ ได้แก่วิชาการขุดดิน การปลูกผัก การหุงหาอาหาร งานไม้ การเย็บผ้า วิทยาศาสตร์ต่างๆ  เพราะเด็กชอบทดลองอยู่แล้ว การปฎิบัติศาสนกิจ การดูแลสุขภาพตนเองและผู้อื่น  วิชาเหล่านี้ สอดคล้องกับวิถีชีวิต  และสามารถบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสอนเด็กได้ด้วย ฯลฯ

หากทำได้ดังนี้  เด็กน่าจะมีโอกาสฝึกบูรณาการการสื่อสารครบวงจร  เป็นการปูพื้นฐานทางภาษา(ความรู้ -วิชาอ่าน-วิชาคิด) ที่เป็นกระบวนการเนื่องกันกับวิถีชีวิต (วิชาทำ)ค่ะ

เอ่อ...ไม่ทราบทำไม  ขอ  "ต่ออีกหน่อย" ของดิฉัน ถึงได้ยาวเกินหกกิโลเมตรยังงี้น้อ  :-)

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท